"โฟนพ้อยต์เจ๊งไม่ว่า แต่ขอให้ทำงานร่วมกันได้"


นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2535)



กลับสู่หน้าหลัก

หลังจากที่ชินวัตรไม่ประสบความสำเร็จในการทำตลาดโฟนพ้อยต์เมื่อปีที่แล้ว ภายใต้สโลแกน "ให้คุณพูด เมื่ออยากพูด" พบว่ามีปัจจัยเงื่อนไข 3 ประการคือ หนึ่ง-ไม่สามารถสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจในตัวสินค้า สอง-ความไม่แพร่กระจายของสถานีฐาน (BASE STATION) ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจและสามมหกรรมสงครามราคาของโทรศัพท์เคลื่อนที่ ที่ส่งผลให้กลุ่มเป้าหมายผู้ใช้เกิดความลังเล

ยกแรกของโฟนพ้อยต์จึงยุติลง เมื่อวันที่ 4 ตุลาคมในปีที่แล้ว ด้วยยอดขาดทุนประมาณ 30 ล้านบาท

เป็นบทพิสูจน์ฝีมือของชินวัตร ยูคอม และซีพี ที่ใช้เวลาเพียง 2 เดือน หลังจากเปิดธุรกิจเมื่อเดือนสิงหาคม

กุมภาพันธ์ปีนี้ โฟนพ้อยต์ก็ถูกแจ้งเกิดอีกครั้งภายใต้การทำตลาดของยูคอม (บริษัทยูไนเต็ด คอมมิวนิเคชัน) ที่โอนมาจากชินวัตร

การปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารและยุบคณะกรรมการบริหารเป็นสิ่งแรกที่ยูคอมทำ จากแต่เดิมที่มีคณะกรรมการ 3 คนช่วยกันดูแลคือ อารักษ์ ชลธาร์นนท์ บรรณพจน์ ดามาพงศ์ (ซึ่งเป็นคนจากชินวัตร) และภูษณะ ปรีย์มาโนช (คนจากยูคอม) โดยมีศิริพงษ์ อุ่นทรพันธ์ เป็นผู้จัดการทั่วไป

เป็นว่าแต่งตั้งให้ภูษณะเป็นกรรมการผู้จัดการ ผู้มีอำนาจสูงสุดในการบริหาร โดยยังคงศิริพงษ์ ในตำแหน่งผู้จัดการทั่วไปอยู่ โดยให้เหตุผลว่าศิริพงษ์ไม่สันทัดในเรื่องการตลาด

จากนั้นก็เป็นเรื่องของการตลาด กลยุทธ์ที่ถูกนำมาใช้ก็คือการแก้ไขให้ตรงจุดที่ผิดพลาดที่ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มจำนวนของสถานีฐานจากเดิมที่มีอยู่เพียง 500 แห่ง และให้ได้ 2,000 แห่ง ภายในเดือนเมษายนและ 3,000 แห่งภายในสิ้นปีนี้

การประกาศลดราคาเครื่องลงมาเหลือเพียง 9,900 บาท พร้อมทั้งเพิ่มบริการเสริม "เมลล์บ๊อกซ์" เพื่อเพิ่มกลุ่มเป้าหมายที่ไม่มีวิทยุติดตามตัว โดยสามารถใช้บริการสอบถามข้อความจากทางศูนย์บริการแทน อันเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ที่จะฟื้นธุรกิจของโฟนพ้อยต์

และที่ฮือฮาที่สุดเห็นจะได้แก่นโยบาย "หนึ่งเลขหมายต่อโฟนพ้อยต์ 1 เครื่อง" ที่สร้างความไม่พอใจให้เกิดขึ้นในกลุ่มผู้ค้าเครือข่ายเวิลด์โฟนอย่างกว้างขวาง เพราะกรณีนี้กลุ่มผู้ค้าถือว่าเป็นการมัดมือชกที่มีบางรายถึงกับประกาศเลิกค้าไปเลยก็มี

ผลของมันหลังจากการปรับเปลี่ยนก็มิได้เป็นการส่งผลดีต่อยอดขายให้กระเตื้องขึ้นแต่อย่างใด

ภูษณะตัดสินใจปรับแผนการตลาดอีกครั้งโดยใช้กลวิธีเหมาจ่ายรายเดือน ที่ไม่ว่าจะใช้บริการกี่ครั้งก็จ่ายประมาณ 700 บาท และหากซื้อผ่านดีลเลอร์จะไม่ต้องจ่ายค่ามัดจำและค่าลงทะเบียน แล้วยังมีนโยบายให้ทดลองใช้ฟรีก่อน 1 เดือนเพื่อหวังกระตุ้นยอดขาย

นั่นเป็นความพยายามครั้งล่าสุดของยูคอม ที่ไม่ว่าผลของความพยายามครั้งนี้จะทำให้โฟนพ้อยต์ประสบความสำเร็จในตลาดหรือไม่-ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพราะนั่นมิใช่เป้าหมายที่แท้จริง

ย้อนหลังไปเมื่อแรกของการเริ่มต้นโฟนพ้อยต์ เป็นเรื่องที่รู้กันดีในแวดวงว่า ยูคอมต่างหากคือเจ้าของสัมปทานโฟนพ้อยต์ตัวจริง แต่ด้วยแนวความคิดที่ว่าต้องการปกป้องธุรกิจโทรคมนาคมของไทยไม่ให้ไปตกอยู่ในมือของชาวต่างชาติ บวกกับเหตุผลที่มากไปกว่านั้นก็คือ เรื่องพันธมิตรทางการค้า

เพราะกระแสการแข่งขันทางธุรกิจโทรคมนาคมที่มีความรุนแรงมากขึ้นตามลำดับ ยากต่อการที่ใครจะสามารถเป็นผู้นำอย่างโดดเด่น หรือแม้แต่จะสามารถอยู่ได้ด้วยตนเอง

บททดลองพันธมิตรทางการค้า ว่าด้วยโฟนพ้อยต์ จึงเป็นไอเดียที่บุญชัย เบญจรงคกุล แห่งยูคอมขายให้กับชินวัตรและซีพี ในเงื่อนไขที่ว่าให้มาร่วมลงทุนและร่วมมือกันบริหารในสัดส่วนยูคอม 37% ชินวัตร 36% และซีพี 23%

รูปแบบการบริหารก็คือจะเป็นลักษณะของการร่วมมือกันบริหารระหว่างบริษัท ไม่ใช่การร่วมมือกันระหว่างผู้บริหารดังที่เคยมี ๆ มา

ตกลงกันว่าจะให้ทางชินวัตรเป็นคนทำตลาด เนื่องจากชินวัตรเกิดมานานในธุรกิจนี้ อีกทั้งยังอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ เรียกว่าอยู่ในสภาพที่พร้อมที่สุด ในขณะที่ยูคอมเป็นบริษัทเกิดใหม่ ถ้าหากลงมาทำอาจทำให้เกิดภาพความไม่น่าเชื่อถือ และซีพีตอนนั้นก็ยังไม่ได้ทำโทรศัพท์ 2 ล้านเลขหมาย

เท่ากับว่าในระยะแรกเป็นการเชิญคนจากทางชินวัตรเข้ามาบริหาร ในตำแหน่งผู้จัดการทั่วไป ซึ่งก็คือศิริพงษ์ อุ่นทรพันธ์

แต่หลังจากที่ชินวัตรได้พิสูจน์ฝีมือ ในกลุ่มผู้ร่วมบริหารสรุปบทเรียนว่าผู้บริหารไม่ควรจะมาจากผู้ลงทุน แต่ควรจะเป็นบุคคลที่ไม่อยู่ในกลุ่มเพื่อการบริหารงานที่คล่องตัวมากขึ้น ไม่ต้องมากังวลว่าเป็นพรรคพวกใคร

ซึ่งก็คือ ภูษณะ ส่วนศิริพงษ์ก็ตัดสินใจว่าจะกลับไปที่ชินวัตรมากกว่าที่จะอยู่ที่โฟนพ้อยต์โดยขึ้นตรงกับเอ็มดีคนใหม่

มีข้อสังเกตเกิดขึ้นต่อโฟนพ้อยต์ (ที่กลายเป็นโรงเรียนฝึกฝีมือการบริหารไปแล้ว) ในประการแรกว่า ปัจจุบันความอยู่รอดของโฟนพ้อยต์อยู่ที่เรื่องสถานีฐานและราคาที่ต้องยอมทุ่มทุนสูงมาก อย่างเรื่องการติดตั้งสถานีฐาน ค่าใช้จ่ายตรงนี้มูลค่าตกประมาณ 12,000 - 15,000 บาทต่อจุด ที่ยังไม่รวมค่าเช่าสถานที่และค่าไฟ แล้วยังมีงบส่งเสริมโฆษณาใหม่ "โทรวันนี้ โทรโฟนพ้อยต์" ด้วยเงิน 20-30 ล้านบาท พร้อมกับการลดราคาเครื่องและให้ใช้ฟรีก่อนอีก

ต้นทุนตรงนี้เมื่อเทียบกับเงื่อนไขการจ่ายค่าสัมปทานให้กับ ทศท. ในอัตรา 25% ของรายได้แต่ละปี เป็นเวลา 10 ปี ซึ่งเคยประมาณกันไว้ว่าเป็นเงิน 1,500 ล้านบาทนั้น จะมีความเหมาะสมแค่ไหน

ประการที่สอง ด้วยลักษณะเฉพาะของโฟนพ้อยต์ ที่ว่าเป็นเทคโนโลยีของโทรศัพท์ไร้สายในยุคที่ 2 หรือที่เรียกกันว่า CT2 (CORDLESS TELEPHONE 2) นี้นอกจากจะเป็นโทรศัพท์สาธารณะเมื่ออยู่นอกบ้านแล้ว ต่อไปหากต้องการให้เกิดเป็นบริการที่สามารถใช้ภายในบ้านก็ทำได้โดยการติดตั้งสถานีฐานไว้ที่บ้าน (HOME BASE) ก็จะกลายเป็นเครื่องที่ใช้ได้ทั้งโทร. เข้าและออก

นอกจากนี้ยังเป็นระบบที่มีศักยภาพในการพัฒนาไปสู่ระบบเซลลูลาร์ได้อีกด้วย

หากมีพัฒนาการตรงนี้เกิดขึ้น โฟนพ้อยต์จะกลายเป็นคู่แข่งของระบบเซลลูลาร์ที่หมายถึงทั้งแทคและเอไอเอสของชินวัตร และบริการโทรศัพท์ตามบ้านของซีพีหรือไม่ ซึ่งนั่นหมายความว่าเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนที่เราจะได้เห็นพัฒนาการดังกล่าว

บุญชัยเคยพูดทุกครั้งที่มีโอกาสและย้ำหลายครั้งหลายคราในทำนองเดียวกันตามหน้าหนังสือพิมพ์ว่า ความสำเร็จของโฟนพ้อยต์วัดจาก 2 ส่วนคือ เรื่องการบริหาร และเรื่องของสินค้าและบริการ

ในประเด็นความร่วมมือในการบริหารนั้น บุญชัยพอใจมากและถือว่าประสบความสำเร็จ เพราะภาพทางปฏิบัติของความร่วมมือที่เกิดขึ้นก็คือ 3 บริษัท ซึ่งทำธุรกิจเหมือนกันมาจับมือกัน คนทำงานคือคนมีฝีมือที่แต่ละบริษัทส่งมา ซึ่งแต่ละคนก็มีความคิดเป็นของตัวเองสูง

แต่ปรากฏว่าที่ผ่านมาถึงแม้จะมากไปด้วยอุปสรรคแต่ไม่ปรากฏการทะเลาะเบาะแว้งหรือเกิดความไม่พอใจใด ๆ ขึ้นในกลุ่ม

ส่วนเรื่องของสินค้าและบริการ บุญชัยเห็นว่าโฟนพ้อยต์เป็นของใหม่ ดังนั้นยังสรุปไม่ได้ว่าไม่ประสบความสำเร็จ

ซึ่งต่อบททดลองนี้ บุญชัยยอมรับว่ายอมขาดทุนแต่จะไม่ยอมเสียความสามัคคีในหมู่พันธมิตรเป็นอันขาด

หลังจากยูคอมได้ร่วมลงทุนกับชินวัตรในการประมูลโทรศัพท์ 1 ล้านเลขหมายและซีพีร่วมลงทุนกับชินวัตรในโครงการคอมพ์ลิ้งแล้ว โครงการความร่วมมือในด้านโทรคมนาคมต่อ ๆ ไปก็ได้รับคำยืนยันจากบุญชัยแล้วว่ามีแน่ เพียงแต่รอดูเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เข้ามาว่ามีความเหมาะสมและตรงกับความต้องการของตลาดเพียงใด

แต่ก็ได้มีการวางแนวทางไว้แล้วว่าจะออกมาในลักษณะของเนชั่นแนลซิสเต็มส์คันทรี คือเป็นการระดมทุนระดับ 100,000 ล้านบาท เพื่อขยายระบบโทรคมนาคมภายในประเทศ โดยเน้นไปที่การลงทุนในต่างจังหวัด

อย่างไรก็ดี การที่ให้ภูษณะ ซึ่งเป็นมือขวาของบุญชัยมาดูแลโฟนพ้อยต์ในตอนนี้ น่าจะเป็นลักษณะของรักษาการชั่วคราว มากกว่าที่จะลงมาจับและทำอย่างเต็มตัว เพราะถึงแม้ว่าโฟนพ้อยต์จะหมายถึงบททดลองชิ้นแรกแห่งการทำงานร่วมกัน ก็ยังถือว่าเป็นงานที่เล็กเกินไปสำหรับภูษณะ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.