อัดภาษีสุราแอ๊บแบ๊ว เอื้อไทยเบฟไม่หยุด


ผู้จัดการรายวัน(30 สิงหาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

สิงห์ฯ ชี้ปรับภาษีเหล้าขาวราคาพุ่งแค่จิ๊บจ๊อย คอน้ำเมารากหญ้าไม่เปลี่ยน พฤติกรรมดื่ม ระบุโอกาสบ่ายหน้าดื่มเบียร์ราคาถูกมีสูง เบียร์อาชารอเสียบคอทองแดง เอื้อประโยชน์เจ้าสัวไม่สิ้นสุด มั่นใจตุนสต็อกเพียบเพื่ออั้นราคาขายเท่าเดิม ด้านนักการตลาด ชี้แม้ปรับราคาแต่เจ้าตลาดก็เมินอัดโปรโมชัน ด้านไทยเบฟฯ ประชุมเครียด ศูนย์วิจัยปัญหาสุราชี้ มติ ครม.ปรับอัตราภาษีสุรา ไม่มีผลช่วยแก้ปัญหาให้ผู้บริโภคลดลง ระบุเหล้าขาวยังถูกปรับขึ้นต่ำกว่าสุราประเภทอื่นถึง 30 เท่า ขณะที่ประธานภาคีกฎหมายบุหรี่โลกเห็นคล้อยกันขึ้นภาษียาสูบไม่มีผลให้ยอดสิงห์อมควันลดลง แถมยังทำให้บุหรี่นำเข้าได้เปรียบอีกด้วย

นายฉัตรชัย วิรัตน์โยสินทร์ ผู้อำนวยการสายการตลาด บริษัท สิงห์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเบียร์สิงห์ ลีโอ ไทเบียร์ เปิดเผยว่า กรณีที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้มีการปรับภาษีเหล้าขาวขึ้น จากคิดอัตราภาษีตามมูลค่า 25% เป็น 50% หรือเพิ่มจาก 70 บาทต่อลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์เพิ่มเป็น 110 บาทต่อลิตรแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ แม้ว่าเหล้าขาวจะปรับราคาขึ้นโดยเฉลี่ย 10 บาท หรือจาก 90 บาท เป็น 100 บาท ก็ไม่ได้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการตลาดเหล้าขาวมูลค่า 6 หมื่นล้านบาทมากนัก เนื่องจากพฤติกรรมการดื่มเหล้าขาวมักจะดื่มในรูปแบบเปกตามร้านเหล้าจำหน่ายเพียง 5 บาท ดังนั้นผลจากการปรับภาษี อาจทำให้ราคาขยับเพิ่มขึ้นต่อเปกไม่กี่สตางค์เท่านั้น ผู้ดื่มจึงไม่ได้รู้สึกว่าราคาแพงขึ้น

แฉเอื้อไทยเบฟไม่หยุด

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผู้ดื่มจะหันไปดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตัวอื่นๆ ทดแทน ก็มีความเป็นไปได้ที่จะดื่มเบียร์ราคาถูก โดยเฉพาะเบียร์อาชาซึ่งเป็นสินค้าอยู่ภายใต้บริษัทไทยเบฟฯ ยักษ์ใหญ่ในวงการเหล้าขาว ซึ่งปัจจุบันเบียร์อาชาขนาด 640 มล. ราคา 25 บาท หรือจำหน่าย 4-5 ขวด 100 บาท เมื่อเทียบกับเบียร์อีโคโนมีด้วยกัน เบียร์เชียร์ ลีโอ จำหน่ายราคา 39 บาท โอกาสที่ผู้ดื่มจะไปดื่มเหล้าสีทดแทน มีความเป็นไปได้ยาก เพราะด้วยช่องว่างทางราคาที่ห่างกันมาก ดังนั้นไม่ว่าจะมีการปรับภาษีเหล้าขาวจากทางภาครัฐ นอกจากจะไม่ได้ช่วยทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงและลดปริมาณการดื่มแล้ว สุดท้ายผลประโยชน์ก็ยังตกอยู่ที่บริษัทดังกล่าว

ตัวแทนจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่างจังหวัด เปิดเผยว่า หลังจากที่เบียร์อาชาใช้กลยุทธ์ราคาจำหน่าย 25 บาท หรือ 4-5 ขวด 100 บาท ส่งผลให้ขณะนี้สินค้าขาดตลาด และข้อมูลจากบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พบว่า อาชาเป็นเบียร์ที่มีอัตราการเติบโต 100%

สำหรับความเคลื่อนไหวของบริษัทไทยเบฟฯ พบว่า วานนี้( 29 สค.50) ผู้บริหารระดับสูงมีการประชุมหารือกันทั้งวันเกี่ยวกับกรณีการปรับภาษีเหล้าขาว

อั้นราคาเดิมตุนสต็อกไว้เพียบ

นายฉัตรชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า มีความเป็นไปได้ 3 กรณีที่บริษัทยักษ์ใหญ่วางแนวทางรับมือกับภาษีเหล้าขาว กรณีแรก คือ การปรับราคาขึ้นทันที ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มโดยเฉลี่ย 10 บาท จากปัจจุบันราคาเหล้าขาวจำหน่าย 90 บาท เป็น 100 บาท หรือกรณีที่สอง พยุงราคาเดิมให้นานที่สุด เนื่องจากเพราะบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับนี้ย่อมมีการสต็อกสินค้าไว้เป็นจำนวนมาก โดยอย่างมากอาจมีสต็อกสินค้าเก็บไว้ถึง 3 ปี ทำให้สามารถจำหน่ายได้ราคาเดิม ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการฆ่าผู้ประกอบการรายย่อยทางอ้อม ที่ไม่ได้มีสต็อกเป็นจำนวนจึงต้องปรับราคาเหล้าขาวขึ้น

ทั้งนี้ตามกติกาสากล กรณีที่มีการปรับภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น หลังจาก 6 เดือนไปแล้วจะต้องปรับราคาสินค้าขึ้นทันที เพื่อป้องกันผู้ประกอบการผลิตสินค้าล่วงหน้าไว้ในสต็อก และจำหน่ายราคาเดิมให้นานที่สุด ซึ่งภาครัฐควรนำกติกาดังกล่าวมาใช้กรณีที่มีการปรับภาษี

ส่วนกรณีสุดท้าย คือ ไม่ปรับราคาเหล้าขาวเลย เพราะปกติอัตราภาษี 70 บาทต่อลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ ต้องจำหน่ายเหล้าขาว 50 บาท แต่กลับจำหน่ายถึง 90 บาท ซึ่งได้กำไรส่วนต่างถึง 40 บาท ดังนั้นถ้าไม่ปรับราคาขึ้นก็ยังเท่ากับว่าบริษัทดังกล่าวได้กำไรส่วนต่างจากเหล้าขาวถึง 30 บาท

นางวิมลวรรณ อุดมพร รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การปรับภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วง 2-3 เดือนแรกคงไม่มีความเปลี่ยนแปลง เพราะอยู่ในช่วงโลว์ซีซันหรือไม่ใช่ฤดูกาลการขาย โดยคาดว่าผู้ประกอบการจะยอมแบกรับภาระภาษีจนกว่าจะมั่นใจว่าไม่กระทบต่อยอดขาย

นายธีรพันธ์ โล่ห์ทองคำ นักการตลาด-นักวางกลยุทธ์หลายองค์กร และเป็นประธานกรรมการบริหารด้านการสื่อสาร บริษัท ธรู เดอะไลน์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด เปิดเผยว่า การขึ้นราคาเหล้าขาวในช่วงนี้มีผลต่อการตัดสินใจซื้อ อย่างไรก็ตามหลังจากครม.อนุมัติการขึ้นภาษีเหล้าขาว เชื่อว่าตัวแทนจำหน่าย ร้านค้า คงจะมีการกักตุนสินค้าเพื่อเก็งกำไร

กรณีที่เหล้าขาวมีการปรับราคาขึ้น ผู้ประกอบการอาจจะหันมาสร้างภาพลักษณ์ให้กับธุรกิจนี้มากขึ้น ส่วนการทำกิจกรรมส่งเสริมการขายในช่วงที่มีการปรับราคา เพื่อให้ผู้บริโภคมีความคุ้นเคยกับราคาใหม่หรือไม่ได้รู้สึกว่าราคาเพิ่มขึ้นนั้น คาดว่าคงจะไม่มีมากนัก เนื่องจากตลาดเหล้าขาวมีการแข่งขันไม่รุนแรง

สรรพสามิตหวังเด็กซื้อเหล้า-บุหรี่ลดลง

นางสาวจรรยา จันทร์ศิริ สรรพสามิตพื้นที่สุรินทร์ เปิดเผยกรณีคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ปรับอัตราภาษีสุราและยาสูบว่า เพื่อควบคุมการบริโภคสุราและบุหรี่ให้เหมาะสม มากกว่าการจัดเก็บรายได้ที่มากขึ้นของกรมสรรพสามิต ยืนยันว่าวัตถุประสงค์หลักต้องการแก้ไขปัญหาการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ดีกรีสูง ซึ่งมีผลเสียต่อสุขภาพร่างกายของผู้ที่บริโภค โดยเฉพาะเยาวชนและเพื่อให้ร้านค้าทั้งส่งและปลีก มีการจำหน่ายสินค้าที่ถูกต้องตามกฎหมายและมีการชำระภาษีอย่างถูกต้อง จะได้ส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบการจำหน่ายสินค้าดังกล่าวอย่างเข้มงวดต่อไป

ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ปรับขึ้นอัตราภาษีสุราและยาสูบอัตราภาษีใหม่ มีผลตั้งแต่ 29 ส.ค. ประกอบด้วย ภาษีสุราขาวและสุราผสม ปรับอัตราภาษีขึ้นร้อยละ 50 ทำให้ราคาขายปลีกเพิ่มขึ้นขวดละ 9-12 บาท สุราพิเศษ ประเภทบรั่นดี ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 45 ราคาขายปลีกจะเพิ่มขึ้นประมาณ 0 - 91 บาท ส่วนบุหรี่ในประเทศเพิ่มขึ้น 1 - 2 บาท และบุหรี่นำเข้าเพิ่มขึ้น 2 -3 บาทต่อซอง

นพ.บัณฑิต ศรไพศาล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา วิเคราะห์การปรับขึ้นอัตราภาษีสุราตามมติที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 28 ส.ค.2550 เห็นชอบว่า การปรับอัตราภาษีดังกล่าวมีผลต่อสุราประเภทต่างๆ ดังนี้ สุราขาวเสียภาษีจาก 70 บาท/ลิตร เป็น 110 บาท/ลิตร แอลกอฮอล์บริสุทธิ์,สุราผสมเสียภาษีจาก 240 บาท/ลิตร เป็น 280 บาท/ลิตร บรั่นดีเสียภาษีจาก 40% เป็น 45 % ซึ่งมีผลต่ออัตราการเปลี่ยนแปลงราคาขายในท้องตลาดต่อไป

ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา เห็นว่าการตัดสินใจขึ้นภาษีสุราเพื่อควบคุมการบริโภคซึ่งเป็นปัญหาของประเทศไทยเป็นความกล้าหาญของ ครม.และอัตราการขึ้นภาษีดังกล่าวยังถือว่าน้อยมาก โดยสุราขาวขึ้นภาษีต่ำหว่าสุราประเภทอื่นๆ ถึง 30 เท่า เนื่องจากสุราขาวมีการลดภาษีเก็บ 70 บาท/ลิตรในปี 2546 เพื่อส่งเสริมสุราชุมชนโดยพ่วงสุราขาวเข้าเป็นประเภทเดียวกับสุราชุมชนทำให้สุราขาวได้ลดภาษีลง ทั้งที่สุราประเภทอื่นๆ ถูกขึ้นภาษีหมด การขึ้นภาษีเพิ่มขึ้นเป็น 110 บาท/ลิตรนั้น มากกว่าเมื่อ 16 ปีที่แล้วเพียง 10% ขณะที่สุราพิเศษ เช่น แสงโสม โกลเด้นไนท์ และสุราปรุงพิเศษ เช่น แม่โขง เสียภาษี 100 บาท/ลิตร ณ ปี 2534 และปรับขึ้นเป็น 400 บาท/ลิตร ในปัจจุบัน

เบียร์ไม่ได้ถูกขึ้นภาษีเลย ทั้งที่ส่วนแบ่งการตลาดของผู้บริโภคสูงสุด โดยเบียร์ไม่ถูกขึ้นภาษีมาตั้งแต่ปี 2544 หรือ 6 ปีที่แล้ว ทั้งที่เบียร์เป็นที่นิยมของผู้บริโภคมากที่สุดมีส่วนแบ่งการตลอดถึง 70% ซึ่งขณะนี้เบียร์เก็บภาษีตามมูลค่าอยู่ที่ 55% ขณะที่เพดานอยู่ที่ 60% หากไม่ขึ้นภาษีเบียร์จะไม่สามารถแก้ปัญหาการบริโภคได้เท่าที่ควร

การอ้างว่ารัฐได้ขึ้นภาษีเพดานแล้วนั้นไม่ใช่ เนื่องจากส่วนที่เต็มเพดานเป็นส่วนที่ไม่ได้เก็บภาษีจริง เพราะระบบภาษีสุราของไทยคิด 2 แบบ คือ ตามมูลค่า(%) และตามปริมาณแอลกอฮอล์บริสุทธิ์(บาท/ลิตรแอลกอฮอล์บริสุทธิ์) ส่วนไหนให้ภาษีมากกว่าก็จะเก็บตามนั้น เช่น สุราขาวและสุราผสม จะเสียภาษีตามปริมาณ ซึ่งยังไม่เต็มเพดาน และสุราราคาแพง เช่น บรั่นดี และเบียร์ จะเสียภาษีตามมูลค่า ซึ่งยังไม่เต็มเพดานเช่นกัน

ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา เห็นว่ารัฐควรขึ้นภาษีสรรพสามิตตามปริมาณของสุราขาว และสุราผสมให้เต็มเพดานที่ 400 บาท/ลิตรแอลกอฮอล์ ยิ่งขึ้นภาษีเต็มเพดานเร็วเท่าใดคนยิ่งติดสุราขาวลดลง และรัฐควรขึ้นภาษีสรรพสามิตตามมูลค่าเบียร์ จาก 55 เป็น 60% โดยเร็ว เพื่อลดปัญหาการบริโภคเบียร์ นอกจากนี้รัฐควรแยกการคิดอัตราภาษีสรรพสามิตของสุราขาวโรงงานออกจากสุราชุมชน

นพ.หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย(สสท.) และประธานภาคีกฎหมายบุหรี่โลก กล่าวถึงมติคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบให้กระทรวงการคลังขึ้นภาษีบุหรี่เต็มเพดานในอัตรา 80% ของมูลค่าว่า การขึ้นภาษีดังกล่าวไม่มีผลทำให้คนสูบบุหรี่น้อยลง และไม่ส่งผลต่อรายได้ของประเทศแต่อย่างใด ขณะเดียวกันบุหรี่ไทยจะขึ้นราคาไปซองละ 1-2 บาท แต่บุหรี่ต่างชาติจะไม่ขึ้นราคาหรือขึ้นราคาก็จะมีสัดส่วนน้อยกว่าบุหรี่ไทย ส่งผลให้โรงงานยาสูบเสียสัดส่วนการครองตลาดให้กับบุหรี่นำเข้ามากขึ้น

นพ.หทัยกล่าวอีกว่า ตนและภาคีปกป้องไทยพ้นภัยบุหรี่ได้ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ว่ากรมสรรพสามิตจัดเก็บภาษีบุหรี่ไทยและบุหรี่นำเข้าจากฐานที่ต่างกัน โดยเก็บภาษีบุหรี่ไทยจากราคาจำหน่ายหน้าโรงงาน ขณะที่เก็บภาษีบุหรี่นอกจากราคา c.i.f.(ราคาต้นทุนการผลิต+ค่าขนส่ง) ทำให้บุหรี่ไทยเสียภาษีมากกว่าบุหรี่นำเข้า

“เราได้เสนอให้เก็บภาษีบนฐานของราคาขายปลีกซึ่งจะเป็นธรรมมากกว่า และไทยเคยเก็บภาษีรูปแบบนี้มาแล้วโดยไม่มีปัญหาใดๆ แต่ที่ผ่านมากรมศุลกากรและกรมสรรพสามิตไม่สามารถหาค่า c.i.f ของบุหรี่ต่างชาติได้ว่าควรเป็นเท่าไร และยอมรับราคาที่บริษัทบุหรี่ต่างชาติสำแดงมาตั้งแต่ปี 2535 เป็นเหตุให้รัฐต้องสูญเสียรายได้จากภาษีไปร่วม 20,000 ล้านบาทในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ดังนั้น กระทรวงการคลังจึงควรเปลี่ยนวิธีการเก็บภาษีใหม่ตามที่เราได้เสนอไป”


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.