วันนี้ป้ายแท็กซี่ราคาเท่าไร? จากนโยบายแท็กซี่เสรี ราคาป้ายเหลืองของรถแท็กซี่ที่เคยปั่นราคาซื้อขายกันด้วยราคาไม่ต่ำกว่าครึ่งล้าน
ก็มีอันหล่นวูบลงเหว เพราะเพียงแค่เสียค่าธรรมเนียมในการกรอกแบบฟอร์ม 5 บาท
และใช้เวลารอคอยขั้นตอนของกรมการขนส่งทางบกในการพิจารณาคำร้องและตรวจสอบสภาพรถแท็กซี่อีก
90 วัน ฝันของคนธรรมดาคนหนึ่งก็เป็นจริงได้…ถ้ามีเงิน!
วงจรธุรกิจแบบ "เจ๊กดาวน์ลาวผ่อน" จะยุติได้จริงหรือ? ยังเป็นข้อสงสัย
แม้ว่าต้นทุนทำธุรกิจแท็กซี่ในปัจจุบันนี้จะไม่มีราคาค่าป้ายทะเบียน 500,000-600,000
บาทก็ตามที แต่ชีวิตคนหาเช้ากินค่ำเฉกเช่นคนขับแท็กซี่ที่ต้องเสียค่าเช่ารถหนึ่งกะ
(12 ชม.) เฉลี่ย 320-450 บาท น้อยคนจะมีเงินนับแสนพอจะดาวน์รถยนต์ใหม่ขนาด
1500 ซีซี ซึ่งมีราคาประมาณ 450,000 บาท หรือรถมือสองที่ใช้งานมาไม่เกินสองปีหรือไม่เกิน
20,000 กม. ซึ่งตกประมาณ 300,000-350,000 บาท
"ผมเชื่อว่ารัฐบาลมีนโยบายเพิ่มรถหรือเปิดป้ายเสรีจะทำให้ป้ายลดลงจริงและราคาค่าโดยสารก็จะลดลง
แต่นั่นเป็นเรื่องชั่วคราวเท่านั้น เพราะปัจจุบันคนขับรถมีรายได้อยู่ระหว่าง
6,000-10,000 บาทต่อเดือน ใครจะยอมเสียรายได้ส่วนนี้ไปโดยที่เขาไม่ต้องลงทุนอะไรเลย
แต่ถ้าเขาจะลงทุนซื้อรถเองผมก็คิดว่ายากที่จะอยู่ได้ เพราะค่าใช้จ่ายสูงโดยเฉพาะในเรื่องการบำรุงรักษา
และที่สำคัญพวกเขาเชื่อว่า ท้ายที่สุดรถแท็กซี่ที่ออกมาใหม่กับนโยบายใหม่นี้ก็จะต้องตกไปอยู่ในอุ้งมือของผู้ประกอบการรายใหญ่อีก"
ประวุฒิ พิพิธสุขสันต์ ทายาทคนสำคัญของเสี่ยสมชัยแห่งนครชัยแท็กซี่ ซึ่งเป็นเจ้าของแท็กซี่รายใหญ่ย่านท่าพระ
ฝั่งธนให้ความเห็น
ตามระเบียบใหม่ว่าด้วยการรับจดทะเบียนรถแท็กซี่นี้ ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีลักษณะเป็นนิติบุคคล
ไม่ว่าจะจดทะเบียนเป็นรูปบริษัท หจก. หรือสหกรณ์ก็ตาม จะใช้เวลานานกว่าประเภทบุคคลธรรมดาถึง
180 วัน และป้ายทะเบียนแท็กซี่ของนิติบุคคลจะใช้ 6 ท. - ขณะที่ 5 ท. - เป็นของบุคคลธรรมดา
ลักษณะของรถแท็กซี่เสรีนี้จะต้องเป็นรถที่มีกำลังเครื่องยนต์ไม่ต่ำกว่า
1500 ซีซี ซึ่งมีขายอยู่ไม่ต่ำกว่า 10 ยี่ห้อ สีของรถจะมีสองสีคือส่วนหลังคาถึงที่เปิดประตูเป็นสีเหลือง
และส่วนตัวรถเป็นสีเขียว มีเครื่องหมายแท็กซี่ติดมิเตอร์บนหลังคารถ
เงื่อนไขอื่น ๆ ก็ยังมีคือจะต้องทำประกันภัยบุคคลที่สามซึ่งมีวงเงินชดใช้ค่าเสียหายคนละไม่ต่ำกว่า
25,000 บาทต่อครั้ง และความเสียหายต่อทรัพย์สินวงเงินไม่ต่ำกว่า 100,000
บาทต่อครั้ง
นอกจากนี้ผู้ขอจดทะเบียนรถแท็กซี่จะทำได้เพียงคนละหนึ่งคัน และไม่สามารถจะจำหน่าย
จ่าย โอนให้แก่บุคคลอื่น ๆ ได้ เว้นแต่การโอนให้ทายาทเท่านั้น
สำหรับอัตราค่าโดยสารที่ทางการกำหนดไว้ตามมิเตอร์ที่จะต้องติดกับรถแท็กซี่คือ
ระยะทาง 2 กม. แรกจะเก็บ 35 บาท กิโลเมตรที่ 2-5 คิดเป็น กม. ละ 4.50 บาท
ส่วนกิโลเมตรที่ 5-7 ขึ้นไป กม. ละ 4 บาทและกิโลเมตรที่ 7 ขึ้นไป กม. ละ
3.50 บาท กรณีที่รถติดเกินกว่า 6 กม. ต่อ ชม. คิดค่าโดยสารนาทีละ 1 บาท
"นิสัยคนไทยเราไม่ค่อยสนใจจะคิดราคาตามมิเตอร์หรอก ถึงเวลารีบ ๆ ก็ใช้วิธีต่อรองราคาชนิดเหมากันไปเลย
ผมคิดว่าคงจะใช้ผสมกันไประหว่างวิธีเหมากับคิดตามมิเตอร์ไม่งั้นไม่ไหว"
คนขับแท็กซี่รายหนึ่งให้ความเห็น
ก่อนหน้านี้นโยบายแท็กซี่เสรีจะเปิด มีรถแท็กซี่ป้ายเหลืองที่วิ่งบนถนนอยู่
13,417 คัน โดยมีกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีอู่แท็กซี่ใหญ่อยู่ 5-6 กลุ่ม
กระจายอยู่ตามย่านสำคัญดังนี้
กลุ่มสวนหลวง ซึ่งมีแกนนำเป็นเถ้าแก่รถแท็กซี่ชื่อดังที่รู้จักกันดีในหมู่คนขับแท็กซี่ว่า
เฮียปุ๊ย เฮียกวง เฮียติ่ง และเฮียจั๊วะ
กลุ่มตรอกจันทน์ เถ้าแก่ที่คุมอู่แท็กซี่ใหญ่ ๆ ได้แก่ เฮียหงอก เฮียเส
เฮียเล็ก และเสี่ยวี่
กลุ่มคลองเตย บริเวณซอยงามดูพลี ใต้ทางด่วน อู่แท็กซี่ใหญ่ ๆ ของเสี่ยติ่งและเจ๊สุนีย์ก็เป็นที่รู้จักกันดี
กลุ่มธนบุรี เถ้าแก่อู่แท็กซี่รายใหญ่ที่สุดก็คือ เสี่ยสมชัยหรือเสี่ยชัย
ที่เริ่มต้นจากเช่าแท็กซี่ขับจนมีรถออสตินคันแรกจากเงินกู้ ในวันนี้มีรถแท็กซี่ในมือถึง
275 คัน กิจการอู่รถ ปั๊มน้ำมัน และปั๊มแก๊ส ที่ดินที่เคยใช้เป็นอู่ก็พัฒนาเป็นอพาร์ตเม้นต์และโรงแรม
"เวสต์อิน โฮเต็ล" และล่าสุดขึ้นโครงการคอนโดมิเนียมที่รามคำแหง
65 มูลค่ากว่า 200 ล้านบาท
กลุ่มห้วยขวาง มีแกนนำคือ เฮียชาติ หรือเสี่ยสุชาติ ซึ่งเข้ามาในวงการแท็กซี่ไม่กี่ปีก็สามารถมีอาคารราคาเป็นร้อยล้านได้
บรรดากลุ่มผลประโยชน์เหล่านี้ต่างก็ได้รับผลกระทบกระเทือนอย่างหนักจากการเปิดนโยบายแท็กซี่เสรีของรัฐบาล
และมีความพยายามที่จะล็อบบี้ให้นโยบายนี้ล้มเลิกไป เหมือนที่เคยกระทำได้ผลในอดีต
แต่ครั้งนี้ อดีต รมว. คมนาคมคือ นุกูล ประจวบเหมาะ นโยบายนี้จึงทำได้สำเร็จ
และเพิ่งมาประกาศบังคับใช้ระเบียบใหม่ในสมัยบรรหาร ศิลปอาชาเป็น รมว. คมนาคม
ธุรกิจการเมืองที่ปรากฏในวงการแท็กซี่เมืองไทยยุคเปิดเสรีนี้ จึงสร้างโอกาสและความร่ำรวยให้กับกลุ่มผู้ประกอบการรายใหม่ที่รุกก้าวเข้ามาแสวงหาโดยอาศัยสายสัมพันธ์ในลักษณะสหกรณ์รายใหม่
ๆ ตลอดจนกลุ่มผู้ที่สะสมทุนจากธุรกิจเรียลเอสเตท
โดยเฉพาะที่น่าจับตาคือ กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจเต็นท์รถรายใหญ่ เช่น กลุ่มมหานคร
ซึ่งหาทางสร้างมูลค่าเพิ่มกับรถยนต์มือสองที่มีขนาด 1500 ซีซี นอกจากนี้กลุ่มดีลเลอร์รถยนต์ของสิบกว่าค่ายซึ่งมีฐานธุรกิจรถยนต์อันมั่งคั่งแล้ว
ก็อาจจะแตกตัวธุรกิจไปทำด้านนี้อย่างครบวงจรยิ่งขึ้น
ดังนั้นกลุ่มผู้ประกอบการรายใหม่ที่เตรียมแจ้งเกิดจากนโยบายเปิดเสรีแท็กซี่นี้จึงมีไม่น้อยกว่า
10-12 กลุ่ม แต่ละกลุ่มก็เตรียมระดมทุนเพื่อโครงการยักษ์ใหญ่นี้
และแน่นอนกลุ่มของนายหน้าประเภทจับเสือมือเปล่าที่มีตั้งแต่รายย่อยจนถึงรายใหญ่ย่อมเกิดขึ้นจำนวนไม่น้อย
!!
แต่งานนี้สถาบันการเงินใหญ่อย่างธนาคารกสิกรไทย ประภัศร์ ศรีสัตยากุล รองกรรมการผู้จัดการธนาคาร
ได้กล่าวว่าไม่เสี่ยงที่จะปล่อยกู้แท็กซี่เสรี ซึ่งมีรายได้ไม่แน่นอน ทั้งนี้โดยอ้างว่า
นโยบายอำนวยสินเชื่อด้านนี้ยังไม่ได้มีการเตรียมการหรือหากมีผู้กู้รายใดยื่นขอมาก็จะพิจารณาว่ามีหลักประกันดีหรือไม่
ดังนั้นการขอสินเชื่อประเภทดังกล่าวหากเป็นรายบุคคลที่ไม่มีหลักค้ำประกันให้กับธนาคาร
ธนาคารก็อาจไม่อนุมัติเงินกู้ได้
"ขณะนี้ยังไม่มีกลุ่มสหกรณ์หรือบริษัทไหนมาติดต่อขอกู้ แต่ก่อนหน้านี้ได้มีนักการเมืองที่ลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่า
กทม. ท่านหนึ่งได้มาติดต่อขอกู้เงิน 500 ล้านบาทเพื่อให้แก่ผู้ขับขี่แท็กซี่
แต่หลังจากไม่ได้รับเลือกตั้ง เรื่องก็เงียบหายไป ไม่ได้ติดต่อธนาคารอีกเลย"
ประภัศร์เล่าให้ฟัง
เมื่อธนาคารไม่สามารถให้กู้ได้ แหล่งเงินกู้นอกระบบหรือเงินกู้ดอกเบี้ยแพงจึงเป็นที่พึ่งของคนขับแท็กซี่ที่ตั้งใจจะมีรถสักคัน
แต่จะกัดฟันสู้ได้นานสักเพียงไหนกับต้นทุนดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายมากมาย ขณะที่รายรับถูกกำหนดโดยเพดานค่าโดยสาร