|
Nebuta
โดย
ภก.ดร. ชุมพล ธีรลดานนท์
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
ไม่บ่อยครั้งนักที่พายุไต้ฝุ่นจะบิดเกลียวอ้อมจากทะเลญี่ปุ่นวกเข้าสู่ทางเหนือของเกาะฮอนชูในช่วงต้นเดือนสิงหาคม หากไม่ใช่เพราะความแปรปรวนของภูมิอากาศที่เกิดจากสภาวะเรือนกระจกแล้ว คงเป็นเหตุบังเอิญโดยแท้ที่พายุไต้ฝุ่นหมายเลข 4 ของปีนี้จะเคลื่อนผ่านมาขวางงานเทศกาล Nebuta ซึ่งไม่เคยมีไต้ฝุ่นปรากฏมาก่อนตลอดช่วงเวลากว่าสองศตวรรษ
กระนั้นก็ตาม ท่ามกลางเมฆดำของพายุก็ยังพอมีความโชคดีอยู่บ้างตรงที่ลักษณะเด่นของไต้ฝุ่นลูกนี้ซึ่งเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า Usagi (ที่แปลว่ากระต่าย) นั้นได้เคลื่อนตัวอย่างรวดเร็วผ่านจังหวัด Aomori ในช่วงเช้าของวันเสาร์ที่ 4 เบิกฟ้าให้ประเพณีท้องถิ่นที่ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในสามงานเทศกาลฤดูร้อนที่สำคัญที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศญี่ปุ่น ได้สืบสานอย่างต่อเนื่องในเย็นย่ำของวันเดียวกันนั้น ซึ่งเป็นวันที่แน่นขนัดที่สุดในงาน
เมื่อเสียงกลองดังขึ้นท่วงทำนอง "Rassera Rassera Rasse Rasse Rassera" ของบรรดาชาวพื้นเมือง Aomori ในขบวนซึ่งเรียกว่า Haneto ก็เริ่มดังตอบรับอันเป็นสัญญาณเริ่มขบวนแห่โคมไฟ Nebuta บนรถลากที่ขับเคลื่อนด้วยพละกำลังของชายฉกรรจ์ที่อยู่ข้างใต้
ผู้คนที่เข้าร่วมในริ้วขบวนแห่ล้วนแต่งกายในชุดยูกาตะที่มีผ้าสีสดคาดรั้งแขนเสื้อขึ้นไปที่เรียกว่า Tasuki เพื่อความสะดวกในการเคลื่อนไหวกับผ้า Okoshi ที่นุ่งอยู่ใต้ชุดยูกาตะราวกับเป็นกางเกงไปในตัว นอกจากนี้ยังมีผ้า Shigoki ซึ่งเป็นผ้าอีกผืนหนึ่งสำหรับคาดเอวและผูกกระติกน้ำ ส่วนบนหมวก Hanagasa ประดับประดาด้วยดอกไม้และกระพรวนหลากสีตามแบบแผนประเพณีโบราณ
สีสันที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเทศกาล Nebuta อีกอย่างหนึ่งคือปฏิสัมพันธ์กับผู้คนสองข้างทางที่เดินทางมาชมงานเทศกาลโดยมีกระพรวนหลากสีเป็นสื่อที่ Haneto จะมอบให้โดยเฉพาะกับเด็กๆ นอกจากนี้กระพรวนดังกล่าวยังกลายเป็นของที่ระลึกชิ้นหนึ่งของเทศกาลนี้ที่ซื้อหาได้ทั่วไปในเมือง
ในขณะเดียวกันจังหวะประกอบกับท่าเต้นและกระโดดอย่างสนุกสนานของ Haneto ยังสอดรับกับแดนซ์ของวัยรุ่นทำให้ Rassera เป็นเสมือนแดนซ์ที่ไม่เคยล้าสมัยและนี่กระมัง ที่เป็นคำตอบว่า ทำไม Haneto ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 15-25 ปี ด้วยเหตุนี้ Nebuta จึงได้ชื่อว่าเป็นเทศกาลที่ปลูกฝังคุณค่าและสำนึกรักถิ่นฐานบ้านเกิดที่มีเยาวชนท้องถิ่นเข้าร่วมงานมากที่สุดแห่งหนึ่งของญี่ปุ่น
ความโดดเด่นของเทศกาล Nebuta มิได้จำกัดอยู่เพียงเท่านี้ ประติมากรรมโคมไฟ Nebuta ขนาดใหญ่ 3 มิติ (โดยเฉลี่ยมีขนาด ความกว้าง 7 เมตร ยาว 9 เมตร สูง 5 เมตร) ที่ขึ้นโครงด้วยไม้ไผ่และลวดดัดปิดทับด้วยกระดาษสาญี่ปุ่นที่มีคุณสมบัติเหนียวทนทานแต่โปร่งแสงจากหลอดไฟที่ติดตั้งอยู่ภายในโคมขนาดมหึมานั้นเป็นตัวชูโรงสำคัญที่ดึงดูด ผู้คนนับล้านตลอดช่วงเทศกาลซึ่งทยอยเดินทางมาจากทั่วญี่ปุ่น
ถึงแม้ว่าเทศกาล Nebuta ของ Aomori จะนับสืบย้อนกลับไปได้ราว 280 ปี เมื่อเทียบกับเทศกาล Neputa ของ Hirosaki ที่มีประวัติยาวนานถึง 400 กว่าปี นอกจากนี้ สถานที่ของงานเทศกาลทั้ง 2 จะอยู่ไม่ไกลจากกันแล้วยังจัดในช่วงเวลาเดียวกันอีกก็ตาม ในปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่าความนิยมของ Nebuta มีสูงกว่าเนื่องด้วยความสวยงามอลังการของโคม Nebuta ที่ดึงดูดสายตาผู้คนได้มากกว่าโคมในแบบ 2 มิติของ Neputa
ประติมากรผู้สร้างสรรค์โคม Nebuta จะเริ่มออกแบบโคมใหม่ตั้งแต่งานเทศกาลของปีนั้นจบสิ้นลง ซึ่งกว่าจะวางคอนเซ็ปต์ สร้างอาคารชั่วคราวเพื่อขึ้นโครงและประดับหลอดไฟจากภายใน แปะกระดาษสาญี่ปุ่นและลงสี จนกระทั่งยกขึ้นรถลากที่มีความสูง 2 เมตร ในขั้นตอนสุดท้ายนั้นกินเวลาราว 1 ปีพอดี
อาจกล่าวได้ว่าประติมากรของโคมไฟ Nebuta เป็นอาชีพหนึ่งที่ต้องการทักษะทั้งด้านศิลปะ การออกแบบงานโครงสร้าง และความรู้ด้านวัฒนธรรมพื้นบ้านเป็นอย่างดี
ประมาณการกันว่ามูลค่าการก่อสร้างโคม Nebuta ชิ้นหนึ่งเฉลี่ยประมาณ 4 ล้านเยน (100 เยน ประมาณเท่ากับ 30 บาท) ซึ่งทีมงานประติมากรที่มีชื่อเสียงโดยเฉพาะผลงานซึ่งได้รับรางวัลจากปีก่อนๆ เป็นเครื่องรับประกันนั้นอาจมีรายได้สูงถึง 20-30 ล้านเยนต่อปี จากบริษัทใหญ่ๆ ที่เป็นสปอนเซอร์ในงานเทศกาล Nebuta
ขบวนโคมไฟ Nebuta บนรถลากจะแห่แหนไปรอบเมือง Aomori ในช่วงเย็นตั้งแต่วันที่ 2-6 สิงหาคม เพื่อทำการเก็บคะแนนและประกาศผลโคมไฟที่ชนะเลิศในวันที่ 7 ซึ่งจะจัดขบวนฉลองในช่วงกลางวันก่อนนำไปลงเรือล่องในแม่น้ำหรือออกสู่ทะเลแทนการลอยโคม Nebuta จริงๆ อย่างเช่นในอดีต นอกจากนี้ในช่วงกลางคืนวันสุดท้ายยังแถมพกส่งท้ายด้วยงานจุดดอกไม้ไฟประจำปี
หลังจากนั้นโคม Nebuta อาจถูกแยกส่วนไปประดับตามสถานที่สำคัญในเมืองหรือส่งไปจัดแสดงยังพิพิธภัณฑ์ในต่างประเทศ เช่นที่ British Museum ในมหานครลอนดอน หรือนำไปแห่ยังประเทศต่างๆ ตามแต่จะได้รับเชิญ ยกตัวอย่างปี 2007 ที่ ลอสแองเจลิส
เรื่องราวความเป็นมาของเทศกาล Nebuta นั้นไม่มีบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรที่แน่ชัด แต่เชื่อกันว่าได้รับแนวคิดมาจากเทศกาล Tourou Nagashi ซึ่งเป็นต้นกำเนิดเทศกาลอื่นๆ ในญี่ปุ่นอย่างเช่นเทศกาล Tanabata* ใน Sendai
แต่เดิมนั้นเป็นเพียงการนำโคมไฟหรือตุ๊กตาที่ทำจากกระดาษ ซึ่งจุดเทียนไขไว้ภายในแล้วนำไปลอยในแม่น้ำเพื่อขับไล่วิญญาณและสิ่งชั่วร้ายออกไปพร้อมกับนำสิริมงคลมาสู่ตนเองและครอบครัว คล้ายกับเทศกาลลอยกระทงของไทย
อีกทฤษฎีหนึ่งเชื่อว่า Nebuta ถือกำเนิดจากความคิดของแม่ทัพ Tamuramaro ในช่วงปี 800 ซึ่งสร้างหุ่นจำลองนักรบขนาดใหญ่ที่เรียกว่า Nebuta สำหรับใช้ออกศึกสงครามและน่าจะเป็นที่มาของรูปแบบโคม Nebuta ในปัจจุบัน
นอกจากนี้ยังมีอีกข้อสันนิษฐานหนึ่งที่เชื่อว่าเทศกาล Nebuta ได้รับอิทธิพลความคิดมาจาก Hirosaki แล้วนำมาประยุกต์สร้างเป็นโคม 3 มิติตามจินตนาการของนักรบในอดีต ซามูไร หรือเรื่องราวของนิยายพื้นบ้าน ซึ่งมีการเพิ่มเติมรายละเอียดและขนาดของโคมไฟ Nebuta มีประกวดประขันกันเรื่อยมาจนกลายเป็นเอกลักษณ์และเป็นที่นิยมมานานถึงทุกวันนี้
แม้จะไม่มีหลักฐานระบุความเป็นมาที่ชัดเจนก็ตาม ในปัจจุบันเทศกาล Nebuta เป็นตัวแทนวัฒนธรรมพื้นบ้านที่สะท้อนวิถีชีวิตของชาวญี่ปุ่นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่สามารถสัมผัสได้อย่างใกล้ชิดในต้นเดือนสิงหาคมของทุกปี Rassera Rassera Rasse Rasse Rassera
*เทศกาล Tanabata สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ในนิตยสารผู้จัดการคอลัมน์ Japan walker เดือนกรกฎาคม 2547
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|