เรื่องใหญ่ของ "ซาลาเปาไส้กระดาษ"

โดย วริษฐ์ ลิ้มทองกุล
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2550 ที่ผ่านมา ศาลกรุงปักกิ่งได้มีคำพิพากษาจำคุกจือเป่ยเจีย ผู้สื่อข่าวอิสระของสถานีโทรทัศน์ปักกิ่ง (BTV) เป็นเวลาหนึ่งปี พร้อมทั้งปรับเงินจำนวน 1,000 หยวน จากการกระทำความผิดด้วยการกุข่าว การทำซาลาเปาไส้กล่องกระดาษ ซึ่งสร้างความเสื่อมเสียชื่อเสียงให้กับธุรกิจ รวมไปถึงประเทศจีนในฐานะประเทศผู้ส่งออกอาหาร

เดือนกรกฎาคม 2550 "ซาลาเปาไส้กระดาษ" ตกเป็นข่าวดังไปทั่วโลกจากการเผยแพร่ของรายการ "ความโปร่งใส" ออกอากาศทางโทรทัศน์ปักกิ่งช่อง 7 (BTV-7) เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2550 โดยรายงานชิ้นดังกล่าวนั้นผู้สื่อข่าวคือ จือเป่ยเจีย ซึ่งได้ซ่อนกล้องวิดีโอเอาไว้แล้วเก็บภาพการผลิตซาลาเปายัดไส้กล่องกระดาษที่ระบุว่า เพื่อเพิ่มปริมาณไส้หมูของซาลาเปาให้ดูมากขึ้นประมาณ 20 ลูก ทั้งนี้ในเวลาต่อมาสถานีโทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีน หรือ CCTV ก็นำรายงานข่าวชิ้นนี้ไปเสนอซ้ำอีกครั้ง

ข่าวชิ้นดังกล่าวสร้างความตกตะลึงให้กับชาวปักกิ่งและชาวจีนทั่วประเทศเป็นอย่างมาก จนกระทั่งสำนักข่าวต่างประเทศอดไม่ได้ที่จะหยิบยกและนำไปรายงานจนเรื่องฉาวโฉ่ในระดับโลก

อย่างไรก็ตาม กระแสความตื่นกลัวต่อซาลาเปาไส้กระดาษกลับคงอยู่ได้ไม่นาน เพราะถัดมาอีกไม่กี่วันทางการจีนได้ออกมาระบุว่า รายงานชิ้นดังกล่าวเป็นรายงานข่าวเท็จ พร้อมระบุด้วยว่า จือเป่ยเจีย ซึ่งเป็นผู้สื่อข่าวนั้นต้องการสร้างชื่อเสียงให้กับตนเองจึงจงใจเสกสรรค์ปั้นแต่งข่าวเท็จชิ้นนี้ขึ้น

ทั้งนี้ทางการจีนระบุว่า หลังจากทำการสืบสวนและสอบสวนพบว่า ในช่วงเดือนมิถุนายนก่อนหน้าที่ข่าวชิ้นนี้จะออกอากาศ จือ วัย 28 ปี ซึ่งไปเก็บข้อมูลเกี่ยวกับข่าวลือ เรื่อง 'ซาลาเปาไส้กระดาษ' แต่ไม่พบหลักฐาน ได้ไหว้วานคนงานก่อสร้างจากมณฑลส่านซี ที่พักอยู่ในเขตเฉาหยางของกรุงปักกิ่ง จำนวน 4 คน ให้มาร่วมเป็นผู้แสดงในรายงานข่าวชิ้นนี้ของเขา โดยจืออ้างต่อคนงานเหล่านั้นว่าจะนำซาลาเปาไส้หมูผสมกล่องกระดาษเหล่านี้ไปเลี้ยงสุนัข ทั้งนี้เขาเป็นผู้ซื้ออุปกรณ์ในการทำซาลาเปาต่างๆ มาด้วยตัวเองทั้งหมด โดยหลังจากเก็บภาพผ่านกล้องวิดีโอที่ซ่อนอยู่ได้แล้ว เขาจึงนำภาพที่ได้มาตัดต่อและใส่เสียงเพิ่มเติมเข้าไป จนในที่สุดนำไปออกอากาศทางรายการดังกล่าวของสถานีโทรทัศน์ปักกิ่ง ในชื่อตอนว่า "ซาลาเปาที่ทำจากกระดาษ"

ผมเองได้ยินข่าวนี้ครั้งแรกเมื่อมีรุ่นพี่ที่เคารพผู้หนึ่งโทรมาบอกเล่าด้วยน้ำเสียงแตกตื่น หนแรกผมไม่ได้ให้ความสนใจอะไรมากเกี่ยวกับข่าวชิ้นดังกล่าวนี้ เพราะระหว่างการใช้ชีวิตในประเทศจีนที่ผ่านมา ผมเคยประสบและได้ยินรายงานข่าวทำนองนี้อยู่บ่อยครั้ง อย่างเช่น ข่าวการวางจำหน่ายนมผงปลอมที่นำไปเลี้ยงเด็กทารกจนเด็กพิการ ข่าวการบุกทลายโรงงานทำถั่วอบกรอบปนเปื้อนสารพิษ ข่าวการนำเศษผ้าเหลือทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรมมาทำเป็นไส้ในของผ้าห่ม ข่าวการผลิตและจำหน่ายยาไวอะกร้าปลอม ฯลฯ

จริงๆ สำหรับคนไทยและนักเรียนไทยที่ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศจีนสักระยะหนึ่งแล้ว เรื่องเหล่านี้นั้นถือกันว่าเป็นเรื่องปกติที่มีการหยิบยกมาพูดคุยเล่นกันอยู่บ่อยๆ บนโต๊ะอาหาร

อย่างไรก็ตาม สำหรับผมแล้วประเด็นข่าวชิ้นนี้ได้กลับกลายเป็นเรื่องน่าสนใจทันที เมื่อต่อจากนั้นไม่กี่วันทางตำรวจปักกิ่งได้ทำการจับกุมจือเป่ยเจียในข้อหานำเสนอข่าวที่เป็นเท็จ โดยทางการจีนระบุว่าหลังการนำเสนอข่าวชิ้นดังกล่าว เจ้าหน้าที่ได้ทำการสำรวจร้านขายซาลาเปาทั่วกรุงปักกิ่งแล้ว แต่กลับไม่พบร้านที่มีการขายซาลาเปาผสมไส้กระดาษแข็งแต่อย่างใด

ที่น่าสังเกตคือคดีดังกล่าวมีพัฒนาการทางกฎหมายที่รวดเร็วยิ่ง โดยในเวลาเพียงไม่ถึงหนึ่งเดือนก็มีข่าวปรากฏออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยวันที่ 18 กรกฎาคม สถานีโทรทัศน์ปักกิ่งออกประกาศในช่วงข่าวค่ำระบุว่า รายงานซาลาเปาไส้กระดาษดังกล่าวนั้นเป็นรายงานเท็จ ขณะที่จือเป่ยเจียก็ทำการรับสารภาพจนนำมาสู่การพิพากษาของศาลปักกิ่งในช่วงกลางเดือนสิงหาคมในที่สุด (อย่างไรก็ตาม คดีนี้จำเลยยังสามารถอุทธรณ์ในชั้นฎีกาได้อีก)

คดีซาลาเปาไส้กระดาษถือเป็นคดีประวัติศาสตร์ เพราะเป็นคดีแรกของจีนที่ผู้สื่อข่าวตกเป็นจำเลยคดีอาญาจากการรายงานข่าวอันเป็นเท็จ ทั้งนี้นอกจากตัวผู้สื่อข่าวเองจะถูกลงโทษแล้ว เจ้าหน้าที่ของสถานีโทรทัศน์ปักกิ่งอีกหกคน ซึ่งก็รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงอย่างโปรดิวเซอร์รายการและบรรณาธิการบริหารของสถานีโทรทัศน์ปักกิ่ง ยังถูกลงโทษทางวินัยขั้นร้ายแรงด้วย เพราะกรณีนี้ถูกจับตาเป็นพิเศษจากทางสำนักโฆษณาการกลางของพรรคคอมมิวนิสต์จีน กรมวิทยุและโทรทัศน์แห่งชาติและกรมสิ่งพิมพ์ข่าวสารแห่งชาติ

โดยส่วนตัวแล้ว ผมมองกรณีข่าวซาลาเปาไส้กระดาษนี้ในหลายมิติ

มิติแรก หากมีการผลิตและจำหน่าย 'ซาลาเปาไส้กระดาษ' เกิดขึ้นจริงและรัฐบาลจีนต้องดำเนินการอะไรสักอย่างเพื่อกลบข่าวชิ้นนี้เสีย เนื่องจากกระแสข่าวได้สร้างความตื่นตระหนกให้กับพลเมืองจีน ทั้งยังสร้างความเสื่อมเสียให้กับประเทศจีนและสังคมจีน ในฐานะผู้ผลิตอาหารเพื่อส่งออกของโลก รวมไปถึงในฐานะเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิก ที่กำลังจะเริ่มขึ้นในห้วงเวลาอีกไม่ถึงหนึ่งปีข้างหน้านี้

ข้อสันนิษฐานดังกล่าวนั้นถือว่ามีความเป็นไปได้น้อย เพราะมีหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า ต้นทุนการทำซาลาเปาไส้หมูผสมกระดาษแข็งนั้นดูจะสูงกว่าการทำซาลาเปาไส้หมูหรือซาลาเปาไส้ผักธรรมดาเสียอีก ซ้ำยังเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเป็นไปได้กับการที่ผู้บริโภคเมื่อได้ลิ้มรสซาลาเปาไส้กระดาษแข็งแล้วจะแยกแยะไม่ออกว่าตนกำลังเคี้ยวอะไรอยู่ นอกจากนี้เมื่อจบคดีอาญาของผู้สื่อข่าวไปแล้วก็ยังมีคดีความตามหลังมาอีกคือการดำเนินการฟ้องร้องทางแพ่งกับสถานีโทรทัศน์ปักกิ่ง ในฐานะเป็นหน่วยงานที่เผยแพร่ข่าวเท็จชิ้นนี้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ก็ใช่ว่าข้อสันนิษฐานจะเป็นไปไม่ได้เสียเลย เพราะข่าวทำนองเดียวกันกับ 'ซาลาเปาไส้กระดาษ' นั้นเกิดขึ้นอยู่บ่อยๆ ในสังคมจีน โดยบางกรณีดูจะร้ายแรงเสียยิ่งกว่าด้วยซ้ำ เพียงแต่ไม่ตกเป็นข่าวในระดับสากลเท่านั้นเอง ทั้งนี้หากข้อเท็จจริงเป็นไปตามข้อสันนิษฐานข้อนี้ก็อาจกล่าวได้ว่ามาตรการการควบคุมการผลิตสินค้าไม่ได้คุณภาพในประเทศจีน รวมไปถึงการควบคุมการแทรกแซงและการครอบงำสื่อของรัฐบาลจีนนั้นตกอยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้ายยิ่ง

มิติที่สอง หากเรื่องนี้เป็นการสร้างข่าวเท็จโดยผู้สื่อข่าวจริงดังที่มีการออกข่าว สิ่งที่น่าเป็นห่วงประการแรกก็คือ มาตรฐานทางจริยธรรมของผู้สื่อข่าวจีน ณ วันนี้นั้นถือว่าอยู่ในช่วงตกต่ำอย่างสุดขีด โดยเหตุการณ์นี้สามารถสะท้อนมาถึงภาพรวมของสังคมจีนได้ว่า ปัจจุบันเพื่อเงินและความก้าวหน้าของชีวิต คนรุ่นใหม่ของจีนนั้นสามารถทำได้ทุกอย่างโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมา

สิ่งที่น่าเป็นห่วงประการถัดมาก็คือ มาตรฐานขององค์กรสื่อมวลชนจีนตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ในกรณีนี้ก็คือสถานีโทรทัศน์ปักกิ่ง ไปจนถึงระดับระดับชาติคือ CCTV ที่จากเหตุการณ์ดังกล่าวพิสูจน์ให้เห็นได้ชัดว่า ขาดขั้นตอนการตรวจสอบข้อเท็จจริงของเนื้อข่าวก่อนที่จะนำเสนอสู่ผู้ชม จนกระทั่งสร้างความวุ่นวาย ความสับสนให้กับคนในสังคมและที่สำคัญที่ให้ประเทศชาติเสียภาพลักษณ์อย่างร้ายแรง

มิติที่สาม คือการเซ็นเซอร์ตัวเองของสื่อมวลชนจีน จากกรณี 'ซาลาเปาไส้กระดาษ' ดังกล่าว รัฐบาลจีนได้ถือโอกาสนี้ออกมากล่าว เตือนให้องค์กรสื่อทั้งหลายในประเทศดำเนินการปรับปรุง "การตรวจสอบภายใน (Internal Supervision)" ให้เข้มงวดขึ้น ทั้งยังทำการขู่ด้วยว่า ในอนาคตสื่อที่นำเสนอข่าวเท็จจะถูกจัดการขั้นเด็ดขาด ขณะที่สื่ออื่นๆ ที่นำข่าวเท็จมาเผยแพร่ซ้ำก็จะต้องรับผิดชอบด้วยเช่นกัน

ที่น่าสนใจก็คือระดับของ "การตรวจสอบภายใน" ของสื่อจีนในอนาคตนั้นจะเป็นเช่นไร ถ้าหาก "การตรวจสอบภายใน" ขององค์กรสื่อดำเนินไปอย่างเหมาะสมก็คงจะดี แต่ถ้าหากการตรวจสอบนั้นดำเนินไปจนเลยเถิดก็อาจเกิดสถานการณ์ที่เรียกว่า การเซ็นเซอร์ตัวเอง (Self-censorship) ขึ้นได้

ทั้งนี้สำหรับสื่อจีนที่แต่ไหนแต่ไรมาถูกรัฐบาลกลางเซ็นเซอร์ข่าวการเมือง รวมถึงข่าวอื่นๆ ในระดับนโยบาย เช่น ข่าวเศรษฐกิจ ข่าวต่างประเทศ อยู่แล้ว สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ ต่อแต่นี้ไปการเซ็นเซอร์จะครอบคลุมไปถึงการนำเสนอข่าวสังคมหรือข่าว เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้วยหรือไม่


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.