|

ค่าย Art for All ห้าพลังรวมเป็นหนึ่งอัจฉริยะ
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
ภาพในฐานกิจกรรม 16 ฐาน ที่กระจายไปทั่วแคมป์ Art for All คนพิการเหล่านี้เบิกบานสำราญใจกับกิจกรรมที่สอนศิลปะที่สร้างสำนึกการอยู่ร่วมกันอย่างให้เกียรติและรู้คุณค่า ท่ามกลางกระแสหลักของสังคมที่ยังตีตราว่าคนพิการคือคนไร้ความสามารถ ไร้คุณค่าประดุจขอทาน
แต่ที่นี่ความร่วมมือร่วมใจกันสร้างสรรค์ศิลปะของคนตาบอด หูหนวกเป็นใบ้ แขนขาขาด ปัญญาอ่อน โดยมีคนใจดีที่เป็นศิลปินนักแสดงนักเขียนระดับชาติไม่ต่ำกว่า 80 คน เป็นครูผู้สอนศิลปะให้ เช่น เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, ประหยัด พงษ์ดำ, ทนง โคตรชมภู ศิลปินที่ใช้ปากเขียนรูป, ศิลปินเกาหลีที่ใช้ทรายสีเขียนรูป, อาจารย์โกวิท ขันธศิริ กับดนตรี ฯลฯ คือปาฏิหาริย์ของการใช้ศิลปะเป็นสื่อกลางเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ซึ่งบ่อยครั้งที่คนพิการได้สอนคุณธรรมที่ว่าด้วยศีล สมาธิและสติ ที่คนปกติคาดไม่ถึงทีเดียว
"ผมว่าคนพิการร่างกายสอนให้เราได้รู้จักการนิ่ง การที่มาอยู่ร่วมแคมป์กันทั้งหมด คนพิการร่างกายจะไปถึงที่หมายก่อนใคร ผมนั่งมองว่าคนกลุ่มนี้รู้คุณค่าของเวลา นี่เป็นความจริงตลอด 11 ปีที่เห็นว่า คนพิการร่างกายจะมาถึงก่อนเวลา แล้วตามด้วยคนอื่นๆ และกลุ่มสุดท้ายเป็นคนที่ไม่พิการที่ไม่เรียนรู้เลย" ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ประธานมูลนิธิ Art for All ให้ข้อสังเกต ขณะที่เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มวิทยากรที่ร่วมสอนเด็กพิการเหล่านี้ได้แสดงความเห็นเสริมว่า
"ใช่...อย่างคนปัญญาอ่อนก็อะไรที่น่าสนใจ เพราะถ้าถามคนปัญญาอ่อนว่าอะไรคือจุดเด่นของตัวเอง ก็ได้คำตอบคือเบิกบาน บางทีเราก็ต้องละวางเหมือนกันเป็นการให้อภัยมนุษย์ เพราะเราจะไม่ถือสาคนปัญญาอ่อน เราก็เอาวิธีนั้นมาปฏิบัติกับคนอื่นๆ ผมว่าเป็นมงคลและเป็นทิพย์อีกทิพย์หนึ่ง"
ส่วนวิกรม กรมดิษฐ์ ที่รวบผม แต่งตัวด้วยเสื้อขาว แขนยาว นุ่งโสร่ง ที่ดูเหมือนจะติสท์มากกว่าศิลปิน ก็ได้มาเยี่ยมชมค่าย Art for All ด้วยและได้กล่าวว่า
"คนพิการเนี่ยมีพลังแฝงอยู่เยอะมาก เพราะว่าวันทั้งวัน เขาไม่ได้ทำอะไรนะ ถ้าเขามีสมาธิแล้ว สมาธิมันก็จะไปเรื่อยๆ แล้วสร้างจินตนาการ ผมเชื่อเหลือเกินว่าถ้ามันมีเครื่องวัดคลื่นสมองของคนพิการนี่ มันจะละเอียดและไปไกลมากมหาศาลเลย เพราะฉะนั้นจะเอามาใช้ได้อย่างไร คลื่นนั้นมันเป็นศิลปะที่ต้องไปจัดการนำเข้ามา"
ห้าวันห้าคืนที่วังรี นครนายก เป็นวันเวลาที่ฐานกิจกรรมทั้ง 16 ฐานต่างครึกครื้นเครง ใบหน้าของผู้พิการที่เปลี่ยนจากหมองเศร้าก็สดชื่นขึ้นดุจดอกไม้บาน เมื่อได้รับแสงตะวัน มือของน้องตาบอดที่ทาบทับใบไม้แล้วอีกมือก็ปาดสีแดงจากพู่กันตามคำสอนของครูสังคม ขณะเดียวกัน เท้าของผู้พิการบนรถเข็นกำลังเกร็งหยิบพู่กันที่ครูสุชาติยื่นส่งให้เพื่อวาดระบายรูป ช่างบีบคั้นอารมณ์ยิ่งนัก นั่นเสียงเพลงรำวงดังมาจากอีกฐานหนึ่ง เสียงโห่ฮิ้วจากคนตาบอดดังกังวานก้อง นำขบวนกลองยาวที่คนหูหนวกน้องพิการตัวเล็กนั่งตีฉิ่งฉาบให้จังหวะบนรถเข็น ผ่านฐานศิลปกรรม น้องคิมเด็กปัญญาอ่อนยืนเอียงคอฟังศิลปินยอดเยี่ยมอย่าง อาจารย์ประหยัด พงษ์ดำ อธิบายการทำงานศิลปะภาพพิมพ์ เป็นเมตตาจิตของอาจารย์ประหยัดที่ร่วมงาน Art for All มาเป็นเวลานานนับสิบปี แม้ปัจจุบันท่านอายุ 73 แล้วก็ตาม เดินระเรื่อยมาถึงฐานเกษตรกรรม นาข้าวจำลองที่สาธิตการปลูกข้าวให้เด็กพิการและผู้เยี่ยมชมได้เรียนรู้ชีวิตและวิถีชาวนา ถัดมาเป็นฐานสวนสัตว์ ภาพเด็กตาบอดกำลังคลำช้าง น่าจะเป็นจินตนาการที่ตื่นเต้น พอๆ กับงูเหลือมยักษ์พาดคอ ขณะที่เสียงหมูสี่ตัวในเล้าและแพะคู่ในคอกส่งเสียงร้องให้ได้ยิน แต่ฐานที่เย็นฉ่ำน่าสบาย คงไม่พ้นสระว่ายน้ำ ที่กำลังแข่งขันกันสองทีมที่มีผู้เล่นเกมแถวละสิบคน แพ้ชนะดูไม่สำคัญเพราะใบหน้าของทุกคนเบิกบานสดชื่น แม้บางคนจะได้แผลไปบ้างก็ตาม
สำหรับ Art for All ภายใต้การบริหารมูลนิธิของดร.ชาญณรงค์ยังต้องพยายามหาทุนและที่ดินเพื่อจัดกิจกรรมเพื่อคนพิการต่อไป ถือเป็นภารกิจที่มีเบญจปาฏิหาริย์อยู่ในตัวอยู่แล้ว
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|