Land Space Design อาร์ติสท์ผู้ปั้นธุรกิจประติมากรรมร้อยล้าน

โดย สุปราณี คงนิรันดรสุข
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

สมศักดิ์ คงนะภักดี และพงษธัช อ่วยกลาง เป็นสองประติมากรยุคใหม่ ที่รู้จักใช้ศิลปะส่องนำทาง และสร้างความพึงพอใจระหว่างชีวิตตนเองกับธุรกิจที่พวกเขาร่วมกันสร้างบริษัท Land Space Design (LSD)

ผลงานประติมากรรมปรากฏตามสถานที่ราชการและบริษัทใหญ่ๆ เช่น การกีฬาหัวหมาก ธนาคารทหารไทย กสิกรไทย ทิสโก้ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ แบงก์ เซ็นทรัลเวิลด์ พลาซ่า ฯลฯ เกิดจากการทำงานหนักของสมศักดิ์ที่สวมหมวกเป็น ประธานบริษัทและพงษธัชเป็นกรรมการผู้จัดการ

วันนี้ทั้งคู่ได้ใช้ความรู้ทักษะ+วัฒนธรรม+คุณค่าของประติมากรรม มา สร้างสรรค์ผลงานจำนวนไม่ต่ำกว่า 50-60 โปรเจ็กต์ สร้างรายได้ไม่ต่ำกว่าร้อยล้านในช่วงสามปีกว่า โดยล่าสุด ไดัรับงานประติมากรรมทั้งหมดในโครงการพื้นที่ศูนย์ราชการกรุงเทพฯ ที่ถนนแจ้งวัฒนะ

"งานนี้เริ่มต้นจากที่เราทำงานร่วมกับอาคิเตคล่วงหน้าเป็นปี โดยเขาจะมีพื้นที่แล้วให้เราดีไซน์ พอได้งานประมูลทีมงานเราก็สามารถทำแบบและผลิตได้เองทั้งหมด เราเป็นประติมากรที่ตอบโจทย์ได้ทุกพื้นที่มากกว่า งานเราจึงค่อนข้างหลากหลายและเยอะขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีความต้องการทางการตลาดค่อนข้างสูง" สมศักดิ์เล่าให้ฟัง

กระบวนการเข้าหาลูกค้าทำได้โดยบางโครงการที่เป็นของรัฐ พงษธัชจะรับหน้าที่บุกตลาดเดินเข้าไปยังพื้นที่เอง และตามหาผู้รับผิดชอบ เพื่อนำเสนอคอนเซ็ปต์งานประติมากรรมที่มีสปอนเซอร์ร่วมให้ทุน เช่น โครงการของการกีฬา แห่งประเทศไทย หัวหมาก

"ผมเห็นพื้นที่ว่างนี้น่านำเสนอ จึงกลับมาเขียนโปรเจ็กต์ โดยผมทำรีเสิร์ช ว่าคนเข้าไปกี่คน ออกกำลังกายกี่คน และประติมากรรมจะมีผลต่อคนที่เข้ามาที่ สนามกีฬาอย่างไร ผลของการทำงานนี้จะไปอิงกับข้อมูลที่เสนอสปอนเซอร์ที่สนับสนุนแต่ละชิ้นงานประเภทกีฬาด้วย มันเหมือนเราหาโอกาสให้เกิดร่วมกันทั้งองค์กรรัฐและเอกชน

จากเดิมเป็นพื้นที่โล่งๆ ไม่ได้บอกชัดเจนว่าพื้นที่เพื่ออะไร เราก็อยากจะสื่อชักจูงคนให้เล่นกีฬา เป็นพื้นที่ออกกำลังกายที่มีความหมายสมบูรณ์โดยเติมประติมากรรมเป็นอาหารสมองและจิตใจเข้าไป ผมใช้เวลาทำงาน 5 เดือนสร้างงานขนาดใหญ่เหล่านี้" นี่คือผลงานโครงการของพงษธัชที่สร้างมิติใหม่ของภูมิทัศน์แห่งนั้น

งานประติมากรรมที่ดีจะต้องสามารถบอกความหมายของพื้นที่นั้นได้ชัดเจน ยกตัวอย่างผลงานประติมากรรม "เงินพดด้วง" ของ ชลูด นิ่มเสมอ ตั้งโดดเด่นอยู่บนลานโล่งกว้างหน้าธนาคาร กสิกรไทย พหลโยธิน ซึ่งอดีตเคยเป็นสำนักงานใหญ่ยุคบัญชา ล่ำซำ เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปัจจุบันงานประติมากรรมชิ้นเอกของชลูด นิ่มเสมอ ชิ้นนี้ถือเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่ามหาศาล

ลูกค้า LSD ที่เป็นผู้บริหารสถาบันการเงินซึ่งเป็นองค์กรธุรกิจที่มีทุนขนาดใหญ่ ก็มีความต้องการงานประติมากรรมสำหรับพื้นที่ภายนอกและภายในอาคาร เช่น ประติมากรรมที่ธนาคารทหารไทย ธนาคารกสิกรไทย ในงานพืชสวนโลกทำเป็นงาน Modern sculpture รูปโขลงช้างที่สื่อ เส้นสายและ space แบบ free form และ geometric form และธนาคารไทยธนาคาร ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ทิสโก้ ฯลฯ

"เราไม่ได้ทำงานแค่กับอาคิเตคและอินทีเรียร์ดีไซเนอร์ แต่บางครั้งยังได้ทำงานร่วมกับซินแสด้วย คือเราต้องซัปพอร์ตหลายๆ อย่าง เช่น กรณีของธนาคารทหารไทย ซึ่งมีลักษณะเป็นพื้นที่ชายธง ซินแสต้องการงานประติมากรรม ในลักษณะเป็นหมุด เพื่อยึดให้ชายธงไม่สะบัด งานของผมทำให้คนในองค์กรอยู่กับมันสบายใจ หรือภูมิใจว่าเป็นสัญลักษณ์ของพื้นที่เขา โดยคอนเซ็ปต์ที่ผมออกแบบ จากโจทย์ที่ลูกค้าต้องการเป็นการรวมพลังของสามองค์กรเป็นหนึ่ง เราเอามาสร้างเป็นคอนเซ็ปต์ตัวงานเสนอ เขาค่อนข้างให้อิสระในการครีเอตแก่เราเยอะเพราะเชื่อถือในความเป็นศิลปินและให้โอกาสเราทำงานที่สอดคล้องกับสิ่งที่เขาต้องการ" สมศักดิ์และพงษธัชร่วมกันเล่าให้ฟัง

ทั้งคู่ต่างเคยมีประสบการณ์ทำงานในต่างประเทศมาแล้ว โดยสมศักดิ์เคยเป็นอาจารย์สอนที่ ศิลปากร และมหาวิทยาลัยกรุงเทพสามปี ก่อนจะลาออกไปทำงานที่เกาหลีใต้ เมื่อกลับมาไทย สมศักดิ์คิดว่า

"งานประติมากรรมกับพื้นที่ในเมืองไทยยังมีความต้องการสูงมาก ผมจึงคิดว่าเราออกมาทำงานให้เห็นจริงเลยจะมีประโยชน์ต่อวงการศิลปะมากกว่าจะสอน"

สมศักดิ์จบจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร และศึกษาหาประสบการณ์เพิ่มเติมที่ฝรั่งเศส 6-7 ปี โดยเริ่มจาก Ecole des Beaux-arts de Valenciennes ต่อด้วยปริญญาตรี (B.F.A.) และปริญญาโท (M.F.A) สาขาประติมากรรม Saint-Danis University (Paris 8) เขาใช้ชีวิตเป็นศิลปินอิสระที่ปารีส ทำให้มีเพื่อนศิลปินต่างประเทศเยอะ เมื่อกลับไทยก็เป็นอาจารย์พิเศษที่ศิลปากร และ อาจารย์ประจำที่คณะศิลปกรรม มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เมื่อลาออกก็ได้รู้จักพงษธัชที่พักอาศัยละแวก เดียวกัน ด้วยความเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องจิตรกรรมศิลปากรที่เคยเห็นกัน สมศักดิ์จึงชวนพงษธัชซึ่งมีฝีมือ ประติมากรรมและเข้าใจสร้างโอกาสทางธุรกิจมาทำงานด้วยกัน โดยโครงการแรกทำให้กับกรุงเทพ มหานครเป็นรูปช้างที่สีลม ส่วนโครงการที่สองทำให้กับการกีฬาแห่งประเทศไทย หัวหมาก จนกระทั่ง เมื่อรับโปรเจ็กต์ใหญ่ขึ้นๆ สถานการณ์บังคับให้ต้องตั้งบริษัทด้วยเหตุผลทางบัญชีและภาษี

"ผมคิดว่าการเป็นประติมากรที่ดีตอนนี้จะเอาแบบศิลปินในวิธีการเดิมๆ ไม่ได้แล้ว ถ้าผมจะเป็นศิลปินในปัจจุบันไม่ใช่อดีต ผมคิดว่าศิลปินต้องรู้วิธีการจัดการทั้งในเรื่องเวลาและงาน ทุกอย่างเปลี่ยนไป ถ้าผมเป็นศิลปินตรงนี้แล้วไปขอกู้ 1-2 ล้าน ผมไม่เชื่อว่าแบงก์จะปล่อยกู้ แต่พอผมทำธุรกิจตั้งบริษัทตรงนี้ ผมได้ทำงานที่ผมรักขณะเดียวกันผมมีเครดิตกู้แบงก์ หรือทำโปรเจ็กต์ต่อไปได้" สมศักดิ์กล่าวขณะที่พงษธัชเสริมว่า

"ทุกคนพอเรียนศิลปะ ก็ไปทำอาชีพทั่วๆ ไป เพราะจุดมุ่งหมายของมหาวิทยาลัยต้องการ ผลิตศิลปินทำงานคนเดียว แต่สำหรับผมจบมาทำงานประติมากรรมเป็นอาขีพ ผมก็ต้องศึกษา สังคม ในกรณีที่ผมต้องกู้แบงก์ก็ต้องรู้ระบบธุรกิจ ต้องซื้อของก็ต้องเชื่อมโยงกับสังคมนอกเหนือ จากงานศิลปะที่ทำ"

เงินรายได้ที่ทั้งคู่หามาได้จากงานที่รัก ทำให้ฝันของพวกเขาในอนาคตที่มีแผนจะไปซื้อที่ดินที่อยุธยา 5 ไร่ ทำโปรเจ็กต์สวนศิลป Sculpture Park และโรงหล่อ ขณะที่ปัจจุบันพวกเขากำลังขยับขยายย้ายไปสร้างออฟฟิศและ workshop แห่งใหม่

"ปัจจุบันเราเป็นผู้ผลิตและดีไซน์ด้วย แต่ในอนาคตเราจะเป็นบริษัทดีไซน์ประติมากรรม ที่สามารถไปทำงานทั่วโลกได้ ซึ่งเป็นโมเดลธุรกิจแบบเกาหลีที่ทำแบบผม เขาทำกันมา 60 ปีแล้ว ซึ่งรับงานทำ public arts ประติมากรรมใหญ่ๆ เกือบทั้งหมด ผมอยากทำงานศิลปะและมีคุณภาพชีวิตที่ดี แค่นี้ผมก็พอแล้ว"

เดือนตุลาคมปีนี้ สมศักดิ์จะเดินทางไปเกาหลีใต้ เพื่อเป็น project sculpture ทำโปรเจ็กต์นิทรรศการประติมากรรมในสวน ร่วมกับศิลปินต่างประเทศ ซึ่งเป็นการสร้างคอนเนกชั่น ในต่างประเทศด้วย

ขณะที่พงษธัชเป็นศิลปินที่สร้างโอกาสและคอนเนกชั่นตั้งแต่สมัยเรียน เขาเคยได้รับทุน จากพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้ทำวิทยานิพนธ์แสดงผลงาน โดยพลเอกเปรมเป็นประธานในงานให้ด้วย และเขาเคยจัดนิทรรศการแสดงงานเดี่ยวของตัวเองที่ญี่ปุ่น ทำให้มีโอกาสได้รู้จัก Chong Fah Cheang ศิลปินชั้นนำในงานนั้นด้วย ซึ่งต่อมาได้มีโอกาสทำงานร่วมกัน

"วันหนึ่งผมฝันว่าจะไปทำงานหรือแสดงงานที่ต่างประเทศ แต่จริงๆ แล้ว เราคิดกลับด้าน กัน ในต่างประเทศเขามีศิลปินเยอะอยู่แล้ว เราต้องไปแข่งขันกับเขาแย่งพื้นที่ในต่างประเทศ ก็ลำบากเหมือนกัน ขณะที่พื้นที่ในประเทศไทยเปิดให้เราทุกอย่าง พร้อมให้เราทำทุกที่ ทำอย่างไรให้งานที่เราคิดกับพื้นที่เปิด เกิดตัวผลงานขึ้นมา แต่ละหน่วยงานเราจะพรีเซนต์ให้ใคร ผมต้องศึกษาในการนำเสนอประติมากรรม" พงษธัชสะท้อนการทำงานของเขาออกมาเป็นรูปธรรมที่มีงานวิจัยรองรับความต้องการและความหมายของพื้นที่นั้น

ความฝันที่จะมี sculpture park และทำรีสอร์ต ศิลปินไว้รองรับลูกค้า ไม่ไกลเกินเอื้อม เมื่อตอนนี้พวกเขามีที่ดินที่อยุธยา 5 ไร่แล้ว ซึ่งส่วนหนึ่งมีเพื่อนศิลปินทำงาน โรงหล่ออยู่และยังมีเพื่อนศิลปินต่างประเทศชื่อดังร่วมด้วย

"ผมคิดว่า เราอาจจะทำโรงเก็บต้นแบบ เราทำงานให้ ศิลปินเยอะมาก แต่ต้นแบบที่เราทำนั้นถูกเก็บรักษาไว้ไม่ดี แต่ในอนาคตถ้าเราสามารถทำโกดังเก็บต้นแบบได้ ก็จะมีงาน ของศิลปินต่างประเทศที่ทำงานกับเราด้วย"

นอกจากงานดีไซน์แล้วสมศักดิ์และพงษธัชยังรับทำงาน Enlargement form Artist หรืองานขยายประติมากรรมจนกลายเป็นงานต้นแบบที่มีขนาดใหญ่ 2-3 เมตรของศิลปิน ที่มีชื่อเสียงทั้งไทยและต่างประเทศ เช่น วันนี้พวกเขาทำงาน ให้กับศิลปินเอกของโลก พอผ่านไป 20 ปี ต้นแบบที่เป็น master piece นี้อยู่ที่เมืองไทย ขณะที่ศิลปินก็มีค่าในตัวเอง สูงๆ ขึ้น

"เราต้องคุยกับศิลปินก่อนว่า เราจะขอเก็บรักษาไว้ได้ไหม เพราะอย่างน้อยมันเป็นเครดิตของเรา เป็นพอร์ตให้เราได้และเป็นความสุขที่เราทำงานจากมือของเรา เราควรรักและดูแลมันด้วย" พงษธัชเล่าให้ฟัง ขณะที่สมศักดิ์ก็มองไปยังอนาคตว่า

"ผมดูว่าถ้าในอนาคตเราแข็งแรงพอ เพราะคอนเนกชั่นที่ต่างประเทศเรามีเยอะพอควร เช่นเพื่อนชาวสิงคโปร์ที่อยากจะมาทำร่วมกันที่เมืองไทย เขาออกแบบทำโมเดล แล้วเราทำงานด้านการผลิต ที่นี่ เช่น ผลงานรูปทรงคลื่นประกอบน้ำพุในสิงคโปร์ และมีประติมากรรมปลาที่มหาวิทยาลัยสิงคโปร์ เป็นโปรเจ็กต์ใหญ่ของ Chong Fah Cheang ศิลปินเอกที่มีชื่อเสียงมากของสิงคโปร์ซึ่งพักที่แคนาดา ชองเคยร่วมทำงานกับเราหลายชิ้น เช่น ประติมากรรมรูปเด็กกระโดด น้ำที่ริมแม่น้ำสิงคโปร์ งานประติมากรรมในสวนที่มาเลเซีย เป็นรูปเด็กอ่านหนังสือ"

ทักษะฝีมือประติมากรไทย LSD ที่สามารถขยายงานศิลปินต่างประเทศ และศิลปินไทยที่มีชื่อเสียงได้จึงสร้างโอกาสทางธุรกิจต่อเนื่อง

"งานของผมจริงๆ ไม่ทำเฉพาะดีไซน์อย่างเดียว แต่รองรับด้านโปรดักชั่นของศิลปินต่างประเทศด้วย เพราะการผลิตงานบรอนซ์ ในต่างประเทศราคาค่อนข้างสูง แต่เขามาเมืองไทยสามารถหาคนสร้างงานเขาในราคาย่อมเยากว่า พอเขามาปุ๊บ ก็ต้องการคนที่มาขยายงานของเขา เช่น เขาทำงานโมเดลออกมาเป็นชิ้นเล็ก ทางทีมผมก็จะรับงานมาขยายโมเดลให้เป็นชิ้นใหญ่ได้ โดยอาศัยทักษะ งานฝีมือด้านระบบหล่องาน ระบบยึด ระบบเชื่อม เราไม่มีปัญหา เพราะมีโรงหล่อเอเซียไฟน์อาร์ต ที่สามารถทำงานขนาดใหญ่ เช่นหล่อพระพุทธรูป 10 เมตรได้ คอยดูแลงานหล่อขนาดใหญ่ได้ ปัจจุบันพระพุทธรูปหล่อเชิงอุตสาหกรรมต้องสั่งวัสดุจากต่างประเทศ มาหลอม"

การขยายงานต้นแบบเป็นขนาดใหญ่ โดยใช้เทคนิคงานหล่อ โลหะบรอนซ์ ทาง LSD มีโรงหล่อ "เอเซีย ไฟน์อาร์ต" ที่อยุธยาเป็นโปรดักชั่นมืออาชีพที่เชี่ยวชาญมากว่า 20 ปี ปัจจุบัน LSD มีช่างปั้นประจำ 5-6 คน จบจากมหาวิทยาลัยสารคาม นอกนั้นก็จะมีนักศึกษารุ่นน้องที่จบมาทำงานที่โรงปั้น ขณะที่สมศักดิ์และพงษธัช ดีไซน์และต้นแบบ ส่วนงานหล่อไฟเบอร์กลาส ทั้งคู่จะหล่อเองได้

วัสดุส่วนใหญ่ในงานประติมากรรมส่วนใหญ่จะใช้บรอนซ์เป็นหลัก เพราะเป็นประติมากรรมกลางแจ้ง outdoor sculpture ส่วนวัสดุหล่อด้วยพลาสติกจะมีต้นทุนสูงมาก นอกนั้นก็มีทองเหลือง หินทรายเทียม เหล็ก สเตนเลส และไม้

"ลิขสิทธิ์ของตัวงานอยู่ที่ศิลปิน ถ้าสมมุติลูกค้าต้องการรูปแบบนี้ไปทำของชำร่วยก็ต้องขออนุญาตก่อน" สมศักดิ์กล่าวถึงทรัพย์สินทางปัญญาไว้ท้ายสุด

เป็นที่น่าจับตาว่า อนาคตโมเดลธุรกิจสมัยใหม่ของสองประติมากรนี้จะบรรลุเป้าหมายเติมศิลปะลงบนพื้นที่ว่างในใจคนและชุมชนไทยสู่ฝันอันยิ่งใหญ่ Sculpture Park ภายในห้าปีข้างหน้านี้อย่างไร?


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.