|
An Oak by the window...วิดีโอออนไลน์ : จุดเปลี่ยนวงการบันเทิงโลก
โดย
ธวัชชัย อนุพงศ์อนันต์
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
วงการวิดีโอออนไลน์กำลังขับเคี่ยวกันอย่างสนุกสนานมากขึ้น เมื่อขาใหญ่วงการบันเทิงและอินเทอร์เน็ตขอเข้าร่วมวงไพบูลย์ด้วยอย่างเต็มตัว ซึ่งจะทำให้ปีนี้เป็นปีที่วงการอินเทอร์เน็ตและวงการบันเทิงกำลังก้าวขาเข้าเกี่ยวกันมากอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และเป็นสัญญาณว่าสองวงการนี้จะกลายเป็นวงการเดียวกันในไม่ช้า
เมื่อผ่านพ้นไตรมาสแรกของปีนี้ กูเกิ้ล YouTube และบริษัทบริวารทั้งหลายต่างก็ต้องเผชิญกับการท้าทายอำนาจครั้งสำคัญในหลายๆ ด้านรวมถึงการรวมตัวของ กลุ่มบริษัท สื่อยุคเก่าทั้งหลายเพื่อฟ้องร้อง รุกคืบเข้าสู่ศูนย์กลางของธุรกิจของกูเกิ้ล และแสดงอาการต่อต้านกูเกิ้ลอย่างชัดเจน ซึ่งแม้แต่ไมโครซอฟท์ซึ่งเคยเป็นที่รังเกียจของ บริษัทอื่นก็กลับเข้าร่วมวงต่อต้านกูเกิ้ลอย่างแนบเนียน ด้วยสาเหตุสำคัญที่กูเกิ้ลและ YouTube เป็นอยู่ในฐานะกลุ่มบริษัทสื่อยุคใหม่
การประกาศจัดตั้งบริษัทวิดีโอออนไลน์ ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง NBC Universal ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่วงการสื่อของ General Electric กับ News Corporation ของรูเพิร์ต เมอร์ดอค ขาใหญ่ตัวจริงของวงการสื่อโลกถือเป็นยุทธศาสตร์ร่วมกันตีของยักษ์ใหญ่เหล่านี้
เช่นเดียวกับ Viacom ที่ได้จับมือแท็กทีมกับบริษัทโทรทัศน์ออนไลน์อย่าง Joost เพื่อจัดหาไฟล์วิดีโอที่ถูกกฎหมายเพื่อให้บริการ ในขณะที่วอลต์ ดิสนีย์ได้ร่วมมือกับ แอปเปิลโดยเฉพาะห้องเพลง iTunes ของแอปเปิลที่กำลังค่อยๆ เพิ่มบทบาทในฐานะเป็นศูนย์กลางไฟล์วิดีโอที่ถูกกฎหมายนอกเหนือจากการเป็นร้านขายเพลงขนาดใหญ่อยู่แล้ว
สำหรับบริษัทร่วมทุนระหว่าง NBC และ News Corporation ซึ่งในอนาคตอาจมีบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างโซนี่และบริษัทอื่นๆ มาร่วมจะทำให้บริษัทนี้นอกจากจะสามารถให้บริการฐานข้อมูลไฟล์วิดีโอขนาดใหญ่แล้ว ยังมีบทบาทในฐานะเป็นหน้าร้านและแหล่งกระจายสินค้าชั้นยอดอีกด้วย และจะทำให้สินค้าที่จะนำเสนอผ่านเว็บไซต์ใหม่ของบริษัท ที่จะจัดตั้งขึ้นมามีช่องทางกระจายสินค้าอีกหลายๆ ทาง ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ของ Yahoo!, AOL ของ Times Warner และ MSN ของไมโครซอฟท์ ซึ่งถือเป็นเว็บ พอร์ทัล (Portal) ที่ใหญ่ที่สุดสามอันดับแรกที่สำคัญจะทำให้บริษัทร่วมทุนแห่งใหม่นี้สามารถเข้าถึงผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเกือบทุกคนในตลาดประเทศสหรัฐอเมริกา
ด้วยยุทธศาสตร์ที่บริษัทร่วมทุนแห่งใหม่นี้จะต้องต่อกรกับ YouTube ทำให้พวกเขามองว่าพวกเขาจะต้องไม่เพียงแต่จับลูกค้า ให้เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ใดเว็บไซต์หนึ่งเป็นการเฉพาะเท่านั้น แต่ลูกค้าควรจะสามารถดูไฟล์วิดีโอได้จากที่ใดๆ ก็ตาม หรือในเว็บไซต์ที่ลูกค้าใช้อยู่เป็นประจำ เหล่าเด็กๆ วัยรุ่นควรจะสามารถโพสต์คลิปวิดีโอในหน้า MySpace ของพวกเขาเอง แม้แต่เหล่าบล็อกเกอร์ที่ใช้บล็อกทั่วๆ ไปก็ควรจะใส่ไฟล์ วิดีโอลงในไดอารี่ของตัวเองได้ พวกเขาควรจะสามารถเอาไฟล์วิดีโอเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการพูดคุย สนทนา ซุบซิบนินทา ในลักษณ์เดียวกับที่ YouTube ให้ทำได้ โดยการให้คะแนนไฟล์วิดีโอและการช่วยกระจาย ไฟล์วิดีโอเหล่านั้นจะเป็นตัวกระตุ้นที่สำคัญ
ความแตกต่างเพียงอย่างเดียวที่ยังเหลืออยู่ก็คือ เนื้อหาทั้งหลายที่นำเอาไปใช้ในที่ต่างๆ จะยังคงเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายเสมอ และรายได้จากโฆษณาจะยังคงอยู่ภายใต้การควบคุมอย่างสมบูรณ์ของเจ้าของเนื้อหานั้นๆ
ในขณะที่วงการวิดีโอออนไลน์เองก็กำลังถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญโดย BitTorrent ซึ่งเป็นบริการแลกเปลี่ยนไฟล์ (File Sharing) แบบ peer-to-peer ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นที่นิยมมากในหมู่ผู้ใช้ที่แลกเปลี่ยนไฟล์ ภาพยนตร์ หรือซอฟต์แวร์แบบผิดกฎหมาย และมีส่วนในการใช้แทรฟฟิค ในอินเทอร์เน็ตค่อนข้างมากนั้น ปัจจุบันนี้ใน BitTorrent ได้เปลี่ยนบทบาท ของตัวเองใหม่ โดยพวกเขาได้ซื้อลิขสิทธิ์ภาพยนตร์จากฮอลลีวูดอย่างถูกกฎหมาย และเปิดให้เช่าและซื้อขายโดยที่ได้แบ่งปันรายได้กับสตูดิโอ เจ้าของลิขสิทธิ์อย่างถูกต้อง
ส่วน Joost เองซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยผู้ก่อตั้ง Skype และ KaZaa โดย KaZaa เป็นบริการเครือข่ายไฟล์แชริ่ง หรือการแลกเปลี่ยนไฟล์ซึ่งเป็นที่นิยมมากในการซื้อขายเพลง ในขณะที่ Skype เป็นบริการโทรศัพท์ฟรีผ่านอินเทอร์เน็ตที่ให้คุณภาพของเสียงสูงกว่าบริการอื่นๆ ซึ่งทั้งสองพันธมิตรในช่วงที่ผ่านมาได้สร้างแรงกระเพื่อมครั้งสำคัญให้กับอุตสาหกรรมเพลงและโทรคมนาคม ดังนั้นเมื่อโครงการร่วมกันที่เรียกว่า Joost ซึ่งเป็นบริการโทรทัศน์ผ่านอินเทอร์เน็ต (Television-over-Internet) ได้ถือกำเนิดขึ้นมา ก็กำลังจะทำให้อุตสาหกรรมโทรทัศน์ ของโลกกำลังจะต้องสั่นสะเทือนครั้งใหญ่ ดังนั้น เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงการใช้ปฏิกิริยาในลักษณ์เดียวกับที่บรรดาสื่อยุคเก่าๆ ทำมาตลอดเมื่อมีเทคโนโลยีใหม่ถือกำเนิดขึ้นมา หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่าเป็นการปรับตัว เพื่อให้สามารถเอาตัวรอดได้ของสื่อยักษ์ใหญ่อย่าง Sony, Viacom และ Turner Broadcasting ก็คือการร่วมเซ็นสัญญากับ Joost เพื่อร่วมให้บริการคอนเทนท์ของตนผ่านบริการใหม่นี้ด้วย
อย่างไรก็ตาม การเติบโตของ Joost ยังต้องอาศัยปัจจัยที่สำคัญ อีกอย่างหนึ่ง คือ ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต หรือไอเอสพีที่เหล่าบริษัทซอฟต์แวร์ทั้งหลายล้วนรอคอยให้โครงสร้างพื้นฐานทางอินเทอร์เน็ตสามารถเติบโตไปถึงระดับที่มากพอที่จะรับส่งข้อมูลขนาดใหญ่ได้ เช่นเดียวกับการจะสามารถถ่ายทอดสัญญาณโทรทัศน์แบบฟูลสกรีนหรือเต็มหน้าจอบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตไปยังคนใช้ตามบ้านได้ โดย Joost ใช้โปรโตคอลแบบ peer-to-peer เพื่อทำ การส่งข้อมูลด้วยอัตราการส่ง 350 เมกะไบต์ ต่อชั่วโมง อย่างไรก็ตาม สำหรับคุณภาพ ของอินเทอร์เน็ตหรือเครือข่ายในปัจจุบันนั้นจะขึ้นกับงานที่ใช้ ณ เวลานั้นๆ โดย Joost มีเป้าหมายที่จะให้มีผู้ใช้บริการของพวกเขาในหลักล้านคนในปีแรกนี้ นั่นหมายความว่า บริการที่ต้องอาศัยแบนด์วิดธ์ของเครือข่ายจำนวนมากอย่าง Joost นี้จะต้องเตรียมการเป็นอย่างดีและต้องอาศัยเหล่าผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตทั้งหลายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อย่างไรก็ตาม หลายๆ บริษัทที่เป็นเจ้าของโครงสร้างพื้นฐานของเครือข่ายและอินเทอร์เน็ต ซึ่ง Joost และบริการอื่นๆ ต้อง อาศัยแบนด์วิดธ์มหาศาลนั้นล้วนยังไม่แน่ใจว่าโครงสร้างพื้นฐานทางอินเทอร์เน็ตของพวกเขาจะสามารถรองรับความต้องการเหล่านั้นได้จริงหรือไม่
แต่เมื่อพิจารณาถึงการที่อินเทอร์เน็ต จะต้องมีศักยภาพเพียงพอที่จะรองรับการส่งผ่านไฟล์วิดีโอขนาดใหญ่ ก็ทำให้เป็นการเปิดช่องว่างทางธุรกิจให้กับบริษัทที่ให้บริการ เครือข่ายที่จะสามารถรับประกันแบนด์วิดธ์และศักยภาพของเครือข่ายนั้น โดยจะเป็นเครือข่ายที่แยกตัวเองออกจากอินเทอร์เน็ต ยกตัวอย่าง เช่น PacketExchange
อย่างไรก็ตาม ความจำเป็นที่จะต้องใช้แบนด์วิดธ์จำนวนมหาศาลสำหรับเว็บไซต์ เกี่ยวกับไฟล์วิดีโอทั้งหลายก็ทำให้หลายๆ หน่วยงานได้เริ่มที่จะบล็อกการเข้าถึงบริการ วิดีโอออนไลน์เหล่านี้ อย่าง YouTube หรือ MySpace บ้างแล้ว เนื่องจากข้อจำกัดของแบนด์วิดธ์ที่พวกเขามีอยู่
ยิ่งเหล่าไอเอสพียิ่งกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ เนื่องจากแอพพลิเคชั่น ประเภท peer-to-peer อย่าง Joost ซึ่งมีผู้ที่ใช้บริการของไอเอสพีเหล่านี้ใช้กันอยู่น้อยกว่า 5 เปอร์เซ็นต์จากสมาชิกของไอเอสพีทั้งหมด แต่กลับใช้แบนด์วิดธ์เกินครึ่งของแบนด์วิดธ์ทั้งหมดที่มีอยู่
ไอเอสพีหลายๆ เจ้าก็พยายามกำหนด ช่วงเวลาที่มีการใช้แบนด์วิดธ์สูงๆ หรือช่วงพีค เพื่อไม่ให้มีการใช้แบนด์วิดธ์ต่อคนมากเกินไป หรือการกำหนดระดับความเร็วในการดาวน์โหลดสูงสุดในช่วงเวลานั้นๆ ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่เป็นเวลาไพร์มไทม์ของสถานีโทรทัศน์ต่างๆ
อย่างไรก็ตาม ถ้า Joost รวมถึงบริการวิดีโอออนไลน์แบบ peer-to-peer ทั้งหลายประสบความสำเร็จจนเป็นที่นิยมในหมู่ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตได้ ก็จะส่งผลให้เหล่า ไอเอสพีทั้งหลายจะต้องปรับเปลี่ยนโมเดลโครงสร้างธุรกิจของพวกเขาเสียใหม่เพื่อมารองรับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่เปลี่ยนไป ยกตัวอย่างเช่น พวก เขาอาจจะต้องกำหนดบริการใหม่สำหรับผู้ใช้ ที่ต้องการแบนด์วิดธ์สูงๆ สำหรับบริการพิเศษ เหล่านี้ ซึ่งแน่นอนว่า ราคาที่จะต้องจ่ายก็จะต้องสูงขึ้นไปด้วย
คำถามต่อมาก็คือ การบล็อกไม่ให้ผู้ใช้บริการเข้าถึงบริการเหล่านี้เป็นเรื่องถูกกฎหมายหรือไม่ ซึ่งรวมถึงบริษัทโทรคมนาคม บางบริษัทที่บล็อกไม่ให้ลูกค้าสามารถใช้โทรศัพท์ผ่านอินเทอร์เน็ตได้ เนื่องจากพวกเขา เกรงว่ารายได้ที่พวกเขาจะได้รับจากโทรศัพท์พื้นฐานแต่เดิมจะลดลงได้
ในอนาคตอันใกล้นี้ดูเหมือนว่าเนื้อหาจากกลุ่มผู้ผลิตคอนเทนต์แบบเก่า แบบมืออาชีพในแบบที่บริษัทสื่อแบบดั้งเดิมเคยทำมา ได้ตลอดจะกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง หลังจาก ที่ YouTube ได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ในวงการวิดีโอออนไลน์ด้วยการให้กำเนิดยุคของ สื่อสมัยใหม่ที่อาศัยเนื้อหาที่มือสมัครเล่นสามารถสร้างขึ้นมาได้เอง
นักวิเคราะห์มองว่า สิ่งที่ YouTube หรือการเติบโตของกระแส Web 2.0 ได้ทำไว้นั้นไม่ได้เป็นการสร้างปรากฏการณ์ที่เป็นผลสะท้อนของภาวะฟองสบู่ของยุคดอตคอมในช่วงทศวรรษ 1990 แต่อย่างใด แม้ You-Tube ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงสังคมและรูปแบบ ประชาธิปไตยในหมู่ประชาชนในลักษณะที่คงทนยืนยาว โดยการทลายกำแพงที่กั้นขวาง ระหว่างความเป็นมืออาชีพกับมือสมัครเล่นออกไปเสีย และทำให้มือสมัครเล่นสามารถเข้าถึงผู้ดูผู้ชมได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังนำเสนอ หน้าร้านสำหรับการแสดงผลงานเหล่านี้ไปยังผู้ชมหลายล้านคนทั่วโลกด้วย แต่สิ่งที่จะไม่สามารถมองข้ามไปได้เลยก็คือ YouTube ไม่สามารถทำให้เนื้อหาของเหล่ามืออาชีพทั้งหลายมีความสนใจและน่าดึงดูดใจน้อยลงไปได้ งานของมือสมัครเล่นจึงเป็นเพียงการมาเติมเต็มสิ่งที่หายไปเท่านั้น
YouTube อาจจะสามารถเขียนชื่อของ ตนไว้ในประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งได้ แต่ไม่ใช่ในฐานะของการสร้างผลกำไรหรือขาดทุนให้กับวงการได้
นับแต่นี้ไปเราคงไม่สามารถกะพริบตา ให้กับการขับเคี่ยวในวงการบันเทิงและอินเทอร์เน็ตที่กำลังดำเนินไปได้ สิ่งที่เราอาจจะพอทำได้ในตอนนี้ก็คือ รอรับสิ่งใหม่ๆ ที่พวกเขาคิดค้นเพื่อแข่งขันและหลุดจากกรอบการควบคุมของอุตสาหกรรมโดยรวม
ที่สำคัญ ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ก็ตาม เราก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของพลังขับเคลื่อนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญนี้ด้วยเช่นกัน
อ่ า น เ พิ่ ม เ ติ ม
1. 'Down the YouTube?,' The Economist, 23 March 2007.
2. 'Overdoing it?,' Technology Quarterly, The Economist, 7 June 2007.
3. Levin, J. (2007), 'What Are We Searching For?,' Slate.com, 3 Aug 2007.
4. Joost, http://en.wikipedia.org/wiki/Joost
5. O'Hear, S. (2007), 'Joost opens to the public-full review,' 20 May 2007, http://www.last100.com/2007/05/20/joost-opens-to-the-public-full-review/
6. Marriott, M. (2007), 'Nothing to Watch on TV? Streaming Video Appeals to Niche Audiences,' The New York Times, 6 August 2007, http:/www.nytimes.com/2007/08/06/business/media/06stream.html?ex=1187755200&en=8ed302abb992b8e9&ei=5070
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|