|

Haier ชื่อที่ทำให้คู่แข่งหนาว
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
สินค้าจีนไม่ใช่จะมองข้ามกันได้ง่ายๆ แล้วในขณะนี้ ลองหลับตานึกดูว่าเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่างๆ รอบตัว มีกี่ชิ้นที่ไม่ได้ตีตรา Made in China ถึงจะมีชื่อเป็นแบรนด์จากยุโรปหรืออเมริกาก็ตาม
หลายคนนึกไกลไปถึงว่า โลกนี้ไม่มีประเทศไหนผลิตสินค้าต่างๆ ได้นอกจากประเทศจีนแล้วก็มี
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า สินค้าจากจีนทำให้เรามีสินค้าใช้หลากหลายขึ้น และที่สำคัญราคาถูกลง
สินค้าจากจีนได้เดินตามรอยสินค้าญี่ปุ่นและเกาหลี ในการก้าวออกไปเติบโตนอกบ้าน หลายๆ บริษัทเลือกไปทำตลาดในอเมริกา ยุโรป ก่อนที่จะกลับมาเอเชีย หรือแอฟริกา บริษัท ไฮเออร์ (Haier) ก็เป็นหนึ่งในบริษัทเหล่านั้น
การเข้ามาในไทยของไฮเออร์ ช่วงแรกคือการเข้ามาทำตลาดโทรทัศน์ โดยขายผ่านช่องทางของกลุ่มเซ็นทรัล เช่น พาวเวอร์บาย บิ๊กซี โดยราคาโทรทัศน์จอแบบ 21 นิ้ว ราคาไม่ถึง 4,000 บาท ในขณะที่คู่แข่งอยู่ที่ 4,500 บาท แต่หลังจากนั้นก็เงียบหายไป แล้วค่อย ตามมาด้วยตู้เย็น ซึ่งเป็นสินค้าสร้างชื่อของไฮเออร์ในต่างประเทศ แต่เข้ามาบ้านเราก็เหมือนกับโทรทัศน์คือเงียบๆ แม้แต่โทรศัพท์มือถือ ไฮเออร์ก็มีเข้ามาจำหน่ายเฉพาะระบบ CDMA ของฮัทช์ ซึ่งเข้ามาเพียงรุ่นเดียวก็เงียบหายไปอีก
ชวี จื้อหลาง กรรมการผู้จัดการ บริษัทไฮเออร์ อีเล็คทริค (ประเทศไทย) บอกในงานแถลงข่าวครั้งล่าสุดว่า ปีนี้บริษัทจะเปิดตัวแบรนด์ไฮเออร์ให้เป็นที่รู้จัก และยอมรับในตลาดเอเชียแปซิฟิก และตะวันออกกลาง ซึ่งได้เลือกไทยให้เป็นฐานในการผลิตสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าสำหรับตลาดใหม่นี้
"บริษัทได้เข้าไปซื้อกิจการบริษัท ซันโย ยูนิเวอร์แซล อิเลคทริค ซึ่งเป็นโรงงานผลิตตู้เย็นที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อวันที่ 1 เมษายน ที่ผ่านมา และไฮเออร์ได้ถือหุ้นใหญ่ 90% พร้อมกับเปลี่ยน ชื่อเป็น ไฮเออร์ อีเล็คทริค ประเทศไทย"
โรงงานแห่งนี้มีกำลังการผลิตตู้เย็นปีละ 2,400,000 ใบ และเครื่องซักผ้าปีละ 200,000 เครื่อง และมีแผนที่จะผลิตเครื่องทำความ เย็นประเภทอื่น เช่น ตู้แช่ เครื่องปรับอากาศ เพิ่มด้วย โดยบริษัทได้ใช้เงินไป 10 ล้านบาท เพื่อทำการพัฒนาตู้เย็นรุ่นใหม่ที่จะเริ่มจำหน่ายได้ในปี 2551
เขาบอกแค่ว่า ตู้เย็นรุ่นใหม่ของไฮเออร์ นอกจากเย็นและประหยัดแล้ว จะมีกลิ่นหอมด้วย ซึ่งต้องรอดูปีหน้า
นอกจากนี้ยังตั้งบริษัท ไฮเออร์ อีเลคทริคอล แอพพลายแอนซ์ (ประเทศไทย) เพื่อดูแลรับผิดชอบด้านการตลาดและการขายให้เป็น ระบบมากขึ้น ซึ่งส่วนนี้มีทวีศักดิ์ เกรียงไกรเกียรติ เป็นกรรมการผู้จัดการและคอยดูแลอยู่
ไฮเออร์มีเรื่องเล่าขานการสร้างแบรนด์ของตัวเองที่ถ่ายทอด ต่อกันมาอย่างภาคภูมิใจก็คือ การที่ผู้ก่อตั้งบริษัท จาง ลุ่ย หมิ่น ทำการทุบตู้เย็นจากสายการผลิตจำนวน 76 ใบ เพียงเพราะว่าผลิตได้ต่ำกว่ามาตรฐาน
ถ้าไฮเออร์ทุบตู้เย็นไม่ถึง 100 ใบก็สามารถปรับปรุงคุณภาพ ได้มากมายขนาดนี้ แต่ก็คงมีบริษัทอื่นๆ ในจีนอีกหลายแห่งที่แม้ว่า จะทุบโรงงานทิ้ง คุณภาพสินค้าที่ผลิตออกมาก็ไม่ดีขึ้น
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|