Mini TCDC เปิดประตูสู่ภูมิภาค

โดย สุปราณี คงนิรันดรสุข
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

การออกเดินทางของ TCDC (ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ) สู่ห้าจังหวัดที่เป็นหัวเมืองสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศ เช่น เชียงใหม่ ลำปาง ขอนแก่น มหาสารคาม และชลบุรี เพื่อโครงการ "Mini TCDC" ถือเป็นการเผยแพร่กระบวนทัศน์เรียนรู้ value creation ที่สร้างโอกาสเข้าถึงแหล่งความรู้ด้านการออกแบบระดับโลกสู่กลุ่มเป้าหมายในภูมิภาคมากขึ้น

หลังจากเดือนพฤษภาคมศกนี้ ได้มีพิธีเซ็นสัญญาลงนามในโครงการ Mini TCDC ระหว่าง TCDC กับสถาบันการศึกษาห้าแห่ง คือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะวิจิตรศิลป์, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาเขตลำปาง สาขาวิชาการออกแบบอุตสาหการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และมหาวิทยาลัยบูรพา ทั้งหมดได้เกิดแรงบันดาลใจและความคาดหวังต่อการเรียนการสอนที่เกี่ยวข้อง กับงานด้านออกแบบในภูมิภาคมากขึ้น อันคาดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อมในท้องถิ่นนั้นๆ ได้เห็นแสงสว่างท่ามกลางความมืด

ยกตัวอย่าง กรณีศูนย์ลำปางของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเพิ่งเปิดใหม่ปี 2548 และมีความกระตือรือร้น ต่อแหล่งความรู้ใหม่ๆ อันเหมาะสมกับลำปาง ซึ่งเป็นเมืองอุตสาหกรรมผ้าทอและเซรามิกที่เป็น craftsmanship ที่มีชื่อเสียงของประเทศมานาน เมื่อ MIni TCDC จัดตั้งที่นี่จึงกลายเป็นแหล่งความรู้สมัยใหม่ที่สำคัญด้านดีไซน์ ที่เป็นทางรอดของอุตสาหกรรม โดยเบื้องต้นในรูปลักษณ์ของตู้หนังสือกับคอมพิวเตอร์ที่ Mini TCDC ที่ได้รับทรัพยากรหนังสือหายากราคาแพงซึ่งอัดแน่นด้วยคุณค่าความรู้ดีไซน์ที่ทันสมัยและตัวอย่างวัสดุไทยที่สอดคล้องกับท้องถิ่น จัดกิจกรรมสัมมนา มีงานอบรม workshop และนิทรรศการหมุนเวียนที่น่าสนใจก็จัดส่ง CD ให้ รวมถึงการเชื่อมโยงข้อมูล สำคัญๆ ผ่านอินเทอร์เน็ต เช่น ห้องสมุดวัสดุเพื่อการออกแบบ ของ Material ConneXion Bangkok ที่บริการฐานข้อมูลวัสดุและช่วยเหลือประสานงานระหว่างบริษัทผู้ผลิตกับแหล่ง จำหน่ายวัสดุด้วย

"เราเปิดหลักสูตรดีไซน์ครั้งแรก และปีหน้าจะเปิด ceramic design เพื่อช่วยคนในพื้นที่ ตอนเราเปิดใหม่ๆ มี ผู้เรียนน้อยมาก เพราะสาขาต้องการทักษะและความสามารถ พิเศษ เราพบปัญหาเวลาอาจารย์สอน ต้องใช้ material เยอะ แต่งบมีน้อย ดังนั้น Mini TCDC ซึ่งให้หนังสือด้านออกแบบ และศิลปะที่มีราคาสูงจึงเป็นประโยชน์สูง รวมทั้งกรณีศึกษา การทำนิทรรศการก็เพิ่มการพัฒนาทักษะของนักศึกษา ที่ขณะนี้เราต้องอาศัยการจัดกิจกรรมพิเศษ เช่น ทำ exhibition ในพื้นที่ชุมชนโดยอาศัยความร่วมมือกับศูนย์เครื่องเคลือบภาคเหนือและศูนย์พัฒนาฝืมือภาคเหนือ" ดร.เดชา สังขสุวรรณ ซึ่งเป็นสมาชิก TCDC เล่าให้ฟัง โดยได้รับการเสริม จากอาจารย์หนุ่ม ผศ.อาชัญ นักสอน ซึ่งกล่าวว่า

"จริงๆ แล้วอุตสาหกรรมพื้นบ้านยังขาดงานดีไซน์ ถ้าลิงค์กับสถาบันการศึกษาจะผลักดันได้เยอะ ความยากอยู่ที่ กระบวนการคิดออกแบบ เรากำลังหาวิธีทำให้เป็น modern ให้ได้ เพราะวัฒนธรรมเราไม่เน้น Creativity Thainess ที่ต้องดีไซน์วัฒนธรรมไทยให้ขายได้ ตอนนี้ผมสอนเด็กให้ใช้ local material โดยอาศัยเครื่อง rapid phototype และ workshop เครื่องกลระดับมาตรฐานจากกรมส่งเสริมอุตสาห-กรรมเครื่องเคลือบดินเผาซึ่งตอนนี้แทบไม่มี value โดนจีนตีหมด ถ้ารัฐเห็นความสำคัญของงานดีไซน์เหมือนสวีเดน เราก็ต้องมี niche ของตัวเอง จะขายแรงงาน OEM ไม่ไหว แล้ว เราก็หวังว่า TCDC จะมาช่วย"

นี่คือจุดเริ่มต้นของแรงบันดาลใจจากการเปิดประตูสู่กระบวนทัศน์เรียนรู้งานด้านออกแบบ ที่นำความคิดสร้าง สรรค์ไปพัฒนาทักษะฝีมือ craftsman ผนวกกับศิลปวัฒนธรรม เป็น value creation economic ได้อย่างแท้จริง มิใช่เป็นเพียงรับจ้างผลิตที่พึ่งพาออเดอร์ทั้งหมด จนประสบปัญหาถูกแย่งงานจากจีนที่มีค่าแรงถูกกว่า เหมือนอุตสาห-กรรมเซรามิกที่ลำปางประสบปัญหาอยู่ ในวันนั้นงานสัมมนา "อนาคตเซรามิคไทย" ซึ่ง TCDC จัดร่วมกับศูนย์ลำปางธรรมศาสตร์ ได้เชิญประธานหอการค้า ประสิทธิสิริ ศรีสกุลชัย และสุปราณี ศิริอาภานนท์ อุปนายกสมาคมเครื่อง ปั้นดินเผา จังหวัดลำปาง มาสะท้อนปัญหาหนักของอุตสาหกรรมเซรามิกลำปางไว้ว่า

จากรุ่นพ่อมาสู่รุ่นลูก เศรษฐกิจเซรามิกลำปางเติบโต เพราะการส่งออก เมื่อค่าเงินบาทลดค่าลอยตัว ปี 2540 คือปีทองเซรามิกลำปางได้เกิดโรงงานใหญ่หลายสิบโรง รับจ้างผลิตจากออเดอร์นอก เช่น Blue&white ของดัตช์ แต่พอปี 2547 เมื่อจีนเข้า WTO และกลายเป็นโรงงานของโลก และสร้างเขื่อนไฟฟ้าและตั้งนิคมอุตสาหกรรมที่สิบสองปันนาที่มีค่าแรงถูกที่สุด รวมทั้งแรงซ้ำเติมจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าเป็น 33 บาทต่อดอลลาร์ ส่งผลสะเทือนต่อรายได้และกำไร ตลอด จนความสามารถในการแข่งขันกับเพื่อนบ้านลดลง สร้างผลเสียหายต่อโรงงานเซรามิกไทยและกิจการทอผ้าลำปางต้องปิดตัวลง ไม่มีออเดอร์นอก ต้องจ่อมจมกับการผลิตของดีไซน์ เก่าๆ เช่น ของชำร่วยและกระปุกออมสิน ซึ่งน่าเป็นห่วงว่าโรงงานเหล่านี้ขาดดีไซน์และเทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้ต้องตกอยู่ในภาวะวิกฤติ

กิตติรัตน์ ปิติพานิช ผอ.ฝ่ายพัฒนาและส่งเสริมการออกแบบ TCDC ซึ่งร่วมเสวนาด้วยได้ชี้ให้เห็นทางออกด้วย creative design ไว้ว่า "ลำปางส่วนใหญ่เป็น OEM original manufacturer ที่ทำสงครามราคา ผมอยากเสนอให้ก้าวกระโดดจาก OEM เป็น ODM (Original Design Manu-facturer) ที่อาจก้าวไปมีแบรนด์ตัวเอง ด้วยเรื่องราวและเนื้อหา โดยไม่ต้องกลัวถูกก๊อบปี้"

เขาพูดพร้อมยกตัวอย่างจตุคามฯ ที่ออกแบบกันมาก ถึง 800 รุ่น มีทั้งเรื่องราว การออกแบบ วัสดุมวลสาร การผลิตและการตลาด งาน platform toy ที่แย่งกันซื้อ หรืองานของ Droog ที่เอาเซรามิกกับงานถักทอมาดีไซน์ร่วมกัน ขวดที่ทิ้งแล้วใช้ทักษะตัดเจียนแบบมีศิลป์ก็ขายได้ขวดเป็นพันก็มี

"ดังนั้นโอกาสที่ผู้ประกอบการใหญ่ กลาง เล็กที่ลำปาง จะเข้าถึงข้อมูลมีหลายช่องทาง หนึ่งในนั้นก็คือ www.tcdc connect.com ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับผู้ผลิต ดีไซเนอร์ นักศึกษา สามารถออนไลน์เชื่อมโยงความต้องการ เช่น จะหาดีไซเนอร์ เก่งๆ จะทำอย่างไร? ขณะเดียวกันดีไซเนอร์อยากจะหาโรงงานผลิตงานเล็กๆ อย่างไร หรือคนรุ่นใหม่จะสร้างแบรนด์ อย่างไร? เราทุกคนจะถูกค้นพบแม้จะเล็กแค่ไหนก็ตาม" กิตติรัตน์นำเสนอบริการใหม่ของ TCDC

แต่ที่น่าสนใจมากสำหรับผู้ประกอบการและนักศึกษา เป็นเรื่องที่ชมพูนุท วีรกิตติ ผู้อำนวยการห้องสมุดวัสดุเพื่อการออกแบบ (MCB) ของ TCDC ซึ่งมีฐานข้อมูลวัสดุ 4,000 ชนิด เธอได้ฉายภาพเซรามิกเพื่อการออกแบบที่มีกระบวน การผลิตแบบใช้พลังงานน้อยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น หนึ่ง-เซรามิกเพื่อการใช้งาน เช่น แทฟรอนเอามาบวกกับพอร์ซเลนเคลือบแบบผง ทำให้ใช้ไฟต่ำ ทนขีดข่วนและทนร้อนสูง

สอง-nano-structured ceramic particulates ซึ่งเป็นเม็ดทรายเล็กมากๆ ที่รวมตัวกันทำให้มีพื้นที่ผิวจำนวนเยอะมาก วัสดุเพียง 7 กรัมจะให้พื้นผิวเท่ากับสนามฟุตบอล สามารถดูดสารพิษและปลอดมลภาวะ

สาม-self cleaning tile ประเภทตึกที่ทาสีที่ใช้ไทเทเนียม ไดออกไซด์ลดแรงตึงผิว ฝุ่นและน้ำไม่เกาะและทำลายแบคทีเรียได้

สี่-digitile เพื่อการตกแต่งเป็นการพิมพ์ลายลงกระเบื้อง โดยใช้ปรินเตอร์คอมพิวเตอร์ธรรมดาพิมพ์แล้วเอาไปเผา ห้า-ceramic wall tiles ที่เป็นรูปแบบทรงเรขาคณิต หก-metal glazed ceramic tiles การเคลือบขอบทองแล้วออกแบบวงจรไว้ในเซรามิก เมื่อกระแสไฟฟ้าเดินก็ก่อให้เห็นดีไซน์ที่แปลกตา นอกจากนี้ชมพูนุทยังแสดง "วัสดุเพื่อการออกแบบของไทย" ที่ได้รับการโหวตจากสมาชิก MCB ทั่วโลกด้วย เช่น บริษัทเซราเปเปอร์ผลิตกระดาษเซรามิกที่สามารถดัดโค้งงอได้ตามดีไซน์, กระเบื้องเผาลำปางไทยซึ่งเด่นจากคุณภาพ, กลาสเซียร่า เป็นแก้วที่ใช้โลหะทองคำอันมีค่าราคาแพง, ไทยเซรามิคที่ส่งประกวด 7 ชิ้น ได้ 5 ชิ้น เป็นโลหะดินเผาลาย motion square, พิมาย, ดอกไม้, water drop และดอกบัว มีการผสมสารที่ทำให้ผิวไม่เป็นเชื้อรา

สำหรับวัสดุประเภทผ้า ปรากฏว่าผ้าทอของกลุ่มดาวรัฐ ที่เกิดจากผลทำงานทุ่มเทของ "ฝุ่น" หรืออุมาภรณ์ จันทร์ศิริโชค กับชาวบ้านหมู่บ้านกิ่ว ลำปาง ซึ่งได้รับเลือกถึง 6 ตัว เช่น ผ้าทอมีกลิ่นหอม ผ้าดัดแปลงจากผ้าทอมือ ผ้าทอจากใยต้นแหย่ง ผ้าบุทำด้วยฝ้าย (ผ้าลูกหลี) ผ้าบุจาก ใยกระทือ ผ้าเปลือกไหม

เมื่อ TCDC และอุมาภรณ์ได้นำสื่อมวลชนเดินทางเข้าไปบ้านกิ่ว ลำปาง ที่อยู่ของกลุ่มดาวรัฐ ซึ่งเป็นต้นกำเนิด แหล่งความคิดสร้างสรรค์วัสดุผ้าทอให้แตกต่างและสามารถสร้างตลาดในต่างประเทศได้ จนไปปรากฏอยู่ในงานออกแบบ ตกแต่งภายในโรงแรมห้าดาวที่มหานครนิวยอร์กจนถึงดูไบ ตัวอย่างของผลงานที่ชาวบ้านกิ่วทำ เช่น กระเป๋า ผ้าทอข้าวเหนียว ที่ผ่านกระบวนการทรีตด้วยวิธีนาโน ทำให้ผ้าทอ ข้าวเหนียวผ่านการซักน้ำได้

"ทั้งหมดของกลุ่มดาวรัฐมีอยู่หลายชิ้นมากใน Material ConneXion เป็นผลงานของคุณป้า คุณน้า คุณยาย ที่ TCDC ทำหน้าที่เหมือนเกตเวย์พาโลกมาให้ใกล้ชิดชุมชน แห่งนี้ และต้องยอมรับว่าเรามีคุณอุมาภรณ์ หรือคุณฝุ่นเป็นสมาชิกคนแรกๆ ของ MCB ซึ่งมาเจอเรา โดยผ่านคุณชมพูนุท ซึ่งเป็นผู้จัดการ MC Bangkok ซึ่งได้ไปดูตัวอย่าง วัสดุที่เป็นผลงานของกลุ่มคุณฝุ่นทำ เราก็ขอให้คุณฝุ่นทำ ตัวอย่างเพื่อส่งไปยังสำนักงานใหญ่ของ MCB ที่นิวยอร์กก็มีดีไซเนอร์และนักออกแบบหลายคนนั่งประชุมกันและคัดเลือกตัวอย่างที่น่าสนใจ ปรากฏว่ากลุ่มดาวรัฐที่นำโดยน้าอัมพรได้รับเลือกเข้าสู่ฐานข้อมูลระดับโลก ไม่ใช่เฉพาะกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่ปรากฏที่นิวยอร์ก มิลานและโคโลญจ์ และผลงานทอบนกี่เป็นเส้นใยผ้าฝ้ายกับโพลีเมอร์ตามคำสั่งของดีไซเนอร์อเมริกันคนหนึ่ง และในอนาคตผลงานออกแบบ นี้จะไปปรากฏในโรงแรมอมารีที่ดูไบ เทียบกับผลงานออกแบบ สิ่งทออื่นๆ นั่นคือสิ่งที่เราทำที่กรุงเทพฯ เราเป็นคนเชื่อมโลก ทั้งโลกเข้ากับหมู่บ้านนี้

ใครจะเชื่อว่า ผลงานตกแต่งภายในโรงแรมห้าดาวที่ดูไบ ซึ่งตอบสนองความต้องการของเศรษฐีน้ำมันที่หรูหรา คือผลผลิตของคุณยายคุณป้าที่อยู่แถวๆ นี้ เราจะไปดู Material ConneXion TCDC สาขาบ้านกิ่ว" ไชยยง รัตนอังกูร ผู้อำนวยการ TCDC เล่าให้ฟัง

เมื่อเดินมุดเข้าใต้ถุนเรือน ก็มีคุณป้าคุณน้านั่งทอกี่ซึ่งมีอยู่สามกี่ เริ่มต้นที่น้าอัมพร หัวหน้ากลุ่มดาวรัฐที่อธิบาย ให้ฟังขณะสาธิตการทอไปด้วยว่า "ตอนทอผ้าฝ้ายแบบที่เคย ทำมาก็จะไม่เหนื่อยเหมือนทอผ้าฝ่ายผสมเอ็นโพลีเมอร์ สิบกว่าวันยังไม่เสร็จ เพราะพอทอๆ ไปเส้นฝ้ายที่ทอขาดเพราะ เอ็นมันคม ก็ต้องใช้ความอดทนเป็นพิเศษและทอกลางคืนไม่ได้เพราะเอ็นมันใส ถ้าผิดก็ไม่ดี จึงต้องทอกลางวันแทนจะได้เห็นเอ็น แต่ก็ทำ"

และที่น่าทึ่งคือ กระบวนการเรียนรู้ที่พัฒนาของชาวบ้านกิ่วที่เห็นได้ถึงการเปลี่ยนแปลงจากเดิมที่เคยทำตามวัฒนธรรมประเพณีที่เคยทำตามกันมา กลุ่มดาวรัฐก็มีความมั่นใจและกล้าคิดสร้างสรรค์ออกแบบใช้วัสดุธรรมชาติมาถักทอด้วยวิธีการทอใหม่ๆ กล้าทอกี่ที่กว้างขึ้นหรือเล็กลงได้ และที่สำคัญกล้าทอกับวัสดุแปลกใหม่ เช่น ทอกับหนัง ทอกับกระดาษ ทอกับโพลีเมอร์ชนิดต่างๆ ทอกับหวายเทียมปนกับผ้า ทอกับสมุนไพรให้กลิ่นหอม ฯลฯ

"ทั้งวันทอได้สามเมตร ตัวกี่ทอที่ขึ้นอยู่ตอนนี้คือ เส้นใยฝ้ายทอกับกระดาษสาที่เป็นสมุนไพรตะไคร้หอม ต้นนี้ เพิ่งลงใหม่หลังจากตัดหมด เขาสั่งมาแล้วเราทำส่งให้เขา สมมุติทำเป็นกล่องกระดาษก็สามารถทอแล้วมาตัดแยกชิ้นได้ เราขึ้น 30 เมตร ถ้าเรามาทำเป็นฝาผนังเราก็ตัดส่วนฝาผนัง กี่เมตร เราก็ตัดแยกออกมาได้ ถ้าเราจะทำเป็นกล่องของชำร่วยโดยใช้เศษของมันได้ ถ้าออเดอร์เข้ามาทีหนึ่งจะเยอะหน่อย แต่ถ้าขายในหมู่บ้านเราต้องออกหาตลาดเอง จำนวน มากที่สุดที่เคยทำ 500-1,000 เมตร ชุดหลังคือผ้าลูกหลีและตัวนั้นทั้งสามอย่างรวมกันก็ประมาณ 500 เมตร รายได้ ต่อเดือนไม่มีออเดอร์มาทุกเดือน ถ้าออเดอร์มาก็ช่วยกันทำ แบ่งกันได้คนละ 3,000-5,000 บาท แต่ตอนนี้คนก็ไปทำนากัน มีอยู่ 5-6 คน ในกลุ่มมี 10 คน เราอยู่จุดนี้อย่างไรเสียเราก็ไม่เข้าถึงข้างใน ไม่มีใครรู้ว่าเราทำตรงนี้ คุณฝุ่นเขาเห็น เขาก็ช่วยประสานงานให้และขยายตลาดให้" บัวผัน แก้วอรุณ สมาชิกกลุ่มดาวรัฐคนหนึ่งเล่าให้ฟัง

บทบาทหน้าที่ของอุมาภรณ์จึงสำคัญในฐานะคนกลาง ที่รู้จักโลกดีไซน์ออกแบบสมัยใหม่และเข้าใจชาวบ้าน และพื้นที่ที่พัฒนาศักยภาพช่างฝีมือพื้นบ้านมาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างได้ ผลงานพัฒนาของอุมาภรณ์นี้ทำให้รองนายกรัฐมนตรี โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ต้องขอดูตัวและแลกเปลี่ยนความคิดพัฒนาชนบทด้วย

"เดิมทีชาวบ้านไม่เปลี่ยนหรอก ถ้าไม่มีคนกลางที่เข้าใจเขาอย่างคุณฝุ่น ซึ่งต้องใช้เวลาพัฒนาถึงเจ็ดปีและอีกหนึ่งปีอยู่กับ TCDC เธอเป็นสมาชิก MCB อันดับแรกๆ ของเรา มันใช้เวลาและความไว้วางใจลงพื้นที่นานกว่าจะได้ผล เราอยากมีแบบคุณฝุ่นเยอะๆ เพราะนี่คือคนรุ่นใหม่ที่เข้าใจโลกและเข้าใจสินทรัพย์ทางปัญญาวัฒนธรรมอย่างดี สามารถ เอาผลงานชาวบ้านไปเสนอต่อโลกยุคใหม่" ชมพูนุท ผอ.MCB กล่าว

อนาคตโมเดลการทำงานของ Mini TCDC อาจจะกลายเป็นแหล่ง design center ในภูมิภาค ในพื้นที่ที่มีศักยภาพด้านออกแบบและรู้จักผลิตสินค้าและบริการ ที่สามารถนำสินทรัพย์ทางวัฒนธรรมและทักษะเฉพาะท้องถิ่น มาสร้างศักยภาพแข่งขันได้ใน creative economy โดยพลังของคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ ผู้รู้จักตัวเองและเข้าใจโลกสมัยใหม่...


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.