"สปา"เดี้ยงทั่วปท.ปิดตัวแล้ว 30% แข่งตัดราคาหนัก-คนใช้บริการน้อย


ผู้จัดการรายวัน(30 สิงหาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

พบสปาไทยทั่วประเทศปิดตัวกว่า 30 % เหตุนักท่องเที่ยวใช้บริการน้อยและแข่งกันตัดราคากันเอง สสว.จับมือ สพว.ยกระดับมาตรฐานสปาไทย พร้อมสร้างแบรนด์แข่งขันกับตลาดเพื่อนบ้าน แทนการแข่งกันเอง

นายธนันธน์ อภิวันทนาพร ผู้เชี่ยวชาญพัฒนาโครงการ สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สพว.) กล่าวถึงความร่วมมือของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) ร่วมกับ สพว.ในการพัฒนาและยกระดับสปาผู้ประกอบการและผู้จัดการของสปาในจังหวัดท่องเที่ยวสำคัญของภาคใต้ ว่า

ที่ผ่านมาสสว.ร่วมมือกับสพว.จัดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการให้แก่ผู้ประกอบการสปาในจังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ และสุราษฎร์ธานี เพื่อยกระดับธุรกิจสปาในจังหวัดท่องเที่ยวที่สำคัญของภาคใต้ ให้มีความเข้มแข็งทั้งทางด้านการบริหารจัดการ การตลาด การพัฒนาบุคลากรในสปา ตลอดจนการสร้างพันธมิตรระหว่างผู้ประกอบการธุรกิจสปาด้วยกัน และที่สำคัญ คือ "Promoting Phuket in the eye of foreign tourist as a major spa paradise" ซึ่งเป็นการระดมความคิดเพื่อผลักดันภูเก็ตให้เป็น Spa Paradise

สำหรับธุรกิจสปาในแง่ของการแข่งขันในตลาดโลก ถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีขีดความสามารถค่อนข้างสูง ซึ่งถือเป็นจุดแข็ง เนื่องจากสปาเน้นเรื่องของการบริการ เป็นเรื่องของการนำภูมิปัญญาหรือวัฒนธรรมมาเป็นจุดขาย รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวที่มาสนับสนุน เนื่องจากสปาเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับภาคการท่องเที่ยวเฉพาะประเทศไทย เพราะนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจะเป็นลูกค้าหลัก 80-90 %

นายธนันธน์ ยังได้กล่าวต่อไปว่า ธุรกิจสปามีความเติบโตสูงสุดเมื่อประมาณ 2-3 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากในช่วงดังกล่าวมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเป็นจำนวนมาก และมีสปาเปิดให้บริการเป็นจำนวนมาก แต่ปัจจุบันพบว่าทั่วประเทศมีการปิดตัวไปเป็นจำนวนมากไม่ต่ำกว่า 30% ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวก็ลดน้อยลง ส่งผลให้เกิดการแย่งชิงนักท่องเที่ยว มีการลดราคาและอื่นๆ เพื่อสร้างแรงดึงดูดให้มีผู้เข้ามาใช้บริการ ทำให้การประกอบการประสบกับปัญหาขาดทุน มีการลดคุณภาพหรือบางรายถึงขั้นปิดกิจการ

"ปัญหาดังกล่าวไม่ได้กระทบเฉพาะการประกอบการแต่ละรายเท่านั้น แต่กระทบในภาพรวมของประเทศ ดังนั้น จึงต้องหาแนวทางในการแก้ปัญหา มิเช่นนั้นเมื่อนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการแล้ว ไม่เป็นไปตามที่มีการประชาสัมพันธ์เอาไว้ ขณะเดียวกันประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม เป็นต้น ก็มีการลงทุนทางด้านนี้ค่อนข้างมาก รวมทั้งรัฐบาลของเขาก็ให้ความสำคัญเช่นกัน ซึ่งหากปล่อยไว้เช่นนี้ สปาที่เคยบอกว่าเป็น Capital of Asia ก็จะไม่เหลืออยู่ในเมืองไทย"

นายธนันธน์ กล่าวต่อว่า จากภาวการณ์ดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการไม่มีทางออก จึงได้มีแนวคิดในการจัดทำโครงการเพื่อพัฒนาและยกระดับสปาไทยขึ้น เพราะปัญหาที่เกิดนั้นไม่ใช่เฉพาะภูเก็ตเท่านั้นแต่เกิดทั้งประเทศ โดยทำใน 3 ด้านหลัก คือ ลดต้นทุน มองโอกาสทางการตลาดใหม่ๆ เพื่อเพิ่มยอดขาย และประสิทธิภาพองค์กร และได้มีการพูดกับสมาคมสปาภูเก็ตและสาธารณสุขจังหวัด ในการวางยุทธศาสตร์เพื่อสร้างแบรนด์ให้แก่ภูเก็ตในตลาดโลก เพื่อจะได้มีการส่งเสริมการทำตลาดที่ถูกต้อง

อย่างไรก็ตาม นายธนันธน์ ยังกล่าวด้วย ปัจจุบันการมาใช้บริการสปาของนักท่องเที่ยวไม่ได้มุ่งหวังเฉพาะการผ่อนคลายเท่านั้น แต่ยังมองว่าเมื่อออกไปแล้วจะมีการเปลี่ยนพฤติกรรมทั้งเรื่องอาหาร วิธีคิดและการดูแลด้านจิตใจ ดังนั้น สปาในวันนี้จึงต้องมีความรู้ ส่งเสริมและยกระดับทั้งแนวคิดธุรกิจ และในแง่ของผู้ให้บริการ ไม่ใช่เรื่องของการนวดไทยเพียงอย่างเดียว

สำหรับการสัมมนาในครั้งนี้หากประสบความสำเร็จ ก็จะนำไปใช้ในส่วนของจังหวัดอื่นๆ ที่มีปัญหาต่อไป ทั้งเชียงใหม่ กรุงเทพฯ และแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ซึ่งหากไม่แก้ไขก็จะกลายเป็นแข่งกันตาย จึงต้องเปลี่ยนแนวคิดใหม่ว่าให้ขายเป็นพื้นที่ เช่นเดียวกับกรณีของการซื้อทองต้องไปเยาวราช ซื้อเสื้อผ้าต้องไปโบ๊เบ๊ เป็นต้น ซึ่งเราบอกว่าเมื่อพูดถึงสปาแล้วต้องมาภูเก็ต เมื่อสามารถสร้างภาพลักษณ์ได้แล้ว ในส่วนของผู้ประกอบการก็ต้องพัฒนาให้สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อเป็นการพลิกฟื้นธุรกิจให้เดินหน้าไปได้

ทั้งนี้ นายธนันธน์ กล่าวตอนท้ายว่า เหตุที่ต้องหวงแหนธุรกิจสปาไว้ เนื่องจากในธุรกิจอื่นเราจะแข่งขันลำบาก แต่อุตสาหกรรมสปานั้นสามารถสร้างมูลค่าได้ตั้งแต่เกษตรกรผู้ปลูกพืชสมุนไพร ค่าจ้างแรงงานดี ผลิตภัณฑ์ที่นำมาใช้ตกแต่งสถานที่ก็มาจากผลิตภัณฑ์ชุมชนหรือโอทอป เจ้าของเป็นคนไทย เมื่อพิจารณาแล้วเรามีแต่ได้กับได้ เพราะฉะนั้นคงปล่อยทิ้งไม่ได้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.