Pipe Dreams


นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

ความละโมบ อัตตา และอวสาน Enron

Enron เคยเป็นบริษัทที่มีเสถียรภาพและทำกำไร จากบริษัทท่อก๊าซเล็กๆ ได้เติบโตอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นยักษ์ใหญ่ด้านพลังงาน และบริษัทที่ใหญ่เป็นอันดับเจ็ดของสหรัฐฯ แต่แล้ว Enron ก็ถึงกาลอวสานภายในเวลาอันรวดเร็ว

Robert Bryce ผู้แต่งซึ่งเป็นนักหนังสือพิมพ์ที่มีชื่อเสียง จึงเขียน Pipe Dreams เพื่อค้นหาว่า เหตุใด Enron ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นฝันที่ยิ่งใหญ่ แต่ในที่สุดแล้วกลับกลายเป็นเพียงฝันสลายตื่นหนึ่ง

ฝันร้ายของผู้ถือหุ้นและบริษัทสอบบัญชี

ผู้ถือหุ้นชาวอเมริกันขาดทุนไปมากกว่า 70 พันล้านดอลลาร์ ในมูลค่าหุ้นของ Enron ในขณะที่ผู้บริหารของบริษัทกลับทำเงินได้หลายสิบถึงหลายร้อยล้านจากการขายหุ้น Bryce ชี้ว่า ระหว่างปี 1998 ถึง 2001 ผู้บริหาร Enron 24 คนรวมถึงกรรมการบริษัทได้ขายหุ้นไปเป็นมูลค่ามากกว่า 1.1 พันล้านดอลลาร์ ยังไม่รวม "เงินเดือนสูงลิ่ว โบนัส และค่าตอบแทนเป็นเงินสดอื่นๆ ที่ผู้บริหาร Enron ได้รับ"

เมื่อครั้งยังรุ่งโรจน์ Enron เคยได้รับการยกย่องว่าเป็นบริษัทที่มีนวัตกรรมดีเด่นที่สุดของสหรัฐฯ ถึง 6 ปีซ้อนจากการจัดของ Fortune เมื่อล่มสลายก็ยังถูกจัดว่าเป็นเรื่องอื้อฉาวครั้งใหญ่ที่สุดที่สั่นสะเทือนถึงวงการสอบบัญชี โดยทำให้บริษัทสอบบัญชี Arthur Andersen หนึ่งใน "5 ยักษ์บริษัทบัญชี" ของอเมริกา ต้องถึงแก่กาลล่มสลายตามไปด้วย

บ่อเงินบ่อทองของผู้บริหาร

Bryce เปิดโปงพฤติกรรมไร้จริยธรรมทางธุรกิจของผู้บริหารระดับสูงของ Enron และเรื่องอื้อฉาวคาวโลกีย์ส่วนตัวของพวกเขา รวมถึงความละโมบและการใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย โดยไม่สนใจกฎพื้นฐานของการบริหารธุรกิจ Bryce พบว่ามีการซื้อเครื่องบิน jet แบบ Gulfstream ใหม่เอี่ยมมูลค่าถึง 41.6 พันล้านดอลลาร์ เพียงไม่ถึง 9 เดือนก่อนที่บริษัทจะล้มละลาย ผู้บริหารคนหนึ่งถึงกับซื้อมอเตอร์ไซค์ราคาแพงถึง 30,000 ดอลลาร์ เพียงเพื่อใช้ตกแต่งออฟฟิศใหม่

ระบบที่อยุติธรรม

ผู้ที่รับเคราะห์หนักที่สุดอีกกลุ่มหนึ่งจากพฤติกรรมฉ้อฉลหลอกลวงของผู้บริหาร Enron คือพนักงานของ Enron เอง Bryce ยังไม่ลืมที่จะเสนอภาพชีวิตหลัง Enron ล่มสลายของอดีตผู้บริหารบางคน ซึ่งเดินจากไปพร้อมเงินหลายล้านในกระเป๋า ในขณะที่ครอบครัวของพนักงานจำนวนหลายพันหลายหมื่นคน ต้องสูญเงินที่สู้อุตส่าห์เก็บหอมรอมริบมาตลอดชีวิต ทั้งนี้ก็เพื่อชี้ให้เห็นถึงความอยุติธรรมของระบบที่เขาเห็นว่า "(เป็นระบบที่) ใช้การไม่ได้แล้ว และต้องปฏิรูปอย่างเร่งด่วน"

เขาจบหนังสือเล่มนี้ด้วยการมองไปที่ Wall Street ว่าได้ลงมือทำอะไรลงไปแล้วบ้าง เพื่อให้การปฏิรูปนั้นเกิดขึ้นจริง ก่อนที่ระบบที่อยุติธรรมจะเปิดช่องให้บริษัทอื่นๆ เดินตามรอย Enron และสร้างความเจ็บปวดแสนสาหัสให้แก่พนักงานเหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับพนักงาน Enron

ข้อเสนอแนะประการหนึ่งของ Bryce เกี่ยวกับการปรับปรุงเรื่องการสอบบัญชีคือ ควรเพิ่มงบประมาณแก่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (SEC) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เขาเห็นว่า "ขาดแคลนทั้งคนและเงินมาตลอด"

งานที่เกิดจากการค้นคว้าข้อมูล

กว่าจะออกมาเป็นผลงานชิ้นนี้ Bryce ต้องค้นคว้าข้อมูลอย่างหนัก เนื่องจากบรรดาผู้บริหารระดับสูงของ Enron ต่างปิดปากเงียบเพราะอยู่ระหว่างถูกฟ้องร้องดำเนินคดี เขาจึงต้องสัมภาษณ์คน 200 คน และรวบรวมข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์กว่า 1,800 ชิ้น อ่านหนังสืออีกเป็นสิบๆ เล่ม รวมถึงบทความในหนังสือพิมพ์อีกนับสิบชิ้น เพื่อให้เข้าถึงแก่นของสิ่งที่เกิดขึ้นกับ Enron จริงๆ ก่อนที่บริษัทจะไม่เหลือแม้แต่ชื่อ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.