มวยนอกตำรา

โดย น้ำค้าง ไชยพุฒ
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

"การเป็นมวยรอง ผลักดันให้เราต้องสู้" เป็นประโยคยอดฮิตที่ธนาใช้ตอบคำถามใครต่อใคร เมื่อถามถึงกลยุทธ์ในการทำการตลาด

การตลาดในรูปแบบที่ธนาบอกว่า สู้จนยิบตา มวยรองทำไม่ดีไม่เสียหาย แต่ทำได้เมื่อไหร่ จะสร้างตำนานที่ยิ่งใหญ่กว่าคนที่เป็นมวยเด่น ดังนั้นไม่ว่าจะเตะซ้าย เตะขวา หลับตาต่อยสะเปะสะปะไร้แบบแผนของมวยชั้นดี แต่หากผลที่ได้น่าพอใจ ถูกฝั่งตรงกันข้ามบ้าง ก็ไม่ผิดอะไรที่จะทำมัน

ทุกวันนี้ธนามักจะรับเชิญไปเป็นวิทยากรในงานสัมมนาทั้งไทยและเทศอย่างน้อย 2-3 ครั้งต่อเดือน และล้วนแล้วแต่ให้เขาพูดถึงกรณี ศึกษาการเป็น "มวยนอกตำรา" ของแบรนด์ "แฮปปี้" ที่เขาปั้นมากับมือเมื่อหลายปีก่อน เพราะถือว่าเป็นต้นแบบของการคิดนอกกรอบทางการตลาดที่ชัดเจนที่สุด

มีคนเคยพูดไว้ว่า "ให้นักการเงินไปทำการตลาด ดูเหมือนจะง่ายกว่าการให้นักการตลาดมาเป็นนักการเงิน" เห็นจะเป็นจริงอย่างนั้น

ธนาเป็นนักการเงินหนุ่มที่จับพลัดจับผลูถูกซิคเว่ เบรคเก้ ซีอีโอ ของดีแทค เห็นว่าจะทำการตลาดได้ดี และการเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนคนหนึ่งที่ไม่รู้ข้อดีของตัวเองมาทำในตำแหน่งและหน้าที่เหมาะสม และการเปลี่ยนแปลงไม่เพียงแต่จะทำให้ไอเดียของคนคนนั้นบรรเจิด แต่ยังเกิดผลงานใหม่ๆ ให้กับบริษัทอีกด้วย จนเป็นที่มาของการโยกย้ายให้เขามาทำในหลายๆ หน้าที่ ตั้งแต่การตลาดแบบเติมเงิน จดทะเบียน ดูบริการเสริม และอื่นๆ อีกมากมาย

แต่หาใช่เพราะแนวความคิดของซิคเว่จะดีอย่างเดียว เพราะด้วยความเป็นคนหนุ่มที่กล้าเสี่ยง และคิดไม่เหมือนชาวบ้าน "คิดอะไรแบบบ้านๆ คิดแบบคนธรรมดา" อย่างที่เขาบอกกับ "ผู้จัดการ" ทำให้ทุกวันนี้ใครๆ ก็รู้จักธนาในฐานะของผู้คิดค้นแผนการตลาดแบบที่ไม่มีในตำราอยู่บ้าง

"เมื่อวานนี้ ขณะที่ผมวิ่งอยู่ อยู่ดีๆ ก็นึกอะไรขึ้นมาได้ ผมเอง เพิ่งเริ่มวิ่งจาก 5 นาที ตอนนี้วิ่งได้ 20 นาทีแล้ว จะไปเท่าคุณซิคเว่ที่ 45 นาทีต่อวันก็ทำได้ยากมาก เพราะ 20 นาทีก็อยู่ที่ประมาณ 3 กิโลเมตร หากจะให้ไปวิ่งมินิมาราธอน หรือที่ 10 กิโลเมตรนั้นค่อนข้างเป็นเรื่องยากสำหรับผม เพราะต้องวิ่งได้ชั่วโมงกว่าๆ และนี่เองเป็นที่มาของไอเดียใหม่ของผม" ธนาเริ่มเล่าไอเดียใหม่ของเขาที่ยังไม่เคยเปิดเผยที่ใด แต่พร้อมจะแถลงข่าวอย่างเป็นทางการในกลางเดือนที่จะถึงนี้

ระหว่างการเดินทางจากบ้านถึงตึกสำนักงานของดีแทค ธนาใช้พื้นที่หลังรถประจำตำแหน่ง คิดพรีเซนต์เพื่อใช้ในห้องประชุมในเช้าวันนั้น

ในห้องประชุมมีผู้บริหารระดับสูงหลายคน ธนาตัดบทชิงขอนำเสนอพรีเซนต์ของตัวเองก่อนจะประชุมเรื่องอื่นๆ เขาเริ่มเล่าเรื่องการวิ่งของเขาและเข้าประเด็นสำคัญที่เกี่ยวโยงกับการทำงาน

"ตอนนี้บริษัทมี target แต่หลายๆ ครั้ง target ค่อนข้างสูง และมักเป็น target ที่ตั้งไว้สิ้นปี แทนที่จะต้องลงมือเพื่อทำให้ target นั้นเป็นจริงทุกวัน กลับบอกว่ารอก่อน มันระยะยาวเมื่อไหร่ก็ทำได้ เมื่อมานั่งคิดดูแล้วผมว่า target เป็นเหมือนกับการวิ่ง อยากจะวิ่งไกลๆ ก็ต้องเริ่มทีละเล็กทีละน้อย เพื่อให้วิ่งระยะยาวได้มากขึ้น และการแข่งขันไม่ยุติธรรม จะโวยวายเรื่องยุติธรรมในการแข่งขันก็คงไม่มีให้เห็น

ผมเลยคิดว่าจะหากิจกรรมที่จะทำให้ทุกคนเข้าใจเรื่องวัฒนธรรมไปในตัวและ apply เข้ากับเรื่องของ target ได้เป็นอย่างดี และการวิ่งนี่เองที่ผมว่ามันเข้าใจง่ายและคล้ายคลึงกับการกำหนดเป้าหมายในระยะไกลได้ดีทีเดียว ผมเลยเขียน present ของผมเรื่อง "Impossible Race" หรือ "การแข่งขันที่เป็นไปไม่ได้"

ธนาบอกว่า ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ปีหน้า ผู้บริหาร 100 คนแรกของบริษัท 80 เปอร์เซ็นต์จะวิ่งเข้าเส้นชัยการแข่งขันมาราธอน 10 กิโลเมตรของบริษัทให้ได้

"พอผมถามคุณซิคเว่ว่า สนใจไหม 80 เปอร์เซ็นต์ที่ว่าหมายถึงอะไร หมายถึงว่าอีก 20 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือคุณไม่ต้องวิ่งถึงเส้นชัย ก็ได้นะ แต่ว่าคุณต้องสนับสนุนให้คนอีก 80 เปอร์เซ็นต์นั้นวิ่งเข้าเส้นชัย อย่างที่ตั้งไว้ให้ได้ เหมือนกับต้องเกาะเขาไปด้วย ต้องมีส่วนร่วม ในที่สุดคุณซิคเว่จะเป็นโค้ชที่จะบอกว่า 80 เปอร์เซ็นต์นั้นคือใครและที่เหลือนั้นคือใครบ้าง ไม่ต้องถามว่ามีใครกล้ายกมือค้านหรือไม่ เพราะ คงมียากนัก สุดท้ายทุกคนก็จะช่วยเหลือกัน ร่วมทำงานเป็นทีม สิ่งที่ผมและคนในทีมจะได้อีกก็คือ มันเป็นการกำหนดเป้าหมายเอาไว้ว่าจะเราจะไปถึงเป้าหมายได้อย่างไร เมื่อกำหนดเป้าหมายทุกคนก็ต้องเปลี่ยนตัวเอง นับเป็น change management ก็ว่าได้ บางทีเราเปลี่ยนบริษัทเราเปลี่ยนแค่ไม่กี่คน แต่ว่ากิจกรรมนี้ทำให้ทุกคนแทบจะต้องเปลี่ยนไปเลย พร้อมทั้งประกาศตัวให้นักข่าวรู้ว่าผู้บริหาร ดีแทคจะแข่งวิ่งมาราธอนอย่างที่ว่า"

"คุณซิคเว่บอกว่าหมู หมูสำหรับคุณซิคเว่ แต่สำหรับเลขานุการ สองคนของคุณซิคเว่แล้วกลับเป็นงานยาก ส่งผลให้คุณซิคเว่เองต้องกลายเป็นโค้ช เพื่อให้เลขานุการของตัวเองเข้าเส้นชัยให้ได้" ธนาบอกแนวคิดนอกกรอบของเขา

นี่คือความคิดนอกกรอบแบบธนา ที่หาไม่ได้จากตำราการตลาด เล่มไหนในโลก ใครจะคิดว่าการวิ่งจะช่วยให้คนทำงานกันเป็นทีมและ โยงไปถึงเรื่องเป้าหมายการทำงานระยะยาวขององค์กรได้ แต่สำหรับ ธนาแล้วขอแค่ให้ได้ออกวิ่งหรือออกเดิน ก็มักมีเรื่องที่หยิบขึ้นมาใช้เป็นกลยุทธ์ทางการตลาดใหม่ๆ ได้เสมอ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.