|
เมืองสำราญ (ของคนดู) ทุกข์หนักของคนทำ
โดย
สมเกียรติ บุญศิริ
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
ถ้าจะเริ่มนับหนึ่งในภารกิจหน้าที่ใหม่ของชาลอต โทณวณิก ในบริษัทมีเดีย ออฟ มีเดียส์ ต้องเริ่มต้นจาก 2 รายการ คือ เส้นทางเศรษฐี ทุกวันเสาร์ และเมืองสำราญทุกวันอังคาร เพราะทั้งสองรายการนี้คือ ผลงานที่จับต้องได้ของผู้บริหารชุดใหม่ที่เข้ามาตั้งแต่ต้นปี
เพียงแค่สองรายการนี้ ชาลอตถึงกับเอ่ยปากเองว่า ปีนี้แค่สองรายการก็วุ่นวายจนไม่ต้องไปทำรายการอื่นแล้ว เพราะว่าเนื้อหาทั้งสองรายการต้องใช้เวลา และทีมงานเกือบหมดบริษัทแล้ว
"หากต้องทำรายการดีๆ ออกมาให้ได้ มันก็ยากที่จะจัดความสมดุลทั้งเงินและกล่อง โดยเฉพาะมือใหม่อย่างเรา แต่บริษัทใหญ่ๆ รายเก่าอย่างเวิร์คพ้อยท์ เจเอสแอล เขาจะรู้ว่าทำอย่างนี้จะโดนตลาดเลยขายได้แน่ แต่ของเราไม่ใช่ ทุกวันนี้ต้องทำให้ดีก่อนแล้วเงินค่อยตามมา ตอนนี้ตั้งใจทำเต็มที่"
นับเป็นโจทย์ที่ยากสำหรับผู้ผลิต ไม่ใช่ว่าเป็นรายใหญ่แล้วจะทำงานได้สบาย คู่แข่งที่แข็งแกร่ง ก็มีอยู่เต็มไปหมด และรายการ ที่ชาลอตดูเหมือนว่าจะห่วงที่สุดก็คือ เมืองสำราญ แม้ชื่อรายการจะเน้นถึงความสำราญ แต่ผู้ผลิตคงไม่สำราญตามชื่อรายการแน่นอน
รายการนี้เป็นช่วงเวลาของบริษัทมีเดียฯ ก่อนที่จะมาเป็นเมือง สำราญ คือรายการมหานคร ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่างเวิร์คพ้อยท์ กับมีเดีย ออฟ มีเดียส์ แต่ในความเป็นจริงแล้วน่าจะเรียกว่า ให้เวลา เวิร์คพ้อยท์ไปทำมากกว่า
"จุดเริ่มต้นของมหานครเป็นช่วงที่ยังไม่ได้ออกมาจากธนาคาร ก็เลยต้องพึ่งพาเวิร์คพ้อยท์ แต่มีการบอกกันล่วงหน้าแล้วว่า ถ้าจะปรับเปลี่ยนรายการใหม่ มีเดียฯ ต้องเป็นคนทำ เพราะเราต้องการจะโต จะไปพึ่งการผลิตของคนอื่นไม่ได้ ต้องฝึกคนของเราด้วย"
นั่นคือจุดเริ่มต้นและจุดจบของมหานคร
รายการมหานครถือเป็นรายการใหญ่ เพราะมีเวลาถึง 2 ชั่วโมง ทุกสี่ทุ่มวันอังคาร ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่รายใหญ่ไม่ต้องการทำเท่าไรนัก เพราะต้องชนกับรายการตีสิบทางช่อง 3 ที่แข็งแกร่งและมีจุดขายชัดเจน
"ตีสิบ" ก็คือรายการ "สี่ทุ่มสแควร์" ของช่อง 7 ก่อนที่วิทวัส สุนทรวิเนตร์ จะย้ายไปปักหลักอยู่ที่ช่อง 3 มาจนถึงทุกวันนี้
การเลิกรายการมหานคร ชาลอตยืนยัน ว่า ตัวรายการไม่ได้แย่ เรตติ้งอยู่ที่ 1-2 แต่ ถ้าหากจะปรับใหม่ก็ต้องใช้เวลานาน และเวิร์คพ้อยท์เองก็มีภาระค่อนข้างมาก การมา ทุ่มกับรายการมหานครอย่างเดียวก็ไม่คุ้ม บริษัทก็เลยขอทำเองดีกว่า
แล้วรายการเมืองสำราญคือ รายการ อะไร ชาลอตให้นิยามว่า คือวาไรตี้ลูกทุ่ง แต่รูปแบบการนำเสนอคือลูกทุ่งบรอดเวย์ เหมือนกับป่าล้อมเมือง
"ทำไมถึงมาเป็นลูกทุ่ง ตอนเข้ามาก็หาเลยว่าอะไรที่เป็นจุดแข็ง ของมีเดีย ออฟ มีเดียส์ บอกจริงๆ ตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาทำในปี 2549 บอกกับตัวเองเลยว่ามีเดียฯ มีแต่ความชำนาญเรื่องลูกทุ่ง ไม่เคยคิด มาก่อนในชีวิตเลยว่าจะต้องมาทำลูกทุ่ง แต่พอเข้าไปและต้องทำรายการเองสักรายการ สุดท้ายก็ต้องดึงจุดแข็งของมีเดียฯ ออกมา"
ชาลอตย้ำด้วยว่า พนักงานส่วนใหญ่ของบริษัทมีความเชี่ยว ชาญเรื่องลูกทุ่ง กลายเป็นว่า CEO กับ MD ต้องปรับตัวให้เข้ากับทีมงาน ว่ามีจุดเด่นอะไร และจะดึงตรงนั้นมาได้อย่างไร พร้อมกับใช้ทฤษฎีบลู โอเชี่ยน (Blue Ocean) คือหาตลาดใหม่ และกลุ่มคนดูใหม่ๆ โดยมีแนวคิดสมมุติฐานว่า คนดูบางกลุ่มที่ไม่ได้นอน หรือกลุ่มที่เปิดโทรทัศน์ทิ้งไว้ ฟังเสียง ตรงนี้ก็อาจจะเป็นกลุ่มใหม่ บางคนบอกว่าคนต่างจังหวัดนอนเร็ว แต่จริงๆ แล้วก็ไม่ได้นอนเร็วขนาดนั้น หรือนอน 3 ทุ่มทุกคน รวมกับเวลาที่ส่งต่อมาจากละคร ถ้าหากว่ามีรายการที่ดีก็จะดูอย่างต่อเนื่อง
เธอเชื่อว่า คนดูรายการเดิม ยังไงก็ดูอยู่แล้ว เพราะฐานคนดู ของช่อง 7 เรตติ้งอยู่ที่ประมาณ 1-2 เป็นธรรมดา แต่เราจะทำให้มันเพิ่มได้ คนดูเดิมไม่ได้ห่างไกลกันไป เดิมเป็นบันเทิง แต่เราปรับเอาการแข่งขันเข้ามา โดยผนวกรายการลูกทุ่งไทยแลนด์ที่ประสบความสำเร็จอยู่ในโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม เหมือนกับ 2 รายการมารวมกัน ซึ่งสามารถต่อยอดให้ไปทำกิจกรรมการตลาดให้ลูกค้าได้ สปอนเซอร์เห็น ก็จะชอบ เพราะเงินที่จ่ายในโฆษณาแล้วยังได้กิจกรรม อื่นๆ เพิ่มด้วย
ถ้าถามว่ารายการเมืองสำราญนี้ ชาลอตทุ่มเทแค่ไหน ก็เพียง แค่ลงไปดูการบันทึกรายการ ซึ่งเป็นการดูแบบเอาจริงเอาจัง นั่งหน้า จอมอนิเตอร์ พร้อมๆ กับฝ่ายผลิตเพื่อดูภาพรวมของรายการ และยังลงมือขายโฆษณาของรายการนี้เองด้วย
ก็บอกแล้วว่า เมืองสำราญ ทำให้ผู้ผลิตเครียดตลอดเวลา
"รายการเมืองสำราญยังต้องดูว่าเป็นอย่างไร เพราะตอนนี้เป็นช่วงที่สปอนเซอร์กำลังเข้า เราคิดว่าอย่างน้อยๆ ที่สปอนเซอร์เข้ามาสัก 70% ในเบื้องต้น เราก็โอเค ใหม่ๆ ขายยาก เพราะคนยังไม่รู้ สินค้าบางตัวกลัวว่ารายการลูกทุ่งจะมีผลต่ออิมเมจอะไร แต่พอเปิดตัวคนเริ่มเห็นชัดเจนแล้ว ภาพออกมาเป็นอย่างไร ก็เริ่มเข้ามีการสรุปลูกค้าหลายราย ลงไปคุยเอง ขายเองด้วย"
ถึงจะทุ่มเทอย่างเต็มที่ทุกด้าน แต่สุดท้ายหากประเมินแล้วพบว่า รายการนี้ยังไม่ "โดน" จะทำอย่างไร
"ไม่ว่าจะทำออกมาดี หรือคิดสร้างสรรค์ขนาดไหน แต่โฆษณา ไม่เข้าก็ต้องปรับรายการใหม่ แต่เมืองสำราญนี้เราผลิตเองคนเดียว ความคล่องตัวสูง เผื่อมีอะไรก็ปรับได้ แต่ไม่ใช่ว่าแย่ทั้งรายการ ขึ้นอยู่กับว่าจะไปปรับส่วนไหนแค่นั้นเอง ถ้าเราดูช่องอื่นรายการใหญ่ๆ จะอยู่มานาน แต่ละรายการก็มีผู้ชมของตัวเอง ในส่วนของเมืองสำราญ หากเกิดอะไรขึ้น เราก็เลือกที่จะปรับ" นี่คือความชัดเจนของชาลอต เกี่ยวกับนโยบายการทำรายการ
ส่วนรายการที่สองคือ เส้นทางเศรษฐี ทุกวันเสาร์ เป็นรายการ เศรษฐกิจที่เข้าทางชาลอตมากที่สุด อาจจะส่วนหนึ่งมาจากการเป็นนักการเงิน นักการธนาคาร จึงสามารถมองเห็นภาพเศรษฐกิจที่ชัดเจน และอธิบายได้
"เป็นความตั้งใจส่วนตัว ตั้งแต่ออกจากธนาคารมา ยังไม่เห็น มีรายการเศรษฐกิจดีๆ ก็เลยตั้งใจว่าต้องทำรายการเศรษฐกิจชาวบ้าน ให้ได้ พอได้เวลาสี่โมงเย็นวันเสาร์ แล้วรายการอื่นส่งคนดูมาตั้งแต่ คดีเด็ด ปลดหนี้ จ้อจี้ คือต้องดูตลอดเวลา ฐานผู้ชมเป็นอย่างไร แต่เมื่อจะทำรายการเศรษฐกิจ ก็ต้องปรับจนในที่สุดให้ดูเป็นชาวบ้าน แต่ต้องให้เขาเข้าใจ และได้อะไรไปบ้างในการดูครั้งหนึ่ง"
รายการนี้เกิดขึ้นเพราะความชอบส่วนตัวโดยแท้
ความจริงรายการเศรษฐกิจกับชาลอต แทบจะเป็นของคู่กันมาตั้งแต่สมัยที่อยู่ธนาคาร เพราะรายการเศรษฐกิจทั้งโทรทัศน์ วิทยุ หากไม่ได้ความเห็นของชาลอตเกี่ยวกับการเงิน ดอกเบี้ย ออกรายการ ถือว่ายังไม่เป็นรายการเศรษฐกิจ เพราะเธอเป็นผู้ที่ให้คำอธิบายได้ชัดเจน และที่สำคัญหาตัวง่าย หมายเลขโทรศัพท์มือถือไม่เคยเปลี่ยน
ชาลอตเคยทำรายการ ล้านเจ็ดเศรษฐกิจ ทุกคืนวันอาทิตย์ ทางช่อง 7 และรายการเงินทองของง่าย ทางช่อง 7 อีกเช่นกัน ทั้งสองรายการคือเศรษฐกิจที่อธิบายง่ายๆ ไม่ซับซ้อน โดยร่วมผลิตกับกลุ่มเนชั่น แต่สุดท้ายทั้งสองรายการก็หลุดจากผัง ซึ่งชาลอตอธิบาย ว่าทั้งสองรายการไปได้ดี เพียงแต่ว่า สถานีต้องการเวลากลับไปบริหารจัดการใหม่ เพื่อจัดทัพสู้กับคู่แข่ง
ความสนใจในเรื่องรายการเศรษฐกิจของชาลอต ทำให้เธอยินดีที่จะลงลึกในรายละเอียดเกี่ยวกับเนื้อหาของรายการ ในช่วงที่ทำรายการเงินทองของง่าย สคริปต์ที่เกี่ยวกับเรื่องราวการประกอบอาชีพ หรือเยี่ยมชมตลาด ชาลอตจะขอดูสคริปต์ก่อนลงมือตัดต่อทุกครั้ง เพื่อจะได้ทราบรายละเอียดและข้อมูลที่จะนำเสนอ แม้แต่รายการเส้นทางเศรษฐีก็เช่นกัน ชาลอตยังคงดูสคริปต์เช่นเดิม
"รายการนี้คิดว่าค่อนข้างทำสำเร็จ การตอบรับของสปอนเซอร์ อย่างน้อยก็สร้างความมั่นใจให้ได้ เพราะคนส่วนใหญ่เชื่อว่า จะไม่มีรายการเศรษฐกิจทางช่อง 7"
ความรู้สึกของผู้บริหารมีเดีย ออฟ มีเดียส์ กับรายการนี้แตกต่างกับรายการเมืองสำราญอย่างสิ้นเชิง
รายการเส้นทางเศรษฐี คือความร่วมมือของหนังสือพิมพ์มติชน ที่มีหนังสือเกี่ยวกับการประกอบอาชีพ และเอสเอ็มอี ในชื่อเส้นทางเศรษฐี ซึ่งเป็นนิตยสารที่ได้รับความนิยมในกลุ่มผู้ที่ต้องการตั้งตัว และเป็นหนังสือต้นแบบของนิตยสารเล่มอื่นที่ออกตามหลังมา
ชื่อรายการที่นำชื่อนิตยสารมาตั้ง ก็เหมือนว่ามีฐานคนดูจากกลุ่มผู้อ่านนิตยสารมาแล้วส่วนหนึ่ง ที่เหลือก็คือฝีมือของมีเดีย ออฟ มีเดียส์ ที่จะปรุงแต่งรายการให้เรียกคนดูได้มากแค่ไหน
แต่ดูแล้วชาลอตรู้สึกสบาย สบาย กับรายการนี้ เพราะอย่างน้อยก็เป็นแนวทางที่ถนัด และชัดเจนว่าต้องการขายอะไร
"รายการเส้นทางเศรษฐีเปิดมาก็กำไรเลย ด้วยตัวสปอนเซอร์หลักที่เข้ามา อย่าเรียกว่ากำไรเลย เรียกว่าผ่านจุดคุ้มทุนดีกว่า และ เหลือสปอตที่ขายจะเป็นกำไร รายการนี้ไม่ห่วง"
ส่วนรายการอื่นก็เป็นงานเก่าที่ผู้บริหารเดิมทำได้ เช่นรายการ เด็ก การ์ตูน ก็ปล่อยไปตามวิถีของมัน เพราะทุกอย่างลงตัวอยู่
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|