|
ชาลอต โทณวณิก Take 2 ของชีวิต
โดย
สมเกียรติ บุญศิริ
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
การเข้ามารับบทประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มีเดีย ออฟ มีเดียส์ ของชาลอต โทณวณิก ก็เปรียบเหมือนกับดาราดังๆ ที่จะต้องมีสักครั้งหนึ่งที่พลิกบทบาทการแสดงของตัวเองรับบทแปลกๆ ที่ไม่เคยเล่นมาก่อน เพื่อแสดงให้เห็นว่ามีฝีมือและความพยายามอย่างสูงในการสร้างความสุขให้กับผู้ชม
บทเดิมที่เธอชำนาญ และแสดงบทเดียวมานานกว่า 10 ปี และคนทั่วไปคุ้นชินก็คือ บทของนักการเงินที่มีผลงานออกมาให้จับต้องได้ ผ่านการบริหารธนาคารกรุงศรีอยุธยา ซึ่งถือว่าเป็นธนาคารเก่าแก่ของไทย และมีความเป็นระบบครอบครัวสูง ชาลอต โทณวณิก ทำได้ดีในบทของนักการเงินที่มีส่วนผสมของการตลาด ทำให้ธนาคารกรุงศรีอยุธยามีความเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ด้าน ทั้งภาพลักษณ์ การทำธุรกิจ และกลายเป็น Retail Banking แห่งแรกๆ ก่อนที่ธนาคารอื่นจะเริ่มทำตาม
แต่ขณะนี้เธอขอยุติบทบาทของนักการเงินเอาไว้ก่อน เข้ามาบริหารบริษัทผลิตสื่อบันเทิงที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย บทใหม่ของเธอคือ การผลิตรายการบันเทิงที่หลากหลาย เพื่อให้เข้าถึงผู้ชมให้ได้มากที่สุด และต้องสร้างรายได้กลับมาให้บริษัทได้เป็นกอบเป็นกำเช่นกัน
บทคนทำสื่อของชาลอต โทณวณิก เริ่มต้นขึ้นแล้ว และกำลังจะพิสูจน์ให้เห็นว่า เธอตีบทคนทำสื่อแตกหรือไม่
ระบบธนาคารในบริษัทสื่อ
"ค่อนข้างโชคดี เพราะทางคณะกรรมการ หรือทางผู้ใหญ่ค่อนข้างที่จะเข้าใจ เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะได้รับมาตลอดในช่วง 4 เดือนที่อยู่มาก็คือบอกว่าให้เลิกคิดเรื่องเงิน ผู้ใหญ่เข้าใจว่าอยู่กับตัวเลขมาตลอด จะกลายเป็นข้อจำกัด เหมือนกับว่าไปตีกรอบตัวเองว่าต้อง ได้ทั้งเงินทั้งกล่อง ผู้ใหญ่เลยบอกว่าเลิกคิดเรื่องเงินไปก่อน ทำของออกมาให้ดี เงินจะค่อยตามมาทีหลัง ส่วนเรื่องเงินก็ให้ทางฝ่ายการเงินดูไป"
ชาลอตเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังถึงความ เปลี่ยนแปลงของตัวเอง ที่ไม่ต้องเข้ามายุ่งเกี่ยว เรื่องของการเงินอีก ทั้งๆ โดยประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญของเธอ ต้องดูเรื่องการเงินให้มาก ถึงจะมีความเอื้อเฟื้อจากผู้ใหญ่มาเช่นนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถทิ้งเรื่องการเงินไปได้ง่ายๆ เพราะอย่างน้อยความ เคยชินและประสบการณ์ที่ผ่านมา ก็ควรจะเป็นประโยชน์กับบริษัทใหม่บ้าง
สิ่งที่เธอทำก็คือ การนำระบบการประเมินความเสี่ยงของธนาคารมาใช้กับการผลิตรายการของมีเดีย ออฟ มีเดียส์ เพื่อให้ทราบต้นทุน และจุดคุ้มทุนที่แท้จริง โดยมอง จากสายตาของนักการเงิน นายธนาคาร ที่มีต้นทุน และกำไรมาเป็นตัวชี้วัด ไม่ได้มองในมุมของนักสร้างสรรค์รายการ ซึ่งมุมมองแบบ หลังนี้ ว่ากันว่าเป็นความคิดที่สวนทางกัน
"นำระบบของธนาคารมาใช้มากเหมือนกัน ช่วงแรกเลยก็มานั่งดูบัญชีก่อนเลย ในปีที่แล้วว่าอะไรมันตัดลดได้ ตรงนั้นทำให้ตัวเบาลง แล้วก็ใช้วิธีวัดผลแต่ละรายการก็ต้องดูว่าจุดคุ้มทุนอยู่ตรงไหน สมมุติฐานที่ดีที่สุด ธรรมดาที่สุด และเลวร้ายที่สุดคืออะไร และถ้าเลวร้ายที่สุดเกิดขึ้นมีผลกระทบ ตรงไหน"
ชาลอตบอกด้วยว่า คนที่ทำรายการแต่ละรายการ โปรดิวเซอร์ ทีมงานก็จะคิดภาพของงานแต่ละชิ้น แต่เธอจะเป็นคนที่ดูภาพรวมของงานว่า งานที่ออกมาจะเป็นอย่างไรทั้งในแง่ที่ประสบความสำเร็จกับล้มเหลว ผลกระทบต่อผู้ถือหุ้นมีอย่างไร หรือต้องหารายได้ส่วนไหนมาเฉลี่ย
เธอยอมรับว่า ต้องพิจารณาเรื่องการเงินเป็นตัวหลักด้วย แม้จะถูกบอกตลอดมาว่าอย่าคิดถึงเรื่องการเงิน แต่ถึงอย่างไรก็ยังต้องนำมาใช้ ถึงผู้ใหญ่จะให้โอกาสบอกว่าเลิกคิดเรื่องการเงินไปก่อนก็ตาม
เมื่อรายการเริ่มเข้าที่เข้าทาง หน้าที่ของเธอก็ต้องกลับมาดูแล้วว่า เมื่อใช้เงินเต็มที่เพื่อให้รายการออกมาดี แล้วหลังบ้านหาเงินมาให้พอใช้หรือไม่ ซึ่งหลังบ้านที่พูดถึงก็คือทีมการตลาดที่ต้องออกไปขายรายการให้กับผู้สนับสนุนรายการ และเป็นหัวใจหลักของการทำรายการ โทรทัศน์
"สุดท้ายก็ต้องออกไปขายของเอง" ชาลอตอธิบายเพิ่มเติม เพราะล่าสุดเธอไปพบลูกค้าผู้สนับสนุนรายการเมืองสำราญด้วยตัวเอง ซึ่งมีแนวโน้มที่ดีว่าลูกค้าที่ออกไปพบให้ความ สนใจกับรายการที่เธอทำขึ้นมา
การที่ต้องออกไปพบลูกค้า หรือออกไปขายโฆษณาด้วยตัวเอง ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่สำหรับชาลอตมากนัก เพราะหากมองย้อนกลับไป ชาลอตเคยนั่งเป็นที่ปรึกษาของฝ่ายการตลาด สถานีโทรทัศน์ช่อง 7 มาก่อน ซึ่งงานส่วนนั้นแม้จะเป็นแค่ที่ปรึกษา คอยแนะนำทีมขายโฆษณา แต่ก็ให้โอกาสในการเรียนรู้งานโทรทัศน์ไม่น้อยทีเดียว
"เข้าไปเป็นที่ปรึกษาด้านการตลาดให้กับช่อง 7 ตั้งแต่ปี 2545 เข้าไปดูส่วนที่เป็นหัวใจของสถานี นั่นก็คือส่วนของการขายเวลา ทำให้เข้าใจว่าเขาทำการซื้อขายเวลาโฆษณากันอย่างไร"
จากจุดนั้นทำให้เกิดความเข้าใจระบบการขายโฆษณาของสถานีโทรทัศน์และอาจจะเป็นโชคดีที่ช่อง 7 ยังคงเป็นช่องอันดับหนึ่งที่เจ้าของสินค้าส่วนใหญ่เลือกจะใช้เงินในการโฆษณา สินค้า หรือบริการ และทำให้เกิดความสัมพันธ์ต่อเนื่องมาจนถึงบริษัทมีเดีย ออฟ มีเดียส์ จึง ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีประธานบริษัทออกไปพบลูกค้า เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่น
เช่นเดียวกับเมื่อตอนที่ทำงานธนาคาร แม้ว่าจะไม่ต้องออกไปพบลูกค้า เหมือนกับการ ขายเวลา แต่จุดมุ่งหมายของการทำธนาคารกับรายการโทรทัศน์ก็ไม่แตกต่างกันมาก นั่นคือทำให้ลูกค้าพึงพอใจในบริการ และซื้อบริการที่เสนอขายไป
แต่ก็มีส่วนที่แตกต่างกันระหว่างลูกค้าของธนาคาร และช่อง 7 โดยลูกค้าธนาคารกรุงศรีอยุธยา ก็คือ กลุ่มที่ทำธุรกิจต้องพึ่งพาอาศัยธนาคารเป็นหลักในหลายๆ ด้าน การพูดคุย ก็อีกลักษณะหนึ่ง แต่ที่แน่ๆ คือ ลูกค้าเข้าใจ ง่าย คุยกันรู้เรื่อง
ส่วนของช่อง 7 เอง หากมองที่กลุ่มผู้ชม แน่นอนว่าต้องเป็นฐานที่กว้างที่สุด ก็คือกลุ่มชนชั้นกลางลงมา โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัด การเจรจาหรือทำสินค้าเพื่อตอบสนองคนกลุ่มนี้ก็ต้องอีกแบบหนึ่ง
ภาษานักธุรกิจกับภาษาของเกษตรกรคงไม่ใช่ภาษาเดียวกัน
มีคำพูดของนักการธนาคารระดับตำนานของบ้านเราคนหนึ่งบอกว่า หากต้องการสบาย ให้ขายคนรวย แต่ถ้าอยากรวย ต้องขายให้คนจน
มีเดีย ออฟ มีเดียส์ กับชาลอต โทณ-วณิก ต้องเลือกแล้วว่า ต้องการสบาย หรือต้องการรวย
Management Trainees
สายตรงผู้บริหารใหม่
ปรากฏการณ์ใหม่ของการนำแนวคิดบริหารธนาคารมาใช้กับบริษัทผลิตสื่อ ก็คือการจัดโปรแกรม Management Trainees เพื่อสร้างผู้บริหารระดับกลาง ซึ่งจะเป็นตัวเชื่อมต่อระหว่างพนักงานกับผู้บริหาร รวมถึง เป็นการสร้างเลือดใหม่ให้กับบริษัทในยามที่มีการผลัดเปลี่ยนผู้บริหาร
ชาลอตบอกว่า แนวคิดนี้นำมาจากซิตี้แบงก์ ซึ่งเธอเคยร่วมงานที่อเมริกา ระบบการคัดสรรและฝึกฝนผู้บริหารระดับต้นของซิตี้แบงก์เป็นที่ยอมรับ และบุคคลภายนอกรู้จักกันดี รวมทั้งมีหลายๆ องค์กรนำไปปรับใช้ และมีเดีย ออฟ มีเดียส์ ก็ทดลองใช้เช่นกันในโครงการ Management Trainees ที่เริ่มต้นเมื่อกลางปีที่ผ่านมา
"ระบบ Management Trainees รับเด็กที่จบระดับไฮเอนด์เลย ทั้งในและนอก รุ่นแรกมีอยู่ 4 คน ซึ่งเรารู้สึกว่าทั้ง 4 คนนี้เป็นความสำเร็จ เพราะว่ารับมาแค่ 2-3 เดือน มีการพัฒนาเร็วมาก คือสามารถสารพัดใช้ ได้ ถึงจะเป็นระดับฝึกหัด แต่มีศักยภาพทำอะไรก็ได้"
การคัดเลือก Manage-ment Trainees รุ่นแรกเน้นไปที่ลูกหลานของคนที่รู้จัก คือ รู้จักตั้งแต่ต้นทาง คือ พ่อแม่ เพราะอย่างน้อยก็รู้ว่าพื้นฐานของเด็กแต่ละคนเป็นอย่างไร เท่ากับเป็นการคัดคุณสมบัติรอบแรก
สำหรับ Management Trainees รุ่นแรก ประกอบด้วย ผอร มีคุณเอี่ยม หรือตอง จบปริญญาตรีด้านกฎหมายจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ปริญญาโท สาขาบริหารการจัดการ มหาวิทยาลัยเซอเรย์ ประเทศอังกฤษ
ชาลอตเล่าให้ฟังว่า งานแรกของเขาก็คือ ร่วมทีมกับช่อง 7 นำเนื้อหารายการไป ขายต่างประเทศ ด้วยความที่ใช้ชีวิตเมืองนอกมาระยะหนึ่ง ทำให้มีความคล่องตัว ไปถึงก็ทำงานของเขาทันที โดยมีพี่เลี้ยงที่อาวุโสไปด้วยกัน ก็สามารถทำงานได้เลย จากนั้นไปญี่ปุ่น เบื้องต้นเลยเขารู้กฎหมาย สามารถทำธุรกรรมด้านสัญญาได้ ตอนนี้ก็ไปช่วยงานกรรมการผู้จัดการในเรื่องของต่างประเทศ
คนที่สอง คือ นลินา มณฑา หรือนิ้ม จบปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แล้วก็ไปจบปริญญาโท (เกียรตินิยมอันดับสอง) สาขาโฆษณาและการตลาด มหาวิทยาลัยลีดส์ ประเทศอังกฤษ ชาลอตเห็นว่า มีบุคลิกที่คล่องแคล่ว ก็ให้มาทำงานด้านประชาสัมพันธ์ก่อน จากนั้นค่อยหมุนเวียนตำแหน่งในแผนกอื่น แต่สุดท้ายก็ไม่ได้หมุน เพราะองค์กรกำลังโต และต่อไปองค์กรประชาสัมพันธ์จะมีความสำคัญมากขึ้น
คนที่สาม ชนินทร์ ธนชัยอารีย์ หรือเมฆ จบปริญญาตรีนิเทศศิลปบัณฑิต สถาบันศิลปะ และการออกแบบ มิลวอคกี ประเทศสหรัฐอเมริกา ชาลอตบอกว่า เมื่อรับเข้ามาก็ได้ทำรายการ ใหม่ เริ่มงานก็ลงมือเลย และบอกเขาว่าคิดไปเลยให้สุดๆ เท่าที่อยากจะทำ แล้วเราค่อยให้พี่ๆ ค่อยปรับแต่งอีกครั้งหนึ่ง
คนที่สี่ อรรคภัสร์ สุขศรีวงศ์ หรือหลุยส์ จบปริญญาตรีบริหารธุรกิจ เอกโฆษณามหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และศึกษาต่อวิชาภาษาและวัฒนธรรมจีน จากมหาวิทยาลัยนานาชาติเจ๋อเจียง หางโจว ประเทศจีน เธอให้ความเห็นว่า เป็นคนชอบขายของและไปทำงานในจีนมาสองปี ก็เลยให้ลงทางด้านการตลาด
ชาลอตมีวิธีการคิดเกี่ยวกับการใช้ระบบนี้ในบริษัทว่า อย่าไปคิดว่าพวกนี้ทำงาน ปีสองปี ก็ไปแล้ว บางบริษัทไม่อยากรับเสียเวลาเรียนรู้และสอนงาน เดี๋ยวก็ลาออก แต่เราต้องคิดว่า เมื่อเขาอยู่ เราใช้อะไรเขาได้ ต่างคนต่างได้ ไม่มีใครเสียฝ่ายเดียวหรอก และเราก็พร้อมที่จะให้เขาเต็มที่ สิ่งที่เขาให้เราก็เต็มที่เหมือนกัน
เธอยืนยันว่า โครงการนี้ประสบความสำเร็จ และตัวเธอเองก็มีความสุขที่ได้พิสูจน์ให้องค์กรเห็นว่าโครงการนี้ดี ส่วนรุ่นต่อไปจะเปิดรับอีกหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับปริมาณงานของบริษัทว่าเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน และไม่ได้เจาะจงว่าต้องรับลูกหลานคนรู้จัก ที่มีประวัติการศึกษาดีเท่านั้น เป็นเพียงแค่ตัวอย่างที่ทำให้เห็นเท่านั้น
ผสมผสานของเก่า และของใหม่
"ตั้งแต่ปี 2549 พนักงานบางส่วนก็แยกออกไปอยู่กับผู้บริหารเก่า พนักงานที่เหลือ อยู่เป็นพวกที่ทำงานโอเปอเรชั่นมากกว่า องค์กรที่เป็นผู้ผลิตรายการจะต้องมีพนักงานในส่วนของ front หรือพวกความคิดสร้างสรรค์ มากหน่อย และมีตัวสำนักงานคอยสนับสนุน แต่พนักงานที่เหลือร้อยกว่าคน เป็นพวกสนับสนุน แต่เรามีนโยบายไม่ต้องการลดคน ไม่ต้องการให้เกิดปัญหาเรื่องทัศนคติ เราก็รักษาพนักงานเอาไว้"
ชาลอตบอกด้วยว่า อาจจะโชคดีในช่วงที่เข้ามา เหมือนกับว่าพนักงานจะตั้งรับมากกว่า ไม่ได้มีแรงต่อต้าน เขาตั้งรับว่าผู้บริหารใหม่ จะเป็นอย่างไร และการเข้ามาไม่ได้มาเป็นกองทัพเข้ามากันแค่ 2 คน คือเธอ และธงชัย ชั้นเสวิกุล และทีมงานจาก BBTV อีก 4-5 คน ช่วงแรกก็มีข่าวลือลดคน ปลดคน แต่ก็ไม่มี พนักงานก็เห็นว่าผู้บริหารใหม่ มีความตั้งใจที่จะทำให้บริษัทเดินไปได้ ดังนั้นเขาก็พร้อมที่จะเดินไปด้วยกัน
"ปีนี้กับปีก่อนต่างกันมาก เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว พูดกันตรงๆ ว่า หากมีรายการใหม่เข้ามา ยังไม่รู้ว่ามีปัญญาทำหรือเปล่า ตอนนั้นมองไม่เห็นภาพเลยว่าเรามีบุคลากรที่มีความสามารถมากน้อยแค่ไหน" นี่คือภาพที่ชาลอตเห็นก่อนที่จะเข้ามารับงานบริหารอย่างเต็มตัว
แต่วันนี้เธอมีความมั่นใจมากขึ้น เพราะเริ่มทำรายการเมืองสำราญที่สามารถทำออกมาได้อย่างมืออาชีพ ถือว่าตอนนี้พร้อม แต่ถ้าได้รายการใหญ่มาอีกก็ต้องหาคนเพิ่ม เพราะทีมงานผลิตที่มีอยู่ไปให้ทำรายการอื่นๆ หมดแล้ว และพร้อมถึงระดับหากมีทีวีสาธารณะมาที่ไม่จำเป็นต้องกำไรมากมาย มีเดียฯ เต็มใจที่จะทำ เพราะต้องการที่จะพัฒนาคน
แน่นอนว่า การเข้ามาของทีมผู้บริหารชุดใหม่ ไมใช่จะเรียบร้อยไปทั้งหมด เพราะพื้นฐาน ของทีมใหม่ที่มาจากระบบธนาคารและองค์กรใหญ่ กฎระเบียบต่างๆ ก็ต้องตามมาด้วย เพราะ ธรรมชาติในการทำงานแตกต่างกัน
"อาจจะมีปัญหาในเรื่องของสไตล์การทำงานมากกว่า เพราะมาจากสถาบันการเงินดูแลเรื่องการตรวจสอบ ทำอะไรค่อนข้างจะเป็นระบบ แต่ในส่วนของพนักงานเดิมจะทำงานเกี่ยวกับศิลปะ ความคิดสร้างสรรค์ และในวงการนี้จะไม่ค่อยมีระบบ ก็เลยต้องมาคุยกันว่ารูปแบบที่เราอยากเห็นเป็นอย่างไร พนักงานก็ปรับตัวกันมาค่อนข้างเยอะ"
ชาลอตไม่ได้อธิบายว่า การปรับตัวค่อนข้างมากของพนักงานเดิมเป็นอย่างไร แต่ก็มีกระแสข่าวในวงการผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ถึงความเปลี่ยนแปลงในบริษัทนี้ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะเรื่องรูปแบบการทำงาน
โดยธรรมชาติของฝ่ายผลิตรายการ ตั้งแต่โปรดิวเซอร์ ครีเอทีฟ เจ้าหน้าที่ควบคุมเจ้าหน้าที่ตัดต่อ คงถามหาระเบียบและกฎเกณฑ์จากคนกลุ่มนี้ได้น้อย เพราะพวกเขาจะมองไปที่ปลายทางของงานคือ งานออกมาต้องดีที่สุด ส่วนระหว่างการทำงาน จะเป็นอย่างไร ไม่ต้องสนใจ ผิดระเบียบบ้าง ละเมิดข้อตกลงบ้าง ก็ถือว่าไม่เสียหาย
ในทางกลับกัน หากนำระบบของธนาคารและรูปแบบของช่อง 7 มาใช้ ก็ต้องบอกว่าแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง พนักงานธนาคารคือตัวแทนของธนาคารที่ต้องพบปะสนทนากับลูกค้า จึงต้องดูดี เรียบร้อยเป็นระเบียบ และลักษณะงานก็เอื้ออำนวยให้ทำได้อยู่แล้ว
ส่วนงานของฝ่ายผลิตรายการ ก็คือคนอยู่ข้างหลัง ไม่ต้องพบกับผู้คนมากเท่าไรจึงไม่ต้องมีภาพลักษณ์หรือเป็นตัวแทนของบริษัทมากนัก
แต่ทั้งหมดก็ไม่ได้หมายความว่าแตกต่างจนเข้ากันไม่ได้ เพราะมีทางออกหลายทางให้เลือกรื้อแบรนด์ MoM ใหม่
ขบวนการทั้งหลายที่เกิดขึ้น ชาลอต บอกว่าเหมือนกับการ Rebranding บริษัทมีเดีย ออฟ มีเดียส์ ใหม่อีกครั้งหนึ่ง และเชื่อว่ายากกว่าการ Rebranding ธนาคารกรุงศรีอยุธยาที่ผ่านมือเธอมาแล้ว
"ครั้งนี้ยากกว่าธนาคารกรุงศรีอยุธยา เพราะว่าธนาคารมีภาพเดิมแค่ความไม่ทันสมัย แต่ความเป็นสถาบัน ความน่าเชื่อถือยังมีอยู่ แต่ในตัวของมีเดีย ออฟ มีเดียส์ เป็นปัญหามาแต่ดั้งเดิมก่อนเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการ ภาพลักษณ์ก็ยังติดอยู่ บางคนยังไม่รู้เลยว่าทุกวันนี้ บริษัทไม่มีหนี้แล้ว สื่อบางทีก็ยังไม่รู้เลย คือต้องบอกว่าบริษัทไม่มีหนี้แล้ว และต้องมาพร้อมกับ Look ที่ดูทันสมัย และการที่จะให้คนทราบว่าจริงๆ แล้วมีเดีย ออฟ มีเดียส์ เป็นอย่างไร มันยากกว่ามาก"
สิ่งที่ต้องสร้างขึ้นมาใหม่ก็คือ ความน่าเชื่อถือ โดยเฉพาะกับสปอนเซอร์ ซึ่งต้องรู้เลยว่า เมื่อซื้ออะไรในบริษัทแล้ว จะได้รับการดูแลในสินค้านั้นอย่างดี หรือได้รับเท่าที่เราบอกเขา หรือมากกว่า ตรงนี้เป็นจุดสำคัญ อีกประการหนึ่งก็คือ ต้องทำของดี คุณภาพ ที่ออกมาจะต้องดี
ด้วยประสบการณ์ที่ทำการ Rebrand-ing ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ทำให้เกิดความมั่นใจว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกมันเป็นไปได้ เพียงแต่ว่าจะเร็วจะช้าเท่านั้นเอง บริษัทมีเดีย ออฟ มีเดียส์ ด้วยความที่เป็นบริษัทที่ผลิตคอนเทนต์ แบรนด์ต่างๆ ไม่ได้อยู่ที่ตัวผู้บริหาร แต่สุดท้ายภาพของแบรนด์จะมาจากรายการ หรือสิ่งที่นำเสนอออกไป สิ่งที่คาดหวังก็คือ กลุ่มคนดูทั้งเก่าและใหม่ๆ เอเยนซี่ ลูกค้าจะซึมซับไปเลยว่า บริษัทมีเดีย ออฟ มีเดียส์ คือตรงนี้เป็นอย่างนี้
ภาพใหม่ที่จะสร้างขึ้นมาให้กับมีเดีย ออฟ มีเดียส์ ยุคใหม่ ชาลอตบอกว่า ต้องการ ภาพของการเป็นผู้ทำธุรกิจบันเทิงแบบครบวงจร ซึ่งศักยภาพของเงินทุน สามารถที่จะไปลงทุนทำอะไรได้อีกมากมาย แม้แต่ในการประชุมผู้ถือหุ้น ก็มีผู้ถือหุ้นถามว่ามีเงินสดในมือมากขนาดนี้ ทำไมไม่ทำอะไรให้เกิด
บันเทิงครบวงจรในความหมายก็คือ มีทุกอย่าง ทั้งโชว์ จัดกิจกรรม ทำภาพยนตร์ ผลิต ละครเวที โดยดูทิศทางว่าไปทางไหน หรือแม้กระทั่งโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม เคเบิลทีวี หากรัฐบาลเปิดก็พร้อมที่จะลงทุน เพราะเคยทำมาก่อน
"การเป็นผู้ให้บริการแบบครบวงจร ไม่ใช่จะต้องทำทั้ง 10 อย่างภายในเวลาเดียวกัน เราต้องดูทิศทาง เพราะว่าเทรนด์ของธุรกิจบันเทิงเปลี่ยนตลอดเวลา"
เป็นครบวงจรแบบมีเงื่อนไขเวลามาเกี่ยวข้อง
การปรับเปลี่ยนครั้งนี้ ชาลอตเชื่อว่าจะทำให้บริษัทแข็งแกร่งขึ้น พร้อมที่จะทำรายการได้หลากหลาย อย่างน้อยก็สามารถเป็นตัวหลักให้กับบริษัทแม่อย่างช่อง 7 ได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องไปแข่งขัน หรือแย่งเวลาจากผู้ผลิตรายอื่น เพราะคนในธุรกิจนี้มองว่าบริษัท แข็งแรงแล้ว จะไปแย่งงาน หรือแย่งเวลาของเขาหรือไม่ จุดนี้ทำให้ช่วงแรกที่เธอรู้สึกโดดเดี่ยว แต่จากนั้นก็พยายามเข้าไปคุย ทำความรู้จัก ทำความเข้าใจ ให้ผู้ผลิตรายอื่นเห็นว่าไม่มีนโยบาย ที่จะแย่งเวลาใคร และเวลาที่ได้ทำ ก็เป็นเวลาเก่าของบริษัท
วิธีการที่ผู้บริหารใหม่ทำก็คือ เดินสายคุยกับทุกราย ทั้งผู้ผลิต เจ้าของสถานี โดยการพบปะ ไม่เน้นการพบแบบเป็นทางการมากนัก นัดกินข้าว หรือคุยกันสบายๆ มากกว่า ทำให้เห็นตัวตนและเข้าใจบริษัทมากขึ้น และยังเป็นการหาช่องทางใหม่ๆ ในการร่วมลงทุน หรือเป็นพันธมิตรกันได้ และผลที่ออกมาก็ได้พันธมิตรอย่างเวิร์คพ้อยท์กลับมาช่อง 7 อีกครั้ง ในรายการชิงร้อย ชิงล้าน และรายการมหานครที่เพิ่งถอดรายการ
แต่ที่สำคัญคือ การได้มาของเวลาสถานีไม่ใช่บริษัทเป็นผู้กำหนด แม้แต่ช่อง 7 เองก็ตาม จึงเป็นช่วงของการพิสูจน์ฝีมืออีกครั้งว่า มีเดีย ออฟ มีเดียส์ ยุคใหม่จะมีฝีมืออย่างไร
"ในปีนี้ เรายังไม่มีผลงานที่ให้เห็นฝีมือ ความเป็นตัวตนของมีเดียฯ อย่างแท้จริง จึงคิดว่าทำในช่อง 7 ให้เห็นก่อน สมมุติว่าทำรายการเมืองสำราญ หรือเส้นทางเศรษฐีออกมาดี เรตติ้งดี ใครๆ ก็พูดถึง คนก็ต้องคิดว่าถ้าเขาต้องการทำแบบนี้ เขาก็จะเลือกให้บริษัททำเหมือนกับช่องอื่น ยังไม่เคยเห็นมีเดียฯ ในยุคใหม่ ฝีมือจะอยู่ระดับไหน คิดว่าพอเขาเห็นในปีนี้ ปีหน้าก็จะเป็นช่องทางที่จะเสนอรายการไป"
ได้เวลาตีบทผู้ผลิตสื่อให้แตก
การที่เป็นนักการเงินมานานกว่าสิบปี เมื่อเปลี่ยนพื้นที่การทำงานใหม่ ก็ยังมีภาพลักษณ์เดิมติดมา ซึ่งชาลอตยอมรับว่า ทุกวันนี้ก็ยังแยกไม่ออกระหว่างการเป็นนักการธนาคารกับผู้ผลิตสื่อบันเทิง
ขณะเดียวกันสายธนาคารก็ยังเหมือนมีภาพติดอยู่ คนทั่วไปก็ยังถามความเห็นในเรื่องเศรษฐกิจอะไรกันอยู่ และยังเขียนคอลัมน์ เกี่ยวกับเศรษฐกิจในนิตยสาร เรื่องของการตลาดและการเงิน ดังนั้นภาพมันก็ยังผสมอยู่ คนส่วนใหญ่ก็จะสับสนกับภาพ เหมือนมีทั้ง 2 ภาพอยู่ในคนเดียวกัน
"บางครั้งข่าวสารที่ออกไป ก็ยังไม่ได้บอกว่าออกมาอยู่บันเทิงเต็มตัว คนก็ยังมองภาพเป็นนักการเงินอยู่ค่อนข้างมาก แต่คน ในวงการบันเทิงโดยเฉพาะคนที่อยู่ในแวดวงนี้ ก็จะเห็นเป็นผู้ผลิตสื่อบันเทิงด้วย ส่วนใหญ่คนทั่วไปยังไม่รู้ว่าย้ายมาทำตรงนี้"
การที่ผู้คนทั่วไปยึดติดภาพเดิมเมื่อสมัยอยู่ธนาคาร ทำให้ชาลอตกลายเป็นสัญลักษณ์ของธนาคารไป และเมื่อมาที่มีเดีย ออฟ มีเดียส์ จะซ้ำแนวเดิมอีกหรือไม่ เธอบอกว่าเป็นความเสี่ยงอย่างมากที่แบรนด์จะไปอยู่ในคนที่ไม่ใช่เจ้าของ มาที่ใหม่ก็พยายาม ที่จะไม่ให้ตัวเองเป็นแบรนด์ คือแบรนด์ต้องเป็นมีเดีย ออฟ มีเดียส์ ตอนนี้พยายามทำอยู่ แต่ว่ายังไม่หลุด บางครั้งส่งต่อให้กรรมการผู้จัดการเป็นคนพูดบ้างก็มี
แต่เธอก็เห็นว่า ไม่ต้องไปปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์อะไร เพราะภาพของนักการเงิน เป็นภาพที่เป็นคนอยู่ข้างหน้า เป็นเหมือนโฆษกธนาคาร เป็นผู้ให้ความเห็น ผู้ให้ข่าว แต่ในวงการบันเทิง เป็นเบื้องหลังมากกว่า ก็ไม่ควรที่จะต้องไปออกหน้าออกตาบ่อยครั้งนัก ให้วัดจากตัวผลงานดีกว่า ก็คิดว่าสิ่งที่ต้องทำก็คือสร้างผลงานจากตรงที่ทำงานอยู่
ส่วนความพึงพอใจในผลงานที่ออกมา เธอบอกว่าปีที่แล้วคะแนนจะได้มาก เพราะลดค่าใช้จ่ายไปได้จำนวนมาก ทำให้ขณะนี้บริษัทรูปร่างดีแล้ว ไม่มีไขมัน แต่ปีนี้คิดว่าคะแนนที่ให้ ต้องรอดูผลของรายการใหม่ที่จะเกิดขึ้นคือ รายการเมืองสำราญ ส่วนรายการเส้นทางเศรษฐีไปได้ดีแล้ว
"ถ้าหากให้ตั้งคะแนนก็ต้องให้ถึงร้อย แต่รายการโทรทัศน์ขึ้นอยู่กับผู้ชม ต้องดูว่าสิ่งที่เราทำไปนั้นโอเคหรือเปล่า บางครั้งเหมือนแม่ครัว เราใส่เครื่องปรุงดีทุกอย่าง น้ำปลาก็อย่างดี แต่คนชิมอาจบอกว่ามันบ่แซ่บ มันเป็นเรื่องที่มีทั้งศาสตร์และศิลป์ ไม่ใช่แค่รู้เรื่องการเงิน คุมต้นทุนได้ ดูรายรับรายจ่าย แล้วรายการมันจะเกิดได้"
ชาลอตประเมินประสบการณ์เดิม ที่มาใช้ร่วมในงานใหม่
ถ้าบทของนักการเงิน นักการธนาคารของชาลอต คือบทพิสูจน์ของความสำเร็จ บทบาท หน้าที่ในมีเดีย ออฟ มีเดียส์ ก็กำลังจะพิสูจน์ตัวเธอเองอีกครั้งหนึ่ง เพราะงานนี้คือความท้าทาย ส่วนผลจะออกมาอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับว่า ผู้ถือหุ้น เจ้าของสินค้า ผู้ชม จะตัดสินมอบรางวัลตุ๊กตาทองให้หรือไม่
นั่นก็คือ ชาลอต โทณวณิก สามารถตีบทผู้บริหารบริษัทผลิตสื่อแตกหรือไม่
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|