ผมเป็นคนที่ชอบ ชอบดูชอบหาซื้อหนังสือ จน ติดเป็นนิสัยตั้งแต่สมัยเล็กๆ
แล้ว เริ่มจากอ่านการ์ตูน ตั้งแต่เด็กๆ รวมหัวกับพี่ๆ แอบพ่อกับแม่ไปซื้อการ์ตูน
เล่มละบาทจากร้านของชำข้างบ้าน พัฒนามาเป็นหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นมือสองตอนสมัยประถม
ย่างเข้ามัธยมต้น พอเลิกเรียน ก่อนพ่อมารับกลับบ้านก็ต้องแอบวิ่งไปสามย่านซุกใส่กระเป๋ากลับมาอ่านที่บ้าน
เรื่อยมาจนถึงมัธยมปลาย มหาวิทยาลัย จนถึงปัจจุบัน ก็ยังติดนิสัย เดินหาซื้อหนังสือตามแผงข้างถนน
จตุจักร รวมถึงร้านหนังสือทั้งภาษาไทย ต่างประเทศต่างๆ เจอะทีไรเป็นต้องเข้าไปดู
ไม่ซื้อติดมือมา อย่างน้อยขอ Window Shopping ก็ยังดี
เวลาไปต่างประเทศ ผมมักจะแวบเข้าร้านหนังสือ หาหนังสือสัพเพเหระ เก็บใส่กระเป๋าเดินทางกลับบ้านอยู่เป็นระยะตาม
กำลังทรัพย์ และไม่เกินกำลังที่อาจถูกสายการบินชาร์จค่ากระเป๋าน้ำหนักเกินได้
แรกๆ มาถึงเมืองจีน นิสัยชอบเดินดูหนังสือ ของผมก็เหมือนถูกดัดให้บิดเบี้ยวไปพอสมควร
เพราะหนังสือที่นี่ล้วนแล้วแต่พิมพ์ด้วยภาษาจีน ทำเอาผมมึนไปพักใหญ่ เดินไปตามแผงก็เจอแต่
"ตัวจีน" เต็มพรืดไปหมด อย่างไรก็ตามแม้จะอ่านไม่รู้เรื่อง แต่แผงหนังสือที่นี่ก็น่าสนใจ
และดึงดูดผม ให้แวะเวียนเข้าไปชมอยู่เสมอ ตามแผงต่างๆ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร
หนังสือนิยาย หนังสือวิชาการวางกันเป็นตับ ดูได้จากสถานีรถไฟใต้ดินทุกแห่งต่างมีแผงหนังสืออย่างน้อยสอง-สามแผง
ที่สำคัญคุณภาพหนังสือที่นี่เห็นแล้วก็น่าตกใจด้วยเหตุที่ว่า ไม่น่าจะมาวางขายอยู่ตามข้างถนนได้
อย่างเช่น หนังสือ "Bobos In Paradise: The New Upper Class and How
They Got There" หนังสือตีพิมพ์ปี 2001 ที่ David Brooks เขียนวิเคราะห์ถึงแนวโน้มการใช้ชีวิตของคนชั้นกลาง-สูงรุ่นใหม่
ผมก็เคยเห็นภาคแปลเป็นภาษาจีนวางนอนอยู่ที่แผงสถานี ฟู่ซิงเหมิน (Fuxingmen)
นี่ยังไม่นับหนังสือเศรษฐ ศาสตร์ บริหารธุรกิจ ชีวประวัติบุคคลสำคัญ ฯลฯ
ที่มีวางขายกันเกลื่อนกลาด
สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงนิสัยของการเป็นคนช่างอ่านของคนจีนที่มีประวัติศาสตร์การพิมพ์หนังสือมากกว่า
1,000 ปี ได้อย่างดี
ณ วันนี้ในยุคที่จีนแหวกม่านไม้ไผ่ กำลังก้าวเดินขึ้นสู่ตำแหน่งมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก
ไม่เพียงแต่เวทีการค้าที่เกิดความเปลี่ยนแปลงเท่านั้น "บนแผงหนังสือ"
ที่นี่ก็มีพลวัตที่น่าสนใจเช่นเดียวกัน
จากสิบกว่าปีก่อนทั่วเมืองจีนมีนิตยสาร ที่ภาษาจีนเรียกว่า "จ๋าจื้อ
- "
มากกว่า 8,000 ปก ที่รูปร่างหน้าตาคล้ายๆ กันตั้งแต่ปกนอกไปจนถึง เนื้อหาข้างใน
และพิมพ์ออกมาอย่างเก่งก็รายสัปดาห์ แต่โดยเฉลี่ยมักจะเป็นรายเดือน รายสามเดือน
ถึงปัจจุบันด้วยวิถีการดำเนินชีวิตของคนเมือง ที่ซึมซับเอาระบบทุนนิยมเข้ามา
พฤติกรรมการหิวข้อมูล-ข่าวสาร ก็ถูกปรับเปลี่ยนตามไปด้วย
ในช่วงครึ่งทศวรรษหลังในเมืองจีน วารสาร-นิตยสารหน้าใหม่ต่างออกจำหน่ายกันแทบนับไม่หวาดไม่ไหว
ซึ่งก็รวมไปถึงเล่มเก่าๆ ที่ก็ปรับเปลี่ยนการผลิต แต่งองค์ทรงเครื่องและการจัดจำหน่ายให้มีรอบที่เร็วขึ้น
จากรายเดือนก็เป็นรายปักษ์ รายสัปดาห์ เพื่อตอบสนองกับความต้องการของผู้อ่าน
และการขับเคี่ยวในตลาดหนังสือที่รุนแรงขึ้นทุกที
ผู้ที่คลุกคลีอยู่ในแวดวงนิตยสารจีนได้วิเคราะห์ถึงขั้นตอนของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไว้ว่าสามารถแบ่งออกได้เป็นสามขั้นด้วยกัน
คือ หนึ่ง - ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 ที่นิตยสารผู้หญิงเริ่มได้รับความนิยม
เช่น หนังสือ "เจียธิง "
ที่พิมพ์จำหน่ายกันในกวางตุ้ง ถือเป็นเรื่องแหวกแนวพอสมควรที่มีการนำเอานิยายเข้ามาใส่ในวารสารและ
จัดเลย์เอาต์ รวมถึงเนื้อหาเบาๆ เข้าไว้ด้วยกัน
สอง - ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1990 ก็เป็น ยุคที่นิตยสารแฟชั่นผุดขึ้นในตลาดเป็นดอกเห็ด
และ สาม - ช่วงปัจจุบันที่ถือได้ว่าเป็นช่วงบูมของนิตยสาร ผู้ชาย ครอบคลุมไปในเรื่องเกี่ยวกับผู้ชายทั้งหลาย
ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจ การดูแลสุขภาพของผู้ชาย แฟชั่นผู้ชาย รถยนต์ กีฬา
ทั้งนี้แรงผลักดันของการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าสื่อสิ่งพิมพ์สากลก็มีส่วนอย่างมาก
ดังจะเห็นได้ตามแผงหนังสือใจกลางเมืองใหญ่ๆ อย่าง ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ หรือกวางโจว
ต่างก็มีหนังสือหัวนานา ชาติ อย่าง Elle, Seventeen, Marie Claire, Harper's
BAZAAR ฯลฯ วางจำหน่าย และก็ขายดีไม่ใช่น้อย
อย่างไรก็ตาม ด้วยกฎหมายจากฝ่ายการเมืองในปัจจุบันที่ยังไม่เปิดช่องให้สื่อต่างชาติ
ทั้งโทรทัศน์ วิทยุ หรือสิ่งพิมพ์เข้ามาทำตลาดในจีนได้อย่างเสรี เพียง แต่อนุญาตให้สื่อข้ามชาติเข้ามาร่วมทุนกับสำนักพิมพ์ท้องถิ่น
ตีพิมพ์หนังสือฉบับ "Chinese Edition"
The International Data Group สื่อสัญชาติอเมริกัน ผู้ตีพิมพ์นิตยสารเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่เข้ามาในจีนเป็นรายแรกๆ
และถึงปัจจุบันก็นับว่าค่อนข้างประสบความสำเร็จกับนิตยสาร China Computer
world และ China Network World ขณะที่
Hearst Magazine มีเดียยักษ์ใหญ่เจ้าของหนังสือ พิมพ์ San Francisco Chronicle
และนิตยสารอย่าง Cosmopolitan และ Esquire ก็กำลังเอานิตยสาร ผู้หญิง-ผู้ชาย
หัวนอกสองฉบับนี้บุกจีนเต็มตัว
อย่างไรก็ตาม ตามธรรมชาติของนิตยสาร แม้ว่าผู้อ่านจะมากมายสักเท่าไร จะมี
Circulation ยอดขายมากในระดับแสน ถึงล้านก๊อบปี้ แต่ก็ต้องพึ่งพาอยู่กับแวดวงโฆษณา
มีตัวเลขระบุว่า มูลค่าตลาดโฆษณาในสื่อ สิ่งพิมพ์อย่างนิตยสารของตลาดจีนนั้น
นับได้เป็นสัดส่วนน้อยมาก เมื่อเทียบกับสื่อทั้งหมด คือในปี 2001 ตัวเลขโฆษณาในสื่อสิ่งพิมพ์ประเภทนิตยสารอยู่ที่
1,200 ล้านหยวน (มากกว่า 6,000 ล้านบาท) เทียบกับมูลค่าโฆษณาในโทรทัศน์ 17,900
ล้านหยวน และ หนังสือพิมพ์ 15,800 ล้านหยวนแล้ว ก็ยังนับว่าห่างไกล กันมาก
ตัวเลขดังกล่าวประกอบกับข้อมูลจากสมาคมสิ่งพิมพ์จีนซึ่งระบุว่า ยอดพิมพ์วารสาร-นิตยสารของจีนในปี
1999 อยู่ที่ 2,890 ล้านฉบับ และเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ในปี 2001 และ 2002 อย่างไรก็ตาม
ตัวเลขนี้ ยังไม่น่าพอใจเนื่องจากเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรจีนที่มีมหาศาลแล้ว
ในแต่ละปีคนจีนหนึ่งคนอ่านนิตยสารตกเพียง 2 เล่มเท่านั้น (ขณะที่นายกฯ ทักษิณ
บอกว่าคนไทยได้อ่านเพียงปีละ 8 บรรทัด !) ปรากฏ การณ์นี้เป็นสิ่งบ่งชี้ว่า
ตลาดนิตยสารของจีนยังเติบโตได้อีกเยอะ
"ศักยภาพของตลาดนี้จริงๆ แล้วต้องนับว่ามหาศาลมาก สิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนั้นถือได้ว่าเป็น
เพียงแค่ 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น" ผู้บริหารของสมาคม สิ่งพิมพ์จีนให้สัมภาษณ์พร้อมชี้ช่องด้วยว่า
"ทั้งนี้ ไม่ใช่ว่านิตยสารทุกประเภทจะมีช่องว่างไปหมด อย่าง เช่น นิตยสารแฟชั่นนั้นก็นับว่าค่อนข้างอิ่มตัว
แต่ควรจะมีการมองไปยังกลุ่มเป้าหมายอื่นๆ อย่างเช่น นิตยสารสำหรับเด็ก การศึกษา
นิตยสารสำหรับแม่บ้าน ที่น่าจะแทรกตัวเข้าไปได้ง่ายกว่า"
ในฐานะที่ "สื่อ" เป็นทั้งสิ่งที่เดินตามและเดินนำสังคมไปเวลาเดียวกัน
พลวัตที่เกิดขึ้นกับนิตยสารจีนจากอดีตเรื่อยมาถึงปัจจุบันก็เป็นกระจกสะท้อนถึงความคิด
ความเชื่อ วัฒนธรรม และวิถีชีวิต ที่เปลี่ยนไปของคนจีนยุคนี้ได้อย่างดีเช่นกัน