หนี้ของอิรัก

โดย ภัชราพร ช้างแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

นอกจากขุมทรัพย์น้ำมันที่มีอยู่ในประเทศอิรักที่ปราชัยให้ฝ่ายสหรัฐฯ และพันธมิตรแล้ว ภาระหนี้ของอิรักก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ประเทศและสถาบันการเงินเจ้าของหนี้กำลังจับตาดูอย่างใกล้ชิดว่า ฝ่ายที่ขึ้นมาเป็นรัฐบาลใหม่ของอิรักจะเป็นใคร และพวกเขาจะมีนโยบายเรื่องการชดใช้ชำระหนี้ให้กลุ่มเจ้าหนี้อย่างไร หรือกลุ่มเจ้าหนี้เองจะได้มีส่วนร่วมในการจัดตั้งรัฐบาลและดูแลการชำระหนี้คืนด้วยหรือไม่

นิตยสารดิอีโคโนมิสต์รายงานไว้ว่าอิรักมีหนี้สินที่เป็นตัวเลขทางการรวม 116 พันล้านเหรียญสหรัฐ บวกกับอีก 200 พันล้านเหรียญสหรัฐ ที่ถูกอ้างว่าเกิดขึ้นสมัยสงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งแรกในปี 1990 ขณะที่อิรักมีรายได้จากการค้าน้ำมันเพียงปีละ 25 พันล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น สัดส่วนรายได้กับภาระหนี้นั้นเทียบ กันไม่ติด

สถานการณ์ของการเป็นประเทศผู้แพ้สงครามก็ทำให้ภาระหนี้ของอิรักเพิ่มสูงขึ้นทุกวัน ราคาหนี้ก้อนใหญ่ของอิรักสองรายในตลาดรองเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวนับแต่เกิดสงคราม เทียบกับประเทศเซอร์เบียที่ประธานาธิบดีซึ่งประกาศล้างบางมาเฟีย แต่ก็ไม่พ้นสังเวยชีวิตให้มาเฟียแล้ว นักวิเคราะห์บอกว่าหนี้ของอิรักน่าจะมีภาษีดีกว่า เพราะอย่างไรเสียก็ยังมีน้ำมันเป็นทรัพย์สินที่ขุดมาขายใช้หนี้ได้ แต่เซอร์เบียยังมีเรื่องมาเฟียน่าปวดหัวมากกว่า

ล่าสุดศาลล้มละลายเซอร์เบียก็ประกาศขายโรงเหล็กในวงเงินเพียง 23 ล้านเหรียญโดยไม่สนใจกับ ภาระหนี้จำนวน 1.7 พันล้านเหรียญที่โรงเหล็กแห่งนี้ไปกู้ยืมเงินจากบริษัทและรัฐบาลตะวันตกบางแห่ง ซึ่งกำลังโกรธเป็นฟืนเป็นไฟอยู่ในตอนนี้

ย้อนกลับมาที่สถานการณ์ของอิรัก ตลาดมองว่า รัฐบาลใหม่ของอิรักจะต้องใช้วิธีเจรจาขอลดหนี้ (write-off) ประมาณ 70%-90% ของมูลหนี้ 116 พันล้าน เหรียญสหรัฐ ส่วนหนี้สินที่ติดค้างตั้งแต่สงครามอ่าว ครั้งก่อน ซึ่งคณะกรรมการของสหประชาชาติที่ชื่อ United Nations Compensation Commission (UNCC) เป็นผู้ดูแลการชดใช้หนี้นั้น คาดว่า UNCC จะลดภาระ หนี้ก้อนนี้ลงจาก 200 พันล้านเหรียญ เหลือแค่ 40 พัน ล้านเหรียญเท่านั้น

รวมความแล้วภาระหนี้ทั้งหมดของอิรักก็น่าจะเหลือเพียง 50-75 พันล้านเหรียญ ซึ่งอยู่ในวิสัยที่พอจะจ่ายได้ (ในภาวะเศรษฐกิจปกติ) แต่ในฐานะประเทศ ผู้แพ้สงคราม ก็ยังเป็นคำถามอยู่

ส่วนเจ้าหนี้รายใดจะเป็นผู้โชคดีได้รับการชำระหนี้ก่อนนั้น ว่ากันว่าย่อมหรือควรจะเป็นผู้ที่อำนวยประโยชน์แก่รัฐบาลใหม่ในการฟื้นฟูประเทศได้ เจ้าหนี้ของอิรักสามารถจัดแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มคือ ไอเอ็ม เอฟ และธนาคารโลก กลุ่มหนึ่ง, รัฐบาลที่ให้เครดิตทางการค้าและเงินกู้ในลักษณะทวิภาคีกับอิรัก และธนาคาร/บรรษัทข้ามชาติต่างๆ เป็นกลุ่มที่สาม

สิ่งที่น่าสนใจคือ กลุ่มประเทศในอ่าวเปอร์เซียเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ มีมูลหนี้ราว 55 พันล้านเหรียญ ส่วนประเทศโดดๆ ที่เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่คือ ฝรั่งเศสและรัสเซีย ซึ่งแต่ละประเทศให้กู้แก่อิรักประเทศละ 8 พันล้านเหรียญ

สองประเทศหลังนี้น่าจะกระตือรือร้นเข้าร่วมปกป้องทรัพย์สินของตนในอิรัก แต่การณ์อาจจะกลายเป็นว่าฝรั่งเศสและรัสเซียอาจต้องตัดหนี้สูญในอิรักทิ้งเสียแต่บัดนี้ก็เป็นได้

หนี้สินของไอเอ็มเอฟและธนาคารโลกนั้นมี มูลค่า 1.1 พันล้านเหรียญ ซึ่งก็คงได้รับการชำระหนี้อย่างไม่ต้องสงสัย ส่วนเจ้าหนี้รายอื่นนั้นผู้ที่จะให้คำตอบคงหนีไม่พ้นสหรัฐฯ ซึ่งหากใช้วิธีที่เคยทำกับยุโรปตะวันตกในยุคหลังสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็คือตั้งโครงการแผนมาร์แชลขึ้นมา หรือมิเช่นนั้นอิรักก็ต้องพึ่งพิงการระดมทุนของเอกชน

หากเป็นในกรณีแรก ว่ากันว่าผู้ที่จะได้รับการชำระหนี้คืนก็คือหนี้สินที่กู้ยืมมาอย่างเป็นทางการ ซึ่งในที่นี้เรียกกันว่า Paris Club คือประเทศในยุโรปยกเว้น ฝรั่งเศสและรัสเซีย รวมกันปล่อยกู้ให้อิรักมีมูลค่าราว 9.5 พันล้านเหรียญ แต่หากเป็นกรณีหลัง Paris Club ก็จะไม่ได้รับการชำระหนี้ แต่รัฐบาลของประเทศรอบอ่าวฯ น่ามีโอกาสจะได้รับการชำระหนี้มากกว่า

นับแต่ที่สหรัฐฯ ประกาศทำสงครามกับอิรัก ตลาดรองซื้อขายหนี้ของอิรักก็คึกคักพอสมควร มีการสอบถามราคาหนี้จากอิรักกันมาก แต่ที่เสนอราคาซื้อขายจริงๆ มีเพียง 1-2 รายต่อสัปดาห์ โดยผู้ซื้อส่วนมากจะเป็นธนาคารหรือกองทุนที่เชี่ยวชาญหนี้ของประเทศอาหรับอยู่แล้ว

อาจจะเป็นที่แปลกใจว่าหนี้ของประเทศที่แพ้สงครามและต้องการการฟื้นฟูในทุกๆ ด้านนั้น ยังมีคนสนใจซื้อขายกันด้วยหรือ คนที่ซื้อขายเหล่านี้เขาคิดกันอย่างไร พวกเขาก็มองมันในลักษณะที่เป็นการเก็งกำไร ซื้อสินทรัพย์ที่มีราคาถูกแสนถูกในตอนนี้ เพื่อที่ว่าอีกไม่กี่ปีข้างหน้ามันจะมีมูลค่ามหาศาลขึ้นมาได้

คนที่มีสติสัมปชัญญะคงไม่คิดแบบนี้แน่

ในวงการตลาดรองซื้อขายหนี้บอกว่าหนี้อิรัก มีกับดัก สัญญากู้ยืมบางฉบับอาจหมดอายุในทุกๆ 2-3 ปีได้ มันขึ้นอยู่กับข้อจำกัดในกฎหมายหลายๆ ฉบับ การต่อสัญญาจำเป็นที่จะต้องสอบถามจากทางลูกหนี้ ซึ่งมันก็เป็นเรื่องยากสาหัสตั้งแต่ยังไม่มีสงคราม นั่นหมายความว่าตอนนี้ยิ่งเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้เข้าไปใหญ่ การโอนสิทธิจากผู้ขายไปยังผู้ซื้อต้องได้รับความยินยอมจากลูกหนี้ ซึ่งอิรักก็ไม่ได้ให้ความร่วมมือในเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 1988 แล้ว แต่คนก็ยังซื้อขายหนี้ของอิรักอยู่เรื่อยๆ มันก็มีวิธีเล่นเหมือนกัน

วิธีที่ว่าก็คือติดต่อไปยังอิรักในช่วงที่เป็นวันหยุด เพื่อให้เซ็นเอกสารโอนสิทธิ หรือในช่วงที่การติดต่อสื่อสารไม่ค่อยสะดวก เช่น ในช่วงที่เกิดสงครามสู้รบกัน เป็นต้น เพราะกฎก็คือว่าหากลูกหนี้ไม่ติดต่อกลับมาภายใน 10 วันทำการให้ถือว่าผู้ซื้อผู้ขายหนี้สามารถโอนสิทธิได้เลย สัญญามีผลบังคับใช้แล้ว นี่คือเหตุผลที่หนี้ของอิรักยังมีการซื้อขายเก็งกำไรกันอยู่

ส่วนอีกเหตุผลหนึ่งที่สนับสนุนความน่าสนใจเก็งกำไรหนี้อิรักก็คือสิ่งที่กล่าวไปแล้ว ประเทศนี้มีน้ำมัน ระบบเศรษฐกิจของอิรักก็ไม่มีความสลับซับซ้อนอะไรมากนัก ตราบใดที่บ่อน้ำมันไม่ถูกทำลายเสียหายหนัก และยังสามารถขุดน้ำมันมาขายได้ ตราบนั้นอิรักก็จะมีรายได้เป็นเงินตราต่างประเทศจากสินค้าส่งออกน้ำมัน เศรษฐกิจก็สามารถกลับมาเติบโตได้ใหม่อีก แม้จะเริ่มจากศูนย์ใหม่ก็ตาม

ว่ากันว่าเมื่อ 13 ปีก่อนมีกองทุนอาหรับแห่งหนึ่ง เข้ามาซื้อเก็งกำไรหนี้ของเวียดนาม ตอนนั้นราคาอยู่ที่ดอลลาร์ละ 4 เซ็นต์เท่านั้น กองทุนแห่งนี้ขายหนี้ไปหลังจากเข้าซื้อเพียง 6 ปี ในราคาดอลลาร์ละ 80 เซ็นต์!

นี่คือเรื่องเล่าที่ชี้ว่าผลตอบแทนดีๆ อาจมาจากสิ่งที่ไม่คิดว่าจะเกิดเป็นจริงขึ้นมาได้!!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.