Clara Furse ชื่อของผู้หญิงคนนี้ต้องถูกบันทึกไว้ ในหน้าประวัติศาสตร์เก่าแก่ของตลาดหุ้นลอนดอน
London Stock Exchange (LSE) เจ้าของ Index FTSE 250 เพราะต้นปี 2001 Clara
Furse คือ Chief Executive นักบริหารสตรีคนแรกที่บุกเข้าไปในดินแดนต้องห้าม
ที่สงวนอำนาจสูงสุดไว้สำหรับสุภาพบุรุษชาวอังกฤษมานานกว่า 240 ปี
"Promoting women on their boards will make a far greater impact than
endless statements about gender equality which litter their annual reports"
Lord Sainsbury of Turville รมว.การค้าและอุตสาหกรรมของอังกฤษกล่าว
ในตลาดเงินตลาดทุนและประกันภัยของอังกฤษ มีผู้หญิงทำงานอยู่ 12.8 ล้านคน
โดย 15% เป็นระดับกลาง น้อยคนจะมีโอกาสไต่ถึงระดับบริหารสูงสุด นอกจากนี้รายได้ยังต่ำกว่าผู้ชายประมาณ
41% ต้องนับว่าสตรีชาวอังกฤษยังต้องเผชิญกับสถานการณ์ผิดปกติมากในศตวรรษนี้
แต่ Clara Furse ได้ทำลายจารีตประเพณีเก่าแก่ของ LSE อย่างแหลกละเอียด
โดยเธอกลายเป็นสตรี แห่งศตวรรษที่ 21 ที่มีความมั่นใจ กล้าหาญ และทันสมัย
เฉียบคมในสังคมผู้ดีอังกฤษ
ฉายา "The Golden Girl of the London Stock Exchange" ที่เข้ากับบุคลิกหน้าตาที่ฉลาด
มีคางบุ๋มทรงเสน่ห์ กับผมสั้นลอนสีทองสลวย ตัดกับดวงตาที่มุ่งมั่น ทำให้ภาพพจน์ของ
Clara Furse วัย 45 ดูมีสไตล์ผู้หญิงเก่งและเมื่ออ่านประวัติแม่ลูกสามคนนี้ที่มีเชื้อสายดัตช์
เธอเกิดในแคนาดา แต่เติบโตเรียนหนังสือในประเทศโคลัมเบีย-เดนมาร์กและอังกฤษ
ทำให้เธอพูดได้ถึง 4 ภาษา อังกฤษ ฝรั่งเศส สเปนและ เยอรมัน โดยมีนักเขียนคนโปรดที่ชอบอ่านคือ
Isabel Allende เธอไม่พิถีพิถันเรื่องกินเที่ยว บ่อยครั้งเธอใช้เวลากลืนกินมื้อเที่ยงเพียงสามนาที
เธอเป็นศิษย์เก่า LSE (London School of Economics) ที่เคยผ่านการทำงานกับบริษัท
UBS Warburg ระหว่างปี 1980-1995 ต่อมาได้ย้ายไปทำกับ Credit Lyonnais Rouse
โดยเป็น Chief Executive ผู้บริหารตลาดตราสารอนุพันธ์และคอมโมดิตี้ในเครือแบงก์ฝรั่งเศส
ก่อนตัดสินใจทำงานที่ LSE แทน Gavin Casey
ตั้งแต่รับงานในวันที่ 1 มกราคม 2001 Clara Furse กลายเป็นนักบริหารสตรีที่มีเงินเดือนสูงสุด
โดยปีแรกเธอได้รับแพ็กเกจเงินตอบแทนกว่า 1 ล้านปอนด์ เริ่มจากเงินเดือน 975,000
ปอนด์ บวกกับโบนัสประมาณ 475,000 ปอนด์ แม้ว่าจะถูกสาธารณชนวิจารณ์ผลงานของเธอว่า
ล้มเหลวในการประมูลราคาเทกโอเวอร์ The London Internaitonal Financial Futures
and Options Exchange (Liffe) โดยปล่อยให้คู่แข่งอย่าง Euronext ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของตลาดหุ้นปารีส,
บรัสเซลส์และอัมสเตอร์ดัม ได้ชัยชนะไป ท่ามกลางความผิดหวังที่ใครๆ ก็คาดว่าประสบการณ์ที่เธอเคยเป็นรองประธาน
ในบอร์ดของ Liffe จะทำให้ได้งานนี้
"People are so negative; they talk as if the Liffe deal was the only
show in town, but there are plenty of alternatives. The fact that we didn't
secure Liffe was disappointing, but I would not describe it as a setback."
Clara Furse กล่าว
ท่ามกลางแรงกดดันที่หลายคนใน The City of London ไม่เชื่อว่า LSE ภายใต้การนำของเธอจะสามารถ
อยู่รอดและเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาวด้วยลำแข้งตัวเองได้ แม้ว่าผลประกอบการในปี
2002 ปรากฏว่า LSE มีกำไรเพิ่มขึ้น 22% หรือ 70.5 ล้านปอนด์ และราคาหุ้นไต่จาก
370 p เป็น 458 p ก็ตาม แต่ก็อาจจะกลายเป็นเป้าของการเทกโอเวอร์ได้
Big Jobs พันธกิจที่ผู้หญิงคนนี้แบกไม่หนักใจเท่าข่าวใส่ร้ายป้ายสีเกี่ยวกับเรื่องส่วนตัว
ที่ไปปรากฏในเว็บไซต์ของ Mr.Angry เทรดเดอร์ที่เคยทำงานในตลาดหุ้นมาก่อน
รวมถึงข้อกล่าวหาของหนังสือพิมพ์บางฉบับเกี่ยวกับความไม่มี sex appeal การแต่งตัวไม่เน้นรูปทรง
ปิดกระดุมมิดชิด ไม่เห็นขอบกางเกงในหรือบรา ไม่โทรไปหาพี่เลี้ยงถามถึงลูก
และการกระทำอื่นๆ ที่ส่อปัญหาว่าเพศจะเป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้า ในชีวิตการงาน
รวมถึงชีวิตส่วนตัวที่ไม่เปิดเผยอีกด้วย
แต่ Clara Furse โต้ตอบว่า มันเป็นเรื่องไร้สาระ เมื่อเธอเปิดใจพูดกับ
fund manager ในงานพบปะประจำปีของ UK Society of Investment Professionals
"City news seems to focus on the odd corporate failure, job cuts and,
in the case of the London Stock Exchange, merger speculation, the colour
of my suits and the cut of my hair"
ถึงกระนั้นก็ดี Clara ก็ยังมีผู้ใหญ่อย่าง Don Cruickshank ประธาน LSE
ที่จะปลดเกษียณในกลาง ปีนี้ออกมาปกป้องเธอและประณามข่าวลือนี้ว่า "outrageous,
totally unfounded and an offensive slur" และทางตลาดหุ้นลอนดอนกำลังพิจารณาฟ้องร้องผู้ปล่อยข่าวลือนี้ด้วยกฎหมายหมิ่นประมาทด้วย
อย่างไรก็ตาม ยังมีงานสำคัญที่รอ Clara ทำมากกว่าเรื่องกวนใจเหล่านี้ ไม่ว่าจะเรื่องการยกเลิกเก็บอากรแสตมป์ในการซื้อขายหุ้น
เพื่อเพิ่มขีดสามารถในการแข่งขันกับตลาดหุ้นอื่นๆ ในยุโรป ตลอดจนเรื่องการ
หาพันธมิตรทางธุรกิจระหว่างประเทศมากขึ้น เพราะความใหญ่และเก่าแก่ของ LSE
ที่มีบริษัทจดทะเบียนต่างชาติมากถึง 500 บริษัท ทำให้ระยะเวลาสองปี Clara
ต้องโรดโชว์เดินทางไปทั่วโลก เช่น ฮ่องกง ออสเตรเลีย อิสราเอล อินเดีย และประเทศดูไบ
เพื่อเพิ่มจำนวนบริษัทจดทะเบียนต่างชาติในตลาดหุ้นลอนดอน LSE มากขึ้น รวมถึงการเตรียมตัวย้ายไปสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ไปที่
Canary Wharf หลังโบสถ์เซนต์ปอล ในปี 2004 ด้วย
ตลอด 25 ปีจนถึงวันนี้ที่ Clara Furse เดินอยู่บนถนนสายการเงินการลงทุนของ
The City of London แม้จะมีสงครามข่าวลือแบบ Sex & The City ที่รบกวน
เธอก็ตาม เธอยังใช้ชีวิตธรรมดาๆ ที่สามารถเดินเข้าไปชอปปิ้งที่ร้าน Sainsbury's
หรือ Marks & Spencer ได้โดยไม่หวั่นสายตาสอดรู้สอดเห็นของชาวเมืองลอนดอน
เพราะเธอคือผู้หญิงแห่งศตวรรษที่ 21 นั่นเอง