การรุกรานประเทศอิรัก ซึ่งนำโดยสหรัฐ อเมริกาและบริวาร อันประกอบด้วยสหราชอาณาจักร
ออสเตรเลีย สเปน และประเทศอื่นๆ นอกจากจะมีมิติด้านสงครามแล้ว ยังมีมิติด้านภาษาอีกด้วย
ประเทศคู่สงคราม ทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายคัดค้าน การทำสงคราม ต่างประดิษฐ์คำเพื่อใช้ภาษาห้ำหั่นกัน
หรือประดิษฐ์คำเพื่อบรรยายปรากฏการณ์แห่งสงคราม
ผมลองรวบรวมคำที่ประดิษฐ์ขึ้นอันเนื่องมาจากสงครามอิรัก แล้วนำมาจัดหมวดหมู่
แหล่งข้อมูล อาศัยหนังสือพิมพ์และ Online News Services โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
BBC News และ The Guardian
องค์การสหประชาชาติกับสงครามอิรัก
สหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรพยายามแสวงหาความชอบธรรมในการทำสงครามอิรักด้วย
การขอมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ก่อนการปะทุของสงครามอิรัก สหประชาชาติมีมติที่
1441 ให้อำนาจคณะผู้แทนสหประชาชาติในการตรวจสอบอาวุธที่มีอำนาจทำลายล้างร้ายแรงในอิรัก
และให้อิรักส่งมอบอาวุธเหล่านั้น
Serious Con-sequences หากอิรักไม่ส่งมอบหรือทำลายอาวุธที่มีอำนาจทำลายล้างร้ายแรง
อิรักจะต้องเผชิญ Serious Consequences ซึ่งการตีความของยอร์ช บุช จูเนียร์
และโทนี แบลร์ หมายถึงสงคราม แต่ นายจ๊าก ชีฮัก และนายวลาดิเมียร์ ปูติน
ตีความว่า ร้ายแรงน้อยกว่าสงคราม
Automacity ฝ่ายที่ต้องการทำสงครามอ้างว่า มติองค์การสหประชาชาติที่ 1441
ให้อำนาจในการทำสงครามอิรักได้เลย โดยไม่ต้องขอมติใหม่ อย่างไร ก็ตาม นายโทนี
แบลร์ โน้มน้าวให้นายยอร์ช บุช จูเนียร์ รอมติใหม่ขององค์การสหประชาชาติก่อนยาตราทัพรุกรานอิรัก
ฝ่ายกระหายสงครามเรียกมติ ที่สองนี้ว่า The Eighteenth Resolution
นายโทนี แบลร์ เสนอญัตติการทำสงครามอิรักเพื่อขอมติจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ
นายโรบิน คุก รัฐมนตรีต่างประเทศ อังกฤษเรียกความพยายามนี้ว่า Heroic Efforts
นายโรบิน คุก เตรียมลาออกจากตำแหน่ง หากอังกฤษเข้าร่วมสงครามอิรัก โดยมิได้รับความเห็นชอบจากองค์การสหประชาชาติ
นายคุกลาออกจากตำแหน่งในเวลาต่อมาสมใจปรารถนา
Blue Ink ญัตติที่รอขอมติจากสหประชาชาติ ต้องจัดพิมพ์ด้วยหมึกสีน้ำเงิน
และแจกจ่ายให้สมาชิก พิจารณาล่วงหน้าอย่างน้อย 24 ชั่วโมง ข้อเสนอของ นายโทนี
แบลร์ ซึ่งจัดพิมพ์ด้วย Blue Ink แล้ว ไม่มีโอกาสแปรเป็นญัตติที่สอง เนื่องจากสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร
รวบรวมคะแนนเสียงได้ไม่มากพอและมีประเทศมหาอำนาจอื่นจ้องใช้สิทธิยับยั้ง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝรั่งเศสและรัสเซีย
Legs of Responsibility ยอร์ช บุช จูเนียร์ บริภาษสหประชาชาติอย่างสาดเสียเทเสีย
ในฐานที่ไม่ให้ความชอบธรรมแก่สหรัฐ อเมริกาในการรุกรานอิรัก พร้อมทั้งสำทับว่า
สหประชาชาติจะต้องพยายามฟื้นคืนบทบาทหลังสงครามอิรัก โดยนำ 'ขาแห่งความรับผิดชอบ'
กลับคืนมา
ประเทศคู่สงคราม
สหรัฐอเมริกาและอังกฤษเป็นหัวหอกในการรุกรานอิรัก เมื่อกองทัพของประเทศทั้งสองเริ่มยาตราทัพเข้าสู่อิรัก
นายพลโคลิน พาวเวล รัฐมนตรี ต่างประเทศอ้างว่า มีพันธมิตรร่วมสงคราม 45 ประเทศ
ในจำนวนนี้ 15 ประเทศยังไม่พร้อมที่จะเปิดเผยชื่อ ผู้นำอเมริกันเรียกพันธมิตรเหล่านี้ว่า
Coalition of the Willing อันหมายถึง พันธมิตรของประเทศที่ต้องการร่วมรุกรานอิรัก
คอลัมนิสต์บางคนทักท้วงว่า แท้ที่จริงแล้ว สหรัฐอเมริกามิได้ต้องการ Coalition
of the Willing หากแต่ต้องการ Coalition of the Billing อันหมายถึงพันธมิตรของประเทศที่ต้องการร่วมรับภาระต้นทุนการรุกรานอิรัก
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการเปิดเผยรายชื่อประเทศที่ร่วมเป็นพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกาในการรุกรานอิรัก
ประชาชาติจึงถึงบางอ้อว่า สหรัฐอเมริกามั่วนิ่ม เพราะบางประเทศมิได้มีนโยบายสนับสนุนการรุกรานอิรัก
ดังเช่นประเทศไทย แต่กลับปรากฏในรายชื่อพันธมิตรของสหรัฐอเมริกา
Old Europe ยุโรปดึกดำบรรพ์เป็นคำที่นายโดนัลด์ รัมสเฟลด์ รัฐมนตรีกลาโหมอเมริกัน
ใช้เรียกกลุ่มประเทศยุโรปที่คัดค้านการรุกรานอิรัก โดยหมายถึงฝรั่งเศส และเยอรมนีโดยเฉพาะ
การขนานนามเช่นนี้สร้างความไม่พอใจแก่ประธานาธิบดี ฝรั่งเศสพอสมควร
Axis of Weasel หมายถึงกลุ่มประเทศที่คัดค้านการทำสงครามกับอิรัก อันประกอบด้วยฝรั่งเศส
เยอรมนี รัสเซีย และสาธารณรัฐประชาชนจีน weasel เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
รูปร่างคล้ายแมว ปกติมีผิวสีน้ำตาลปนแดง แต่จะเปลี่ยนสีในฤดูหนาว นอกจากนี้
weasel ยังเป็นชื่อเรียกยานพาหนะขนาดเล็กที่ขับเคลื่อน บนหิมะ น้ำแข็ง หรือทราย
มีลักษณะเป็นยานพาหนะสะเทินน้ำสะเทินบก หนังสือพิมพ์ The New York Post เปรียบเทียบคณะผู้แทนฝรั่งเศส
และเยอรมนีในสหประชาชาติว่าเป็น Weasels คำว่า Axis of Weasels มาจาก Scrapple
Face.com เนื่องจาก weasel มีสีผิวที่ไม่แน่ชัด Axis of Weasels อาจหมายถึง
กลุ่มจิ้งจกเปลี่ยนสี ซึ่งเป็นการเพ่งพินิจจากค่ายอเมริกัน
That Country เซอร์เจเรมี กรีนสต็อก (Jeremy Greenstock) เอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำองค์การสหประชาชาติ
อภิปราย การขอมติคณะมนตรีความมั่นคงในการทำสงครามอิรัก และกล่าวถึงประเทศหนึ่งที่ง้างหมัด
ในการใช้สิทธิยับยั้ง ทั้งๆ ที่ผู้แทนอิรักยัง มิทันอภิปรายคัดค้าน ท่านเซอร์กล่าวถึง
That Country โดยมิได้เอ่ยชื่อ แต่ชี้นิ้วไปยังคณะ ผู้แทนฝรั่งเศส
Mercenaries แปลว่า ทหารรับจ้าง นายโมฮัมเหม็ด ซาอิด อัล-ซาฮาฟ (Mohamed
Said al-Sahaf) รัฐมนตรีสารสนเทศอิรัก กล่าวถึงกองทัพอเมริกัน และอังกฤษว่าเป็นทหารรับจ้าง
โดยที่มีคำขานตามติดมาเป็นชุด บางครั้งก็เรียกกองทัพทั้งสองว่าเป็น Devils
(ปีศาจ) Tyrants of the Century (ทรราชแห่งศตวรรษ) Supperpower of Villains
(มหา อำนาจจอมวายร้าย) และท้ายที่สุด Supper-power of Al Capone (มหาอำนาจ
อัล คาโปน)
เหตุผลในการรุกรานอิรัก
Liberators Not Conquerors รัฐบาลอเมริกันอ้างเหตุผลในการรุกรานอิรักว่า
ประชาชนชาวอิรักตกอยู่ภายใต้แอกแห่งการข่มขี่ของซัดดัม ฮุสเซ็น มาเป็นเวลาช้านาน
การรุกรานอิรักเป็นปฏิบัติการเพื่อปลดชาวอิรักออกจากแอกแห่งทรราช กองทัพอเมริกันเป็น
Liberators มิใช่ Conquerors ยอร์ช บุช จูเนียร์ บอกกองทหารอเมริกันเช่นนั้น
Democracy Domino รัฐบาลอเมริกันอ้างเหตุผลว่าการรุกรานอิรักก็เพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองการปกครอง
จากระบอบเผด็จการมาเป็นระบอบประชาธิปไตย หากสามารถสถาปนาระบอบประชาธิปไตยในอิรักได้
ก็จะเป็นแบบอย่างแก่ ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคตะวันออกกลางและภูมิภาคอื่นได้
ผู้นำอเมริกันสายเหยี่ยวมองการณ์ในด้านดีว่า การกำจัดซัดดัม ฮุสเซ็น จะก่อให้เกิดปรากฏการณ์
Democracy Domino กล่าวคือ ประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางทีละประเทศสองประเทศ
จะเปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองการปกครองเป็นประชาธิปไตย ระบอบเผด็จการถูกพังทลายดุจดังการล้มเป็นลูกโซ่ของลูกโดมิโน
Domino Theory เป็นทฤษฎีที่ใช้อ้างในการสนับสนุนให้รัฐบาลอเมริกันร่วมในสงครามอินโดจีน
หากรัฐบาลอเมริกันไม่สามารถค้ำยันภัยคุกคามของลัทธิคอมมิวนิสต์ในอินโดจีนได้
ประเทศในอุษาคเนย์ และอาเซียบูรพาทีละประเทศสองประเทศจะกลายเป็นคอมมิวนิสต์
ดุจ ดังการล้มเป็นลูกโซ่ของลูกโดมิโน สงครามอินโดจีนยุติลง โดยที่ประเทศต่างๆ
ในอินโดจีนได้เอกราช และไม่มีประเทศใดในอุษาคเนย์แปรเปลี่ยนเป็นคอม มิวนิสต์
ยกเว้น เวียดนามและลาว ทั้งๆ ที่ Domino Theory ให้คำทำนายอย่างผิดพลาดในยุคสงคราม
เย็น ผู้นำอเมริกันยังคงใช้ Domino Theory ในการทำนายปรากฏการณ์ Democracy
Domino ในทศวรรษ 2000
Democratic Imperialism แปลว่า ระบบจักรวรรดินิยมประชาธิปไตย ขบวนการสันติภาพ
ซึ่งต่อต้านการรุกรานอิรัก ชี้ให้เห็นว่า การใช้กำลังทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์ที่เหนือกว่าในการโค่นซัดดัม
ฮุสเซ็น และสถาปนาระบอบประชาธิปไตยในอิรัก นำมาซึ่งระบบจักรวรรดินิยมประชาธิปไตย
ขบวนการสันติภาพเรียกร้องให้ประเทศมหาอำนาจเคารพอำนาจอธิปไตยแห่งรัฐ (State
Sovereignty) อีกทั้งไม่เชื่อว่า การทำสงครามจะนำมาซึ่งระบอบประชาธิปไตยที่ยั่งยืนได้
นอกจากนี้ บรรดาประเทศ พันธมิตรที่ชิดใกล้สหรัฐอเมริกาจำนวนมากมีการปกครองระบอบเผด็จการ
แต่สหรัฐอเมริกาหาได้มีนโยบายกำจัดผู้นำประเทศเหล่านั้น ในจำนวนนี้ประกอบด้วย
ซาอุดีอารเบีย คูเวต จอร์แดน ปากี สถาน ฯลฯ ดังนั้น จึงเป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่า
การทำสงครามรุกรานอิรักเป็นไปเพื่อสถาปนาความเป็นเจ้าโลกของสหรัฐอเมริกาเท่านั้น
Weapons of Mass Destruction แปลว่าอาวุธที่มีผลทำลายล้างรุนแรง เรียกย่อๆ
ว่า WMD สหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรเป็นผู้นำในการกล่าวหาอิรักว่า มี WMD
ซึ่งเป็นภัยคุกคามมนุษยชาติ ดังนั้น จึงต้องทำสงครามรุกรานอิรัก เพื่อโค่นซัดดัม
ฮุสเซ็น ก่อนที่ซัดดัม ฮุสเซ็น จะเป็นภัยต่อสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร
คำนิยามของ WMD เป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันพอสมควร โดยพื้นฐาน แล้วประกอบด้วยอาวุธนิวเคลียร์
อาวุธเคมี และอาวุธชีวภาพ ข้อเท็จจริงปรากฏว่า สหรัฐอเมริกา และประเทศมหาอำนาจอื่นล้วนมีอาวุธเหล่านี้
สหรัฐอเมริกาเองใช้อาวุธเหล่านี้ในสงครามเวียดนาม และในการรุกรานอิรักครั้งนี้
ก็ได้ใช้อาวุธที่มีผลทำลายล้างรุนแรงจำนวนมากในการถล่มอิรัก และทำลายชีวิตประชาชนชาวอิรัก
ทั้งเด็กและคนชรา โดยที่ไม่ปรากฏว่ากองทัพอิรักใช้ WMD ในการต่อสู้กับกองทัพผู้รุกราน
หากสหรัฐอเมริกาอ้างว่าค้นพบ WMD ในอิรักในภายหลัง ก็ต้องฟังหูไว้หู เพราะสหรัฐอเมริกาอาจเรียนรู้วิธีการ
'ซุกยาบ้า' จากตำรวจไทย
Neo-cons เป็นคำย่อของ Neo-Conservatism แปลว่า ลัทธิอนุรักษนิยมสมัยใหม่
หมายถึง ลัทธิหรือแนวความคิดในการจัดระเบียบใหม่ของโลก โดยใช้พลานุภาพทางทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์ที่สหรัฐอเมริกามีเหนือกว่าชาติอื่นๆ
ในการสถาปนาระบบโลกที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นเจ้า Neo-cons เป็นพวกขวาสุดกู่
ฐานที่มั่นทางปัญญาของกลุ่มนี้ ก็คือ Project for the New American Century
(PNAC) ผู้นำคนสำคัญประกอบด้วย Richard Cheney, Donald Rumsfeld, Paul Wolfwitz,
William Kristol และ Richard Perle คนเหล่านี้ล้วนได้ดิบได้ดีในรัฐบาลบุช
จูเนียร์ อาการขวา สุดกู่ของ Neo-cons ทำให้ผู้นำสายอนุรักษ์ ดังเช่น เฮนรี่
คิสซิงเกอร์ ยังส่ายหัว
Attitude Lobotomy เป็นคำที่นายโธมัส ฟรีดแมน (Thomas L.Friedman) คอลัมนิสต์แห่ง
หนังสือพิมพ์ The New York Times ใช้บริภาษพวกกระหายสงคราม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่ม
Neo-cons ในความเห็นของฟรีดแมน คนเหล่านี้ ควร 'ลงจากหลังม้า' และลงมาเดินถนน
รับฟังความคิดเห็นของชาวโลก และแลกเปลี่ยนทัศนะ ซึ่งกันและกัน
หมายเหตุ โปรดอ่าน
1. Sunder Katwala, "A Lexicon of the Iraq Conflict", The Observer (March
16, 2003)
2. BBC News, "E-Cyclopdia's Words of War" Part One (March 19, 2003)
; Part Two (March 24, 2003) ; Part Three (April 2, 2003) ดู www.bbc.co.uk