เตือนภัย NPL ไตรมาส 3 ปูด เอกชนวอนแบงก์ช่วยด่วน


ผู้จัดการรายวัน(28 สิงหาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

เอกชนวอนรัฐบาลและสถาบันการเงินช่วยแก้เอ็นพีแอล โดยเฉพาะภาคอสังหาฯ คาดไตรมาส 3 ยังไม่ฟื้น ผู้ประกอบการระวังเงินสดขาดมือ นักวิชาการเตือนรายใหม่ศึกษาตลาดก่อนลงทุน แนะควรจับมือรายเก่า-พันธมิตรลงทุนป้องร่วมกันเพื่อป้องกันความเสี่ยง ขณะที่กองทุนSME 5 พันล้านติดหวัดเอ็นพีแอล ส่อแท้ง แบงก์อ้างกันสำรองหนี้เน่าเรียกหลักทรัพย์ค้ำประกันเพิ่ม ทั้งที่ข้อตกลงมีเพียงใบรับออร์เดอร์การผลิตหรือส่งออก ส.อ.ท.ประสานสมาคมธนาคารไทยช่วยด่วน

จากการรายงานตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในไตรมาส 2/2550 ของธนาคารแห่งประเทศไทย พบวง่าภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีตัวเลขเอ็นพีแอลขยับมาอยู่ที่ระดับ 15.16% ของหนี้ทั้งระบบหรือจำนวน 51,947 ล้านบาท ส่วนภาคก่อสร้างมีจำนวน 13.9% หรือ 26,965ล้านบาท ซึ่งถือเป็นสัดส่วนสูงที่สุด

สถานการณ์ดังกล่าว นายสมเชาว์ ตันฑเทอดธรรม นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า ตัวเลขเอ็นพีแอลของภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ขยับสูงขึ้น เชื่อว่ามาจากภาวะเศรษฐกิจในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมามีการชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง การขายบ้านในโครงการทำได้ยากขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการขาดกระแสเงินสดในการลงทุน จนเกิดปัญหาเอ็นพีแอลดังกล่าว

“เชื่อว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ เมื่อเศรษฐกิจไม่ดี คนไม่มีเงินซื้อบ้าน บ้านขายไม่ออกผู้ประกอบการไปไม่ไหว แต่เหตุการณ์ดังกล่าวถือว่ายังไม่เลวร้าย เพราะเป็นเอ็นพีแอลในบางเซ็กเตอร์หรือบางรายนั้น” นายสมเชาว์กล่าว

ทั้งนี้ เมื่อปัญหาเกิดจากความชะลอตัวของเศรษฐกิจ ความไม่มั่นใจของผู้บริโภคจากปัจจัยลบทั้งภายในและภายนอก ดังนั้นผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือสถาบันการเงินควรหันมาช่วยประคับประครองผู้ประกอบการให้สามารถดำเนินงานต่อเนื่องผ่านพ้นช่วงนี้ไปได้ โดยอาจพิจารณาเป็นรายบริษัทขึ้นอยู่กับปัญหาที่เกิดขึ้น และเมื่อเศรษฐกิจกลับมาดีอีกครั้ง ผู้ประกอบการเหล่านี้ก็จะสามารถมีเงินมาชำระหนี้ตามเดิมได้

“แบงก์ควรช่วยผู้ประกอบการให้ผ่านพ้นช่วงนี้ไปก่อน ส่วนจะใช้วิธีใดนั้นควรพิจารณาเป็นรายๆไป เพราะส่วนใหญ่ไม่ได้มีเจตนาที่จะเป็นเอ็นพีแอล พอเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น ขายบ้านได้ ผู้ประกอบการจะได้ใช้หนี้ตามปกติได้ ดีกว่าปล่อยให้เป็นหนี้เสียไปเลย มันไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไรเลย ”นายสมเชาว์กล่าวและเตือนว่า ในไตรมาส 3 เชื่อว่าสถานการณ์จะไม่แตกต่างจากไตรมาส 2 เท่าใดนัก ดังนั้นในช่วงนี้ผู้ประกอบการควรมีการบริหารกระแสเงินสดให้ดี หากลยุทธ์การตลาดเพื่อให้สามารถขายบ้านได้ หรือวิธีแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

ด้าน ร.ศ.มานพ พงศทัต อาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะสถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ธุรกิจอสังหาฯ ในปัจจุบันมีการแข่งขันสูงมาก อีกทั้งยังมีผู้ลงทุนหน้าใหม่จากธุรกิจอื่นๆ เข้ามาลงทุนจำนวนมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง เพราะส่วนใหญ่ยังไม่มีประสบการณ์ในการลงทุนด้านนี้ ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยง ควรร่วมลงทุนกับพันธมิตรที่เป็นผู้ประกอบการรายเดิม และพันธมิตรทางธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้จะต้องศึกษาตลาดอย่างถี่ถ้วนก่อนลงทุน

“รายใหม่ถ้าไม่เก่งจริงอย่างเข้ามา เพราะธุรกิจนี้มีการแข่งขันสูง ส่วนผู้ซื้อบ้าน ควรออมเงินก่อนซื้อ และควรซื้อบ้านตามกำลังเงินที่มีอย่างซื้อใหญ่เกินตัว ตอนนี้ผู้กู้อยู่ในช่วงน่าห่วงหากหมดช่วงอัตราดอกเบี้ยคงที่ เพราะจากค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจะทำให้คนกู้ผ่อนส่งไม่ไหว”

ด้านนายสัมมา คีตสินผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า จากตัวเลขการขอสินเชื่อในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาพบว่า สินเชื่อเพื่อพัฒนาโครงการของผู้ประกอบการลดลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ การระดมทุนผ่านหุ้นกู้เพิ่มขึ้น ซึ่งผู้ที่จะออกหุ้นกู้ได้จะต้องอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ดังนั้นจึงพอสรุปได้ว่าหนี้เอ็นพีแอลที่เกิดขึ้นน่าจะมาจากผู้ประกอบการรายย่อย รวมไปถึงเอ็นพีแอลที่ยังค้างอยู่ในระบบ ซึ่งเชื่อว่าเป็นไปตามสถานการณ์ที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจให้มีการชะลอตัวมาในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ทางออกของผู้ประกอบการในช่วงนี้ควรจะชะลอโครงการออกไปก่อนหากไม่แน่ใจในภาวะที่เกิดขึ้น แบ่งการพัฒนาออกเป็นเฟสย่อยๆ ส่วนผู้ประกอบการที่จะเข้าสู่ตลาดควรศึกษาให้ดี ไม่ใช่ว่าทุกโครงการจะขายดี อีกทั้งยังมีการแข่งขันสูง โดยเฉพาะอาคารชุด ซึ่งในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมามีการเปิดตัวมากถึง 35,000-40,000 ยูนิต ซึ่งโครงการเหล่านี้จะสร้างเสร็จและเข้าสู่ตลาดในอีก 1-2 ปีข้างหน้า

ด้าน รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการคลัง การธนาคาร และสถาบันการเงิน กล่าวว่า รัฐบาลควรแก้ปัญหาอาคารสร้างค้างที่เป็นเอ็นพีแอลมาตั้งแต่ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ที่มีอยู่กว่า 200 อาคาร โดยการนำมาแยกประเภท ว่าใบอนุญาตก่อสร้างหมดอายุหรือยังไม่หมดอายุ หากหมดอายุรัฐบาลควรนำอาคารดังกล่าวไปดำเนินการเองโดยการลงทุนพัมนาต่อเพื่อนำมาใช้เป็นอาคารสวัสดิการ เพื่อให้หน่วยงานราชการเช่า โดยให้กรมธนารักษ์ช่วดูแล ส่วนอาคารที่ใบอนุญาตก่อสร้างยังไม่หมดอายุ ควรเปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุน และดึงดูดใจด้วยการให้สิทธิพิเศษด้านภาษี ซึ่งเหล่านี้เป็นเรื่องง่ายหากรับบาลต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ทุนอสังหาฯ นอกไม่ห่วง

นายไนเจิล เจ คอร์นิค กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ไรมอน แลนด์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัญหาการการเกิดหนี้เอ็นพีแอลในตลาดอสังหาริมทรัพย์นั้น ส่วนใหญ่เกิดจากบริษัทผู้พัฒนาโครงการ ที่ไม่มีประสบการในการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ ไม่ศึกษาตลาดอย่างดี ทำให้การเลือกทำเล การกำหนดกลุ่มเป้าหมาย และการวางตำแหน่งสินค้าไม่สอดคล้องกับตลาด ส่งผลให้ขายไม่ได้ ในที่สุดโครงการที่ได้ลงทุนและดำเนินการพัฒนาขึ้นมา เมื่อขายไม่ได้ก็กระทบต่อเจ้าของโครงการ ในขณะที่โครงการส่วนใหญ่ที่พัฒนาโดยผู้ประกอบการแบบมืออาชีพ มีส่วนน้อยมากที่เกิดปัญหาการเป็นหนี้เอ็นพีแอล

ขณะเดียวกัน ในส่วนของผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศนั้น ยังมีความต้องการซื้ออย่างต่อเนื่องเช่นกัน แต่ในช่วงที่ผ่านมา อาจจะมีการชะลอตัวออกไปบ้าง โดยเฉพาะ กลุ่มลูกค้าคนไทย เนื่องจากขาดความเชื่อมั่นทางการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศ แต่เชื่อว่า หลังจากที่มีความชัดเจนด้านการเมืองและเศรษฐกิจแล้ว โดยเฉพาะหลังการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นปลายปีนี้หรือต้นปีหน้าจะช่วยฟื้นความเชื่อมั่นทั้งในส่วนของผู้บริโภคในประเทศและต่างประเทศให้ตัดสินใจชื้อตามปกติแน่นอน ดังนั้นปัจจัยการเกิดหนี้เสีย จึงไม่น่าจะกระทบต่อตลาดอสังหาฯและการลงทุนของต่างชาติแต่อย่างใด

กองทุนSME 5 พันล้านแท้ง

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้ากองทุนช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (SME) ที่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็งค่าวงเงิน 5,000 ล้านบาท ว่า ขณะนี้ได้รับรายงานเบื้องต้นจากผู้ประกอบการที่ยื่นขอว่ายังไม่ได้รับการอนุมัติการปล่อยสินเชื่อจากสถาบันการเงินที่ร่วมโครงการเนื่องจากธนาคารส่วนใหญ่ต้องการหลักทรัพย์ค้ำประกัน ดังนั้นจึงได้ประสานไปที่สมาคมธนาคารไทยที่จะขอความร่วมมือกับธนาคารในการปล่อยสินเชื่อดังกล่าว

“เดิมทีที่หารือกันไว้ในหลักการแล้วการกู้เงินจะใช้เพียงใบรับออร์เดอร์สินค้าแทนเพราะเอสเอ็มอีส่งออกได้รับผลกระทบค่าเงินบาทมากต้องการความช่วยเหลือด่วน ซึ่งเรื่องนี้คงต้องขอให้แบงก์ลดเข้มงวดลง”นายสันติกล่าว

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าการปล่อยสินเชื่อจากกองทุนช่วยเหลือเอสเอ็มอี 5,000 ล้านบาทแต่อย่างใดโดยท้ายสุดทางธนาคารที่ร่วมโครงการประมาณ 13 แห่งยังต้องการหลักทรัพย์ค้ำประกันเช่นเดิมซึ่งจากการสอบถามอย่างไม่เป็นทางการทางสมาคมธนาคารไทยแจ้งว่าอาจเป็นไปได้ว่าแบงก์ต่างๆ เกรงปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ NPL ซึ่งปัญหาดังกล่าวต้องทำให้กันสำรองเพิ่มอีก

“หากการปล่อยกู้เข้มงวดแบบเดิมทั้งที่ตกลงกันไว้ว่ามีเพียงใบออร์เดอร์ ก็จะได้รับพิจารณา ซึ่งขั้นตอนก็เท่ากับว่ากองทุนฯนี้ไม่ได้ช่วยเหลืออะไรและก็ไม่เกิดประโยชน์ใด ๆ” แหล่งข่าวกล่าว

กองทุนช่วยเหลือเอสเอ็มอี 5,000 ล้านบาทแยกเป็น 4,500 ล้านบาท สำหรับการปล่อยกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ส่งออก โดยคิดอัตราดอกเบี้ย MLR -2.25 ส่วนอีก 500 ล้านบาท ปล่อยกู้ให้กับผู้ส่งออกที่เป็น NPL แต่ยังมีออร์เดอร์สั่งซื้อสินค้าอยู่ โดยคิดดอกเบี้ย MLR +1 แต่ละรายสามารถกู้ได้ไม่เกิน 5 ล้านบาท ผ่อนชำระภายใน 3 ปี โดยกำหนดระยะเวลาจากนี้ไปให้สามารถดำเนินการยื่นเรื่องขอกู้ได้จนถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2550 ส่วนกองทุนดังกล่าวจะหมดอายุในเดือนธันวาคม

เอกชนชี้ค่าบาทยังต้องติดตาม

ประธาน ส.อ.ท.กล่าวถึงเป้าหมายการส่งออกปีนี้คงไม่มีปัญหาเพราะครึ่งปีแรกเฉลี่ย 17% กว่าก็ถือว่าสูงแล้วหาก 5-6 เดือนหลังโตเฉลี่ย 10 % ก็คงจะขยายได้ตามเป้าหมาย ซึ่งปัจจัยค่าเงินบาทก็จะยังเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องติดตามแต่เอกชนก็หวังว่าปัญหาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพหรือ ซับไพรม์จะทำให้ค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าลงระดับหนึ่งในช่วงสิ้นปีนี้

นายอดิศักดิ์ โรหิตะศุน รองประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า ออร์เดอร์การส่งออกรถยนต์มีการสั่งล่วงหน้าค่อนข้างชัดเจนถึงสิ้นปีค่าเงินบาทจะไม่มีผลกระทบในแง่ของประมาณการส่งออกให้ลดลงแต่จะมีผลที่จะทำให้รายได้ของผู้ประกอบการลดลงมากกว่า ขณะที่อุตสาหกรรมภาพรวมแล้วไตรมาสสุดท้ายของทุกปีปกติจะมีออร์เดอร์ค่อนข้างสูงจึงมั่นใจว่าการส่งออกปีนี้ทั้งปีคงโตได้ 12.5% แน่

“ก็ยังไม่มั่นใจตัวเลขส่งออกเดือน ก.ค.ที่ลดลงอย่างมากว่าแท้จริงแล้วเกิดจากปัญหาใดกันแน่ซึ่งรัฐจะต้องตีโจทย์ออกมาให้ได้เพื่อแก้ไขปัญหาที่ตรงจุด” นายอดิศักดิ์กล่าว

โฆสิตไม่ตกใจส่งออกมีบวก-ลบ

นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎร์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.อุตสาหกรรมกล่าวว่า การขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือ GDP ปีนี้จะยังเติบโตในระดับ 4% โดยเป้าหมายส่งออกจะขยายตัวระดับ 12.5% แม้ว่าเดือน ก.ค.จะถดถอยเหลือระดับ 5.9% ก็ตามเนื่องจากช่วง 4-5 เดือนสุดท้ายปีนี้หากการเติบโตเฉลี่ย 6-7% ก็จะทำให้การส่งออกโตได้ตามเป้าหมายดังกล่าวได้แล้ว

"ตัวเลขส่งออก ก.ค.ที่ลดลงมากนั้นผมไม่ได้ตกใจอะไรเลย เพราะตัวเลขพวกนี้มีทั้งบวกและลบ ส่วนกรณีการส่งเสริมการย้ายฐานการผลิตของไทยไปประเทศเพื่อนบ้านในบางกิจการนั้นเห็นว่าไม่ต้องไปสนับสนุนเขาก็ต้องไปอยู่แล้ว” นายโฆสิตกล่าว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.