ส่อง 4 ปัจจัย ก่อนเก็บหุ้น ลงทุนสวนกระแสซับไพร์มสยองขวัญ


ผู้จัดการรายสัปดาห์(27 สิงหาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

พิษซับไพร์มสะเทือนโลก ตลาดหุ้นทุกภูมิภาคกอดคอกันดิ่งเหว บล.กสิกรไทย แนะก่อนลงทุนให้ปลอดภัยควรดู 4 ปัจจัยหลัก VIX- ค่าเงินบาท- ฝรั่งซื้อสุทธิ-เยนอ่อน ด้าน บล.ซิกโก้มอง SET เสี่ยงน้อย มีโอกาสกลับไปยืน 800จุดได้ คาดซับไพร์มอาจไม่เลวร้ายเท่าที่คิด

เป็นที่รู้กันดีว่าความเสียหายขั้นรุนแรงจากการลงทุนซับไพร์ม(Subprime)ในสหรัฐอเมริกาคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ "เฮดจ์ฟันด์" ทั้งหลาย ต้องเทขายสินทรัพย์ทางการเงินอื่นๆที่มีอยู่ทั่วโลกซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปของ "หุ้น"เพื่อนำมาไถ่ถอนคืนให้กับผู้ถือหน่วย รวมถึงคืนให้กับเจ้าหนี้เงินกู้

ด้วยการเทขายจำนวนมหาศาลอย่างพร้อมเพรียงกัน เป็นภาวะที่มี "ซัพพลาย"ที่มากกว่า "ดีมานด์" ทำให้ดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์ในทุกประเทศดิ่งลงพร้อมๆกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผสานกับความวิตกของนักลงทุนกลุ่มอื่นๆเข้าไปอีกจึงทำให้เกิดมีแรงเทขายมากขึ้น ยิ่งแข่งกันขายก็ยิ่งต้องลดราคา และนี่เองก็คือปฐมเหตุแห่งความปั่นป่วนในตลาดหุ้นทั่วโลกที่เกิดขึ้น

สำหรับในมุมมองของบางคนแล้วกลับคิดว่านี่คือช่วงที่มีโอกาสได้ซื้อของถูก ตามหลักคิดที่ว่า "เมื่อมีวันลงก็ย่อมมีวันขึ้น" แต่คำถามที่ตามมาก็คือ มีตัวแปรอะไรบ้างที่จะเป็นจุดสังเกตให้ได้ว่าถึงจุดที่น่าซื้อแล้ว?

ทวี ชูกิจเกษม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์(บล.)กสิกรไทย มองการปรับตัวลงของดัชนีรอบนี้ว่าไม่มีใครยืนยันได้ว่าจะลงไปถึงระดับใด เพราะนักลงทุนยังคงมีความกังวลกับปัญหาซับไพรม์อยู่ โดยเฉพาะตลาดหุ้นเอเชียเป็นตลาดที่มีสภาพคล่องมากที่สุดทำให้มีแรงเทขายออกมาทั้งภูมิภาคนี้อย่างต่อเนื่อง

"ภาวะแบบนี้เรื่องของ Fundamantal เขาไม่สนใจกันแล้ว สภาพคล่องธนาคารกลางสหรัฐ(FED)อัดฉีดเข้าไปเท่าไหร่ก็ไม่พอ ฉะนั้นกองทุนจึงต้องทำทุกวิถีทางเพื่อขายหุ้นทั้งหมดและนำเงินไปคืน ขายให้หมด ขายทุกราคา ดังนั้นจึงมีโอกาสที่จะเห็นดัชนีปรับตัวลงไปได้อีก"

เห็นได้ว่า FED ค่อยๆออกมายอมรับการลุกลามของปัญหานี้ทีละนิด แต่ก็คงไม่นำมาตรการลดดอกเบี้ยมาใช้ เพราะการลดดอกเบี้ยในช่วงที่มีเงินเฟ้อสูงคงไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องมากนัก

ทุกคนมองว่านี่คือสัญญาณการเริ่มต้นถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา แต่บางคนอาจมองไปถึงขนาดว่านี่คือสัญญาณของ Gobal Crash แล้ว

นักลงทุนจึงไม่จำเป็นต้องรีบเข้าไปซื้อหุ้น wait on the side line ไปก่อน หรืออาจจะเริ่มสะสมหุ้นติดไว้ราว 10-20%ของพอร์ตก่อนก็ได้

สำหรับการลงทุนระยะสั้นควรพิจารณา 4 ปัจจัยหลักก่อนตัดสินใจ อันดับแรกคือ ดูว่าดัชนีความผันผวน (VIX Index)เมื่อใดจะเริ่มนิ่งเพราะปัจจุบันมีค่านี้สูงกว่าปกติมาก อันดับที่2 แนวโน้มค่าเงินบาทที่อ่อนลง ถ้ายิ่งอ่อนมากก็หมายความว่ามีการเทขายมากแล้วเอาเงินออกไปเต็มๆ อันดับ 3 ดูการกลับมาซื้อสุทธิของต่างชาติ ถ้าเป็นบวกเมื่อไหร่ก็หมายความว่าเริ่มซื้อได้แล้ว และสุดท้ายคือ ค่าเงินเยนที่อ่อนลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์และยูโร เพราะปัจจุบันมีการซื้อคืนเยนจำนวนมากเพื่อปิดสถานะทำให้เงินเยนแข็งมาก

ด้าน เกียรติก้อง เดโช ผู้ช่วยผู้อำนวยการ บล. ซิกโก้ กล่าวว่า หากดูจากวามผันผวนของดัชนี VIX ผ่านเหตุการณ์ต่างๆ ในอดีต จะพบว่าความผันผวนที่รุนแรงและนำไปสู่วิกฤติจะอยู่ที่เกิน 30 ส่วน ตอนนี้อยู่ที่ประมาณเกือบ 30 แล้ว แม้ว่าค่าความผันผวนจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและมีความเสี่ยงอยู่ แต่สถานการณ์ที่คลี่คลายลงและดัชนีลงไปมากพอ ก็น่าจะทำให้ความผันผวนลดลงได้

"ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลงมากกว่าค่าเฉลี่ยทุกดัชนี ซึ่งกำลังแสดงถึงความเสี่ยงที่น้อยมาก หากเข้าไปลงทุน โดยมองว่าหลังจากที่ตลาดหุ้นสหรัฐเริ่มยืนได้ในปลายสัปดาห์นี้ ก็คงมีโอกาสที่ดัชนี SET จะกลับไปยืนที่ 800 จุดได้"

ส่วนปัญหาเรื่อง Subprime มองว่าจะเริ่มหยุดการขยายวง แต่ก็อาจจะมีบางกองทุนที่ขาดทุนเพิ่มเติม ซึ่งไม่น่าจะส่งผลต่อตลาดหุ้นทั่วโลก นอกจากนี้ยังน่าสังเกตว่าช่วงที่เกิดปัญหา Subprime เป็นช่วงที่เศรษฐกิจสหรัฐเริ่มชะลอตัวพอดี ดังนั้นมันจึงเกิดแรงบวก 2 แรงกระหน่ำตลาดหุ้นสหรัฐและขยายวงไปทั่วโลก โดยปัญหาเรื่อง Subprime ในรอบนี้แทบจะไม่ส่งผลต่อพื้นฐานของเศรษฐกิจในเอเชียเลย จะมีอยู่บ้างก็คือ การขายหุ้นของต่างชาติ เพื่อเตรียมเม็ดเงินไว้เผื่อการไถ่ถอน ซึ่งตรงนี้ในไม่ช้าก็คงจะหยุด เพราะตอนนี้ไม่ว่ากองทุนหรือนักลงทุนต่างประเทศจะขายสินทรัพย์จากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งนั้น แทบจะได้รับผลกระทบเหมือนกันแทบทั้งสิ้น รวมถึงราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดล่วงหน้า เช่น ทองคำ น้ำมัน

อย่างไรก็ตาม หากมองไปในระยะยาวอีกนิดหนึ่ง เหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น ในไม่ช้าน่าจะเริ่มส่งผลดีต่อกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในเอเชีย เพราะแทบจะไม่ได้รับผลกระทบเหมือนกับสถาบันการเงินในสหรัฐและยุโรป ที่ตอนนี้กำลังเผชิญกับการขาดความเชื่อมั่นและศรัทธาของนักลงทุน อันเนื่องมาจากการเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง การปล่อยสินเชื่อที่แทบจะไม่ดูสินทรัพย์ค้ำประกันและการขาดการกำกับดูแล


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.