ต่างชาติซื้อหุ้นจ่อทะลุ800จุด


ผู้จัดการรายวัน(24 สิงหาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

นักลงทุนต่างชาติกลับลำซื้อสุทธิเกือบ 1.6 พันล้านบาท ดันหุ้นไทยขึ้นทดสอบแนวต้าน 800 จุดอีกครั้ง โบรกเกอร์ไม่เชื่อต่างชาติซื้อหุ้นต่อเนื่องยาว เหตุปัญหา "ซับไพรม์" ยังไม่จบ และพร้อมจะประทุออกมาเป็นระลอก ด้านสมาคมนักวิเคราะห์ เผยนักวิเคราะห์ไทยเมินปัญหา "ซับไพรม์" เป้าดัชนีสิ้นปี 871 จุด ขณะที่ปีหน้าค่าเฉลี่ยยังแตะพันจุด "สมบัติ" ชี้หุ้นร่วง 160 จุด หรือ 60% จากที่ขึ้นมาตั้งแต่ต้นปี 270 จุดยังอยู่ในระดับค่าเฉลี่ยที่เคยเกิดขึ้น เชื่อ 4 เดือนก่อนการเลือกตั้งต่างชาติน่าจะกลับมาลงทุน ด้าน "พิชิต" มั่นใจเม็ดเงินต่างชาติไหลออกแค่ระยะสั้น

ภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นไทย วานนี้(23 ส.ค.) ตลอดทั้งวันดัชนีแกว่งตัวอยู่ในแดนบวก แม้ว่าจะยังมีแรงขายจากนักลงทุนต่างชาติออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยในระหว่างวันดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นไปทดสอบแนวต้านที่ 797 อีกครั้ง แต่ไม่สามารถผ่านได้ ส่งผลทำให้ดัชนีมาปิดที่ 791.50 จุด เพิ่มขึ้น 7.07 จุด หรือ 0.90% โดยจุดสูงสุดของวันอยู่ที่ 797.07 จุด และจุดต่ำสุดอยู่ที่ 787.47 จุด มูลค่าการซื้อขาย 20,208.80 ล้านบาท

ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 1,583.54 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันซื้อสุทธิ 772.94 ล้านบาท นักลงทุนรายย่อยขายสุทธิ 2,356.48 ล้านบาท

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ กรรมการผู้จัดการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ไทยพาณิชย์ จำกัด กล่าวว่า การเข้ามาซื้อหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศวานนี้ไม่น่าจะเป็นการเข้ามาอย่างต่อเนื่อง เพราะปัญหาสินค้าด้อยคุณภาพภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ (ซับไพรม์) ยังไม่จบ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นทั่วโลกได้อีก ทั้งนี้ การเข้ามาซื้อเป็นเพราะความผันผวนที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา การขายสุทธิการซื้อสุทธิในช่วงนี้จึงไม่ได้สะท้อนความมั่นใจที่แท้จริง แต่เป็นเพียงการหาโอกาสในจังหวะที่ตลาดหุ้นมีความผันผวนเท่านั้น

"เชื่อว่าต่างชาติยังไม่เข้ามาซื้อสุทธิต่อเนื่องแน่นอนในรอบนี้ มีเข้ามาซื้อก็จะต้องมีขาย ที่แน่ๆ ในอีกไม่นานจากนี้จะมีข่าวที่ถือว่าเป็นข่าวร้ายจากปัญหาซับไพรม์อีกอย่างแน่นอน" นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

นายวรุตม์ ศิวะศริยานนท์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล.โกลเบล็ก กล่าวว่า ตลาดหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นตามตลาดหุ้นทั่วโลก เพราะนักลงทุนเริ่มมีความเข้าใจและกลายความกังวลปัญหาซับไพรม์มากขึ้น ประกอบกับข่าวการคงอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ทำให้ไม่เกิดการทำ Yen Carry Trade เหมือนที่หลายฝ่ายคาดการณ์ก่อนหน้านี้ ขณะที่ทิศทางทางการเมืองในประเทศมีความชัดเจนมากขึ้นจากการปฎิเสธข่าวการปฎิวัติซ้อน

"ทิศทางตลาดหุ้นวันนี้ต้องติดตามทิศทางของตลาดหุ้นต่างประเทศเป็นหลัก รวมถึงการประชุมของคณะกรรมการธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่จะประชุมในวันที่ 18 ก.ย. 50 นี้ ว่าจะมีการพิจารณาเรื่องอัตราดอกเบี้ยอย่างไร"

ลุ้นดัชนีทะลุ800จุด

หม่อมหลวงทองมงกุฎ ทองใหญ่ ผู้บริหารฝ่ายการค้าหลักทรัพย์ บล.ซิตี้ คอร์ป (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตลาดหุ้นได้รับแรงหนุนจากการคงอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ทำให้ค่าเงินเยนอ่อนตัวลง แต่ยังไม่สามารถผ่านแนวต้านที่ 800 จุดได้ เนื่องมาจากมีแรงขายเก็งกำไรออกมาในช่วงที่ดัชนีปรับตัวขึ้นไป เนื่องจากความไม่มั่นใจในเรื่องซับไพรม์ ประกอบกับในประเทศยังมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมือง

"การที่ตลาดปรับขึ้นมาอยู่ในระดับปัจจุบันถือว่าอยู่ในระดับที่ดี แต่นักลงทุนจะต้องระมัดระวังการลงทุน เพราะปัจจัยภายนอกประเทศในเรื่องซับไพรม์ไม่รู้ว่าจะจบเมื่อไร ดังนั้นจึงแนะให้ลงทุนแค่ 20% ของเม็ดเงินลงทุนทั้งหมดในช่วงนี้"

สำหรับแนวโน้มการลงทุนในวันนี้ต้องพิจารณาทิศทางตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก่อน และหากตลาดในภูมิภาคปรับตัวขึ้น อาจจะทำให้ตลาดหุ้นไทยปรับขึ้นตามได้ โดยมองกรอบการแกว่งไว้ที่ 744-800 จุด

ราคาน้ำมันลดฉุดกลุ่มพลังงาน

นายโกสินทร์ ศรีไพบูลย์ ผู้อำนวยการ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) กล่าวว่า ในส่วนของกลุ่มพลังงานที่มีการปรับตัวลดลงขณะนี้นั้น เนื่องจากราคาน้ำมันดิบโลกที่มีการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่พายุเฮอริเครนที่เกิดขึ้นในทวีปอเมริกาไม่ได้สร้างความเสียหายต่อการผลิตอย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์กันไว้ ประกอบกับข่าวเรื่องที่แนวโน้มการประชุมกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน หรือ โอเปก ในกลางเดือนหน้าอาจจะมีการเพิ่มกำลังการผลิต แต่จากที่ปัจจุบันราคาน้ำมันปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาวเรล ก็อาจจะทำให้โอเปกตัดสินใจคงกำลังการผลิตไว้เท่าเดิม

เป้าดัชนี871จุดปีหน้าพันจุด

นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ กล่าวถึงผลสำรวจความคิดเห็นของนักวิเคราะห์ต่อปัญหาซับไพรม์ว่า นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังไม่มีการปรับลดประมาณการกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนในปีนี้เนื่องจากเชื่อว่าปัญหาดังกล่าวจะกระทบต่อตลาดหุ้นแต่ไม่กระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม โดยหลังจากนี้ความรุนแรงของปัญหาจะอยู่ในวงที่จำกัดมากขึ้น

ทั้งนี้ จากการสำรวจเป้าหมายดัชนีสิ้นปีจากเดิมซึ่งคาดการณ์อยู่ที่ 880 จุดปรับลดลงมาอยู่ที่ 871 จุด ขณะที่เป้าหมายดัชนีในปีนี้จากเดิมค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1,033 จุดมาอยู่ที่ 1,000 จุด โดยหุ้นที่ยังคงแนะนำให้ลงทุนคือ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ อสังหาริมทรัพย์และพลังงาน รวมถึงหุ้นที่ได้รับผลดีจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศรวมถึงหุ้นที่มีการจ่ายปันผลในระดับเฉลี่ย 6-8%

"มีผู้ตอบแบบสอบถามถึง 79% ที่ไม่มีการปรับประมาณการกำไรสุทธิบจ.ในปีนี้และปีหน้า แม้ว่าจะผลกระทบที่เกิดขึ้นจากซับไพรม์เนื่องจากมองว่าเป็นผลกระทบในระยะสั้นและส่งผลกระทบในวงจำกัด"นายสมบัติกล่าว

นอกจากนี้ ความคิดเห็นของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่นอกเหนือจากปัญหาซับไพรม์ ปัจจัยที่มีผลต่อการลงทุนในช่วงที่เหลือของปี 50 เรื่องที่นักวิเคราะห์ให้ความสำคัญมากที่สุด คือ ปัจจัยทางการเมือง รวมถึงผลการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในช่วงปลายปี ขณะเดียวกันปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็น ราคาน้ำมัน แนวโน้มอัตราดอกเบี้ย แนวโน้มค่าเงินบาท และการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจโดยรวมทั้งในประเทศและต่างประเทศ

นายสมบัติ กล่าวอีก การปรับตัวเพิ่มขึ้นของตลาดหุ้นในช่วงที่มีเม็ดเงินต่างชาติไหลเข้ามาถึง 1.38 แสนล้านบาททำให้ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 270 จุด ชณะที่ในช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมามีการขายออกมาแล้วประมาณ 4.5 หมื่นล้านบาท ดัชนีปรับตัวลดลงประมาณ 160 จุด หรือประมาณ 60% ซึ่งยังถือว่าอยู่ในบริเวณค่าเฉลี่ยเนื่องจากที่ผ่านมาการซื้อของนักลงทุนต่างชาติในแต่ละรอบจะอยู่ที่ประมาณ 6 หมื่นล้านบาทถึง 1.5 แสนล้านบาท ขณะที่การปรับลดลงของดัชนีจากการขายในแต่ละรอบจะเฉลี่ยอยู่ในระดับประมาณครึ่งหนึ่งของการปรับตัวเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ยังเป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้ยากว่าแนวโน้มการขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติจะเป็นอย่างไร เพราะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายเรื่องรวมถึงผลกระทบที่จะตามมาจากปัญหาซับไพรม์ว่าจะมีเพิ่มมากอีกเท่าไหร่ แต่หลายฝ่ายเชื่อว่าผลกระทบหลังจากนี้คงไม่มากเท่าผลกระทบที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้ และในช่วงก่อนการเลือกตั้งนักลงทุนต่างชาติน่าจะกลับมาซื้อสุทธิอีกรอบแน่

เม็ดเงินต่างชาติไหลออกระยะสั้น

นายพิชิต อัคราทิตย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในช่วงนี้กระแสเงินลงทุนจากต่างชาติ (Fund flow) จะไหลออกจากตลาดหุ้นไทยระยะหนึ่ง จากการที่เฮดจ์ฟันด์ทั่วโลกต้องการหาแหล่งพักเงินในการลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำมากที่สุด และบางส่วนสำรองไว้สำหรับการไถ่ถอนหน่วยลงทุนเพื่อนำไปใช้จ่ายในเหตุที่ทำให้กองทุนขาดสภาพคล่อง แต่ผลกระทบของกระแสเงินจากต่างชาติจะเป็นช่วงสั้นเท่านั้น และเชื่อว่าในระยะยาวเงินจะไหลกลับเข้ามาอย่างแน่นอน

ส่วนปัญหาซับไพรม์ที่ส่งผลต่อการลงทุนทั่วโลกขณะนี้ เชื่อว่าจะเริ่มคลี่คลายเร็วๆ นี้ ซึ่งการแก้ปัญหาด้วยการอัดฉีดสภาพคล่องเข้ามาในระบบของธนาคารกลางยุโรปและสหรัฐฯ จะสามารถลดผลกระทบได้แล้วในระดับหนึ่งหรือช่วยลดปัญหาดังกล่าวไปได้เกินกว่าครึ่งแล้ว อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาด้วยการเข้าไปแทรกแซงในครั้งนี้ ก็มีความกังวลพอสมควร เพราะจะเป็นความเสี่ยงต่อระบบที่อาจจะทำให้เกิดความล้มเหลวของตลาดได้หากมีการแทรกแซงในตลาดมากเกินไป ซึ่งหรือที่เรียกว่า การเบี่ยงเบนทางพฤติกรรมการลงทุนที่ผิดจากธรรมชาติ จากกฎเกณฑ์ของรัฐบาลเอง

"หากธนาคารกลางของสหรัฐฯ และยุโรปไม่เข้ามาแทรงแซงปัญหาดังกล่าว เชื่อว่าผลกระทบอาจจะรุนแรงมากกว่านี้ เพราะถ้าไม่ทำอาจจะส่งผลต่อเศรษฐกิจที่แท้จริงโดยเฉพาะเศรษฐกิจของสหรัฐในระยะยาวได้ ซึ่งปัญหาดังกล่าวเขาเองก็กังวลไม่น้อยไปกว่าปัญหาเงินเฟ้อในประเทศพอสมควร"นายพิชิตกล่าว

สำหรับผลกระทบต่อกองทุนรวมต่างประเทศ (เอฟไอเอฟ) นายพิชิตกล่าวว่า กองทุนของ บลจ.เอ็มเอฟซีไม่ได้ลงทุนในตราสารที่เกี่ยวข้องกับซับไพรม์โดยตรง แต่ผลกระทบที่เปิดขึ้นเป็นผลทางอ้อมในเชิงจิตวิทยา ซึ่ง การลงทุนของบริษัทจะเน้นแถบภูมิภาคเอเชียเป็นหลัก ซึ่งมีอัตราการเติบโตเร็วที่สุดในโลก ซึ่งรวมทั้งแถบลาตินอเมริกาด้วย แต่ขณะนี้ภาวะการลงทุนในหุ้นที่ปรับลดลงทั่วโลก เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะได้รับผลกระทบจากการลงทุนเช่นกัน แต่คาดว่าผลกระทบดังกล่าวจะเป็นระยะสั้นเท่านั้น

ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศ มองว่าจะยังคงที่แต่จะมีความเปราะบางมากขึ้น โดยจีดีพีในระดับ 4-5% น่าจะยังเป็นไปได้จากแรงหนุนของกำไรบริษัทจดทะเบียนที่คาดว่าจะอยู่ที่ 12-14% ในปีนี้ อย่างไรก็ตาม ความเป็นห่วงของเศรษฐกิจไทยคือ การพึ่งพาการส่งออกเพียงอย่างเดียว ซึ่งในระยะต่อไป หลังการเลือกตั้งและได้รัฐบาลใหม่เข้ามาแล้ว ต้องให้ความสนใจปัจจัยที่ผลักดันเศรษฐกิจของประเทศให้มากขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ที่จะช่วยหนุนให้เกิดการลงทุนมากขึ้น ทั้งการขนส่ง พลังงาน และน้ำ นอกจากนี้ โครงสร้างพื้นฐานทางการเงินก็เป็นเรื่องสำคัญ ที่รัฐบาลต้องเข้ามาดูแลต้นทุนทางการเงินด้วย โดยเฉพาะมาตรการกันเงินสำรอง 30% ถึงแม่จะมีข้อดีแต่ยังมีต้นทุนอยู่


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.