"ปกรณ์"รั้งปธ.ตลท.ตามโผเดินหน้าสานแปรรูปตลาด


ผู้จัดการรายวัน(24 สิงหาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

"ปกรณ์" มาวินนั่งตำแหน่งประธานตลาดหลักทรัพย์ฯ ตามโผ หนุนไอเดียแปรรูปตลท.เต็มที่ เดินหน้าเร่งศึกษาหวั่นหากไม่ทำอะไรตลาดหุ้นไทยจะโดดเดี่ยว ยันคดี EXIM BANK ปล่อยกู้ 4 พันล้านจบแล้ว ขณะที่ไขก๊อกลาออกจาก "IRPC-PRO" เพื่อขจัดปัญหา เปิดนโยบายเชิงรุก เล็งถกบีโอไอหวังดันบริษัทที่ได้รับสิทธิจดทะเบียน พร้อมหารือก.ล.ต.เร่งกระบวนการ IPO ให้เร็วขึ้น เตรียมคุยสมาคมประกันฯ หวังดึงเงินที่พร้อมลงทุนเพิ่มสัดส่วนนักลงทุนสถาบัน

นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา กรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวภายหลังได้รับเลือกให้เป็นประธานคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า การเชื่อมโยงตลาดหุ้นไทยกับตลาดหุ้นในภูมิภาคให้เป็นเครือข่ายเดียวกันรวมทั้งการแปรรูปตลาดหุ้นไทยให้เป็นเอกชน เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันเป็นเรื่องที่คณะกรรมการและฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องเร่งดำเนินการ โดยจะต้องศึกษาในเรื่องดังกล่าวอย่างละเอียดเพื่อประโยชน์ที่สูงสุด

ทั้งนี้ นโยบายเบื้องต้นได้มีการกำหนดเพื่อให้สอดคล้องกับแผนแม่บทพัฒนาตลาดทุนไทยปี 2549-2553 รวมถึงแผนกลยุทธ์ปี 2550-2552 ของตลาดหลักทรัพย์ โดยเรื่องที่จะต้องเน้นเข้าไปดูเป็นพิเศษได้แก่ การเพิ่มทางเลือกในการลงทุนเพื่อเป็นการบริหารความเสี่ยงในการลงทุน โดยเฉพาะแผนในเชิงรุกเพิ่มจำนวนบริษัทจดทะเบียนใน SET และ mai

นอกจากนี้ จะมีการหารือร่วมกับกระทรวงการคลังในเรื่องอัตราการเสียภาษีของบริษัทจดทะเบียน หารือร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการลงทุน (BOI) โดยอาจจะเสนอให้บริษัทที่ได้รับ BOI ต้องเข้าจดทะเบียน รวมทั้งจะมีการหารือกับก.ล.ต.เพื่อหารือเกี่ยวกับกระบวนการในการทำ IPO ให้มีความคล่องตัวมากขึ้น

"ถ้าไม่อยากเห็นตลาดหุ้นไทยต้องตกอยู่ในสภาวะที่โดดเดี่ยว เพราะปัจจุบันตลาดหุ้นจำนวนมากได้มีการแปรรูปการพิจารณาในเรื่องดังกล่าวถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการ แต่ประเด็นที่สำคัญจะต้องดูว่าจะทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด"นายปกรณ์กล่าว

สำหรับนโยบายในด้านอุปสงค์ เชื่อว่าหากหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนอยู่มีคุณภาพและมีความหลากหลายมากขึ้น จำนวนนักลงทุนก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย โดยแผนในเชิงรุกเกี่ยวกับการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนโดยเฉพาะนักลงทุนสถาบันที่ปัจจุบันมีสัดส่วนแค่ 12% เช่น การเจาะสมาคมบริษัทประกันชีวิตซึ่งปัจจุบันมีวงเงินที่สามารถลงทุนในตลาดหุ้นที่ยังไม่ได้ลงทุนอีกจำนวนค่อนข้างมาก

อย่างไรก็ตาม การสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้มีความสมบูรณ์ คล่องตัว มีประสิทธิภาพและมีต้นทุนที่ต่ำเพื่อเป็นการรองรับการไหลเข้าออกของเงินทุนจากต่างประเทศที่มีจำนวนมาก ซึ่งโครงสร้างในปัจจุบันยังมีจุดอ่อนที่ต้องเร่งปรับปรุงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ขณะที่การดูแลนักลงทุนจะเน้นเกี่ยวกับการให้ข้อเท็จจริงที่รวมเร็วและถูกต้อง เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ในการตัดสินใจให้มากที่สุด รวมถึงการยกระดับมาตรฐานบรรษัทภิบาลของบริษัทจดทะเบียน

"ปัจจุบันตนเองดำรงตำแหน่งประธานสมาคมตลาดตราสารหนี้ เมื่อได้เป็นประธานตลาดหลักทรัพย์ซึ่งดูแลในเรื่องตลาดทุน การเชื่อมโยงเพื่อพัฒนาตลาดทั้ง 2 ประเภทจะทำได้สะดวกมากยิ่งขึ้น โดยจะเน้นการพัฒนาที่คู่กันเพื่อสร้างให้ทั้ง 2 ตลาดเป็นเสาหลักที่สำคัญทางเศรษฐกิจต่อไป" ประธานคณะกรรมการตลท.คนใหม่กล่าว

นายปกรณ์ กล่าวถึงความไม่สบายใจของหลายฝ่ายเกี่ยวกับปัญหาการปล่อยกู้ 4 พันล้านบาทในช่วงที่เป็นประธานกรรมการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ EXIM BANK ให้รัฐบาลพม่าซื้อ "ไอพีสตาร์" ซึ่งเป็นบริษัทในเครือชินคอร์ป ว่า การตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) มีข้อสรุปว่าคณะกรรมการธนาคารไม่มีความผิดในกรณีดังกล่าว กระทรวงการคลังจึงได้มีการเสนอให้ตนเองเข้ามารับตำแหน่งประธานตลท.ในส่วนของตัวแทนจากก.ล.ต.

นอกจากนี้ เพื่อการขจัดความไม่สบายใจในเรื่องการทำงานจึงได้ลาออกจากการเป็นประธานกรรมการบมจ.โปรเฟสชั่นแนล เวสต์ เทคโนโลยี (1999) หรือ PRO และรองประธานกรรมการบมจ.ไออาร์พีซี หรือ IRPC ขณะเดียวกันตนเองจะเข้าไปดำรงตำแหน่งประธานกรรมการในบริษัทลูกของตลาดหลักทรัพย์อีก 2 บริษัท คือ บริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ TSD และบริษัทตลาดอนุพันธ์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ TFEX ขณะที่อีก 2 บริษัท คือ บริษัท เช็ทเทรด ดอทคอม จำกัด และบริษัทแฟมมิลี่ โนฮาว จำกัด จะให้กรรมการทั้ง 2 บริษัทเลือกผู้ที่เหมาะสมขึ้นมาทำหน้าที่ประธานกรรมการแทน

สำหรับสาเหตุที่เลือกเป็นประธานกรรมการเพียง 2 บริษัทเนื่องจาก TSD ถือว่ามีความสำคัญค่อนข้ามากที่จะสร้างความเชื่อมั่นต่อการลงทุนของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งการเตรียมความพร้อมในเรื่องของระบบถือว่าเป็นเรื่องสำคัญเพื่อที่จะไม่ให้มีข้อบกพร่อง ขณะเดียวกัน TFEX ถือว่าเป็นทางเลือกในการบริหารความเสี่ยงในการลงทุนและค่อนข้างมีความสำคัญ

"การพัฒนาการของตลาดหุ้นไทยในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ส่วนตัวในฐานะที่เป็น 1 ในคณะทำงานโครงการพัฒนาตลาดทุนของแบงก์ชาติตั้งแต่ปี 2512 และเป็นเลขานุการคณะทำงานจัดตั้งตลาดหุ้นในยุคแรก ถือว่าพอใจการเติบโตของตลาดหุ้นในระดับหนึ่งเท่านั้น"นายปกรณ์กล่าว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.