สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ ประธานกรรมการบริหารบริษัทโอสถสภา ไม่ได้สะสมกล้องเพียงแค่เป็นของเล่น
แต่เขายังใช้เป็นเครื่องมือสรรค์สร้างงานศิลปะดีๆ
ให้เกิดขึ้นหลายชิ้นทีเดียว
ในตำแหน่งทางธุรกิจ สุรัตน์ยังคงเป็นผู้บริหารคนสำคัญในการดูแลบริษัทโอสถสภา
ที่มีประวัติยาวนานมาถึง 114 ปี ให้ยืนหยัดเป็นบริษัททางด้านอุตสาหกรรมยา
และเครื่องดื่มชูกำลังในระดับแนวหน้าต่อไป ขณะเดียว กันเขาก็ไม่ยอมให้เรื่อง
"เวลา" และ "ธุรกิจ" เป็นอุปสรรคในการทำงานอดิเรก ที่เขารัก
"ผู้จัดการ" เคยถ่ายทอดเรื่องราวของผู้ชายคนนี้เกี่ยวกับความผูกพัน และความรักในเครื่องสังคโลก
ที่เขาเก็บสะสมมานานกว่า 40 ปี จนปัจจุบัน เขาเป็นคนหนึ่งที่ได้รับการยอมรับว่ามีเครื่องสังคโลกชิ้นเยี่ยมอยู่ในครอบครองมากที่สุดคนหนึ่งของเมืองไทย
(เยี่ยมพิพิธภัณฑ์สังคโลกของ สุรัตน์ โอสถานุ-เคราะห์ ฉบับกุมภาพันธ์ 2545)
หลายคนที่เคยเข้าไปตะลึงกับเครื่องสังคโลกกว่า 3,000 ชิ้นของเขาในหมู่บ้านนวธานี
ไม่มีโอกาสรู้ว่าในห้องๆ หนึ่งในบ้านหลังนี้มีพิพิธภัณฑ์กล้องถ่ายรูปซ่อนตัวอยู่ด้วย
กล้องทั้งใหม่ทั้งเก่า หลากหลายยี่ห้อ หลากหลายรุ่น พร้อมอุปกรณ์วางเรียงรายอยู่ตามชั้น
และบนพื้นห้องจนลานตา
ฐานะอย่างเขา แน่นอนว่าการไปประมูลซื้อกล้องราคาแพง หรือการหาซื้อกล้องเก่าตามตลาดของเก่าในต่างประเทศ
รวมทั้งซื้อกล้องรุ่นใหม่ๆ มาเก็บไว้ไม่ใช่เรื่องยาก แต่การทุ่มเทเวลาเป็นปีในการหาซื้ออุปกรณ์ที่เป็นนอต
เล็กๆ เพียงหนึ่งตัว มาใส่แทนตัวที่หล่นหายไป บ่งบอกให้เห็นว่าเขาไม่ได้สะสม
กล้องด้วยความรู้สึกผิวเผิน แต่มีความลึกซึ้งมากกว่านั้น
สุรัตน์ได้กล้องตัวแรกจากบิดาคือ สวัสดิ์ โอสถานุเคราะห์ และเริ่มหัดถ่ายภาพด้วยตนเองตั้งแต่อายุ
12 ปี ปีต่อมาก็สมัครเป็นลูกศิษย์เรียนศิลปะการถ่ายภาพ และการล้างอัดภาพกับอาจารย์เต็กหมิ่น
เจ้าของร้านวิจิตรจำลอง ซึ่งเป็นร้านอัดขยายภาพชื่อดังแถวสี่พระยา
ช่วงเรียนอยู่ที่ Babson College ได้มีโอกาสฝึกฝีมือถ่ายรูปงาน Prom ของวิทยาลัย
ซึ่งจัดปีละ 2 ครั้ง และรับถ่ายรูปงานทั่วไป ในปี พ.ศ.2496 เขาย้ายมาเรียนที่
Colorado ทางด้านบริหารธุรกิจ และเรียนวิชาเลือกทาง ศิลปะ เช่น Art Appreciation,
Free Hand Drawing, Water Color-Oil Painting และได้นำแนวคิดมาแทรกกับการถ่ายภาพ
จากนั้นได้สนใจศึกษา เรื่องการถ่ายภาพด้วยตนเองจากหนังสือเรื่อยมา
ช่วงเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา เวลาในการตีกอล์ฟยามเช้าของผู้บริหารคนนี้ถูกหยุดพักไปก่อนชั่วคราว
แต่กลับใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการตระเวนถ่ายภาพ บันทึกวิถีชีวิตของคนกรุงตามตรอกซอกซอย
และสายน้ำลำคลอง ที่กำลังเลือนหายไปมาบรรจุไว้ในแผ่นฟิล์มแทน บางคราวเลยเรื่อยไปตามต่างจังหวัดใกล้เคียง
เช่น อยุธยา สุพรรณบุรี เพชรบุรี และที่ไปบ่อยที่สุดคือตลาดน้ำท่าคา จังหวัดสมุทรสงคราม
สุรัตน์เล่าว่าภาพของเขาไม่เหมือนคนอื่น ช่างภาพส่วนใหญ่จะเน้นภาพที่มีสีสัน
แสงเงา และองค์ประกอบทางศิลป์ แต่เขาเห็นอย่างไรก็ถ่ายอย่างนั้น เน้นเรื่องราวของภาพที่ปรากฏ
ภาพทุกภาพบอกเรื่องราว โดยเฉพาะ เรื่องราวที่กำลังเลือนหายไปของวิถีชีวิตดั้งเดิม
Vanishing Bangkok เป็นหนังสือประมวลภาพถ่ายขาว-ดำ ฝีมือตนเองเล่มแรกของเขา
ก่อนที่จะนำมาจัดนิทรรศการภาพถ่ายขาว-ดำ "กรุงเทพฯ เลือนหาย" เมื่อเดือนมกราคม
2545 เรื่องราวเบื้องหลังภาพที่บรรยายไว้ สร้างความประทับใจ และทำให้ภาพเหล่านั้นมีชีวิตขึ้นทันที
ภาพถ่ายชุดนี้ได้ถูกนำมาแสดงในงานนิทรรศการต่างๆ อีกหลายครั้ง
นิทรรศการ "หยินหยาง" ที่จัดแสดง ณ หอศิลป์วิทยนิทรรศน์ ชั้น 7 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
คืออีกผลงานหนึ่งของสุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ ก่อนที่จะได้รับเลือกเป็น 1 ใน
5 ศิลปิน ที่ได้มีโอกาสแสดงผลงานในงาน "วันนริศ ไหว้สมเด็จครู นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม
ของมหาวิทยาลัยศิลปากร" ในหัวข้อ "ภาพถ่ายผลงานสถาปัตยกรรมฝีพระหัตถ์สมเด็จ
เจ้าฟ้ากรมพระยานริศ" ตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน 2546 ที่ผ่านมา
ความรื่นรมย์ที่ปรากฏอยู่บนใบหน้าของผู้ชาย วัย 73 ปี เบื้องหลังกล้องถ่ายรูป
คือความสุขที่แท้จริง ที่ใครอีกหลายคนอาจจะถวิลหา แต่อย่างไรก็ตาม เขา ก็ต้องไปเคร่งเครียดอยู่กับตัวเลขบนโต๊ะประชุมที่บริษัทอีกอย่างน้อยสัปดาห์ละ
2-3 วัน