แฟรนไชส์ปรับตัวขนานใหญ่สร้างธุรกิจตอบโจทย์ผู้ลงทุน


ผู้จัดการรายสัปดาห์(20 สิงหาคม 543)



กลับสู่หน้าหลัก

เป็นระยะเวลากว่า 20 ปีที่ธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทยมีการเติบโตและพัฒนารูปแบบธุรกิจให้สอดคล้องและเหมาะสมกับสภาพการงทุนในแต่ละช่วงเวลา ที่ต้องสัมพันธ์กับเศรษฐกิจที่มีขึ้นมาลง ซึ่งจะทำให้ได้เห็นพัฒนาการต่างๆของธุรกิจแฟรนไชส์

บริษัท แฟรนไชส์โฟกัส จำกัด ได้ทำการรวบข้อมูลสถานการณ์ธุรกิจแฟรนไชส์ พบว่าปัจจัยเศรษฐกิจที่ชะลอตัวส่งผลต่อรูปแบบธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้แฟรนไชซอร์มีการปรับตัว เพื่อให้ธุรกิจสอดคล้องกับความต้องการของผู้ลงทุน

แห่ปรับลดเงินลงทุนเซเว่นฯ นำทีมเหลือ 5 แสน

อันดับแรกพบว่ามีการปรับราคาการลงทุน ซึ่งเป็นแนวโน้มใหม่ของธุรกิจแฟรนไชส์ โดยได้มีการเปรียบเทียบการลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์เมื่อ 5 ปีก่อน การลงทุนเฉลี่ยประมาณ 3 ล้านบาท แต่ปัจจุบันได้มีการปรับราคาการลงทุน ควบคุมต้นทุนต่างๆ เพื่อให้เม็ดเงินการลงทุนอยู่ในระดับล้านบาท รวมถึงรายใหม่ที่ต้องการขยายธุรกิจด้วยระบบแฟรนไชส์นั้นจะตั้งราคาการลงทุนที่ประมาณหนึ่งล้านบาทเช่นกัน

ยกตัวอย่างเช่น เซเว่นอีเลฟเว่น เดิมการลงทุนที่ที่ 3 ล้านบาท ที่ผ่านมาได้ปรับระดับการลงทุนลงมาที่ 1.5 ล้านบาท และล่าสุดที่ 9 แสนบาท แบ่งเป็นเงินลงทุน 5 แสนบาทและอีก 4 แสนบาทเป็นค่าประกันสินค้าเท่ากับลงทุนเพียง 5 แสนบาทเท่านั้น ทั้งนี้การปรับเม็ดเงินการลงทุนสอดคล้องกับขนาดพื้นที่ ทำเลด้วย

ต่อมาคือรูปแบบของการเทิร์นคีย์ คือการที่บริษัทหรือแฟรนไชซอร์ได้เปิดร้านสาขาปูพรมในพื้นที่ที่ศักยภาพและดำเนินการไประยะหนึ่งก่อนที่จะขายร้านสาขาดังกล่าวให้กับผู้ที่สนใจหรือผู้ที่จะเข้ามาเป็นแฟรนไชซี ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการตัดสินใจเร็วขึ้นและมั่นใจต่อธุรกิจเพราะสามารถเห็นยอดขายของสาขา ซึ่งรายที่ทำการเทิร์นคีย์ เช่น เซเว่นอีเลฟเว่น แฟมิลี่มาร์ท และซึทาญ่า ซึ่งแนวโน้มของรูปแบบนี้จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต เพราะเป็นรูปแบบที่จะสร้างความมั่นใจในการตัดสินใจลงทุนของผู้ประกอบการได้มากกว่า

เสนอเงื่อนไขจูงใจ พันธมิตรแบงก์-ผ่อนส่ง

นอกจากนี้คือการลงทุนที่สนับสนุนด้วยสถาบันการเงิน พบว่าแฟรนไชซอร์หลายรายได้นำการลงทุนรูปแบบนี้มาเป็นจุดขาย นอกจากจะทำให้ผู้สนใจลงทุนได้ง่ายเงินแล้วแฟรนไชซอร์รายนั้นยังสร้างความน่าเชื่อถือที่มีสถาบันการเงินของรัฐให้การสนันสนุนกิจการอีกด้วย และสถาบันการเงินที่ให้การสนับสนุนเป็นที่แรกๆ คือ เอสเอ็มอีแบงก์ และได้ขยายสู่สถาบันการเงินเอกชนต่างๆ ร่วมถึงเงินด่วนอิออนอีกด้วย

ขณะเดียวกันแฟรนไชซอร์หลายรายยังมีการเสนอเงื่อนไขการลงทุนที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นการผ่อนชำระ ซึ่งพบมากในธุรกิจที่มีเงินลงทุนระดับหมื่นบาท เพราะทำให้สามารถเริ่มต้นกิจการได้จากหลักพันบาทเท่านั้น เช่น กิจการตู้หยอดเหรียญต่างๆ หรือมีเงื่อนไขในการเช่าใช้สถานที่และแบ่งผลกำไรกันเป็นต้น ด้วยรูปแบบดังกล่าวนี้ช่วยให้ผู้ประกอบการเปิดกิจการได้ง่ายขึ้น

และจากการรวบรวมข้อมูล ยังพบว่าจากสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันพบพฤติกรรมผู้บริโภคแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ชะลอการลงทุนไปจนกว่าหลังการเลือกตั้ง และกลุ่มผู้ที่ลงทุนเพื่อกระจายความเสี่ยง หาทางเลือกใหม่ๆ ทางธุรกิจซึ่งเป็นผู้ที่มีกิจการอยู่แล้ว

หากมองถึงการขยายของธุรกิจแฟรนไชส์ ส่วนใหญ่จะเติบโตในทำเลใหม่ที่เกิดจากการขยายชุมชนใหม่ เช่น โรงงานอุตสาหกรรม หมู่บ้านจัดสรร หอพัก สำนักงานใหม่ หรือห้างสรรพสินค้าที่เปิดใหม่หรือที่มีการปรับพื้นที่ขายเพิ่มขึ้นและการขยายธุรกิจไปยังต่างจังหวัดเพื่อจับจองพื้นที่และเป็นธุรกิจใหม่ของแหล่งทำลนั้นๆ

เปิดเครสอาหารญี่ปุ่น "ชิบูย่า" ขยาย "คีออส" สนองตลาด

บริษัท เนเจอร์ เบสท์ฟู้ดส์ จำกัด เป็นบริษัทอาหารญี่ปุ่นให้กับโรงแรม ร้านอาหารมานานกว่า 10 ปี ที่เล็งเห็นโอกาสการเติบโตของธุรกิจรีเทล จึงได้ตั้ง บริษัท ชิบูย่า ฟู้ด จำกัดขึ้นเพื่อดูแลธุรกิจแฟรนไชส์ร้านอาหารญี่ปุ่น "ชิบูย่า" ปัจจุบันมีร้านต้นแบบที่บริษัทลงทุนเอง 3 สาขา ได้แก่ เอสพลานาด ซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์และฟิวเจอร์พาร์ครังสิต

ปริชาติ อัศวเศรณี ผู้บริหาร บริษัท เนเจอร์ เบสท์ฟู้ดส์ จำกัด ให้ข้อมูลว่า ชิบูย่า เป็นร้านอาหารญี่ปุ่นที่มีการลงทุนสูงหรือประมาณ 3-5 ล้านบาท ซึ่งยอมรับว่าเป็นระดับการลงทุนที่สูงในสถานการณ์ปัจจุบันแม้จะเป็นธุรกิจที่มีโอกาสและการนำเสนอสินค้าในตลาดที่แตกต่างจากแบรนด์อื่นก็ตาม ทั้งนี้จากการเซอร์เวย์กลุ่มนักลงทุนพบว่าความต้องการลงทุน ระดับ 1 แสนบาทมีฐานที่กว้างมาก

ทำให้บริษัทเล็งเห็นโอกาสในกลุ่มนักลงทุนที่มีกำลังซื้อที่ไม่สูงมากนักจึงได้พัฒนารูปแบบธุรกิจเป็นคีออส ที่เงินลงทุน 1 แสนบาท สินค้าที่จำหน่ายคือราเมนและซูชิหรือข้าวปั้นซึ่งยังไม่มีแบรนด์ใดที่ทำเป็นรูปแบบแฟรนไชส์ สิ่งที่จะสร้างความมั่นใจนักลงทุนคือบริษัทเป็นโรงงานผลิตวัตถุดิบเองและมีระบบการจัดส่งที่ดี ระยะสัญญาแฟรนไชส์ 3 ปีและประมาณการคืนทุนที่ไม่เกิน 1 ปี

ปริชาติ กล่าวต่อไปว่า คาดสถานการณ์การเมือง เศรษฐกิจจะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ความมั่นใจของนักลงทุนจะเพิ่มขึ้น รวมถึงกลุ่มนักลงทุนที่มีกำลังซื้อสูงที่พร้อมลงทุนระดับล้านนั้นจะกล้าตัดสินใจลงทุนมากขึ้นในปี 2551 จึงจะเริ่มรุกตลาดชิบูย่าที่เป็นอาหารมากขึ้น

สำหรับคอนเซ็ปต์ของชิบูย่าในรูปแบบร้านคือการนำเสนอบะหมี่ญี่ปุ่นสดๆ ให้เห็นที่หน้าร้านและการครีเอทเมนูอาหารญี่ปุ่นที่เป็นฟิวชั่นฟู้ดส์โดยมีทีมพัฒนาโปรดักส์เฉพาะ เช่น ไก่ทอดที่หมักเหล้าสาเกคลุกด้วยสาหร่ายแล้วจึงนำไปทอด เป็นการประยุกต์หน้าตา รสชาติอาหารใหม่ๆ ให้กับผู้บริโภคซึ่งได้รับการตอบรับที่ดี และในฐานะที่เป็นบริษัทผู้ผลิตวัตถุดิบอาหารญี่ปุ่นมานานเห็นเทรนด์การบริโภคอาหารญี่ปุ่น ที่ต้องนำเสนอความแตกต่างซึ่งพิสูจน์ได้จากสาขาเอสพลานาดที่มีร้านอาหารญี่ปุ่นแบรนด์อื่นอยู่แต่ชิบูย่ายังได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี

"นีโอสุกี้" บุกฟู้ดส์พลาซ่า ลดพื้นที่-ลงทุน 3 แสน

สกนธ์ กัปปิยะจรรยา จรรยา ผู้บริหาร บริษัท นีโอสุกี้ เรสเทอรองส์ จำกัด ให้บริการแฟรนไชส์ “นีโอสุกี้” กล่าวว่า หลังจากที่เปิดตัวคอนเซ็ปต์นีโอสุกี้เอ็กซ์เพรส หรือสุกี้บาร์ เมื่อปีที่ผ่านมาและได้เปิดสาขาต้นแบบที่พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า สาขางามวงศ์วานไปแล้วนั้น พบว่าความสนใจของผู้ลงทุนหรือที่จะเข้ามาเป็นแฟรนไชซีนั้นตอบรับค่อนข้างดี เพราะด้วยคอนเซ็ปต์สามารถตอบสนองไลฟ์สไตล์ของคนเมืองหรือในจังหวัดใหญ่ได้เป็นอย่างดีที่ต้องการบริการที่รวดเร็วและสุกี้เป็นอาหารสุขภาพเพราะมีผักสดเป็นองค์ประกอบหลัก

แต่ต้องประสบกับปัญหาคือทำเล เพราะคอนเซ็ปต์ดังกล่าวเป็นรูปแบบสะแตนอะโลน ส่งผลต่อเม็ดเงินการลงทุนที่ต้องสูงขึ้น และในสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันการลงทุนด้วยรูปแบบดังกล่าวที่มีเม็ดเงินการลงทุนที่ 1.6 ล้านบาท พื้นที่ 80-150 ตร.ม. นั้นไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ทางบริษัทจึงได้ปรับรูปแบบการลงทุนใหม่เพื่อลดต้นทุนการลงทุนลง จึงได้ประสานไปกับห้างสรรพสินค้าในพื้นที่ ฟู้ดส์ พลาซ่า โดยได้มีการปรับลดพื้นที่เหลือ 80 ตร.ม. จำนวน 50 ที่นั่ง ทำให้การลงทุนลดลงเหลือประมาณ 3 แสนบาทเท่านั้น แม้จะต้องหักเปอร์เซ็นต์ให้กับห้างก็ตาม

"สมาร์ทอิมเมจ" โตสวนกระแส แนะสร้างธุรกิจโดนใจตลาด

ด้าน บริษัท เอ็น เอช แอล เทคโนโลยี จำกัด ผู้ให้บริการแฟรนไชส์ “สมาร์ทอิมเมจ แฮปปี้ช็อป” ซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกิจแฟรนไชส์ที่ผู้บริหารบอกว่าไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ ด้วยธุรกิจร้านค้าปลีกที่ประยุกต์ภาพถ่ายออกมาเป็นชิ้นงานด้วยการพิมพ์ลงวัสดุต่างๆ นั้นได้สอดคล้องกับการลงทุนและพฤติกรรมผู้บริโภคทุกกลุ่ม ทั้งที่เป็นองค์กรหรือบุคคล ทำให้นักลงทุนเห็นโอกาสการลงทุนนี้

กฤษณะ เลิศชัยไพศาลกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น เอช แอล เทคโนโลยี จำกัด ผู้ให้บริการแฟรนไชส์ "สมาร์ทอิมเมจ แฮปปี้ช็อป" กล่าวว่า นอกจากเทรนด์ธุรกิจแล้ว บริษัทยังมีระดับการลงทุนตั้งแต่ 20,000 บาทถึง 2.5 ล้านบาท ด้วยความความหลากหลายของระดับการลงทุนจึงทำให้ครอบคลุมนักลงทุนทีมีกำลังลงทุนในทุกระดับ ปัจจุบันการติดต่อเข้ามาลงทุนของระดับเงินลงทุนที่ 1 แสนบาทประมาณ 20 รายต่อเดือน ถ้าลงทุนหลักล้านขึ้นไปเฉลี่ยมีลงทุน 4-5 ราย

"ถ้ามองในภาพรวมการลงทุนในแฟรนไชส์อาจชะลอตัว แต่ทั้งนี้ควรจะแยกเป็นประเภทธุรกิจมากกว่า สำหรับสมาร์ทอิมเมจยังมีการลงทุนต่อเนื่อง ทั้งนี้ดูได้จากการตอบรับของนักลงทุนที่บริษัทได้ออกงาน ไทยแลนด์แฟรนไชส์หรือ TFBO 2007 ระหว่างวันที่ 26-29 ก.ค.ที่ผ่านมา มีนักลงทุนสนใจลงทุนระดับล้านขึ้นไปที่ 90 ราย ส่วนเงินลงทุนไม่เกิน 3 แสนที่ 400 ราย ซึ่งแต่รายมีโอกาสที่จะร่วมธุรกิจกันสูงมาก รวมถึงนักลงทุนจากต่างประเทศอย่างพม่า เวียดนาม สเปน"

กฤษณะ กล่าวต่อไปอีกว่า การสร้างธุรกิจเพื่อขยายเครือข่ายนั้นนักธุรกิจต้องศึกษาธูรกิจที่มีโนว์ฮาวสามารถถ่ายทอดได้อย่างง่าย มีคู่มือเปรียบเหมือนเส้นทางลัดที่พิสูจน์ความสำเร็จแล้วจากแฟรนไชซอร์ และยิ่งเป็นธุรกิจที่มีการฝึกอบรม ให้แฟรนไชซีจะเกิดความั่นใจมากขึ้น รวมถึงเป็นธุรกิจที่มีฐานลูกค้าที่กว้างทุกกลุ่มอายุ เพศ วัย

จะเห็นว่าของสมาร์ทอิมเมจ จะมีสินค้าตั้งแต่เครื่องจักรซึ่งมีกลุ่มลูกค้าเป็นองค์กรที่ซื้อเครื่องจักรสำหรับทำบัตรพนักงาน หรือสินค้าพรีเมี่ยมสำหรับลูกค้า หรือเป็นร้านสมาร์ทอิมเมจ แฮปปี้ช้อป บริการกับผู้บริโภคโดยตรง เป็นสินค้าบริการที่ตอบโจทย์ด้วยคอนเซ็ปต์ที่ว่า "เปลี่ยนลวดลายขายได้อีก" ประกอบกับเป็นธุรกิจที่มีผลกำไรต่อชิ้นสูงถึง 200-500% ทำให้ความสนใจเข้ามาลงทุนสูง

ระดับเงินลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์จาก 488 กิจการ

ระดับเงินลงทุน จำนวนเทียบเป็น %

ต่ำกว่า 10,000 บาท 20%
10,000-100,000 บาท 36%
1- 5 แสนบาท 22%
5 แสน- 1 ล้านบาท 10%
1-3 ล้านบาท 7%
3 ล้านบาทขึ้นบาท 5%
รวมทั้งหมด 100%


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.