ฤา "ตัน"ขาลง


ผู้จัดการรายสัปดาห์(20 สิงหาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

เส้นทาง "ตัน" เจ้าพ่อชาเขียวพร้อมดื่ม หลังเป็นเพียงมือปืนรับจ้างในอาณาจักร "โออิชิ"

ท่ามกลางสถานการณ์ตลาดเครื่องดื่มขาลง การต่อยอดแบรนด์ที่แข็งแกร่ง จากธุรกิจชาเขียวที่เป็นผู้คุมเกม ไปสู่สมรภูมิใหม่ในเซกเมนต์ชาดำ ที่พลิกชะตาเปลี่ยนบทบาทจากผู้นำตลาดเป็นผู้ตาม

ติดตามภารกิจสร้างทางรอด! เบนเขมโฟกัสเพิ่มสัดส่วนกลุ่มอาหาร ผลักดันขึ้นเป็นธุรกิจสร้างรายได้

แม้ว่า โออิชิ จะดำเนินธุรกิจเครื่องดื่ม และอาหาร แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า "ชาเขียวพร้อมดื่ม" เป็นธุรกิจ จุดเริ่มต้นที่สร้างชื่อให้กับ ตัน ภาสกรนที สร้างเนื้อสร้างตัวไต่อันดับขึ้นมาเป็น "เสี่ยตัน" เป็นเศรษฐีใหม่ในปัจจุบัน และยิ่งล่ำซำมากขึ้นหลังจาก "ทีซีซี กรุ๊ป” ของ เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี เข้ามาเทกโอเวอร์ "โออิชิ กรุ๊ป" (OISHI) ทุ่มเงินกว่า 3,300 ล้านบาท เพื่อซื้อหุ้น 55% จาก "ตัน ภาสกรนที" ในเดือนมกราคม 2549

การเปลี่ยนแปลงสัดส่วนผู้ถือหุ้นดังกล่าวส่งผลทำให้ "แม่ทัพใหญ่โออิชิ" เปลี่ยนสถานะจากเป็นเจ้าของกิจการ 100% มารับบทบาทเป็นมือปืนรับจ้าง บริหารธุรกิจเครื่องดื่มและอาหารภายใต้แบรนด์ "โออิชิ" ที่ตนเองปั้นมากับมือ และที่โดดเด่นทำให้ "โออิชิ" แจ้งเกิดก็คือเป็นแบรนด์แอมบาสซาเดอร์ การนำตนเองเข้าไปผูกติดกับแบรนด์ ซึ่งเป็นการสร้างแบรนด์ ตัน และตัวสินค้าให้เป็นหนึ่งเดียวอย่างเหนียวแน่น และเมื่อแบรนด์ "โออิชิ" เติบโตจนถึงจุดสูงสุด ได้ออกลูกออกหลานต่อยอดไปสู่ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มกลุ่มใหม่ๆ

ในปัจจุบัน บทบาทของ ตัน ต้องเปลี่ยนจากผู้นำ กลายเป็นผู้ตามมากขี้น เพราะธุรกิจชาเขียวที่เคยสร้างรายได้อย่างงดงามเป็นช่วงขาลง เมื่อกระแสความนิยมชาเขียวลดลง ส่งผลทำให้ขนาดตลาดที่เคยขึ้นสูงสุดมูลค่าตลาดระดับ 1 หมื่นล้านบาท ลดฮวบมาเหลือเพียง 4,000 ล้านบาท

สงครามชาเขียวที่เคยแข่งขันกันอย่างรุนแรง เพราะเจ้าตลาดโออิชิ เปิดเกมส่งโปรโมชั่นแคมเปญ "รวยฟ้าผ่า 30 ฝา 30 ล้าน" ออกมาในปี 2545 ได้ผ่านช่วงพีคสุดขีดและค่อยๆลดกระแสความแรงลงตามลำดับ

ทุกค่ายทั้งผู้เล่นในตลาดฝั่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มอัดลม ที่อดใจไม่ไหวหันมาปั้นแบรนด์ใหม่ลงเล่นในตลาดชาเขียวทั้งค่ายโคคา โคล่า ที่ส่ง "ชิเซน" ตามติดด้วย "โมชิ" ของค่ายเบียร์สิงห์

ซึ่งสุดท้ายแล้วทั้ง 2 ค่าย ก็ยอมยกธงขาวขอวางมือจากตลาดชาเขียวหันไปเอาดีในเครื่องดื่มที่ตนเองถนัดเช่นเดิม

สภาพตลาดชาเขียววันนี้ จากเดิมที่มีผู้เล่นในตลาดมากกว่า 20 แบรนด์ ปัจจุบันมีเพียงผู้เล่นหลักที่มุ่งเน้นการสร้างภาพลักษณ์แบรนด์เพื่อหวังผลทางด้านแบรนด์ในระยะยาวเพียง 4-5 แบรนด์ทั้ง โออิชิ ยูนิฟ เชนย่า เซนชะ นะมาชะและฟูจิ โดยผู้นำตลาดยังคงเป็น "โออิชิ" ที่รักษาส่วนแบ่งตลาดกว่า 60% ได้อย่างเหนียวแน่น

สำหรับการเคลื่อนไหวของตัวจริงที่อยู่ในตลาดขณะนี้ 2 ค่ายหลังมีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง โดยนะมาชะ ของสยาม คิริน ยักษ์เครื่องดื่มจากญี่ปุ่น ทุ่มงบการตลาดสูงถึง 150 ล้านบาท เพื่อสื่อสารการตลาดผ่านคาแรกเตอร์แพนด้า สื่อสารกับผู้บริโภค ส่วนค่ายอาหารญี่ปุ่นก็ออกมารุกหนัก ด้วยการสร้างการจดจำแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักผ่านภาพยนตร์โฆษณาผ่านสื่อทีวี อีกทั้งขยายช่องทางจำหน่ายเพิ่มเติมจากที่มีจำหน่ายเฉพาะร้านอาหารญี่ปุ่นฟูจิไปสู่ช่องทางโมเดิร์นเทรด

การรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวนั้น มีการแตกไลน์ไปหาเครื่องดื่มเซกเมนต์ใหม่ๆ โดยอาศัยแบรนด์ "โออิชิ" ที่มีความแข็งแกร่งจากชาเขียวต่อยอดไปสู่ธุรกิจเครื่องดื่ม 3 ขา ที่เริ่มต้นจากชาเขียว และค่อยๆเสริมทัพตามมา โดยสยายปีกไปสู่เครื่องดื่มเซกเมนต์ใหม่ๆ ทั้งเครื่องดื่ม ฟังก์ชันนัลดริงก์ ภายใต้แบรนด์ อะมิโน โอเค และล่าสุดปิดท้ายด้วยการเปิดตัวน้ำผลไม้ เซกิ ทว่า แบรนด์ "โออิชิ" ยังคงเป็นผลิตภัณฑ์หลักที่สร้างรายได้ให้กลุ่มเครื่องดื่มทั้งหมด

รวมทั้งวางกลยุทธ์ Brand Extention แตกแบรนด์ "โออิชิ" ขยายแนวรุกไปสู่ตลาดชาพร้อมดื่มทุกเซกเมนต์ ซึ่งเป็นโมเดลที่ไปในทางเดียวกับบริษัทชาที่ญี่ปุ่น ซึ่งจะมีชาพร้อมดื่มออกมาทำตลาดครบทุกแคทิกอรี่ และวางตำแหน่งแบรนด์ "โออิชิ" ให้เป็นสินค้าชาพร้อมดื่มทุกประเภท

สำหรับแนวทางการออกสินค้าใหม่ จะใช้เวลาว่างจากการตรากตรำงานวางแผนนโยบายการทำธุรกิจให้แบรนด์ติดอันดับในใจผู้บริโภคคนไทยคือ การบินไปดูงานในต่างประเทศถึงกระแสความนิยมในเครื่องดื่มซึ่งจะนำมาเป็นแนวทางในการแตกไลน์เครื่องดื่มกลุ่มใหม่ๆของโออิชิ

"การมองเทรนด์เครื่องดื่มที่จะเข้ามาทำตลาดในเมืองไทยแต่ละเซกเมนต์นั้น จะศึกษาจากตลาดเครื่องดื่มประเทศเพื่อนบ้านรอบๆเป็นเข็มทิศในการเปิดตัวเครื่องดื่มแต่ละประเภทออกมาทำตลาด และถ้าเครื่องดื่มประเภทไหนติดตลาดในประเทศญี่ปุ่น หรือไต้หวัน รับรองได้ว่ากระแสความนิยมนั้น จะนำมาใช้ที่เมืองไทยได้อย่างแน่นอน " นั่นเป็นการให้สัมภาษณ์ของ ตัน ภาสกรนที กรรมการผู้จัดการ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่เคยกล่าวกับ "ผู้จัดการรายสัปดาห์"

น่าสนใจว่า หลังจากชาเขียวพร้อมดื่มที่มีการต่อยอดแบรนด์ "โออิชิ" ไปในเครื่องดื่มเซกเมนต์ต่างๆนั้น โออิชิ มีอันจะต้องเปลี่ยนสถานะเป็นผู้ตาม จากบทบาทเดิมที่เป็นผู้นำในตลาด "ชาเขียว" พร้อมดื่มมานานอย่างถาวร

การเปลี่ยนสถานะเป็นผู้ตามนั้นมีตั้งแต่การเปิดตัว "อะมิโน โอเค" เข้าไปแบ่งเค้กในตลาดฟังก์ชันนัลดริงก์ ซึ่งเป็นเครื่องดื่มผสมวิตะมิน หรือวอเตอร์พลัส ที่ยูนิฟ ไอเฟิร์ม เป็นรายแรกที่ส่งสินค้ามาทำตลาดตามกระแสความนิยมในประเทศญี่ปุ่น

สำหรับการเติบโตของตลาดฟังก์ชันนัลดริงก์ ในช่วงแรกดูเหมือนจะไปได้ดี เพราะมีผู้เล่นรายใหม่เริ่มทยอยเปิดตัวสินค้าออกตามกันมา อาทิ บีอิ้ง ของเบียร์สิงห์ ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวทำให้ "อะมิโน โอเค" ถูกวางบทบาทให้เป็น Rising Star ของโออิชิ แต่จนแล้วจนรอดฟังก์ชันนัลดริงก์ ก็ยังไม่แจ้งเกิดแบบตูมตามเหมือนปรากฏการณ์ของชาเขียวพร้อมดื่ม อย่างไรก็ตาม ภายในปีนี้มีแผนจะออกสินค้าตัวใหม่ เป็นเครื่องดื่มภายใต้แบรนด์โออิชิอีก 1 ตัว และจะมีหนังโฆษณาของเครื่องดื่ม"อะมิโน โอเค" เพื่อสร้างการรับรู้และจดจำแบรนด์ให้กับผู้บริโภค

ขณะที่การขยายแนวรุกเข้าไปในตลาดน้ำผลไม้ที่มีผู้เล่นรายใหญ่อยู่จำนวนมากทั้ง ทิปโก้และมาลีที่เน้นจุดขายฟังก์ชันนัลเพื่อสุขภาพ และให้ความสดชื่นตามมาเป็นลำดับนั้น โออิชิได้เปิดตัว "เซกิ"ลงมาทำตลาดท่ามกลางกระแสความนิยม "น้ำผลไม้" เช่นกัน โดยตลาดน้ำผลไม้ที่ "เซกิ" วางเป้าหมายนั้น ถือว่าเป็นตลาดที่มีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาก และเป็นตลาดน้ำผลไม้วางจุดขายเบเนฟิตที่เป็นเครื่องดื่มให้ความสดชื่น ซึ่งมีสแปลชและทรอปิคานา เป็นผู้ทำตลาดอยู่ก่อน สำหรับแผนการตลาดของ เซกิ วางแผนในช่วงครึ่งปีหลัง จะเปิดตัวชาเขียว รสชาติใหม่ 1 รสชาด รวมถึงน้ำผลไม้รสชาดใหม่ภายใต้แบรนด์”เซกิ”อีก 1 รสชาติ เพื่อเป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้บริโภค

ยิ่งกว่านั้น ในตลาด "ชาดำพร้อมดื่ม" ซึ่งเป็นสมรภูมิใหม่ที่มี ลิปตัน เป็นผู้คุมเกมครองความเป็นผู้นำตลาด ก็เป็นอีกหนึ่งเส้นทางที่ โออิชิ จะต้องเผชิญกับบทบาทผู้ตาม ก่อนที่จะไต่อันดับขึ้นมาเป็นผู้นำตลาดตามเป้าหมายที่วางไว้

การเปิดเกมเข้าสู่สมรภูมิ "ชาดำ" เป็นอีกหนึ่งเซกเมนต์ล่าสุดที่อยู่ในธุรกิจชาพร้อมดื่ม ที่ "โออิชิ" สยายปีกเข้าไปลงหลักปักฐานด้วยการเปิดตัว "แบล็กที เลมอน" หรือ "ชาดำรสมะนาว" แบบกล่องยูเอชที และขวดเพ็ต โดยการเพิ่มสินค้าในกลุ่มชาพร้อมดื่มให้ครบไลน์สินค้า ใช้งบ 50 ล้านบาทในช่วง 3 เดือนแรกจากงบตลาดรวมทั้งปี 400 ล้านบาท ส่วนเหตุผลที่ทำให้ต้องมีการเคลื่อนไหวแบรนด์ "โออิชิ" ด้วยการแตกไลน์จากตลาดชาเขียวไปสู่ตลาดชาดำ ภายใต้คอนเซ็ปต์ สดชื่นยามบ่ายดื่มได้ทุกเพศทุกวัย

ประการแรก เพื่อขยายฐานแบรนด์ "โออิชิ" ไปหาลูกค้ากลุ่มใหม่ เพราะตลาดชาดำ มีกลุ่มเป้าหมายที่กว้างทั้งผู้ใหญ่ วัยทำงาน และเน้นดื่มเพื่อความสดชื่น สร้างความกระตือรือร้นทดแทนกาแฟได้ ส่วนลูกค้าของตลาดชาเขียว จะมีอายุน้อยและเน้นเรื่องสุขภาพเป็นหลัก

เพราะหลังจากขาลง ชาเขียว "โออิชิ" พยายามแก้เกมเพื่อกระตุ้นตลาดให้มีการเคลื่อนไหวออกมาเป็นฉากๆ ทั้งเน้นไปที่การสร้างแบรนด์ และการออกชาเขียวพร้อมดื่มรสชาติใหม่ๆออกมาอย่างต่อเนื่อง การจัดกิจกรรมโคแคมเปญโปรโมชั่นกับสินค้าต่างๆ รวมทั้งการขยายฐานกลุ่มผู้ดื่มชาเขียว การขยายช่องทางการตลาดในกลุ่มผู้บริโภคใหม่ เช่น กลุ่มครอบครัว โดยออกแพกเกจจิ้งใหม่ กล่องยูเอชทีขนาด 1 ลิตรและผู้บริโภคในต่างจังหวัด ในกล่องขนาด 160 ซีซี รวมถึงการรีแบรนดิ้งแพกเกจจิ้งใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคเป้าหมายกลุ่มใหม่ๆ

ดังนั้นการรักษาส่วนแบ่งตลาดและความเป็นเจ้าตลาดชาพร้อมดื่ม โดย"แบล็กที เลมอน" ที่ตั้งเป้าชิงส่วนแบ่งตลาดชาดำในปีแรกประมาณ 30-40% จะช่วยให้ "โออิชิ" รักษาบัลลังก์ความเป็นผู้นำตลาดชาพร้อมดื่ม ครอบครองส่วนแบ่งในตลาดชาพร้อมดื่มไว้ได้เบ็ดเสร็จถึง 70% จากปัจจุบันมีส่วนแบ่งตลาด 64% ของมูลค่าตลาดรวมของชาพร้อมดื่ม 4,000 ล้านบาท

ประการที่สอง มีแนวโน้มที่ชี้ให้เห็นว่า ตลาดชาดำพร้อมดื่มจะกลับมาอีกครั้ง เพราะหลังจากที่กระแสความนิยมชาเขียวลดลง ก็ส่งผลทำให้สัดส่วนของตลาดชาดำมีขนาดตลาดที่เพิ่มขึ้น ตัวเลขอัตราการเติบโตของชาดำช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมานั้น มีการเติบโตถึง 30-40% จากเดิมมีอัตราการเติบโตราว 10% จากฐานตลาดที่ยังเล็กอยู่ ขณะที่ชาเขียวมีการเติบโตเพียง 15-20% ส่วนขนาดตลาดชาดำมีสัดส่วนประมาณ 20% และชาเขียว มีสัดส่วน 80% จากมูลค่าตลาดชาพร้อมดื่ม 4,000 ล้านบาท

ประการที่สาม ก่อนหน้านี้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาชาดำเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับแรกของชาพร้อมดื่ม และเมื่อชาเขียวเข้ามาเป็นเครื่องดื่มสุดฟีเวอร์ของผู้บริโภค "ลิปตัน ไอซ์ที" ซึ่งเป็นผู้นำในตลาดชาดำค่อยๆเริ่มลดบทบาทการทำกิจกรรมการตลาดไปปล่อยให้ชาเขียวเข้ามาแทนที่

ทว่า หลังจาก "ลิปตัน ไอซ์ที" พลาดเสียท่าให้กับชาเขียวไม่นาน เมื่อกระแสความนิยมชาเขียวลดลงก็ได้จังหวะทวงคืน "ลิปตัน ไอซ์ที" ออกมาเคลื่อนไหวกิจกรรมการตลาด เริ่มปูทางมาตั้งแต่ปี 2548 หลังจากนั้นเมื่อต้นปี รอจังหวะชาเขียวร่วงอีกระลอก "ลิปตัน ไอซ์ที" เปิดเกมอีกครั้ง โดยออก "ชาแดง" ซึ่งเป็นเซกเมนต์ใหม่ที่ชูจุดขายความเป็นธรรมชาติและความบริสุทธิ์ ขยายฐานกลุ่มลูกค้าเข้าในกลุ่มลูกค้าชาเขียวที่เป็นวัยรุ่น อีกทั้งขยายไลน์ขวดเพ็ต "ลิปตัน ไอซ์ที" คอยโอกาสเมื่อตลาดชาดำกลับมาอีกครั้ง

ทั้งนี้การที่ "แบล็กที เลมอน" ของโออิชิเข้ามาท้าดวลเข้ามาในตลาดชาดำกับ"ลิปตัน ไอซ์ที"นั้น ทำให้ผู้เล่นในตลาดชาดำพร้อมดื่ม มีจำนวนมากขึ้น จากเดิมที่มีเพียง 2 ค่ายหลักที่เคลื่อนไหวอยู่ในตลาดคือ ลิปตัน ไอซ์ที จากเป๊ปซี่-โค ที่ครองตลาดอยู่อย่างเหนียวแน่น และชาดำผสมข้าวบาร์เลย์ จากค่ายยูนิฟ ที่เข้ามาเล่นในตลาดชาดำตั้งแต่ปีที่ผ่านมาน่าจับตามองว่า การเข้ามาของ "โออิชิ" จะสร้างปรากฏการณ์ให้ตลาดแบล็กที กลับมาคึกคักเทียบเท่ากับตลาดชาเขียวหรือไม่

เพราะหากเทียบความแข็งแกร่งทางด้านแบรนด์แล้ว ที่ฟากหนึ่งเป็นแบรนด์แจ้งเกิดจากกระแสความนิยมชาเขียวในบ้านเรา กับ "ลิปตัน" ที่ปัจจุบันเป็นผู้นำในตลาดชาดำด้วยส่วนแบ่งตลาดประมาณ 60-70% แถมพ่วงดีกรีที่เป็น "ชาอินเตอร์แบรนด์ชื่อดัง" อิมพอร์ตจากต่างประเทศ อีกทั้งยังเป็นเจเนอริกเนมที่รู้กันว่าคือชื่อเครื่องดื่มชา แต่ไม่ว่าผลจะออกมาทางไหน "ตัน" หัวเรือใหญ่โออิชิ มั่นใจว่า "แบล็กที เลมอน" จะไต่อันดับขึ้นเป็น Rising Star ไม่แพ้ในตลาดชาเขียว เพราะมีแบรนด์แข็งแกร่งสื่อถึงความเป็นญี่ปุ่นและสุขภาพไปกับทุกตัวผลิตภัณฑ์และมีฐานลูกค้าที่เป็นขาประจำของ "โออิชิ" ด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงของตลาดเครื่องดื่ม กอปรกับเป็นจังหวะที่ธุรกิจชาเขียวอยู่ในช่วงขาลง แถมมีคู่แข่งเงินหนาอย่าง สยามคิรินที่พร้อมจะทุ่มเม็ดเงินช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดไปได้ทุกขณะนั้น ธุรกิจอาหารที่เติบโตควบคู่มากับชาเขียว กลายเป็นฮีโร่ขี่ม้าขาวเข้ามาเสริมศักยภาพของ "โออิชิ กรุ๊ป" ที่เข้ามาช่วยเพิ่มรายได้และลดความเสี่ยงธุรกิจ

ส่วนการเคลื่อนไหวนั้น หลังจากที่เบนเข็มหันมาเพิ่มรายได้จากธุรกิจกลุ่มอาหาร ตัน บอกว่า ก้าวต่อไปของอาณาจักรโออิชิ กรุ๊ป ธุรกิจกลุ่มอาหารจะเป็นสัดส่วนที่สร้างรายได้ให้กับบริษัท โดยเมื่อเร็วๆนี้มีการปรับพอร์ตรายได้ธุรกิจสำหรับยอดขายในปี 2550 ที่ตั้งเป้าไว้ 4,000 ล้านบาท เติบโตจากปี 2549 ประมาณ 15% โดยเพิ่มสัดส่วนรายได้จากกลุ่มร้านอาหาร ขยับสัดส่วนเพิ่มเป็นรายได้ปีนี้ที่จะมาจากธุรกิจเครื่องดื่ม 65% และร้านอาหาร 35% จากปีก่อนที่มีรายได้จากธุรกิจเครื่องดื่ม 80% ร้านอาหาร 20% ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มตลาดเครื่องดื่มที่เติบโตลดลง

ขณะที่ธุรกิจร้านอาหารจะขยายตัวต่อเนื่อง โดยนโยบายหลักจะให้ความสำคัญกับแบรนด์ร้านอาหารที่มี 9 แบรนด์ในเครือ ที่สร้างยอดขายที่ดี โดยตั้งงบไว้ 100 ล้านบาท สำหรับแนวโน้มกำไรจากธุรกิจอาหารที่เพิ่มขึ้นจากแผนขยายสาขาที่เน้นไปในแบรนด์ที่สร้างอัตรากำไรที่สูง การขยายสาขาและปรับปรุงโฉม โดยเฉพาะแบรนด์ชาบูชิที่มีอัตราการเติบโตของรายได้สูง ส่วนแบรนด์ อิน แอนด์ เอ้าท์ ร้านเบเกอรี่ จะยังคงทำตลาดอยู่ แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก คาดว่าปีนี้จะเปิดสาขาใหม่ ซึ่งแบ่งออกเป็น ชาบู ชาบูชิ 4 แห่ง บุฟเฟต์ 1 แห่ง ราเมน 3 แห่ง ซูชิบาร์ 1 แห่ง จากปัจจุบันมีสาขาร้านอาหารทั้ง 9 แบรนด์ รวม 78 สาขา อย่างไรก็ตามคาดว่าธุรกิจร้านอาหารในปีนี้จะมีกำไรสุทธิ 436 ล้านบาท เติบโต 134% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และเพิ่มขึ้นเป็น 586 ล้านบาทในปี 2550 หรือเติบโต 34% จากช่วงเดียวกันปีก่อน

สำหรับธุรกิจร้านอาหารบุฟเฟ่ต์ญี่ปุ่น โออิชิ เกิดขึ้นในช่วงต้นเดือนกันยายน 2542 หลังจากนั้นแบรนด์ โออิชิได้ขยายสาขาและแตกแบรนด์ไปยังอาหารญี่ปุ่นและเบเกอรี่ อาทิ ราเมน ,ชาบูชิ ,โออิชิ ซูชิบาร์โดยมีมูลค่าในส่วนของอาหารถึง 2,100 ล้านบาท ครองส่วนแบ่ง 35 % ของมูลค่าตลาดอาหารญี่ปุ่นประมาณ 6,000 ล้านบาท


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.