|
ส่งออกโตสร้างภาพลวงตาเศรษฐกิจดีตัวเลขสำคัญเริ่มแย้ง-อาจฟื้นไม่จริง
ผู้จัดการรายสัปดาห์(20 สิงหาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
นักเศรษฐศาสตร์หวั่นตัวเลขส่งออกพุ่ง จนหลายหน่วยงานปรับเป้าเศรษฐกิจโตเพิ่ม อาจเป็นของเทียม หลังตัวเลขสำคัญเริ่มสะท้อนภาพตรงข้าม กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่เป็นต่างชาติแค่ใช้ฐานผลิตที่ไทย ขณะที่กลุ่มเกษตรยังแย่ แนะพิจารณาให้รอบด้านก่อนตัดสินใจลงทุนหรือใช้จ่าย
หลังจากตัวเลขเศรษฐกิจครึ่งแรกของปี 2550 ที่ประกาศออกมา ยอดส่งออกเพิ่มขึ้นถึง 18.1% ส่งผลให้หลายหน่วยงานได้ออกมาปรับเป้าหมายกันยกใหญ่ เนื่องจากตัวเลขดังกล่าวถือว่าดีเกินคาด หลังจากประเทศไทยต้องประสบปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างรวดเร็ว ทำให้คาดกันว่าการส่งออกของไทยน่าจะเติบโตได้น้อย
ตัวเลขส่งออกที่เติบโตสวนทิศทางค่าเงินบาท ทำให้กระทรวงพาณิชย์ปรับเป้าการส่งออกทั้งปี 2550 จากเดิม 12.5% เป็น 15% ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ปรับประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้จาก 3.8% เป็น 4.1% ตามมาด้วยธนาคารแห่งประเทศไทยปรับเพิ่มการขยายตัวจาก 3.8-4.8% เป็น 4-5% รวมถึงโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ออกมาย้ำว่าเศรษฐกิจปี 2550 จะขยายตัวไม่ต่ำกว่า 4%หลังจากสัญญาณหลายตัวเริ่มดีขึ้น
เกษตรแย่
นักเศรษฐศาสตร์รายหนึ่งกล่าวว่า ถ้าพิจารณาจากตัวเลขการส่งออกที่โตขึ้นถึง 18% นั้น นับว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าลงลึกก็จะพบว่าตัวเลขส่งออกที่เพิ่มขึ้นท่ามกลางค่าเงินบาทที่แข็งนั้น เป็นสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ที่เจ้าของธุรกิจนี้ส่วนใหญ่เป็นต่างชาติที่มาตั้งฐานผลิตที่ประเทศไทย หรือหมวดเครื่องหนังที่มีคำสั่งซื้อพิเศษมาจากสหรัฐ ถือว่าไม่ถาวร และหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ผลิตเครื่องรับโทรทัศน์เนื่องจากผู้ผลิตเร่งผลิตสินค้ารุ่นใหม่แทนของเดิมเพื่อจำหน่ายในต่างประเทศ
สินค้าส่งออกทั้ง 3 กลุ่ม มีเพียงกลุ่มเครื่องหนังเท่านั้นที่ประเทศไทยจะได้ประโยชน์อย่างแท้จริง แต่คงเป็นเพียงชั่วคราวตามยอดคำสั่งซื้อในช่วงนี้เท่านั้น ส่วนกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่เป็นของต่างชาติ สุดท้ายกำไรก็จะไหลออกนอกประเทศ
ขณะที่สินค้าส่งออกที่จะสร้างประโยชน์ให้กับประเทศไทยอย่างแท้จริงคือกลุ่มเกษตร แต่จากค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นทำให้เกษตกรมีรายได้ลดลง
"หากสังเกตุให้ดีจะพบว่าสินค้าออกของเราจะเน้นที่ตัวปริมาณเป็นหลัก ขณะที่ราคาต่อหน่วยของเราลดลงทั้งในรูปของสกุลดอลลาร์และเงินบาท นี่คือเรื่องที่น่าเป็นห่วง"
ว่างงานน้อย-ปิดโรงงานเพิ่ม
เขากล่าวต่อไปว่า ภาครัฐพยายามอย่างเต็มที่ที่จะชี้นำว่าเศรษฐกิจของไทยจะเติบโตขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องสร้างความมั่นใจให้กับคนในประเทศ เช่น สำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยตัวเลขการจ้างงานว่า ในเดือนมิถุนายน 2550 มีจำนวนประชากรว่างงาน 5.2 แสนคน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4 หมื่นคน ส่วนผู้มีงานทำในเดือนมิถุนายน 2550 มีจำนวน 36.65 ล้านคน สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 8.8 แสนคน
พร้อมทั้งให้เหตุผลว่าแม้ว่าจะมีปัญหาค่าเงินบาทที่ทำให้โรงงานปิดกิจการในบางพื้นที่จะไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้การว่างงานเพิ่มขึ้น เพราะแม้โรงงานบางแห่งจะปิดจริง แต่ก็มีรายใหม่เปิดกิจการและจ้างคนงานเข้ามาทดแทน
สวนทางกับการปิดโรงงานบริษัท ไทยศิลป์ อาคเนย์ อิมปอร์ต เอ็กซปอร์ต จำกัด ที่ต้องเลิกจ้างพนักงานราว 5 พันคน และการประกาศปิดกิจการบริษัท ยูเนี่ยนฟุทแวร์ จำกัด (มหาชน) กับพนักงานราว 4 พันคน และมีอีกหลายบริษัทที่เริ่มออกอาการแต่ยังมีถึงขั้นปิดกิจการ
"แม้จะมีการเปิดกิจการใหม่เข้ามาทดแทน แต่ต้องดูว่ากิจการที่เปิดใหม่นั้นมีมูลค่าทดแทนกิจการเดิมที่ปิดไปได้หรือไม่ เพราะบางกิจการไม่ได้เน้นส่งออก มูลค่าและขนาดของกิจการก็เล็กกว่ากิจการเดิมที่ปิดตัวลงไป"
บริโภคหด
นอกจากนี้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจในเดือนกรกฎาคม ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 39 และต่ำที่สุดในรอบ 66 เดือน นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2545 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจในปัจจุบัน ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 41 และมีค่าต่ำสุดในรอบ 60 เดือน นับแต่เดือนสิงหาคม 2545 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจในอนาคต หรือ 6 เดือนข้างหน้า ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 38 และมีค่าต่ำสุดในรอบ 103 เดือน นับแต่เดือนมกราคม 2542
ตัวเลขเศรษฐกิจหลายตัวสะท้อนถึงทิศทางเศรษฐกิจของไทยยังไม่สดใสนัก เช่น ยอดจำหน่ายรถยนต์และรถจักรยานยนต์ยังไม่ดีขึ้น แม้ว่าจะกระเตื้องขึ้นบ้างยอดจำหน่ายยังลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน
รวมถึงตัวเลขการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในเดือนมิถุนายน 2550 โดยช่วงครึ่งปีแรกแม้จะมีจำนวนบัตรเครดิตเพิ่มขึ้น 3.54 แสนบัตรหรือเพิ่มขึ้น 3.25% แต่ยอดการใช้จ่ายรวมกลับลดลง 8,970 ล้านบาทหรือลดลง 12.22% ยอดเบิกเงินสดล่วงหน้าลดลง 2,356 ล้านบาทหรือลดลง 13% ยอดการใช้จ่ายในประเทศลดลง 6,929 ล้านบาทหรือลดลง 13.04% ยอดสินเชื่อคงค้างช่วง 6 เดือนลดลง 1,989 ล้านบาทหรือลดลง 1.16%
แต่หากเทียบเฉพาะยอดคงค้างช่วง 3 เดือนที่ผ่านมากลับพบว่ามียอดคงค้างเพิ่มขึ้น 2,634 ล้านบาท เนื่องจากในเดือนเมษายน 2550 ผู้ผ่อนชำระบัตรเครดิต(บัตรเก่า)ต้องชำระขั้นต่ำที่ 10% เมื่อคำนวณเฉลี่ยต่อบัตรแล้วในช่วง 6 เดือนแรกของปีผู้ใช้บัตรใช้จ่ายลดลงประมาณ 1 พันบาทต่อบัตรและพยายามเบิกเงินสดล่วงหน้าให้น้อยลง แต่จากค่าเงินบาทที่แข็งค่าทำให้มีคนไทยจำนวนหนึ่งเดินทางไปต่างประเทศมากขึ้น
รอบคอบก่อนตัดสินใจ
จะเห็นได้ว่าตัวเลขที่ออกมาค่อนข้างสวนทางกับภาพรวมที่มองกันว่าเศรษฐกิจไทยจะโตขึ้น ดังนั้นภาคธุรกิจหรือภาคประชาชนจะต้องพิจารณาตัวเลขสำคัญเหล่านี้ให้ดีก่อนที่จะตัดสินใจเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เพราะหากผิดพลาดไปอาจจะเจ็บตัวได้
ลำพังแค่ตัวเลขการส่งออกโตคงไม่สามารถกระตุ้นให้เศรษฐกิจของไทยปรับตัวขึ้นได้ แต่ต้องดูจากกำลังซื้อของคนในประเทศด้วย ต้องยอมรับว่าช่วงที่ผ่านมาคนไทยระมัดระวังในเรื่องการใช้จ่ายมากขึ้น เงินออมของพวกเขายังมี ขาดแต่เรื่องความเชื่อมั่นเท่านั้น ซึ่งรัฐบาลก็พยายามสร้างความเชื่อมั่น แต่ตัวเลขเท่าที่แสดงมายังไม่จูงใจพอให้ผู้คนมีความมั่นใจกลับมาเหมือนเดิม
แม้ว่าสถานการณ์ในขณะนี้ค่าเงินบาทจะอ่อนค่าลงมาแตะระดับ 34 บาท หลังเงินที่ไหลเข้ามาในประเทศได้เริ่มไหลออก จากวิกฤติด้านสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐ ซึ่งสถานการณ์นี้ก็ไม่ใช่เรื่องดีสำหรับประเทศไทย หลายฝ่ายออกมากล่าวว่าไม่กระทบประเทศไทย แต่ต้องไม่ลืมว่าคู่ค้าสำคัญของไทยคือสหรัฐ
หากสหรัฐเกิดวิกฤติอำนาจซื้อของพวกเขาก็จะหายไป แน่นอนว่าสินค้าที่ส่งออกบางกลุ่มอาจจะมีปัญหา โดยเฉพาะกลุ่มสิ่งทอที่มีปัญหาในเรื่องต้นทุนการผลิตที่ค่าแรงของไทยสูงกว่าเวียดนามและจีน ซึ่งมาตรการหรือแนวทางในการแก้ปัญหายังไม่มีความชัดเจนที่จะสนับสนุนให้ธุรกิจด้านนี้ของไทยย้ายฐานการผลิตไปยังเวียดนามและจีนเพื่อลดต้นทุน
นาทีนี้นักธุรกิจและภาคประชาชนจะต้องพิจารณาข้อมูลต่าง ๆ ให้ละเอียด หลายหน่วยงานเห็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจอาจจะไม่ดีเหมือนที่หลายฝ่ายคาด ดังนั้นการระมัดระวังตัวในเรื่องการลงทุนหรือระมัดระวังในเรื่องการใช้จ่ายยังคงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับสถานการณ์ในขณะนี้
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|