|

2สัปดาห์หุ้นไทยวูบล้านล้านพิษซับไพรม์ถล่ม-ปตท.อ่วม
ผู้จัดการรายวัน(20 สิงหาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทยปี 50 จากช่วงปลายปีที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เรื่องกันสำรอง 30% ของนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ส่งผลทำให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงถึง 108 จุด แม้ภายหลังจะผ่อนปรนให้กับนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น แต่ผลกระทบในเรื่องดังกล่าวสร้างความเสียหายให้แก่ระบบเศรษฐกิจที่รุนแรง เนื่องจากไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาการแข็งค่าของเงินบาทได้ โดยเม็ดเงินต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ในตลาดหุ้นไทย ยังเป็นการเข้ามาลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่โดยเฉพาะกลุ่มพลังงาน และธนาคารพาณิชย์
ทั้งนี้ การซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติที่ต่อเนื่องยาวนาน จะดูเหมือนเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ได้ว่า ความมั่นใจของนักลงทุนต่างชาติกับตลาดหุ้นไทยจะกลับมาอีกครั้ง แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นตลาดหุ้นไทยในช่วงไม่ถึง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาจากปัญหาสินเชื่อบ้านของผู้กู้ที่มีความน่าเชื่อถือต่ำ (Subprime loan) ที่เริ่มตีวงกว้างขึ้นกลับส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อตลาดหุ้นไทยอย่างชัดเจน
จากดัชนีสิ้นปี 49 ซึ่งอยู่ที่ 679.84 จุด มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เกตแคป) อยู่ที่ 5.078 ล้านล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนมาสู่จุดสูงสุดของปีเมื่อวันที่ 26 ก.ค. โดยดัชนีอยู่ที่ 895.63 จุด ก่อนจะปรับตัวลดลงมาปิดที่ 884.16 จุด เพิ่มขึ้น 204.32 จุด หรือ 30.05% มาร์เกตแคปปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 6.816 ล้านล้าน โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 1.737 ล้านล้านบาท หรือ 34.20% จากช่วงต้นปี
ขณะที่ภายหลังปัญหาซับไพรม์เริ่มปะทุขึ้น (27 ก.ค.) ส่งผลทำให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยและตลาดหุ้นทั่วโลกอยู่ในสถานการณ์ที่เรียกได้ว่า "ดิ่งเหว" โดยเมื่อเทียบกลับล่าสุด (17 ส.ค.) ซึ่งดัชนีปิดที่ 758.42 จุด โดยดัชนีปรับตัวลดลงจากวันที่ 26 ก.ค. ถึง 125.74 จุด หรือ 14.22% ขณะที่มาร์เกตแคปปรับตัวลดลงแล้วถึง 9.56 แสนล้านบาท
2กลุ่มใหญ่ร่วงระนาว
สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่ถือว่าเป็นเสาหลักของตลาดหุ้นไทยคือ กลุ่มพลังงาน และธนาคารพาณิชย์ จากช่วงสิ้นปี 49 มาร์เกตแคปกลุ่มพลังงานทั้งกลุ่มอยู่ที่ 1.431 ล้านล้านบาท หรือ 28.19% ของมาร์เกตแคปตลาดรวม ขณะที่กลุ่มธนาคารพาณิชย์ มาร์เกตแคปอยู่ที่ 7.841 แสนล้านบาท หรือ 15.44% ของมาร์เกตแคปตลาดรวม โดยจากแรงซื้อของนักลงทุนต่างชาติช่วงก่อนเกิดปัญหาซับไพรม์ทำให้ราคาหุ้นของทั้ง2กลุ่มต่างปรับตัวเพิ่มขึ้นโดยมาร์เกตแคปกลุ่มพลังงานปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.086 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.543 แสนล้านบาท หรือ 45.70% ขณะที่กลุ่มธนาคารพาณิชย์ เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.050 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.659 แสนล้านบาท หรือ 33.91%
ทั้งนี้ ภายหลังปัญหาซับไพรม์ปะทุ 2 กลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็นตัวเลือกสำคัญของนักลงทุนต่างชาติ ที่จะเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นก็ได้รับผลกระทบที่ชัดเจน โดยมาร์เกตแคปกลุ่มพลังงานเมื่อเทียบกับวันที่สูงสุดของปีปรับตัวลดลง 3.5 แสนล้านบาท หรือ 16.77% ขณะที่กลุ่มธนาคารพาณิชย์มาร์เกตแคปลดลง 1.49 แสนล้านบาท หรือ 14.1%
เครือปตท.เจ็บหนัก
ในส่วนของหุ้นในกลุ่มพลังงานโดยเฉพาะเครือปตท.ซึ่งประกอบไปด้วย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT, บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ PTTEP, บมจ.ไทยออยล์ หรือ TOP, บมจ.โรงกลั่นน้ำมันระยอง หรือ RRC, บมจ.ปตท.เคมิคอล หรือ PTTCH และบมจ.ไออาร์พีซี หรือ IRPC จากต้นปีมาร์เกตแคปรวม 6 บริษัทอยู่ที่ 1.289 ล้านล้านบาท ก่อนจะปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังนักลงทุนต่างชาติเข้ามาซื้ออย่างต่อเนื่องจนขึ้นไปสูงสุดเมื่อวันที่ 26 ก.ค. อยู่ที่ 1.950 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.604 แสนล้านบาท หรือ 51.2%
ทั้งนี้ ในช่วงที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯปรับตัวสูงสุดในรอบปี ราคาหุ้นในเครือปตท.ทุกบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นจนกลายเป็นสถิติสูงสุดในรอบปีโดย PTT ราคาสูงสุดอยู่ที่ 336 บาท, PTTEP ราคาอยู่ที่ 139 บาท, PTTCH ราคาอยู่ที่ 120 บาท, RRC ราคาอยู่ที่ 26.25 บาท, TOP ราคาอยู่ที่ 94.50 บาท และ IRPC ราคาอยู่ที่ 7.55 บาท
อย่างไรก็ตาม มาร์เกตแคป 6 บริษัทในเครือปตท.ล่าสุด (17 ส..) อยู่ที่ 1.598 ล้านล้านบาท โดยลดลงจากเมื่อวันที่ 26 ก.ค. ถึง3.52 แสนล้านบาท หรือ 18.05%
จี้เพิ่มธุรกิจขนาดใหญ่
แหล่งข่าวจากผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์ กล่าวว่า ถือว่าเป็นปัญหามากของตลาดหุ้นไทยที่เพิ่งพิงสัดส่วนมาร์เกตแคปของ 2 กลุ่มอุตสาหกรรมเกือบ 50% ของตลาดหลักทรัพย์ฯ การเข้ามาซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติใน 2 กลุ่มแม้ว่าจะส่งผลทำให้ดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่เมื่อเวลาที่มีการขายออกมาในช่วงทั้ง 2 กลุ่มก็ส่งผลกระทบที่รุนแรงกว่าที่ควรจะเป็นกับตลาดหุ้นไทย
ทั้งนี้ แม้ว่าจะมีเสียงเรียกร้องจากผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ตลาดหลักทรัพย์ฯซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลในเรื่องการหาสินค้าและการเพิ่มจำนวนนักลงทุนโดยตรง เร่งหาธุรกิจอื่นเข้ามาระดมทุนเพื่อเป็นการลดความผันผวนของตลาดหุ้น แต่ด้วยข้อจำกัดของประเทศไทยที่มีบริษัทขนาดใหญ่รวมถึงมีธุรกิจขนาดใหญ่ที่น้อยมากจนเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ตลาดหุ้นยังไม่สามารถที่จะพัฒนาได้อย่างเต็มที่
"เรามีหุ้นใหญ่น้อยมากการขึ้นลงของหุ้นใหญ่แต่ละครั้งมีผลกระทบที่ชัดเจนต่อตลาดหุ้น ในหลายครั้งเราจะเห็นว่าหุ้นใหญ่กลายเป็นเหมือนหุ้นเก็งกำไรขึ้นมาบ้างแล้ว เพราะช่วงระหว่างวันราคาหุ้นผันผวนหลายเปอร์เซ็นต์
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|