ฝรั่งเมินผลรับ รธน. จ่อทิ้งหุ้นไทยไม่หยุด


ผู้จัดการรายวัน(20 สิงหาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

ตลาดหุ้นไทยยังอึมครึม แม้ประชาชนโหวตรับร่างรัฐธรรมนูญ เหตุเรื่อง "ซับไพรม์" ยังเป็นปัญหาใหญ่ จับตานักลงทุนต่างชาติกับยอดซื้อหุ้นสุทธิในปีนี้อีก 8.7 หมื่นล้านจะอยู่หรือไป "ก้องเกียรติ" เชื่อฝรั่งขายยาวถึงสิ้นเดือน โบรกเกอร์ชี้สถิติวิกฤตตลาดหุ้นไทย 10 ครั้งที่ผ่านมาร่วงเฉลี่ย 11% ต่างชาติขายสิทธิเฉลี่ย 1.9 หมื่นล้าบาท แต่รอบนี้วูบไปแล้ว 14% ต่างชาติทิ้งของ 4.4 หมื่นล้านบาท ระบุเริ่มมีความกังวลปัญหาอาจลามใหญ่เหมือนเหตุการณ์"แบล็คมันเดย์" ด้าน "โฆสิต" ตีปี๊บรับร่างฯ ฟื้นความเชื่อมั่น ขณะที่รมว.คลังเน้นสร้าง

บรรยากาศการลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจก่อนขิงแก่ส่งไม้ต่อให้รัฐบาลใหม่บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทยช่วงนี้ยังคงมีทิศทางที่ไม่ชัดเจนมากนัก แม้จะผ่านพ้นการลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ไปเรียบร้อยแล้ว เพราะทุกฝ่ายมองว่าเป็นเพียงผลทางจิตวิทยาเท่านั้น ขณะที่กันประเด็นสำคัญที่ยังต้องติดตามคือปัจจัยจากต่างประเทศ โดยเฉพาะปัญหาเรื่องการปล่อยสินเชื่อคุณภาพต่ำในภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ (ซับไพรม์)

การประทุขึ้นของปัญหาซับไพรม์ ในสหรัฐฯ ได้ส่งผลกระทบกับตลาดหุ้นทั่วโลกในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะเดียวกันช่วงที่ผ่านมาจะยังไม่มีทีท่าว่าทางออกหรือผลกระทบจะจบลงได้ในเร็ววัน เพราะปัญหาได้ขยายวงกว้างมากขึ้นจนส่งผลกระทบลามไปยังกองทุนประเภทอื่น ทั้งกองทุนหุ้น กองทุนตราสารหนี้ นอกเหนือจากกองทุนที่ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์

แม้ภายหลังการประกาศลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในอัตรา 0.50% ในส่วนของอัตราดอกเบี้ยที่เฟดปล่อยกู้ให้ธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ แต่ยังคงอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง เฟด ฟันด์ เรท อยู่ที่ระดับ 5.25% จะถือว่าเป็นข่าวดีต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯ

ทั้งนี้ การคาดการณ์ของผู้ที่มีความใกล้ชิดกับตลาดทุน ตลาดเงิน ส่วนใหญ่ยังเชื่อว่าปัญหาดังกล่าวยังไม่จบยังต้องรอความชัดเจนของเฟดอีกครั้งว่าจะมีท่าทีกับเรื่องดังกล่าวอย่างไร เพื่อยุติหรือบรรเทาปัญหาให้ถาวรและไม่ให้ล่ามไปกระทบภาคธุรกิจอื่นๆ รวมถึงการลงทุนทั่วโลกเหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายจับตากระแสการขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติว่าจะเกิดขึ้นอีกนานหรือไม่ โดยจากต้นปีถึงวันก่อนเกิดปัญหาซับไพรม์ (26 ก.ค.) นักลงต่างชาติซื้อสุทธิ 132,354.71 ล้านบาท ขณะที่หลังปัญหาซับไพรม์ปะทุขึ้นนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิแล้ว 44,741 ล้านบาท เหลือยอดซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติในปีนี้อยู่ที่ 87, 613 ล้านบาท

นายก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเชีย พลัส จำกัด (มหาชน) หรือ ASP กล่าวว่า แนวโน้มตลาดหุ้นในช่วงสัปดาห์นี้ต่างชาติอาจจะยังขายสุทธิต่อเนื่อง เพราะยังวิตกกังวลต่อปัญหาเรื่องซับไพรม์ ประกอบกับในช่วงเดือนสิงหาคมของทุกปีผู้บริหารกองทุนส่วนใหญ่อยู่ในช่วงที่พักร้อนการตัดสินใจซื้อขายหุ้นจึงอาจจะยังไม่ชัดเจนมาก

"ดัชนีตลาดหุ้นที่ผันผวนอย่างรุนแรงในสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นการสะท้อนได้อย่างหนึ่งว่า ตอนนี้นักลงทุนยังคงหาแนวรับที่จะเข้ามาลงทุน และนักลงทุนต่างชาติจะยังคงขายสุทธิต่อหากดัชนียังคงผันผวน แต่ถ้ามีสัญญาณว่าการเคลื่อนไหวของดัชนีในแต่ละวันแคบลง อาจจะเป็นสัญญาณว่านักลงทุนต่างชาติเริ่มจะหันกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย ซึ่งคาดว่าหุ้นไทยน่าจะผันผวนแบบนี้จนถึงสิ้นเดือนน่า ก่อนจะมีแรงซื้อเข้ามาอีกครั้งในช่วงเดือนหน้า"นายก้องเกียรติ กล่าว

หวั่นซ้ำรอยแบล็คมันเดย์

นายอดิพงษ์ ภัทรวิกรม ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล.ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ตั้งแต่ปัญหาซับไพรม์เกิดขึ้นในสหรัฐฯ ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นทั่วโลกไปแล้วประมาณ 20% ขณะที่ตลาดหุ้นไทยได้รับผลกระทบประมาณ 12% ทำให้ความน่าสนใจในการเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นในต่างประเทศลดลง

"ปัจจัยในประเทศได้เข้ามาช่วยสนับสนุนไม่ให้ตลาดหุ้นไทยลงไปแรงเท่ากับตลาดหุ้นอื่นๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะความมั่นใจเรื่องการโหวตรับร่างรัฐธรรมนูญ ทำให้มีแรงซื้อเข้ามาเก็งกำไรจนหุ้นสามารถปิดในแดนบวกช่วงสุดสัปดาห์"

นายอดิพงษ์กล่าวว่า จากสถิติย้อนหลังตั้งแต่ปี 2547 หากมีเหตุการณ์หรือปัจจัยต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้ามากระทบกับตลาดหุ้นไทยรวม 10 ครั้ง พบว่า นักลงทุนต่างชาติจะขายสุทธิเฉลี่ยประมาณ 1.9 หมื่นล้านบาท โดยครั้งที่มากที่สุดอยู่ที่ 5.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับตัวเลขยอดขายสุทธิในปัจจุบัน ขณะที่ผลกระทบที่ส่งผลต่อตลาดหุ้นจาก 10 ครั้งที่ผ่านมาเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 11% โดยครั้งที่รุนแรงที่สุดอยู่ที่ 17% ซึ่งเมื่อเทียบกับปัจจุบันก็อยู่ในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยน่าจะเป็นสัญญาณที่สะท้อนได้ว่าปัญหาอาจจะใกล้ยุติ

"หากปัญหาจากซับไพรม์ยังส่งผลกระทบต่อเนื่องอย่างที่กังวลกัน เริ่มมีเสียงความเป็นห่วงแล้วว่าผลกระทบในครั้งนี้เมื่อเทียบกับเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นมาอาจจะใกล้เคียงกับผลกระทบที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ แบล็คมันเดย์" นายอดิพงษ์กล่าว

ผ่านประชามติหนุนหุ้น

นายมงคล พ่วงเภตรา ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.แอ๊ดคินซัน กล่าวว่า แนวโน้มดัชนีจะขึ้นอยู่กับผลประชามติและปัจจัยต่างประเทศ หากร่างรัฐธรรมนูญผ่านการโหวตจะทำให้ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ แต่คงไม่มากนัก ขณะที่เหตุผลที่นักลงทุนขายหุ้นในช่วงที่ผ่านมา แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ นักลงทุนทั่วไปที่มองว่าเศรษฐกิจอาจจะไม่ดี ทำให้ขายหุ้นออกมา ซึ่งการลงทุนของนักลงทุนส่วนนี้จะแปรผันตลอดเวลากับกลุ่มกองทุนที่มีการเทขายหุ้นเพื่อปรับพอร์ตการลงทุน ชดเชยการขาดทุนจากการลงทุนประเภทอื่น ซึ่งคาดว่าการเทขายของนักลงทุนกลุ่มนี้น่าจะยังคงต่อเนื่องอีกระยะหนึ่ง

นายชัย จิรเสวีนุประพันธ์ ผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล.พัฒนสิน กล่าวว่า ผลการรับร่างรัฐธรรมนูญไม่มีนัยสำคัญต่อนักลงทุนมากนัก เพราะจะผ่านหรือไม่การเลือกตั้งจะต้องเกิดขึ้น โดยคาดว่าผลที่จะเกิดขึ้นกับตลาดหุ้นนั้นจะเป็นเพียงจิตวิทยาระยะสั้นเท่านั้น แต่การที่ร่างรัฐธรรมนูญผ่านได้ น่าจะส่งผลให้ดัชนีดีดกลับขึ้นมาชั่วคราว แต่สุดท้ายดัชนีจะกลับไปอยู่อิงกับปัจจัยต่างประเทศ

นางสาวมยุรี โชวิกานต์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.นครหลวงไทย กล่าวว่า การผ่านร่างประชามติให้รับร่างรัฐธรรมนูญได้ น่าจะทำให้ดัชนีเกิดการรีบาวด์ในระยะสั้นช่วงต้นสัปดาห์ โดยมีแนวต้านที่ 770 จุด ทั้งนี้ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานักลงทุนรายย่อยและสถาบันมีการรับหุ้นจากนักลงทุนต่างชาติเข้ามาในพอร์ตจำนวนมากแล้ว ทำให้น่าจะยังคงมีแรงซื้อได้อีกในจำนวนไม่มากนัก

ตีปี๊บฟื้นความเชื่อมั่น

นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า การที่ประชาชนตื่นตัวและออกมาใช้สิทธิ์รับร่างรัฐธรรมนูญกันมาก จะทำให้สถานการณ์ทางการเมืองจะมีความชัดเจนในเรื่องการเลือกตั้ง และจะทำให้นักลงทุนเกิดความมั่นใจต่อภาวะเศรษฐกิจไทย ส่งผลให้ประชาชนเกิดความรู้สึกสบายใจ กล้าออกมาจับจ่ายใช้สอย รวมถึงนักลงทุนจะกล้ากลับมาลงทุนในไทยเช่นกัน อย่างไรก็ตามรัฐบาลคงไม่มีความจำเป็นที่จะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาในช่วงนี้อีกแล้ว

"เศรษฐกิจไทยในปีนี้ น่าจะมีอัตราการเติบโตได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 4 และจะเกิดการลงทุนโครงการใหม่ ๆ ตามโครงสร้างการลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ที่จะเกิดขึ้นในช่วงปลายปีนี้เป็นต้นไป ทำให้มองว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ไปจนถึงปีหน้า ยังมีแนวโน้มอัตราการเติบโตได้ดี และมองว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2551 น่าจะเติบโตได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5" นายโฆสิต กล่าวและว่า สิ้นเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ รัฐบาลจะนำคณะนักธุรกิจไทยไปเยือนอินเดีย เพื่อชักชวนให้นักลงทุนอินเดียเข้ามาลงทุนในไทย

ด้านนายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รมว.คลัง เชื่อว่าหลังการลงประชามติ การเมืองจะมีความราบรื่น ไม่มีความแตกแยก เวลาที่เหลือของรัฐบาลชุดนี้ จะเน้นสร้างบรรยากาศการลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจ เชื่อว่าหลังจากเดือนตุลาคม เมื่อมีการปรับขึ้นเงินเดือนให้กับข้าราชการ บรรยากาศทางเศรษฐกิจจะดีขึ้น และหวังว่ารัฐบาลชุดต่อไปจะมีนโยบายที่ยึดสายกลาง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.