จากอาชีพที่อยู่ต่างมุมของธุรกิจระหว่างสถาปนิกกับวาณิชธนากร แต่รูปแบบการปฏิบัติงานที่ไม่มีความแตกต่างกัน
บวกกับความชื่นชอบส่วนตัว ทำให้ครรชิต ควะชาติสามารถใช้ประโยชน์จากคำว่า
ดีไซน์ ได้อย่างสูงสุด
บรรยากาศของความสนุกสนาน แปลกไม่เหมือนใคร และความใจกล้าของ ตี๋ แม็ทชิ่ง
หรือสมชาย ชีวสุทธานนท์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.แม็ทชิ่ง สตูดิโอ ที่เลียนแบบไอ้แมงมุม
โรยตัวลงมาจากอาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หลังจากประสบความสำเร็จในการระดมทุน
ผ่านตลาดหุ้นไทย
ภาพความสำเร็จของเขากับเม็ดเงิน 204 ล้านบาทในการขายหุ้นให้กับประชาชน
ครั้งแรก (IPO) นี้ หนีไม่พ้นวาณิชธนากรรุ่นใหม่ ครรชิต ควะชาติ ผู้อำนวยการสาย
ธุรกิจวาณิชธนกิจ บล.ธนชาติ ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน
"พวกเราไม่ใช่แค่ทำงานให้ลูกค้าอย่างเดียว แต่มีเรื่องราวมากกว่านั้นและ
ดีลแม็ทชิ่ง สตูดิโอเป็นงานที่สนุกสนานของพวกเรา" ครรชิตเล่า
ในสายอาชีพนี้ ครรชิตเป็นผู้บริหาร คนหนึ่งที่ได้รับการจับตามองจากตลาดทุนไทย
หลังจากที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก ในการเข้าไปเป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้กับบริษัทลูกค้านับตั้งแต่ปีที่ผ่านมา
อาทิ นำ บล.แอสเซท พลัส หรือยัวซ่า แบตเตอรี่ (ประเทศไทย) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
รวมไปถึงการร่วมเป็นที่ปรึกษาให้กับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ของไทยอย่างการบินไทย,
การท่าเรือแห่งประเทศไทย และองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย
"จุดเด่นของพวกเราคือ เป็นสถาบัน การเงินครบวงจร ทั้งไฟแนนซ์ หลักทรัพย์
ธนาคาร กองทุนรวม และประกันภัย ทำให้การบริการลูกค้ามีประสิทธิภาพ"
นอกเหนือจากความแข็งแกร่งขององค์กรแล้ว ปฏิเสธได้ยากว่าเกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของครรชิตในการเป็นผู้นำ
เนื่องจากอดีตเขาเคยเป็นสถาปนิกมาก่อน บวกกับความชื่นชอบสายงานธุรกิจ แม้จะดูมีความขัดแย้งในสายงานแต่ก็ลงตัว
"สถาปนิกกับวาณิชธนกิจเป็นการออกแบบเหมือนกัน เพียงแต่อยู่คนละมุมของธุรกิจเท่านั้น
ดังนั้น ผมมีความได้เปรียบที่อดีตเคยเป็นสถาปนิกมาก่อน โดย นำวิชาการออกแบบมาประยุกต์ใช้
เพราะการออกแบบอะไรสักอย่างหนึ่ง ก็ต้องเข้าไปดูว่าโจทย์คืออะไร และลูกค้ามีความต้องการอะไรบ้าง"
ครรชิตเล่า
นั่นหมายถึงว่างานสถาปนิกไม่แตกต่างไปจากงานด้านวาณิชธนกิจ เพราะต้องศึกษาความต้องการของลูกค้าเช่นเดียวกัน
จากนั้นจึงนำมาแก้ปัญหาและออกแบบ แล้วนำเสนอออกมาให้มีความลงตัวและมีความเป็นไปได้อีกด้วย
"นี่ไม่ไม่ใช่งานที่วาดบนกระดาษเท่านั้น เราออกแบบให้ลูกค้าแล้วต้องมีความเหมาะสมและตรงความต้องการของพวกเขาด้วย
ที่สำคัญนำไปปฏิบัติจริงได้" เขาชี้ "โดยสรุปแล้วเราต้องรู้โครงสร้างของงานอย่างลึกซึ้ง"
ความเป็นสถาปนิกช่วยให้ครรชิตประสบความสำเร็จในงานวาณิชธนกิจ ก็คือ เป็นงานที่ไม่ปิดกั้นเพราะทุกสิ่งทุกอย่างเริ่มต้นมาจากแผ่นกระดาษ
พื้นดินว่างเปล่า ผลักดันให้มีความคิดสร้างสรรค์ตลอดเวลา ซึ่งโครงสร้างอาคารกับโครงสร้างทางการเงินไม่แตกต่างกันเลย
เพียงแต่งานวาณิชธนกิจเป็นจินตนาการบนตัวเลข ต้องใช้ตรรกะเพราะเป็นเรื่องเงินและผลตอบแทนในอนาคต
"คุณไม่สามารถเพ้อฝันกับนักลงทุน ได้ เพราะวาณิชธนกิจเป็นตัวกลางระหว่าง
คนที่ต้องการเงินกับนักลงทุน ต้องทำให้ทั้งสองฝ่ายเชื่อมั่นได้"
ด้วยบุคลิกที่แจ่มใสและอารมณ์ดีของครรชิตดูเหมือนว่าเหมาะสมกับงานสถาปัตยกรรม
ซึ่งเขาไม่ปฏิเสธ แต่ด้วยความชื่นชอบด้านการบริหารธุรกิจมาตั้งแต่ เด็กทำให้เขาตัดสินใจมุ่งสู่โลกการเงิน
ครรชิตจบการศึกษาระดับมัธยมจากโรงงานวัดราชบพิตร และต้องการเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยในสายบริหารธุรกิจ
แต่จากความวิตกกังวลว่าจะได้เรียนด้านบัญชี ซึ่งเป็นวิชาที่เขาไม่ค่อยถนัดทำให้เขาต้องเบนเข็มชีวิตตนเองสู่วิชาที่มีความสนุกสนาน
"เราเข้าใจตัวเองว่าชอบอะไร แต่ช่วงนั้นคิดว่าเรียนมหาวิทยาลัยตั้งหลายปีก็น่าจะทำอะไรที่สนุกๆ
เลยเลือกเอ็นทรานซ์ คณะสถาปัตยกรรมอันดับ 1 ถัดมาเป็นบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์
ซึ่งมีความแตก ต่างกันมาก"
ครรชิตสอบเข้าคณะสถาปัตยกรรม ศาสตร์ได้ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง
ในปี 2526 และเป็น 5 ปีที่เขารับรู้ตลอดเวลาว่าตัวเองต้องการอะไร แต่ยอมรับว่าเป็นช่วงเวลาที่สนุกสนานและได้ประสบการณ์อย่างมาก
"เรายังได้เรียนวิชาทางด้านการบริหาร เศรษฐศาสตร์ เช่น ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
ทำให้ความชื่นชอบด้านการบริหารธุรกิจยิ่งเพิ่มสูงมากขึ้น"
จนกระทั่งปี 2531 สำเร็จการศึกษา และได้เข้าทำงานที่ A49 ในตำแหน่งสถาปนิก
ที่ในขณะนั้นอาชีพนี้ได้รับความนิยม และเป็นความใฝ่ฝันของหนุ่มสาวหลายๆ คน
ตรงข้ามกับครรชิต ที่เพียงแต่ไม่รู้จะเริ่มต้นจัดการเส้นทางเดินชีวิตของตนเองอย่างไร
อย่างไรก็ตาม ด้วยความบังเอิญที่เขาได้อ่านหนังสือของ Lee Iacocca ที่พูดถึงวิธีการแก้ปัญหาวิกฤติของค่ายรถยนต์
ไครสเลอร์ กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกว่าหากค้นหาชีวิตน่าจะมีความท้าทายและสนุกมากกว่านี้
"ทำให้เราชัดเจนขึ้นว่าต้องหาความรู้ด้านไฟแนนซ์ ไม่ใช่การตลาด"
ชีวิตสถาปนิกของครรชิตสิ้นสุดลงหลังจากค้นหาตัวตนที่แท้จริงแค่เพียง 1
ปี เมื่อเขาตัดสินใจเดินทางไปสหรัฐอเมริกาเพื่อศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่
University of Missouri ด้านบริหารธุรกิจสาขาการเงิน "แค่เทคคอร์สด้านการบริหารไฟแนนซ์
รู้เลยว่านี่คือสิ่งที่ใฝ่ฝันมาตั้งแต่เด็ก"
เขาเล่าต่อว่า "ชอบไฟแนนซ์ ไม่ใช่ การคำนวณตัวเลข แต่รู้สึกว่าต้องเรียนรู้ตลอดเวลา
เพราะว่าไฟแนนซ์ต้องใช้ตรรกะ เมื่อเข้าไปวิเคราะห์งบการเงินของบริษัทลูกค้า
แม้จะดูแค่ตัวเลข แต่ต้องดูให้ลึกมากกว่านั้นว่าอัตราส่วนทางการเงินนี้มาจากอะไร
ทำไมกระแสเงินสดมีปัญหา ต้อง ดูสาเหตุของปัญหาเหล่านี้"
หลังจบการศึกษา ครรชิตใช้เวลา 1 ปีเต็มเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ด้วยการทำงานกับ
Kemper Finance Corporation ในฐานะนักวิเคราะห์ตลาดเงิน ตลาดทุนของสหรัฐอเมริกา
แล้วเดินทางกลับเมืองไทยเพื่อเข้าร่วมงานกับ บล.เอกธำรง (ปัจจุบัน คือ บล.เคจีไอ
(ประเทศไทย))
"โชคดีที่ได้ทำงานที่นี่ เพราะเป็นสถาบันการเงินที่ได้รับความไว้วางใจจากตลาดอย่างมาก
ทำให้สามารถเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในช่วงนั้นได้อย่างเต็มที่ เห็นทุกอย่างในตลาดทุนไทยขณะนั้นที่อยู่ในช่วงเติบโตสูงสุด
และไม่เชื่อว่าจากนี้ไปตลาดจะกลับไปเป็นแบบนั้นได้อีก" ครรชิตเล่า
เขาทำงานกับบล.เอกธำรงนานถึง 4 ปีแล้วลาออกหลังจาก บล.เอกธำรงรวมกิจการกับ
บล.เอกเอเซียได้ไม่นาน และก่อนวิกฤติเศรษฐกิจไม่ถึงปี โดยเข้าไปเป็น ทีมงานจัดตั้ง
บลจ.เอเจเอฟ พร้อมกับช่วย ออกกองทุนรวม 3 กองแรกของบริษัท นับ เป็นความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับการดำเนินธุรกิจขณะที่สถาบันการเงินหลายแห่งถูกปิดกิจการ
แต่กองทุนรวมกลับออกกองทุนจำหน่ายให้กับประชาชน
ครรชิตทำงานกับ บลจ.เอเจเอฟได้ราว 2 ปีก็ลาออกไปสร้างโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ส่งออก
เพราะต้องการทดสอบตัวเองว่า เมื่อถึงจุดจุดหนึ่งหลังจากที่เคย เป็น Issuer
และ Investor มาแล้ว จะสามารถเป็น Player ได้หรือไม่
รูปแบบการดำเนินธุรกิจครั้งนี้ใช้แนวความคิดแบบวาณิชธนกิจที่ว่าธุรกิจไหนมีความเป็นไปได้
ขณะนั้นธุรกิจส่งออกมีโอกาสเติบโต เพราะตลาดภายในประเทศกำลังซื้อหดตัวจากความล่มสลายทางเศรษฐกิจ
และด้วยความที่เคยเป็นสถาปนิก ครรชิตจึงใช้เวทีนี้ออกแบบผลิตภัณฑ์ด้วยตนเอง
อย่างไรก็ตาม เขาใช้เวลา 2 ปี ก็สรุปได้ว่าถึงแม้กิจการจะสามารถทำกำไรและมีอนาคต
แต่ด้วยปัญหาความไม่ชัดเจน ของรัฐบาลในเรื่องการสนับสนุนธุรกิจขนาด กลางและย่อม
(SMEs) ทำให้โรงงานต้องปิดตัวลง
"อีกทั้งรู้ว่าไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงของเรา" ครรชิตบอก
กุมภาพันธ์ปีที่ผ่านมา ครรชิตตัดสินใจกลับเข้าสู่เส้นทางชีวิตที่แท้จริงของตนเองอีกครั้ง
จากการชักชวนของสุวภา เจริญยิ่ง กรรมการผู้จัดการ บล.ธนชาติ ที่อดีตเคยร่วมงานกันใน
บล.เอกธำรง โดยเข้ามาในฐานะผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่าย สายงานธุรกิจวาณิชธนกิจ
และได้รับการโปรโมตให้เป็นผู้ดูแลงานด้านนี้เต็มตัวเมื่อไม่นานมานี้
ดูเหมือนว่านอกจากประสบการณ์ และฝีมือในการบริหารงานแล้ว เขายังมีความโชคดีอย่างมาก
เนื่องจากนับแต่ปีที่แล้วเป็นต้นมา ตลาดทุนไทยเริ่มเปิดมากขึ้นตามเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้น
"ดังนั้นเมื่อตัวเลข GDP เติบโตทำให้ตลาดทุนขยายตัวตามไปด้วย โดยเฉพาะดอกเบี้ยเงินกู้ยืมต่ำ
ธุรกิจก็ต้องการเงินทุนทั้งที่กู้จากธนาคารหรือระดมทุนโดยตรงผ่านตลาดทุน"
ครรชิตอธิบาย
นั่นหมายความว่า งานวาณิชธนกิจ เริ่มกลับเข้าสู่ทิศทางที่ดี หากพิจารณาดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ
ที่หลายสำนักเชื่อว่าจะขยับสูงขึ้น ยิ่งสร้างความคึกคักให้กับตลาดทุน "ปีนี้พวกเราเติบโตมากกว่าปีที่ผ่านมาแน่นอน
แต่ตัวเลขเป้าหมายที่ตั้งไว้ ลำบาก เพราะขึ้นอยู่กับว่าดีลที่มีอยู่ในมือจะออกสู่ตลาดได้ในช่วงไหน
แต่มั่นใจว่าจะมีดีลที่สามารถขายได้มากกว่าปีที่แล้ว โดยหลังสงครามยุติน่าจะมี
IPO ประมาณ 5 บริษัท" ครรชิตกล่าว
นับตั้งแต่การเป็นสถาปนิก วาณิชธนากร ไปจนถึงเถ้าแก่ส่งออกเฟอร์นิเจอร์
ดูเหมือนครรชิตสามารถสร้างสรรค์ผลงานออกมาได้อย่างเหมาะสมกับทุกช่วงจังหวะชีวิต
เพราะทุกอย่างล้วนเป็นงานที่ต้องใช้จินตนาการ และโชคดีที่เขามีและนำเสนอออกมาแล้วสามารถจับต้องได้