|

ฝรั่งทิ้งหุ้นไทย12วันรูด121จุดมาร์เกตแคปหายวับ8.4แสนล้าน
ผู้จัดการรายวัน(16 สิงหาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
ต่างชาติฉวยจังหวะซับไพรม์พ่นพิษ 12 วัน ทิ้งหุ้นไทยแล้ว 3 หมื่นล้าน ฉุดดัชนีดิ่งกว่า 121 จุด จากจุดสูงสุด 895.63 จุด เหลือแค่ 773.92 จุด มาร์เกตแคปหาย 8.4 แสนล้าน หลุดต่ำกว่า 6 ล้านล้านบาท "ภัทรียา" เตือนนักลงทุนอย่าตระหนก เชื่อปัญหาจะคลี่คลายไปในทางที่ดี ด้านผู้ว่าแบงก์ชาติ เผยต่างชาติปรับพอร์ตทิ้งหุ้นไทย 50% ขณะที่โบรกเกอร์เชื่อหุ้นยังมีโอกาสผันผวนต่อ เชื่อผลลงคะแนนประชามติ 19 ส.ค.นี้มีผลต่อจิตวิทยาการลงทุน
ภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นไทย วานนี้ (15 ส.ค.) ยังประสบปัญหาเรื่องหนี้ด้อยคุณภาพภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ (ซับไพรม์) ส่งผลให้นักลงทุนต่างประเทศใช้เป็นเหตุผลในการปรับพอร์ตการลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลก กดดันให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงมาปิดที่ 773.92 จุด ลดลง 19.90 จุด หรือ 2.51% ซึ่งเป็นจุดต่ำสุดในรอบ 12 วัน ตั้งแต่ปัญหาเรื่องซับไพรม์เริ่มประทุขึ้น มูลค่าการซื้อขายรวม 16,489.42 ล้านบาท
ทั้งนี้ เป็นการปรับตัวลดลงของดัชนีเพียง 12 วันทำการถึง 121.71 จุด หรือ 13.58% จากจุดสูงสุดของปีในช่วงวันที่ 26 ก.ค.ซึ่งปรับตัวสูงสุดที่ 895.63 จุด ส่งผลทำให้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เกตแคป) เมื่อเทียบกับดัชนีเมื่อวันที่ 26 ก.ค.ซึ่งอยู่ที่ 884.16 จุด มาร์เกตแคปอยู่ที่ 6.816 ล้านล้านบาท โดยมาร์เกตแคปลดลงมาแล้วถึง 8.39 แสนล้านบาทมาอยู่ที่ 5.977 ล้านล้านบาท
ด้านนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิเพิ่มอีก 5,212.09 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันซื้อสุทธิ 1,082.31 ล้านบาท นักลงทุนรายย่อยซื้อสุทธิ 4,129.78 ล้านบาท โดยจากวันที่ 1 ส.ค.ถึง 15 ส.ค.นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิแล้ว 28,214.32 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันซื้อสุทธิ 5,113.88 ล้านบาท นักลงทุนรายย่อยซื้อสุทธิ 23,100.44 ล้านบาท
นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงตามตลาดหุ้นต่างประเทศจากปัญหาเรื่องซับไพรม์ ทำให้ตลาดหุ้นดาวโจนส์มีการปรับตัวลดลง ซึ่งนักลงทุนไทยไม่ควรที่จะตกใจมากกับเรื่องดังกล่าวมากนัก เพราะเชื่อว่าปัญหาดังกล่าวน่าจะคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น
ทั้งนี้ช่วงที่ภาวะตลาดหุ้นมีการปรับตัวลดลงนั้นเป็นโอกาสที่ดีที่นักลงทุนจะเข้าไปลงทุนในกองทุนหุ้นระยะยาว (LTF) ที่จะสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว และต้องการให้นักลงทุนมีการพิจารณาเรื่องในเรื่องปัจจัยพื้นฐานของบริษัทที่จะเข้าไปลงทุน
ต่างชาติปรับพอร์ตหุ้นไทยกว่าครึ่ง
นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ปัญหาซับไพรม์ของสหรัฐฯ ได้สร้างข้อกังวลให้แก่ตลาดหุ้นทั่วโลก ทำให้ผู้ลงทุนสถาบันพยายามนำเงินลงทุนกลับไปประเทศตัวเอง เพื่อให้มีระบบมีสภาพคล่องมากขึ้น เหมือนกับตลาดหุ้นไทยที่ต่างชาติได้เทขายหุ้นออกไปแล้วครึ่งหนึ่งของพอร์ตการลงทุนทั้งหมด ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ขายหุ้นจากตลาดที่กำลังพัฒนาและกลับไปยังตลาดที่พัฒนาแล้ว ขึ้นอยู่กับความจำเป็นของผู้ลงทุนและความเชื่อมั่นด้วย
"แม้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น เกิดจากปัจจัยภายนอก ซึ่งเหนือการควบคุม อย่างไรก็ตามเชื่อว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจะไม่สร้างปัญหามากนัก ส่วนไทยเป็นเพียงประเทศเล็กๆ เมื่อมีเหตุการณ์อะไรเปลี่ยนแปลงก็มีผลต่อค่าเงินบาทให้อ่อนตัวด้วย เนื่องจากเศรษฐกิจในหลายๆ ประเทศทั่วโลกมีการเชื่อมโยงกัน จึงจำเป็นที่ทั้งภาครัฐและเอกชนควรมีการติดตามเหตุการณ์ต่างๆ อย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยได้รับผลกระทบน้อยจากปัญหาซับไพร์ม เพราะธนาคารพาณิชย์ที่ไปลงทุนมีไม่มากนัก ทำให้ตอนนี้ธปท.ยังคงไม่มีมาตรการอะไรออกมาเพิ่มเติม แม้ธนาคารกลางหลายๆ ประเทศมีการอัดฉีดเงินเข้าระบบตลาดการเงินของตัวเองก็ตาม"
โบรกเกอร์เชื่อหุ้นไทยซึมต่อ
นางศศิกร เจริญสุวรรณ ผู้อำนวยการอาวุโส บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) กล่าวว่า ปัญหาเรื่องซับไพรม์ในสหรัฐฯ ยังคงเป็นปัจจัยที่คอยฉุดความมั่นใจนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับผลกระทบที่เกิดขึ้นหลังมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ออกมาเพื่อสกัดกั้นค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น
"ตอนนี้ความกังวลของนักลงทุนต่างชาติยังติดอยู่ที่ปัญหาเรื่องซับไพร์ม ซึ่งอาจจะกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหน ทำให้สิ่งที่เห็นตอนนี้ต่างชาติยังขายสุทธิอย่างต่อเนื่องมาหลายวัน ซึ่งจะหยุดขายเมื่อไหร่ก็ยังไม่รู้"นางศศิกรกล่าว
สำหรับแนวโน้มในระยะสั้นนี้คาดว่ายังมียังมีโอกาสที่จะปรับตัวลดลงต่อได้ จากที่นักลงทุนยังมีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาเรื่องซับไพรม์ ขณะที่นักลงทุนภายในประเทศกังวลเกี่ยวกับการชุมนุมก่อนที่จะมีการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 19 สิงหาคมนี้ แต่ในระยะยาวยังคงมองภาวะเศรษฐกิจเติบโตดี จึงแนะนำทยอยซื้อสะสมหุ้นที่ผลประกอบการดี และมีการจ่ายเงินปันผล โดยประเมินแนวรับที่ 765-770 จุดและแนวต้านที่ 782-785 จุด
นางวิริยา ลาภพรหมรัตน ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เกียรตินาคิน กล่าวว่า แรงขายจากนักลงทุนต่างชาติที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากประเด็นกรณีเรื่องซับไพร์มอาจจะมีผลเชื่อมโยงไปถึงการปล่อยสินเชื่อประเภทอื่น ทำให้มีแรงเทขายทำกำไรในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงทั่วโลก และส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงต่อเนื่องถึง 3 สัปดาห์
"ในระยะสั้นตลาดหุ้นไทยยังคงปรับตัวผันผวนเป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นภูมิภาค ที่ได้รับปัจจัยกดดันในเรื่องซับไพร์ม และวันนี้คาดดัชนีตลาดหุ้นจะมีแนวโน้มการแกว่งตัวในทิศทางที่อ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่อง แต่คงจะไม่มากกว่าช่วงก่อนหน้านี้ที่ดัชนีได้ปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง และยังคงต้องติดตามเรื่องการลงมติร่างรัฐธรรมนูญในวันที่19 ส.ค.นี้ ซึ่งจะมีผลต่อจิตวิทยาการลงทุนตลาดหุ้นไทย โดยประเมินแนวรับที่ระดับ 770 จุด และแนวต้านที่ 785 จุด"
ลุ้นเฟดลดดอกเบี้ย
นางสาวปาวีณา เดชอิทธิกุล รองผู้อำนวยการอาวุโส บล.บีที กล่าวว่า ในระยะสั้นตลาดหุ้นน่าจะยังคงผันผวนต่อเนื่อง จนกว่าทางสหรัฐฯ จะมีการประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อแก้ไขปัญหาซับไพรม์ แต่คาดว่าทางธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด คงไม่ปรับลดดอกเบี้ยในระยะสั้นนี้
นายกมลชัย พลอินทวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ทางเทคนิค บล.ทรีนี้ตี้ กล่าวว่า ตามเทคนิคแล้วในสัปดาห์นี้ดัชนีจะเกิดการปรับฐานต่อเนื่อง โดยมีแนวรับที่ 760-775 จุด และสัปดาห์หน้าดัชนีน่าจะดีดกลับขึ้นไปอีกครั้งในระดับประมาณ 800 จุด และดัชนีจะทำการปรับตัวลดลงอีกครั้งลงไปที่ระดับประมาณ 730-750 จุด
"เชื่อว่าต่างชาติน่าจะเทขายได้สูงสุดอีกไม่เกิน 2 หมื่นล้านบาท จากที่ขายมาแล้วประมาณ 3 หมื่นล้านบาท"นายกมลชัยกล่าว
ธอส.ยันซับไพรม์ไม่ลามถึงไทย
นายขรรค์ ประจวบเหมาะ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า ปัญหาซับไพรม์ในสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบกับไทย 2 ด้าน กล่าวคือ เมื่อเกิดปัญหากับผู้ซื้อบ้านที่เป็นซับไพรม์หรือลูกค้าซื้อบ้านที่มีตำหนิในเรื่องคุณของคุณบัติผู้กู้ เนื่องจากภาวะซบเซาของธุรกิจอสังหาฯในสหรัฐฯทำให้ราคาบ้านตกลง และเกิดเป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) มากขึ้น กองทุนเฮจฟันด์ที่เข้ามาลงทุนซื้อสินเชื่อซับไพรม์ผ่านการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (ซิเคียวริไทเซชั่น) โดยส่วนใหญ่จะการใช้เงินกู้จากธนาคาร เมื่อคุณภาพหลักประกันลดลง ทำให้ธนาคารเรียกหลักประกันเพิ่มจากกองทุนดังกล่าว
ดังนั้น กองทุนเฮจฟันด์จำเป็นต้องระดุมเงินตั้งสำรองเพิ่ม อย่างไรก็ตามกองทุนดังกล่าวส่วนใหญ่จะนำเงินไปลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลก เมื่อต้องการเงินเพิ่ม ทำให้มีการถอนเงินที่ลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลกกลับไปสำรองหลักประกันที่ถูกธนาคารเรียกเพิ่ม ส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกร่วมถึงในตลาดหุ้นในประเทศไทยตกลง
นอกจาก การถอนเงินลงทุนในตลาดหุ้นแล้ว กองทุนเฮจฟันด์ยังต้องการใช้กู้เงินจากธนาคารอีกส่วนหนึ่งเอาไปสำรองหลักประกันที่ถูกเรียกเพิ่ม ซึ่งจะทำให้ความต้องการดอลลาร์สูงขึ้น ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐจะแข็งขึ้น และทำให้เงินบาทไทยอ่อนตัวลง ซึ่งจะส่งผลให้การส่งออกรวมถึงสินค้าเกษตรของไทยดีขึ้น ผลกระทบจากซับไพรม์ จึงมีทั้งในแง่บวกคือทำให้เงินบาทอ่อนลง แต่แง่ลบคือ การลงทุนในตลาดหุ้นจะลดลง
สำหรับการปล่อยสินเชื่อในประเทศไทย ยังไม่มีปัญหาในลักษณะเดียวกับสินเชื่อซับไพรม์ในสหรัฐฯ เนื่องจากลูกค้าสินเชื่อของไทยส่วนใหญ่ยังเป็นลูกค้าสินเชื่อชั้นดี ส่วนลูกค้าที่มีตำหนิ เช่น ลูกค้าที่ติดเครดิตบูโร ธนาคารจะให้ลูกค้ากลุ่มดังกล่าวแก้ปัญหาหนี้ให้เสร็จเรียบร้อยก่อนปล่อยกู้ จึงไม่เป็นการปล่อยกู้ให้แก่ลูกค้าที่มีตำหนิเหมือนในสหรัฐฯ ในขณะเดียวกันธนาคารไม่มีการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับซับไพรม์ จึงไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว นอกจากนี้ ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจยังทำสถาบันการเงินไทยมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น และยิ่งในปัจจุบันที่อยู่ในภาวะเศรษฐกิจผันผวนสถาบันการเงินยิ่งเข้มงวดขึ้นไปอีก
อย่างไรก็ตาม ธอส.ได้เข้มงวดในการพิจารณาเอกสารการขอกู้เงิน เนื่องจากมีปัญหาการปลอมเอกสารและผู้ค้ำประกัน ประกอบกับปีนี้เหลือลูกค้าที่มีตำหนิเรื่องเครดิตอยู่ในระหว่างการกู้กับธนาคารค่อนข้างมาก เนื่องจากลูกค้าชั้นดีกู้ผ่านไปแล้วเมื่อ 2 - 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งธนาคารจะพิจารณาเข้มงวดเฉพาะรายที่มีปัญหาจากธนาคารอื่น ส่วนปัญหาการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตหรือผ่อนรถยนต์นั้น จะไม่นำมาเป็นเงื่อนไขพิจารณาปล่อยกู้ สำหรับการปล่อยสินเชื่อของ ธอส.ปีนี้ พบว่าชะลอลง 20% จึงตั้งเป้าหมายปล่อยสินเชื่อปีนี้ 95,000 ล้านบาท
นายขรรค์ กล่าวต่อว่า ปัญหาเรื่องของซับไพรม์จะไม่มีผลต่อการออกซีเคียวริไทเซชั่นของธอส. เนื่องจากกว่าที่ธนาคารฯจะดำเนินการออกตราสารได้ ก็อีกประมาณ 10-12 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ พอร์ตของหนี้ที่จะนำมาเสนอขาย จะมีการผสมระหว่างหนี้ดีและหนี้เสีย ซึ่งจะสร้างความน่าสนใจให้แก่นักลงทุน อย่างไรก็ตาม สินเชื่อที่อยู่ในเกณฑ์ซับไพรม์ของธอส. ยังมีส่วนน้อย เช่น สินเชื่อเช่าซื้อ สินเชื่อบ้านเอื้ออาทร เป็นต้น ปัจจุบันเอ็นพีแอลของธอส.มีมูลหนี้ประมาณ 30,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 6% ของสินเชื่อรวมธอส.และมีหนี้ส่วนขาดอีก 20,000 ล้านบาท
หุ้นทั่วโลกดิ่งยังผวาพิษซับไพรม์
สำนักข่าวเอเอฟพีและรอยเตอร์รายงานว่า ตลาดหุ้นแถบเอเชียและยุโรปวานนี้(15) พากันหล่นฮวบลงอีกรอบ ตามหลังวอลล์สตรีทที่เซถลาในคืนวันอังคาร(14) สืบเนื่องจากนักลงทุนเกิดความหวั่นวิตกกันขึ้นมาอีก เกี่ยวกับพิษร้ายของวิกฤตสินเชื่อเคหะประเภทลูกค้าด้อยมาตรฐาน (ซับไพรม์) ในสหรัฐฯ
ที่วอลล์สตรีทวันอังคาร ดัชนีหุ้นอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ซึ่งเป็นมาตรวัดราคาความเคลื่อนไหวของพวกหุ้นบลูชิป ปิดตลาดโดยลดลง 207.61 จุด หรือ 1.57% ขณะที่ดัชนีหุ้นเอสแอนด์พี500 ซึ่งวัดความเคลื่อนไหวของหุ้นวอลล์สตรีทวงกว้างกว่า ก็ลบ 26.38 จุด หรือ 1.82% และดัชนีหุ้นคอมโพสิตของตลาดแนสแดค ซึ่งทำการซื้อขายหุ้นกลุ่มไฮเทคจำนวนมาก หดหาย 43.12 จุด หรือ 1.70%
นักวิเคราะห์บอกว่า สาเหตุใหญ่มาจากข่าวหลายข่าวซึ่งแสดงให้เห็นว่าตลาดยังไม่มีความมั่นใจว่าใครบ้างคือผู้ที่เสียหายจากวิกฤตซับไพรม์ อีกทั้งอยู่ในอาการสินเชื่อติดขัด ถึงแม้บรรดาธนาคารกลางพากันอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบกันอย่างขนานใหญ่มาหลายวัน จนปัญหาในองค์รวม ทำท่าคลี่คลายลงแล้ว
ทั้งนี้เรื่องที่ให้ผลแรงที่สุดต่อวอลล์สตรีทวันอังคาร คือ ข่าวที่ว่าบริษัท เซนทิเนล แมเนจเมนต์ กรุ๊ป อิงก์ ซึ่งเชี่ยวชาญด้านค้าตราสารในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ล่วงหน้า และดูแลบริหารจัดการสินทรัพย์อยู่ราว 1,600 ล้านดอลลาร์ ได้แจ้งแก่ลูกค้าว่า กำลังหามาตรการป้องกันไม่ให้ลูกค้าไถ่ถอนการลงทุน เพราะถ้ามาขอไถ่ถอนมากๆ เซนทิเนลก็ต้องขายสินทรัพย์ที่มีอยู่ในราคาต่ำ อันจะยิ่งทำให้ลูกค้าขาดทุนอย่างไม่จำเป็น
เนื่องจากสินทรัพย์ที่เซนทินัลถือครองอยู่จำนวนหนึ่ง เป็นกองทุนของผู้ค้าตราสารในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ล่วงหน้ารายอื่นๆ ตลาดจึงผวาว่า หากผู้ค้าอื่นๆ เหล่านี้ไม่ได้เงินจากเซนทินัล ก็อาจขาดเงินที่จะไปจ่ายค่ามาร์จินตามที่ตลาดซึ่งผู้ค้าเหล่านี้ทำธุรกิจอยู่กำหนด หรือไม่ก็ประสบปัญหายากลำบากในการชำระหนี้สินทางการเงินอย่างอื่นๆ
นอกจากนี้ ในวันอังคารนั้นเอง ยังมีข่าวว่าทรัสต์เพื่อการลงทุนของแคนาดาหลายแห่ง ประสบความลำบากในการชำระคืนเงินกู้ระยะสั้น แฟรง สือ ผู้อำนวยฝ่ายตราสารหนี้ทั่วโลกของ ฟิแมต ให้ความเห็นว่า ปัญหาในตลาดตราสารการค้า และตลาดตราสารหนุนหลังด้วยทรัพย์สิน ยังคงอยู่มิได้สูญหายไปไหน ดังนั้น วันนี้เกิดเรื่องขึ้นที่แคนาดา แต่ประเทศอื่นๆ รวมทั้งสหรัฐฯ ก็อาจเกิดปัญหาทำนองเดียวกันขึ้นมาได้
ข้ามมาทางเอเชียวานนี้ ตลาดหลักทรัพย์ต่างตกฮวบฮาบตามวอลล์สตรีทกันทั่วหน้า โตเกียว -2.19% , ฮ่องกง -2.87%, สิงคโปร์ -3.45%, จาการ์ตาแรงที่สุดคือ -6.4%
แถบเอเชียแม้มีผู้บาดเจ็บจากวิกฤตซับไพรม์ในสหรัฐฯอยู่บ้าง เป็นต้นว่า มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป กลุ่มกิจการธนาคารใหญ่ที่สุดของโลกหากคำนวณตามสินทรัพย์ แถลงวานนี้ว่า ขาดทุนจากการลงทุนในซับไพรม์ไปราว 43 ล้านดอลลาร์ ซึ่งถือว่านิดเดียวเมื่อดูจากขนาดกิจการของแบงก์แห่งนี้
กระนั้น พวกดีลเลอร์อธิบายว่า สิ่งที่นักลงทุนในเอเชียหวาดกลัวกันมากกว่าก็คือ พวกกองทุนต่างประเทศจะถูกบังคับให้ขายทิ้งหุ้นเอเชีย เพื่อนำเงินไปชดเชนส่วนที่ขาดทุนไปกับซับไพรม์
"สิ่งต่างๆ กำลังสั่นคลอนเหลือเกินในสหรัฐฯ และนั่นก็กำลังขับดันให้เกิดความวิตกขึ้นมาอย่างมากมายจริงๆ ในขณะนี้" เป็นความเห็นของ ลอร์เรน ตัน รองประธานกรรมการบริหารด้านวิจัยหลักทรัพย์เอเชีย ของบริษัทสแตนดาร์ดแอนด์พัวร์ส สาขาสิงคโปร์
"ตลาดยังไม่มีเสถียรภาพในตอนนี้ จนกว่าจะมีสัญญาณบางประการว่าสิ่งต่างๆ กำลังมีเสถียรภาพแล้วนั่นแหละ มันก็จะยังคงวูบวาบแปรปรวนอย่างเหลือเกินไปเรื่อยๆ" เธอกล่าวต่อ
สำหรับตลาดแถบยุโรปวานนี้ เมื่อถึงช่วงบ่าย ตลาดลอนดอน ลดลงไป 1.46%, ปารีสก็ดิ่งลง 1.45%, ส่วนแฟรงเฟิร์ตตกมา 0.76%
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|