โตโยต้าฟันธงตลาดรถวูบ4.7%


ผู้จัดการรายวัน(15 สิงหาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

นายมิทซึฮิโระ โซโนดะ กรรมการผู้จัดการตลาดใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า ปัญหาทางเศรษฐกิจและการเมือง ส่งผลให้ลูกค้าชะลอการซื้อรถออกไป ทำให้สถานการณ์ตลาดรถยนต์ไทย ในช่วงครึ่งปีแรกเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ลดลงกว่า 12% แต่หากพิจารณาดูแนวโน้มถือว่าเริ่มดีขึ้น จากไตรมาสแรกลดลงกว่า 18% และมาช่วงไตรมาสสองลดลงเพียง 6.4% ส่งผลให้ตลาดรถรวมครึ่งปีแรกตกลง 12%

"จากสัญญาณที่ดีขึ้นโดยเฉพาะปัญหาการเมือง ทำให้ยอดขายในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ตลาดรถยนต์ไทยกลับมีอัตราการเติบโตเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน ส่งผลให้ตลาดรถรวมม.ค.-ก.ค.ปีนี้ ลดลงเพียง 10.8% และคาดว่าแนวโน้มเริ่มเป็นบวกชัดเจนในช่วงไตรมาสสาม หรือหากมีการเลือกตั้งปลายปี ดังนั้น คาดว่าตลาดรถยนต์ไทยโดยรวมปีนี้ น่าจะอยู่ที่ประมาณ 6.5 แสนคัน ลดลงจากปีที่แล้ว 4.7% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าการประเมินไว้เมื่อต้นปี 6.7-6.8 แสนคัน"

ในส่วนปริมาณยอดขายโตโยต้า 7 เดือนแรกของปีนี้ ทำได้กว่า 1.51 แสนคัน เทียบกับปีที่แล้วช่วงเดียวกัน ลดลงน้อยกว่าภาพรวมตลาดที่ 5.4% โดยสามารถครองอันดับหนึ่งในทุกตลาด แบ่งเป็นรถยนต์นั่ง หรือเก๋งมากกว่า 5.1 หมื่นคัน รถเพื่อการพาณิชย์(รวมปิกอัพ 1 ตัน)กว่า 9.9 หมื่นคัน และเฉพาะปิกอัพ 1 ตัน(ไม่รวมปิกอัพดัดแปลง) จำนวนกว่า 8.2 หมื่นคัน

นายโซโนดะกล่าวว่า เป็นตัวเลขที่น่าพอใจแม้ยอดขายโตโยต้าจะลดลง เมื่อเทียบกับภาพรวมตลาดรถยนต์ไทยโดยรวมที่ลดลงมากกว่าเท่าตัว ซึ่งทั้งหมดเกิดจากการทุ่มเทในทุกๆ ส่วนของโตโยต้า การบริการครบวงจร และการตอบรับเป็นอย่างดีต่อผลิตภัณฑ์ของโตโยต้าจากลูกค้า ไม่ว่าจะเป็น โตโยต้า คัมรี่ ใหม่, ไฮลักซ์ วีโก้ และวีออสใหม่

โดยในช่วงครึ่งปีหลังโตโยต้ายังจะมุ่งเข้าถึงลูกค้าต่อเนื่อง ซึ่งเร็วๆ นี้จะจัดงาน Hilux VIGO Happy Day Special ระหว่างวันที่ 24-26 สิงหาคมนี้ ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี และภายในงานลูกค้าจะได้ชมคอนเสิร์ตจากศิลปินคาราบาวทุกวัน พร้อมได้ใกล้ชิดกับดารามากมาย แถมยังลุ้นรับชุดอุปกรณ์ฉุกเฉินมูลค่ารวมกว่า 1.8 ล้านบาท และลุ้นรับทองคำมูลค่ารวมกว่า 1.8 แสนบาท

"แม้เราจะค่อนข้างพอใจยอดขายในประเทศ โดยตั้งเป้ายอดขายถึงสิ้นปีไว้ที่ 2.8 แสนคัน ลดลง 3.2% แบ่งเป็นเก๋ง 9.2 แสนคัน และรถเพื่อการพาณิชย์ 1.87 แสนคัน แต่ตลาดส่งออกเมื่อเทียบกับภาพรวมที่เติบโตขึ้น ในส่วนของโตโยต้ากลับมียอดส่งออกลดลง รถยนต์สำเร็จรูปส่งออกลดลง 1% หรือทำได้กว่า 1.14 แสนคัน คิดเป็นมูลค่า 4.7 หมื่นคัน ลดลง 7% ขณะที่ชิ้นส่วนอะไหล่ส่งออก 2.24 หมื่นล้านบาท รวมส่งออกมูลค่า 7 หมื่นล้านบาท เทียบกับปีที่แล้วอัตราการเติบโตคงที่ แต่มั่นใจว่าในช่วงครึ่งปีหลังจะผลักดันให้เติบโตถึง 10%"

ทั้งนี้โตโยต้าได้ตั้งเป้าหมายการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปไว้ที่ 2.29 แสนคัน คิดเป็นมูลค่า 9.33 หมื่นล้านบาท และชิ้นส่วนอะไหล่มูลค่า 3.84 ล้านบาท รวมมูลค่าการส่งออกทั้งสิ้นกว่า 1.31 แสนล้านบาท เทียบกับปีที่แล้วเพิ่มขึ้นเป็น 10% ถึงแม้จะได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น เพราะอัตราที่เหมาะสม และทำให้โตโยต้าอยู่รอดได้ควรจะอยู่ที่ 37 บาทก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ถึงช่วงครึ่งปีแรกยอดส่งออกโตโยต้าจะลดลง แต่ค่าเงินบาทยังไม่ใช่ปัญหาหลัก สาเหตุมาจากการแบ่งโควต้าส่งออกระหว่างฐานการผลิตของโตโยต้าทั่วโลก แต่โตโยต้าประเทศไทยในฐานะเป็นศูนย์กลางผลิตเพื่อส่งออกทั่วโลก โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น จึงได้เพิ่มสัดส่วนส่งออกให้กับไทย และยังได้มีการขยายตลาดใหม่ๆ เพิ่มขึ้น อาทิ กลุ่มประเทศอเมริกาใต้ ลาตินอเมริกา และอเมริกากลาง ทำให้ตัวเลขส่งออกปีนี้จะเติบโตอย่างแน่นอน

สำหรับการที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติลดภาษีสรรพสามิต ให้แก่รถยนต์ที่ใช้พลังงานแก๊สโซฮอล์ E20 ลงจากอัตราภาษีปัจจุบันอีก 5% โดยจะมีผลบังคับใช้ในปี 2551 ซึ่งเร็วกว่ากำหนดเดิม 1 ปี ทำให้โตโยต้าคงต้องศึกษาและพิจารณาใหม่ จากที่วางแผนจะแนะนำสู่ตลาดในปี 2552 ส่วนการผลิตอีโคคาร์ยังไม่มีความชัดเจนในขณะนี้ เพราะช่วงระยะเวลาที่เหลือ 4 เดือน ตามกำหนดส่งแผนงานให้กับรัฐบาล โตโยต้าต้องเร่งศึกษาให้ครอบคลุมตามเงื่อนไขที่กำหนด แต่ยืนยันโตโยต้าพร้อมสนับสนุนรถยนต์ประหยัดพลังงาน ซึ่งไม่เพียงอีโคคาร์แต่หมายถึงรถที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ด้วย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.