|

ตลาดหุ้นไทยผันผวนดิ่ง20จุดหวั่นซับไพร์ม-คุมเข้มต่างด้าว
ผู้จัดการรายวัน(10 สิงหาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
หุ้นไทยยังไม่พ้นวิกฤตเทรดสุดสวิงก่อนปิดรูดอีก 20 จุด หลังโดนกระหน่ำด้วยปัจจัยลบใหม่ทั้งความกังวลการขอแก้ไขบทนิยามของต่างด้าว รวมถึงการปิดกองทุนขนาดใหญ่ที่ได้รับผลกระทบกับซับไพร์มซึ่งต้องติดตามว่าจะลามไปยังกองทุนอื่นอีกหรือไม่ โดย 9 วันที่ผ่านมาต่างชาติขายแล้ว 2 หมื่นล้านบาท โบรกเกอร์แนะนำปรับพอร์ตรอตลาดหุ้นลดความผันผวน ชี้การวิเคราะห์หุ้นยากขึ้นเหตุการณ์เคลื่อนไหวไม่สอดคล้องกับพื้นฐาน
ภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นไทย วานนี้ (9 ส.ค.) ดัชนีตลาดหุ้นยังผันผวนอย่างหนัก โดยเฉพาะในช่วงบ่ายมีแรงขายออกมาจากหุ้นขนาดใหญ่ หลังนักลงทุนต่างชาติค่อนข้างกังวลต่อกรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และคณะกรรมาธิการวิสามัญเสนอให้มีการแก้ไขบทนิยามของบุคคลต่างด้าว ที่อาจจะลามไปถึงการควบคุมการบริหารจัดการ จากเดิมที่มีการควบคุมเฉพาะการถือหุ้นและสิทธิออกเสียงเท่านั้น
ขณะที่ปัญหาในเรื่อง "ซับไพร์ม" ล่าสุดทำให้กองทุน 3 กองทุนขาดทุนอย่างหนัก รวมถึงความกังวลเกี่ยวกับการเดินขบวนอีกครั้งของแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) โดยดัชนีปรับตัวลดลงมาปิดที่ 811.83 จุด ลดลง 19.81 จุด หรือ 2.38% โดยจุดสูงสุดของวันอยู่ที่ 842.51 จุดและจุดต่ำสุดอยู่ที่ 811.82 จุด มูลค่าการซื้อขาย 21,422.14 ล้านบาท
ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 576.32 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันซื้อสุทธิ 1,040.49 ล้านบาท นักลงทุนรายย่อยขายสุทธิ 464.17 ล้านบาท โดยในช่วง 9 ทำการที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติขายสุทธิแล้วถึง 19,416.65 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันขายสุทธิ 470.26 ล้านบาท นักลงทุนรายย่อยซื้อสุทธิ 19,886.91 ล้านบาท
นายชัย จิรเสวีนุประพันธ์ ผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)พัฒนสิน จำกัด (มหาชน)หรือ CNS กล่าวว่า ภาวะตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงจากนักลงทุนขายทำกำไรออกมาเนื่องจากที่ดัชนีได้มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบ 30 จุด จาก 811 จุด เพิ่มเป็น 840 จุด ประกอบกับข่าวที่กองทุนต่างประเทศ BNP Paribas ประสบปัญหาในการลงทุนสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์คุณภาพต่ำ (ซับไพรม์) ออกมาอีกหลังจากที่กระแสข่าวดังกล่าวได้เงียบไปในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมา ซึ่งเรื่องดังกล่าวนั้นส่งผลกระทบให้ตลาดหุ้นยุโรป ดาวโจนส์ มีการปรับตัวลดลง จากที่นักลงทุนยังไม่มั่นใจจึงมีการเทขายออกมาเพื่อป้องกันความเสี่ยง
นอกจากนี้ กระแสข่าวที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการเข้าไปตรวจสอบธนาคารพาณิชย์ว่ามีธนาคารใดเข้าไปลงทุนในซับไพรม์ ซึ่งพบว่า มี 4 ธนาคารที่มีการลงทุน แต่ทางธปท.ได้ชี้แจงว่าผลกระทบจากการลงทุนดังกล่าวไม่มากนักเพราะธนาคารพาณิชย์ที่เข้าลงทุนได้มีการตั้งสำรองไว้แล้ว และจากความกังวลในเรื่องนักลงทุนต่างประเทศจะมีการขายหุ้นออกมา ส่วนเรื่องการแก้ไขนิยามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ต่างด้าวนั้นมีผลเล็กน้อยต่อการลดลงของดัชนีตลาดหุ้น
"ดัชนีหุ้นวันนี้มีความผันผวนโดยในช่วงเช้าดัชนีฯได้มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น และมีแรงเทขายทำกำไรระยะสั้นออกมาจากที่ดัชนีได้มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบ30 จุด และมีกระแสข่าวเกี่ยวกับกองทุนต่างประเทศประสบปัญหาเรื่องซับไพรม์ออกมาเพิ่มอีกจากที่เงียบไป 1-2 วัน ทำให้นักลงทุนมีความกังวลจึงมีการขายหุ้นออกมาเพื่อป้องกันความเสี่ยง"นายชัยกล่าว
สำหรับแนวโน้มตลาดหุ้นไทยวันนี้ คาดว่าดัชนีจะมีการเคลื่อนไหวเป็นไปตามทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศ ซึ่งหากยังมีกระแสข่าวในเรื่องปัญหาซับไพรม์เพิ่มอีกเชื่อว่าจะทำให้ตลาดหุ้นในต่างประเทศมีการปรับตัวลดลง ก็จะส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยมีการปรับตัวลดลงเช่นกัน โดยในช่วงนี้บริษัทแนะนำให้นักลงทุนมีการขายทำกำไรออกมาก่อนจากที่ภาวะตลาดหุ้นยังมีความผันผวน โดยมองแนวรับที่ระดับ 800 จุด แนวต้านที่ระดับ 820จุด
ห่วงซับไพร์มลามไม่หยุด
นายโกสินทร์ ศรีไพบูลย์ ผู้อำนวยการอาวุโส บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า การคงอัตราดอกเบี้ยของของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ตลาดรับข่าวไปตั้งแต่วันอังคาร รวมถึงคำแถลงหลังการประชุมเกี่ยวกับเศรษฐกิจสหรัฐที่คาดว่าจะเติบโตได้ แต่ตราบใดที่สหรัฐยังไม่มีมาตรการรองรับเกี่ยวกับการลงทุนในตลาดซับไพร์ม เชื่อว่าความกังวลของนักลงทุนยังมีต่อเนื่อง เพราะเริ่มมีความกังวลมากขึ้นว่าจะมีกองทุนหรือสถาบันการเงินอื่นๆ จะประสบปัญหาเช่นเดียวกับ บีเอ็นพี พาริบาร์
อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่นักลงทุนยังคงติดตามและให้ความสนใจ คือ การขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติที่คาดว่าจะยังขายออกมา ประกอบกับการประกาศผลประกอบการครึ่งปีแรกของบริษัทจดทะเบียน รวมถึงผลการลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญจะทราบผลในเร็วๆนี้ ซึ่งจะนำไปสู่การเลือกตั้งในช่วงปลายปี โดยแนวโน้มวันนี้คาดว่าตลาดจะแกว่งตัวผันผวนต่อเนื่อง
จี้แก้โครงสร้างตลาดหุ้น
นายอดิศักดิ์ คำมูล ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคจีไอ กล่าวว่า ปัญหาจากโครงสร้างของตลาดหุ้นไทย ที่มาร์เกตแคปส่วนใหญ่ของตลาดเป็นหุ้นในกลุ่มพลังงานและธนาคารพาณิชย์ทำให้การปรับตัวขึ้นลงค่อนข้างผันผวน โดยปัจจุบันมีปัจจัยลบจากแนวโน้มราคาน้ำมันที่ลดลง และตัวเลขสินเชื่อของธนาคารที่ไม่ดี ทำให้ส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นค่อนข้างมากประกอบกับเม็ดเงินของนักลงทุนต่างชาติในตลาดหุ้นไทยขณะนี้ ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนจากทางทวีปยุโรปที่กำลังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ ทำให้มีแรงขายเพื่อลดพอร์ตอย่างต่อเนื่อง
นายจักรกริช เจริญเมธาชัย ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.ฟินันซ่า กล่าวว่า การที่ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงค่อนข้างรุนแรง ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลมาจากความกังวลปัญหาการเมืองในประเทศ หลังจากมีกระแสข่าวว่ากลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ หรือ นปก.จะเคลื่อนไปชุมนุมหน้ากองทัพบก ซึ่งทำให้วิตกกันว่าอาจจะมีความรุนแรงเกิดขึ้นทั้งนี้ให้กรอบการแกว่งตัวของดัชนี อยู่ที่ระดับ 810-822 จุด
โบรกฯชี้วิเคราะห์ยาก
แหล่งข่าวนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาการวิเคราะห์หุ้นของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยตรงกับการเคลื่อนไหวของดัชนีมากนักเพราะดัชนีเคลื่อนไหวไม่สะท้อนปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจประเทศ ประกอบกับตลาดหุ้นไทยยังยึดติดกับการซื้อขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติเป็นหลัก การวิเคราะห์จึงต้องให้น้ำหนักต่อการเข้าออกของเงินทุนซึ่งที่ผ่านมาการไหลเข้ามาออกของเงินทุนเป็นเรื่องที่ประเมินได้ยากมาก
นางสาวปองรัตน์ รัตนะตวณานนท์ ผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.บัวหลวง กล่าวว่า ตลาดหุ้นค่อนข้างจะปรับตัวลดลงรุนแรงเป็นปฎิกริยาที่รุนแรงกว่าตลาดอื่นในภูมิภาค แม้ว่าตลาดหุ้นไทยจะปรับตัวลงเช่นเดียวกับตลาดในยุโรปที่ปรับตัวลงจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับตลาดซับไพร์มในสหรัฐ แต่ตลาดยุโรปก็ไม่ได้ปรับตัวลงมากนัก
"ตลาดหุ้นไทยพยายามหาปัจจัยมาสนับสนุนการขายหุ้น รวมทั้งความวิตกกังวลเกี่ยวกับการแก้ไข พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ก็เชื่อว่าเป็นปัจจัยที่ถูกนักลงทุนหยิบยกมาเป็นข้ออ้างในการขายหุ้นออกเท่านั้น" นางสาวปองรัตน์กล่าว
จี้ยกเลิกมาตรการ30%
นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในฐานะสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เสนอแนะรัฐบาลเกี่ยวกับการดูแลปัญหาค่าเงินบาท โดยระบุว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยจะต้องเร่งให้มีการผ่อนปรนมาตรการกันสำรอง 30% นอกเหนือจากการเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไปยังตลาดอื่นๆด้วย เช่น ตลาดพันธบัตรและกองทุนรวม เพื่อให้เงินทุนได้ไหลเวียนในระบบอื่นๆ ได้
ทั้งนี้ในช่วงเดือน 2-3 เดือนที่ผ่านมามีเงินทุนที่ไหลเข้ามาในประเทศประมาณ 2-3 หมื่นล้านบาทเนื่องจากความชัดเจนทางการเมืองในประเทศประกอบกับการเตรียมความพร้อมในเรื่องของการเลือกตั้งมีความชัดเจนและมีรูปธรรมมากขึ้น จึงทำให้ต่างชาติมั่นใจและนำเงินเข้ามาลงทุนมากขึ้น
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|