เลือดสีฟ้า

โดย ไพเราะ เลิศวิราม
นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

หนุ่มสาววัย 20 ต้นๆ บุคลิกกระฉับกระเฉง ที่กลายเป็นบรรยากาศแปลกใหม่ ทั้งสองเป็นส่วนหนึ่งของ Blue Team ต่างรุ่นที่ได้ผ่านกระบวนการคัดเลือก และอบรมที่เหมือนกันๆ เพื่อไปสู่เป้าหมายเดียวกัน

อุษาวรรณ สุวงศ์ Account Representative, Personal Computing Division อายุ 23 ปี จบคณะบริหารธุรกิจ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าร่วมงานกับไอบีเอ็มในปี 2544 ทำงานในแผนกเซลส์ขายเครื่องพีซี

พิรุฬห์ โรจนกมลสันต์ IT Specialist, Strategic Outsourcing จบจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีอายุงานปีเดียว เขาถูกเลือกมาอยู่ในส่วนงาน Strategic Outsource และหลังจากไอบีเอ็มได้เซ็นสัญญากับธนาคารกสิกรไทยไปเมื่อปลายปี พิรุฬห์ต้องเดินทางไปนั่งประจำที่สำนักงานใหญ่ของธนาคารกสิกรไทย

เส้นทางการทำงานในไอบีเอ็มของทั้งสอง เริ่มขึ้นเมื่อไอบีเอ็มเปิดรับสมัครที่มหาวิทยาลัย

"ทุกคนรู้จักไอบีเอ็ม แต่ไม่คิดว่าจะเปิดรับ เพราะเท่าที่รู้มา ไอบีเอ็มแทบไม่เคยรับเด็กใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์มาก่อน พอไอบีเอ็มเปิดรับ ก็มากันเกือบครึ่งคณะ" พิรุฬห์บอกถึงเหตุผลที่สนใจในไอบีเอ็ม ไม่แตกต่างไปจากอุษาวรรณ

วิธีการคัดเลือกของไอบีเอ็ม ก็คล้ายกับหน่วยงานอื่นๆ เริ่มจากด่านแรกคือ การสอบข้อเขียน โดยจะเน้นไปที่วัดทัศนคติ วัดไอคิว เป็นการคัดเลือกเบื้องต้น จากนั้นจึงมาถึงขั้นตอนการสอบสัมภาษณ์ เป็นด่านสุดท้ายที่ต้องฟันฝ่ากับเพื่อนๆ ร่วมสถาบันเดียวกันและต่างมหาวิทยาลัยอีกจำนวนไม่น้อย

หลังฝ่าด่านเข้าสู่รั้วสีฟ้าของไอบีเอ็ม ช่วง 10 สัปดาห์แรก เป็นช่วงของการปูพื้นฐาน สินค้า และบริการ ตลอดจนโครงสร้างของไอบีเอ็ม ระหว่างนั้นก็มีกิจกรรมร่วมกัน และหลักสูตรที่ขาดสำหรับไอบีเอ็มในยุคนี้ ไม่ว่าจะส่วนการตลาด หรือเทคนิค ก็คือ การสร้างทักษะในการพบปะพูดคุยกับลูกค้า ที่จะมีการจำลองเหตุการณ์รับมือลูกค้า

หลังจากฝึกภาคทฤษฎี และปฏิบัติ ทีมงานเหล่านี้จะต้องผ่านการสอบอีกครั้ง แต่เป็นการวัดพื้นฐานความรู้เพื่อเพิ่มทักษะในด้านต่างๆ ที่ยังอ่อนอยู่ จากนั้นจึงส่งไปอยู่ตามแผนกต่างๆ

ความรับผิดชอบทำตลาดสินค้าพีซี ของอุษาวรรณ จะต้องทำให้เข้าใจความต้องการของลูกค้า และตัวแทนขาย หรือ business partner ที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก เพราะมันมีผลต่อการกำหนดราคา และการให้บริการ ที่ต้องแข่งขันกับตลาด

"เราต้องดีลกับบริษัทแม่ในเมืองนอกโดยตรงด้วย เช่น เรื่องปัญหาเทคนิคัล หรือความต้องการของลูกค้า"

ในขณะที่พิรุฬห์ต้องสร้างทักษะทางด้านเทคนิค โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานให้บริการโครงสร้างพื้นฐาน และระบบปฏิบัติการด้าน IT หรือบริการ outsource ที่เป็นเรื่องใหม่ และการที่ต้องศึกษาลูกค้าธนาคาร

ทุกสิ้นปี ทีมงานใน Blue Team จะถูกประเมินผลงาน เป็นส่วนหนึ่งของการวัดผลงาน และการเพิ่มทักษะในด้านอื่นๆ ที่ยังขาดอยู่

แม้ความรับผิดชอบจะแตกต่าง แต่สิ่งหนึ่งที่ทั้งสองเห็นเหมือนกัน คือ การใช้ชีวิตการทำงานที่เหมือนกับการอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย ซึ่งมีส่วนช่วยให้การทำงานแบบเป็นทีมราบรื่นขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแผนกเดียวกันหรือต่างแผนก จึงสอดคล้องกับไอบีเอ็มในเวลานี้ ที่ต้องอาศัยการร่วมแรงร่วมใจของการเป็นทีม และความภักดีในองค์กรสูงกว่าอดีตที่ผ่านมา



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.