Blue Team

โดย ไพเราะ เลิศวิราม
นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

หนุ่มสาววัยใส อายุ 20 ต้นๆ ที่กาวพ้นรั้วมหาวิทยาลัยมาหมาดๆ เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของความคิดริเริ่มของ ทรงธรรม เพียรพัฒนาวิทย์ ที่ต้องการสร้าง "เลือดสีฟ้า" ที่เป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของไอบีเอ็มกลับมาใช้อีกครั้ง

ใครที่เคยเป็นพนักงานไอบีเอ็มในช่วง 10 กว่าปีที่แล้วต้องเคยผ่านชีวิตการเป็น trainee ต้องเข้าห้องเรียน บินไปนั่งฟังอบรมที่เมืองนอก กับเพื่อนๆ ร่วมรุ่นที่เข้ามาทำงานพร้อมๆ กันถึง 1 ปีเต็ม ก่อน ที่พวกเขาจะเริ่มทำงานได้จริง

"เมื่อก่อนไอบีเอ็ม เชื่อเรื่องการลงทุนจากคนเยอะมาก พนักงานที่เข้ามาใหม่กว่าจะไปพบลูกค้าได้ ต้องผ่านการ training ไม่ต่ำกว่า 9 เดือน ผ่านหลักสูตร 3 คอร์ส ยังไม่ได้พบลูกค้าเลย ต้องตามรุ่นพี่ไปก่อน" ผู้บริหารของไอบีเอ็มย้อนความหลังในอดีต

สภาพแวดล้อมทางธุรกิจของ ไอบีเอ็ม ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่ที่ต้องใช้ทีมงานจำนวนมากดูแล และเทคโนโลยีที่เป็นระบบเฉพาะตัวอย่างเมนเฟรมหรือ AS/400 ทำให้ไอบีเอ็มจำเป็นต้องลงทุนฝึกฝน สร้างบุคลากร ให้มีทักษะและความรู้ เป็นขีดความสามารถเฉพาะตัวที่ไอบีเอ็มจำเป็นต้องสร้างขึ้น

แต่เมื่ออุตสาหกรรมเปลี่ยน สินค้าเปลี่ยน ตลาดที่เคยเป็นขีดความสามารถเฉพาะ อย่างเมนเฟรม หรือมินิคอมพิวเตอร์ ไม่ใช่จุดแข็งของไอบีเอ็มอีกต่อไป ต้องเปลี่ยนเป็นระดับ mass ไปสู่ตลาดเซิร์ฟเวอร์ พีซี โน้ตบุ๊ค เพื่อตอบสนองลูกค้าในกลุ่มที่กว้างขึ้น เป็นลูกค้า องค์กรขนาดกลางและย่อม ซึ่งเป็นตลาดที่มีรูปแบบและวิธีการทำตลาดที่แตกต่างกันไปจากอดีต

ไอบีเอ็มต้องเปลี่ยนวีธีคิด วิธีการทำตลาดในรูปแบบใหม่ เพื่อให้เท่าทันกับคู่แข่งในตลาด แรงบีบคั้นที่ต้องบุกตะลุยข้างหน้า ไอบีเอ็มไม่มีเวลาและไม่มีเงินทุนมากพอสำหรับการสร้างเลือดใหม่เหมือนในอดีต

นโยบายที่เปลี่ยนแปลงไปคือ การรับพนักงานของไอบีเอ็มในช่วง 10 ปีให้หลังนี้ จึงเป็นมืออาชีพที่เคยผ่านประสบการณ์ทำงานมาแล้ว เริ่มต้นทำงานได้ทันทีในวันแรกที่ทำงาน

แต่มืออาชีพเหล่านี้ ก็มีข้อจำกัดที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมองค์กรของไอบีเอ็ม ที่มีแบบแผน และกฎเกณฑ์ในการสร้างบุคลากรที่เป็นแบบอย่างเฉพาะของไอบีเอ็ม และความภักดีในองค์กรน้อยกว่า เลือดใหม่ ไฟแรงเข้ามาเสริม นักศึกษาจบใหม่เหล่านี้ ยังไม่มีกรอบกติกาและประสบการณ์เดิมมาเป็นข้อจำกัดในการเรียนรู้ ที่จะเปิดรับวัฒนธรรมองค์กรของไอบีเอ็ม ที่ต้องสร้างบุคลากรที่ทุ่มเท ทำงานภายใต้ข้อเรียกร้องที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

"เราต้องมีทั้งมืออาชีพ และเด็กจบใหม่ที่เอามาฝึก ผมยังจำได้ ตอนเป็น trainee มันจะมีความรักใคร่กลมเกลียว เหมือนพี่น้อง มีความสัมพันธ์กัน แต่ทุกวันนี้ธรรมเนียมเหล่านี้หายไปหมด" ทรงธรรม บอกถึงแรงบันดาลใจริเริ่ม Blue Team ที่ถือเป็นผลงานหนึ่งในยุคของเขา

แม้ว่าทีมผู้บริหารระดับรองกรรมการผู้จัดการจะเห็นด้วย แต่แนวคิดของเขาไม่ได้ รับความเห็นชอบจากผู้บริหารของบริษัทแม่ ทรงธรรมตัดสินใจเลือกวิธีเฉือนค่าใช้จ่ายในส่วนของสำนักกรรมการผู้จัดการ ที่มีเขาเป็นคนรับผิดชอบ มาใช้สร้าง Blue Team รับสมัครเด็กจบใหม่ตามมหาวิทยาลัย และนำมาฝึก แต่ลดเวลาฝึกเหลือเพียงแค่ 6 เดือน

"ผมยอมเสี่ยงเอง ยอมแบกต้นทุนนี้เอง จ้างมา 16 คน มาฝึก แต่ก็มีเงื่อนไขว่า หลังจาก 6 เดือนแล้ว ส่วนงานไหนมาดึงตัวเอาไปก็ต้องจ่ายผมเป็นค่า training กลับคืนมา 6 เดือน รองกรรมการผู้จัดการทุกคนก็ตกลง"

ทุกวันนี้ไอบีเอ็มรับ Blue Team มาแล้ว 2 รุ่น 2 ปี มีทีมงาน 20 กว่าคน ที่แยกย้ายไปตามส่วนงานต่างๆ หลังจากฝึกมาได้ 6 เดือน และพร้อมภายใต้แรงกดดันที่แตกต่างกัน ภายใต้วิธีคิดในการทำธุรกิจที่แตกต่างไปจากอดีต

"เด็กพวกนี้ไฟแรง ถ้าเขารู้สึกว่าได้รับเกียรติ องค์กรให้ความสำคัญกับเขาก็จะทำ เต็มที่ และมี loyalty กับองค์กร อย่างให้ขึ้นพูดขายของในงานคอมมาร์ทเขาทำได้ บางคน ทำงานมา 15 ปี ยังไม่กล้า แต่ถ้าเราฝึกเขา เขาก็ทำได้ เวลานี้ทุกกลุ่มธุรกิจบอกอยากได้อีก ต้องแย่งกัน" ทรงธรรมกล่าวด้วยความภูมิใจ "ผมก็หวังว่าคุณศุภจี เขาจะสานต่อ"



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.