สัมพันธ์ประกันภัยรอด!ลั่นเคลียร์หนี้หมด1เดือน


ผู้จัดการรายวัน(8 สิงหาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

นางจันทรา บูรณฤกษ์ อธิบดีกรมการประกันภัย เปิดเผยว่า ผู้บริหารระดับสูงของบริษัท สัมพันธ์ประกันภัย จำกัด ได้นำตัวแทนที่ปรึกษาทางการเงินและที่ปรึกษาทางการลงทุนเข้ายื่นแผนปรับปรุงธุรกิจของบริษัทกับกรมฯ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว วานนี้ (7 ส.ค.) โดยในแผนปรับปรุงได้ระบุว่า ในส่วนของหนี้ค้างชำระ บริษัทจะเคลียร์หนี้ค้างจ่ายทั้งสิ้น 672 ล้านบาท ซึ่ง ณ วันที่ 7 ส.ค.2550 มีสินไหมค้างจ่ายผู้เอาประกันภัย 2,426 รายหรือประมาณ 182 ล้านบาท หนี้ค้างชำระกับอู่กลางและผู้จำหน่ายอะไหล่อีก 444 ล้านบาท และที่เหลือค้างหนี้ชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ประมาณ 46 ล้านบาท เริ่มตั้งแต่วันที่ 14 ส.ค.และให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน

ส่วนการเพิ่มทุน บริษัทได้แจ้งว่า จะเจรจากับผู้เสนอร่วมทุนรายใหม่ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน ซึ่งทางบริษัทแจ้งมีผู้ลงทุนจากต่างประเทศ 4 รายที่แสดงความสนใจร่วมทุนกับบริษัท และเพิ่มเงินกองทุนตามกฎหมายที่ขาดเงินกองทุนจำนวน 777 ล้านบาท ซึ่งเท่ากับว่า บริษัทจะมีการเพิ่มเงินทุนอีกประมาณ 1,000 ล้านบาท

“ถ้าครบกำหนด 60 วัน บริษัทสัมพันธ์ฯ ไม่ดำเนินการได้ตามแผนปรับปรุงทางธุรกิจที่ยื่นไว้ กรมฯ มีสิทธิ์ที่จะดำเนินการตามกฎหมายถึงขั้นการเพิกถอนใบอนุญาต แต่จากการที่ผู้บริหารได้เข้ามาหารือ เห็นว่าไม่น่ากังวล เพราะมีผู้สนใจเข้าถือหุ้นใหม่ ส่วนหนี้ค้างชำระก็มีแผนการจ่ายเงินชัดเจน” นางจันทรากล่าว

ก่อนหน้านี้ กรมการประกันภัย ได้สั่งให้บริษัท สัมพันธ์ฯ หยุดรับประกันภัยเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 16 พ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อให้สะสางหนี้ค้างจ่ายและเพิ่มเงินกองทุนตามกฎหมายประกันภัย และสั่งให้บริษัทส่งแผนปรับปรุงทางธุรกิจภายในวันที่ 7 ส.ค.2550

ทั้งนี้ ในส่วนของบริษัท ธนสินประกันภัย จำกัด ได้มีการทยอยจ่ายหนี้ค้างแล้วกว่า 80% และในสัปดาห์นี้จะนำเงินอีกจำนวนหนึ่งเข้ากองทุนตามแผนปรับปรุงทางธุรกิจที่ยื่นไว้กับกรมฯ คาดว่าภายในเดือนก.ย.นี้ จะยกเลิกคำสั่งหยุดรับประกันภัยชั่วคราวได้

นางจันทรา กล่าวอีกว่า ในวันที่ 9 ส.ค.นี้ กรมฯ จะเชิญสมาคมประกันวินาศภัยและบริษัทประกันภัย 5 ราย ได้แก่ บริษัทกมลประกันภัย จำกัด บริษัทเอสอินชัวรันส์ จำกัด บริษัทเอ็มเอสไอจีประกันภัย จำกัด บริษัท ไทยประกันภัย จำกัด และบริษัทไทยรับประกันภัยต่อ(ไทยรี) จำกัด หารือการขยายการเอาประกันภัยชดเชยรายได้การถูกเลิกจ้างโดยไม่สมัครใจ เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง

“จะมีการหารือถึงความเหมาะสมในการกำหนดอัตราเบี้ยประกันภัย เงื่อนไขการคุ้มครองและชดเชย และรูปแบบกรมธรรม์ และแผนการรณรงค์ ซึ่งเบื้องต้นอัตราเบี้ยการเอาประกันภัยคนว่างงานอยู่ในอัตรา 0.5-5% ของทุนประกันภัย และคุ้มครองการว่างงาน 30 วัน และ 60 วัน โดยเป็นการประกันภัยแบบสมัครใจ ซึ่งเดิมมีเพียงไม่กี่บริษัทที่รับประกันภัยการว่างงาน และในไทยมีพนักงานที่ทำประกันภัยชนิดนี้เพียง 268 ราย”นางจันทรา กล่าว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.