MD ที่ลำบากที่สุด

โดย ไพเราะ เลิศวิราม
นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

วนารักษ์ เอกชัย เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ ที่อยู่ในตำแหน่งยาวนานที่สุดถึง 6 ปีเต็ม และเป็นผู้นำองค์กรที่ต้องผ่านช่วงเวลายากลำบากที่สุดช่วงหนึ่งของไอบีเอ็ม

"ชีวิตผมเจอแต่ของยาก" วนารักษ์บอกสั้นๆ ในช่วงพบกับ "ผู้จัดการ" ครั้งล่าสุด หลังจากรับตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการ ที่ธนาคารกสิกรไทย ต้องดูแลงานทรัพยากรบุคคล เป็นประสบการณ์เดิมที่เขามีมากว่า 10 ปี

วนารักษ์เป็นลูกหม้อไอบีเอ็ม เริ่มงานในไอบีเอ็ม ประเทศไทย มาตั้งแต่เรียนจบปริญญาตรี Madison, Wisconsin, USA ในปี 2524 เริ่มจากเป็นพนักงานขายพิมพ์ดีด จนมาขายเครื่องเมนเฟรม และได้ดูแลลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่ เริ่มจากดูแลลูกค้าราชการ 3-4 ปี จากนั้นทำตลาดลูกค้าธนาคารยาวนาน 10 ปีเต็ม

ลูกค้ารายสำคัญที่มีความต่อเนื่องยาวนาน และมีบทบาทมากที่สุดของเขา ก็คือ ธนาคารกสิกรไทย ที่เขาดูแลลูกค้ารายนี้มาถึง 24 ปีเต็ม เริ่มตั้งแต่เป็น Account Advisory จนกระทั่งย้ายมาทำงานที่นี่อย่างเต็มตัว

วนารักษ์ถูกเลือกให้เป็นกรรมการผู้จัดการแทนชาญชัย จารุวัสตร์ ในปี 2538 นอกจากช่วงเวลาที่ไอบีเอ็มกำลังตกที่นั่งลำบาก ทั้งจากการยกเครื่ององค์กรภายใน เพื่อขยายเข้าสู่ธุรกิจบริการ แก้ปัญหาการลดต่ำของรายได้ ที่ยังต้องอาศัยความต่อเนื่อง

แต่ที่หนักที่สุดคือ โครงการติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์ให้กรมสรรพากร ที่ตกเป็นข่าวครึกโครมถึงขั้นลุกลามที่สองฝ่ายเตรียมฟ้องร้อง มีผลให้ไอบีเอ็ม คอร์ปอเรชั่น ถึงกับมีความคิดที่จะปิดสำนักงานในไทย ยังไม่รวมปัญหาการติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์ให้กับธนาคารแห่งหนึ่ง ครั้งนั้นไอบีเอ็มต้องควักเงินจ่ายค่าเสียหาย 300 ล้านบาท

วนารักษ์ เป็นลูกชายของสนิท และเสริมศรี เอกชัย เจ้าของนามปากกา "สนทะเล" และมีพี่สาวและน้องสาวอยู่ในแวดวงหนังสือพิมพ์ สนิทสุดา เอกชัย เขียนคอลัมน์อยู่ในบางกอกโพสต์ และสนิทพิมพ์ เอกชัย เขียนคอลัมน์สังคมอยู่ที่หนังสือพิมพ์มติชน นอกจากเป็นครอบครัวตระกูลนักหนังสือพิมพ์ ที่ได้รับความนับหน้าถือตาจากสังคมไทย ส่วนตัวเขายังมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนรุ่นพี่ ที่อยู่ในแวดวงหนังสือพิมพ์ค่ายต่างๆ บุคลิกที่ประนีประนอม และสายสัมพันธ์ของเขาจึงมีความลงตัวพอดีในภาวะที่ไอบีเอ็มต้องถูกหนังสือพิมพ์โจมตีอย่างหนัก

แม้ปัญหาคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น แต่ไอบีเอ็มต้องมาเจอกับมรสุมวิกฤติเศรษฐกิจ ลูกค้าไม่มีเงินจ่าย ยอดขายตกลงฮวบฮาบเป็นครั้งแรก และยังต้องเจอกับคู่แข่งใหม่ๆ ที่เข้ามาในตลาด เป็นช่วงเวลาที่เขาต้องแก้ปัญหาอย่างหนัก

หลังจากแก้ปัญหาจนฐานะการเงินเริ่มกระเตื้องขึ้น วนารักษ์ได้รับข้อเสนอจากบริษัทแม่ให้ไปทำงานที่อาเซียน แต่ด้วยเงื่อนไขเรื่องครอบครัว เขาตัดสินใจยุติชีวิตการทำงานในไอบีเอ็ม และมาเริ่มต้นงานใหม่ในตำแหน่งที่ปรึกษาให้กับธนาคารกสิกรไทย ด้วยความผูกพันยาวนานต่อเนื่องมาถึง 24 ปีเต็ม มีส่วนร่วมในการ re-engineering ของธนาคารกสิกรไทย ในฐานะของผู้ติดตั้งระบบไอทีที่ใช้ในการปรับปรุงสาขาทั้งหมด

"พอดีมาลาคุณบัณฑูร ล่ำซำ ก็เลยชวนให้มาช่วย เพราะตอนนั้นกสิกรกำลังทำโปรเจ็กต์ outsource ที่ไอบีเอ็มให้บริการโครงสร้างพื้นฐานและปฏิบัติการด้านไอทีให้กับธนาคาร เวลานั้นเขาทำกันไปได้ 20-30% ผมก็เข้ามาช่วยประกอบ deal ให้มันเร็วขึ้น" วนารักษ์บอกสาเหตุการเข้ามาร่วมงานกับธนาคารกสิกรไทย

หลังจากโปรเจ็กต์ outsource ที่ทำกับธนาคารกสิกรไทยเสร็จสิ้นลง วนารักษ์ ได้รับแต่งตั้งให้ดูแล Human Resource เป็นครั้งแรกของการเข้ามาเป็นผู้บริหารเต็มตัวในธนาคารกสิกรไทย

"เรามาในมุมของ TFB is a people in the building คนในตึกเป็นทรัพย์สิน เป็นเรื่องที่ธนาคารให้ความสนใจอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว" วนารักษ์บอกถึงงานล่าสุด ในการเข้ามาบริหารทรัพยากรมนุษย์ แทนผู้บริหารต่างชาติ ที่เป็นงานที่เขาถนัดที่สุดงานหนึ่ง



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.