SNCลุ้นออเดอร์นอกหนุนรายได้เล็งเพิ่มทุนรองรับการขยายธุรกิจ


ผู้จัดการรายวัน(7 สิงหาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

"เอส เอ็น ซี ฟอร์เมอร์" เตรียมเซ็นสัญญาพันธมิตรร่วมทุนญี่ปุ่นหวังพัฒนาแม่พิมพ์-ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ต.ค.50นี้ ขณะที่รอลุ้นออเดอร์ลูกค้ารายใหญ่ 3 รายคาดได้ข้อสรุป ก.ย.นี้ ระบุหากได้รับออเดอร์หนุนยอดขายปีหน้าแตะ 6 พันล้านบาท ขณะที่เป้ารายได้ปีนี้อยู่ที่ 4-5พันล้านบาท แย้มปีหน้าอาจพิจารณาการเพิ่มทุนรองรับการขยายธุรกิจ

นายสมชัย ไทยสงวนวรกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอส เอ็น ซี ฟอร์เมอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SNC เปิดเผยถึงแผนการดำเนินงานในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ว่าภายในเดือนตุลาคม 2550 นี้บริษัทเตรียมแผนที่จะเซ็นสัญญาร่วมทุนกับบริษัท SANTECH ซึ่งเป็นพันธมิตรจากประเทศญี่ปุ่น เพื่อ ร่วม กันพัฒนาทางด้านแม่พิมพ์และการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น

ทั้งนี้ การเซ็นสัญญาในครั้งนี้จะสอดรับการเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศภายในบ้าน(OEM) ให้กับพันธมิตรรายใหญ่จำนวน 3 ราย ซึ่งประกอบด้วย สหรัฐ ญี่ปุ่น และเกาหลี โดยคาดว่าจะเซ็นสัญญาในเดือนกันยายนนี้ ซึ่งหากมีการสั่งสินค้าเพิ่มจากลูกค้าดังกล่าวจะส่งผลให้ยอดขายในปี2551 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 6,000 ล้านบาทได้

ในส่วนปีนี้บริษัทยังคงเป้ารายได้เติบโตอยู่ที่ 4,000-5,000 ล้านบาท หรือเติบโตเพิ่มขึ้นประมาณ 40% จากปี 2549 ที่มีรายได้อยู่ที่ประมาณ 2,052 ล้านบาท โดยบริษัทจะพยายามรักษาอัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) ปีนี้ให้อยู่ในระดับประมาณ 17-18% ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับปี 2549 ขณะที่อัตรากำไรสุทธิ(Net Profit Margin) ปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 7-8% ใกล้เคียงปีที่ผ่านมาขณะเดียวกันหากบริษัทได้รับงานดังกล่าวบริษัทคาดว่าอาจจะมีการเพิ่มทุนภายในปี 2551 เนื่องจากปัจจุบันบริษัทได้เงินกู้มาจากสถาบันการเงินจำนวน 600 ล้านบาท เพื่อใช้ปรับปรุงโรงงานและซื้อเครื่องจักรจำนวน 200 ล้านบาท และอีก 400 ล้านบาท จะใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนเพื่อรองรับการสั่งซื้อจากลูกค้าทั้ง 3 ราย

"หากลูกค้ารายใหญ่มีการสั่งออเดอร์เพิ่มขึ้นอาจจะทำให้บริษัทมีเม็ดเงินไม่พอในการรองรับการขยายงาน บริษัทอาจจะมีการพิจารณาและปรึกษากับที่ปรักษาทางการเงินในการเพิ่มทุนเพราะว่าหากมีการใช้เงินเพิ่มขึ้นบริษัทคงไม่สามารถกู้เงินได้อีก จากที่ขณะนี้บริษัทมีอัตราหนี้สินต่อทุนหรือดีอีสูงถึง 3 เท่า ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่สูง" นายสมชัยกล่าว

นายสมชัย กล่าวอีกว่า ความคืบหน้าในการนำบริษัทบริษัท เอสเอ็นซี ไพยองซาน ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ SNC เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นั้น ขณะนี้คงต้องชะลอแผนออกไปก่อน เนื่องจากที่ปรึกษาทางการเงินได้ให้คำแนะนำว่าควรจะรอให้บริษัท เอสเอ็นซี ไพยองซาน มีธุรกิจใหม่และสามารถสร้างรายได้ที่มีความแตกต่างจากSNC ก่อนที่จะมีการพิจารณาแนวทางอีกครั้ง

สำหรับปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น นายสมชัยกล่าวว่า บริษัทไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แม้ว่าบริษัทจะเป็นบริษัทประเภทผลิตชิ้นส่วนเพื่อนำมาประกอบสินค้าเหมือนบริษัทอื่นๆ ที่ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท เนื่องจากบริษัทผลิตสินค้าและใช้วัตถุดิบที่เป็นสินค้าเฉพาะที่ต้องมีการควบคุม ซึ่งแตกต่างจำกสินค้าประเภทรองเท้าและสิ่งทอที่ประเทศอื่นเช่น เวียดนาม จีน อินเดีย ที่สามารถผลิตได้ ขณะเดียวกันการขายสินค้าให้กับลูกค้าแถบยุโรปบริษัทจะขายเป็นเงินยูโรเพื่อลดความเสี่ยง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.