2444 ก่อตั้ง "ก้วงโกหลง"
"อึ้งเมี่ยวเหงียน (2397-2456) เดินทางสู่สยามในต้นรัชกาลที่ 5 ..คุณชวดโดยสารเรือเดินทะเลจากเมืองจีนมายังบางกอก
คุณชวดก็น่าจะตั้งต้นจากเมืองซัวเถา ซึ่งรุ่งเรืองและเป็นแหล่งอพยพของชาวจีนแคะ
และแต้จิ๋วมากที่สุดในช่วงเวลาดังกล่าวผ่านฮ่องกงแล้ว จึงมาเทียบตรงที่กรุงเทพฯ
ระยะแรกท่านได้เข้าทำงานในร้านขายเหล้าของชาวจีนแคะผู้หนึ่ง ซึ่งมีกิจการค้าไม้สักอยู่ด้วย
..ยามว่างงานประจำก็เข้าไปช่วยดูแลในร้านขายไม้ ท่านจึงฝึกจนเชี่ยวชาญเรื่องไม้อย่างดี
และหวังว่าจะได้ยึดอาชีพค้าไม้นี้ตั้งตัว ในที่สุดคุณชวดก็สามารถมีธุรกิจของตนเอง
เปิดร้ายขายไม้สักติดกับลำน้ำเจ้าพระยาที่ตำบลจักรวรรดิ อำเภอสัมพันธวงศ์
ชื่อ "ก้วงโกหลง" (2444) และทำสัมปทานป่าไม้อยู่แถวจังหวัดนครสวรรค์
กับแพร่"
หนังสือ "ดั่งสายลมที่พัดผ่าน" ของคุณหญิงชัชนี จาติกวณิช สมาชิกคนสำคัญในรุ่นที่
4 ของตระกูลล่ำซำ กล่าวถึงต้นตระกูลล่ำซำเอาไว้
ในช่วงเวลานั้น (2480-2475) สัมปทานไม้สัก กิจการโรงเลื่อยและการส่งออกไม้สักถูกครอบงำโดยกิจการจากยุโรปทั้งสิ้น
อาทิ The Bombay Burmah, Borneo, East Asiatic Louis T.Leonowens Anglo-Siam
ขณะพ่อค้าชาวจีนโพ้นทะเลเป็นพียงรายเล็กๆ อยู่ภายใต้การครอบงำของฝรั่งโดยตรงและโดยอ้อม
อิทธิพลของฝรั่งต่อเนื่องยาวนานแม้ว่า จะเผชิญวิกฤติการณ์เศรษฐกิจก็ยังคงอยู่จนถึงการเปลี่ยนการปกครองของไทยปี
2475
นับเป็นครั้งแรกของล่ำซำเรียนรู้ "ความรู้" จากฝรั่ง ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีของเครื่องจักรในกิจการโรงเลื่อย
และการค้าขายไม้ภายใต้การครอบงำของฝรั่ง
อึ้งยุกหลง (2422-2482) คือผู้นำรุ่นที่ 2 ของล่ำซำในไทย ได้หันเหมาสู่การค้าข้าว
โดยมีเครือข่ายกว้างขวาง จีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง สิงคโปร์ จนถึงอังกฤษ
การค้าข้าวของชาวจีนสามารถต่อกรกับชาวยุโรปได้มากกว่าการค้าไม้สัก โดยอาศัยเครือข่ายการค้าย่านเอเชียเป็นหลัก
ซึ่งถือเป็นข้อได้เปรียบของชาวจีนโพ้นทะเล รวมทั้งการลงทุนเครื่องจักรสำหรับโรงสีไม่สูงมากนัก
2479 ก่อตั้งล็อกซเล่ย์ไรซ์
หุ้นส่วน W.R. Loxley แห่งลอนดอน (แอนดรูว์ บีตตี้) สำนักงานฮ่องกงจะนำเข้าไม้สักจากประเทศไทย
ได้รับการแนะนำให้รู้จักอึ้งยุกหลง แห่งห้างก้วงโกหลง โดยธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้
คาดกันว่าหลังปี 2456
ความสัมพันธ์ระหว่างล่ำซำกับบีตตี้ดำเนินไปด้วยดี จุลินทร์ ล่ำซำ บุตรชายคนที่
2 ของอึ้งยุกหลง ก็เดินทางไปฝึกงานที่ W.R. Loxley ที่ลอนดอนและวิลเลียม
บีตตี้ก็มาเมืองไทยบ่อยๆ วิลเลียมนี่เองมีส่วนสำคัญในการรวมกิจการระหว่าง
Loxley กับก้วงโกหลง เข้าด้วยกันใช้ชื่อว่า Loxley Rice เมื่อปี 2479 ต่อมาแยกกิจการระหว่างลอนดอนกับกรุงเทพฯ
จึงเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ล็อกซเล่ย์ไรซ์ (กรุงเทพฯ) โดยถือหุ้นฝ่ายละ 50%
โดยบีตตี้เป็นผู้จัดการ
นี่คือประวัติศาสตร์อีกตอนหนึ่งของ "ล่ำซำ" ในการยอมเป็นเครือข่ายของฝรั่งเพื่อสร้างความมั่งคั่งของตนเองขึ้นมา
ด้วยการรวมกิจการไทยกับฝรั่งครั้งแรกๆ ในประเทศไทยก็ว่าได้ โดยใช้ชื่อฝรั่งเพื่อประโยชน์ของการค้าขาย
ที่กว้างขึ้นจากย่านพี่น้องชาวจีนโพ้นทะเลไปสู่ตลาดยุโรป และยอมรับให้ตระกูลบีตตี้บริหารกิจการภายใต้มาตรการของยุโรปอย่างเต็มที่
ตระกูลล่ำซำได้แสดงให้หุ้นส่วนชาวยุโรปเข้าใจ "บุญคุณน้ำมิตร"
อันผูกพันกันมายาวนานถึง 40 ปีเต็มในเวลาต่อมา
2475 เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบอบรัฐธรรมนูญโดยคณะราษฎร มาพร้อมกับแนวคิดชาตินิยมสกัดกั้นอิทธิพลทางเศรษฐกิจของชาวจีนและฝรั่ง
โดยตั้งกิจการของรัฐคุมธุรกิจการค้าส่วนใหญ่ไว้
บริษัทข้าวไทยกำเนิดขึ้น (2481) ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง อันเป็นข้อต่อการเปลี่ยนการส่งออกข้าวแต่เดิมอยู่ในมือของเอกชน
มาอยู่ในอำนาจเด็ดขาดของรัฐ โดยอ้างความจำเป็นของสถานการณ์ที่ไทยจะต้องขายข้าวให้ญี่ปุ่นซึ่งเป็นตลาดใหญ่มาก
ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างร้ายแรง แต่ชาวจีนในไทยซึ่งคุมการค้าข้าวแอนตี้ญี่ปุ่น
บริษัทข้าวไทยที่ดำเนินการผูกขาดค้าข้าวตั้งแต่เดิมเป็นของคนจีน และส่วนหนึ่งเป็นของชาวยุโรปที่ถอนตัวออกไปเมื่อสงครามระเบิดขึ้น
ขณะเดียวกันตั้งบริษัทไทยนิยมพาณิชย์ในปี 2482 ผูกขาดการค้าสินค้าอุปโภคบริโภคมีเครือข่ายทั่วประเทศ
โดยมีจุลินทร์ ล่ำซำ (2450-2508) ลูกชายคนที่สองของอึ้งยุกหลงเป็นผู้จัดการ
การรวมกิจการกับฝรั่งจึงถือเป็นยุทธศาสตร์จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ทำให้ล่ำซำมีข้อจำกัดน้อยกว่าชาวจีนโพ้นทะเลทั่วไป
ขณะเดียวกันเขาก็ยังใช้กลยุทธ์เดียวกับชาวจีนด้วยการเข้าหาผู้มีอำนาจ โดยอาศัยความรู้ด้านการค้าเพื่อแสวงหาประโยชน์
จากอำนาจทางการเมืองที่ต้องการควบคุมการค้าไว้ในกำมือ
โมเดลธุรกิจแบบนี้จึงเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับยุคสมัยนั้นอย่างยิ่ง ที่สำคัญทำให้ล่ำซำดำรงอยู่ได้ในภาวะไม่ปกติ
อึ้งยุกหลง เสียชีวิตด้วยการถูกฆาตกรรมในปี 2482 โชติ ล่ำซำ (2447-2494)
ลูกชายคนโต ดูแลกิจการต่อไป
เมื่อญี่ปุ่นบุกไทย ชาวยุโรปในประเทศต้องหลบหนีออกนอกประเทศ
กันจ้าละหวั่น รวมทั้งหุ้นส่วนของ Loxley ด้วย
"เมื่อพ.ศ.2484 ปีที่อีเอ็มน้องชายวิลเลียม เข้ามาสมทบกับพี่ชายของเขา
แล้วต้องหนีภัยสงครามโลกครั้งที่สองทั้งคู่ ล็อกซเล่ย์ไรซ์ คัมปะนี กลับรอดพ้นมาด้วยความชาญฉลาดของผู้บริหาร
ที่ย้ายเงินสดส่วนใหญ่ไปไว้ที่สิงคโปร์ล่วงหน้า ทำให้ไม่ต้องขาดทุนย่อยยับจากการลดค่าเงินบาทของไทยโดยญี่ปุ่น"
"ทหารญี่ปุ่นได้กวาดต้อนชาวยุโรปเป็นแรงงานสร้างทางจากกาญจนบุรี มุ่งสู่พม่า"
นายเตี่ย (โชติ) กับคุณอาจุลินทร์ ท่านทราบว่าภัยนี้จะต้องมาถึงผู้ร่วมงานชาวอังกฤษของท่าน
จึงรีบหาทางนำทั้งสองลักลอบออกจากไทยไปโดยด่วน ด้วยการให้คนในโกดังพาลงเรือไปขึ้นท่าที่เมืองกาญจนบุรี
จากนั้นค่อยเดินทางไปออกที่พม่า หลังจากทั้งสองบีตตี้ไป นายเตี่ยก็เก็บทรัพย์สมบัติทั้งหมดของพวกเขาไว้
แล้วชะลอธุรกิจลง ค้าขายเล็กน้อยเฉพาะในประเทศ เพื่อเลี้ยงคนในบริษัทเท่านั้น
เรียกว่าแทบจะหยุดกิจการ 100% ทีเดียว"
"หลังสงครามเลิก แรกๆ เราต้องเผชิญปัญหาหนักหน่วง ไม่แพ้ช่วงสงคราม
สาเหตุแรก คือเราขาดทุนทรัพย์ในการฟื้นฟูกิจการ เพราะทรัพย์สินในสิงคโปร์ถูกอังกฤษยึดไว้หลายปี
เนื่องจากอังกฤษถือว่าไทยเป็นฝ่ายอักษะ เข้าร่วมกับญี่ปุ่น สาเหตุที่สอง
รัฐบาลไทยต้องการการผูกขาดการค้าและการส่งออกข้าวในนามบริษัทข้าวไทย จำกัด
ล็อกซเล่ย์ไรซ์ คัมปะนี กับเอกชนรายอื่นถูกกีดกันออกไป" (จากหนังสือ
"ดั่งสายลมที่พัดผ่าน")
หลังสงครามตระกูลบีตตี้ก็กลับมาบริหารงาน Loxley อีกครั้งหนึ่ง
จากนั้น Loxley ก็เติบโตอย่างก้าวกระโดดอีกครั้ง ในการส่งออกสินค้าเกษตรและนำเข้าสินค้าอุตสาหกรรมจากยุโรปมากขึ้น
ตามยุคสมัยของการเปิดประเทศ และมีการลงทุนจากต่างประเทศมากมายตั้งแต่รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์
ธนะรัชต์ เป็นต้นมา
2518 ชัชนี จาติกวณิช ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานและกรรมการผู้จัดการบริษัท
ซึ่งนับว่าเป็นครั้งแรกที่คนไทยบริหารอย่างแท้จริงพร้อมกับที่ตระกูลล่ำซำ
ได้กลายเป็นผู้ถือหุ้นข้างมากของล็อกซเล่ย์ด้วย
"ภายหลังซีพี บีตตี้ เกษียณและจากล็อกซเล่ย์ไปใช้ชีวิตบั้นปลายที่โมร็อกโกกับภรรยา
ดิฉันก้าวสู่ตำแหน่งประธานกรรมการ ควบกรรมการผู้จัดการ จึงได้ถือโอกาสทำดังใจปรารถนาไว้
นั่นคือปลดฝรั่งออก คนไหนหมดสัญญาก็ไม่ต่อ คนไหนทำงานไม่ดีก็ให้ออกไป เพียงไม่กี่ปีคนไทยรุ่นใหม่ๆ
ก็เข้ามาแทนที่ฝรั่ง" (ชัชนี จาติกวณิช)
2488 ธนาคารกสิกรไทย
ความจริงธนาคารของตระกูลล่ำซำเคยเกิดครั้งแรกในปี 2475
อึ้งยุกหลง ก่อตั้งบริษัทกวางอันหลงประกันภัยและธนาคารก้วงโกหลงขึ้น กิจการประกันภัยทำหน้าที่ดูแลและป้องกันวินาศภัยของการขนส่งสินค้า
ส่วนธนาคารเป็นเพียงร้านแลกเปลี่ยนเงินตราเพื่อสะดวกในการโอนเงินระหว่างประเทศ
ต่อมาธนาคารต้องปิดตัวลงเพราะนโยบายของคณะราษฎร ส่วนกิจการประกันภัยก็พัฒนาเปลี่ยนเป็นล่ำซำประกันภัยในเวลาต่อมา
"บริษัทประกันภัยของตระกูล
ล่ำซำ นั่นคือบริษัทล่ำซำประกันภัยและคลังสินค้า อยู่ในสภาพขาดทุนมีภาระหนี้สินต่อเนื่อง
ซึ่งทางครอบครัวมีความ เห็นว่าสมควรจะปิดตัวลง เพราะมีบริษัทเมืองไทยประกันชีวิต
(ก่อตั้งปี 2496 โดยจุลินทร์ ล่ำซำ) อยู่แล้ว แต่บัญชาไม่เห็นด้วย และได้ขอร้องผู้ใหญ่ขอให้มีโอกาสได้แก้ไขปัญหาของบริษัท
เพื่อให้บริษัทดำเนินการต่อไปได้ ในช่วงก่อนพ.ศ.2500 บริษัทมีสภาพหนี้กว่าสองล้านบาท
นับว่าเป็นจำนวนมากในสมัยนั้น บัญชาได้เสนอขอความเห็นชอบที่จะกอบกู้บริษัทโดยขอเงินทุนในการนี้
400,000 บาท" (จากหนังสือพระราชทานเพลิงศพ บัญชา ล่ำซำ 2535)
ด้วยความพยายามของบัญชา ล่ำซำ (2467-2535) บุตรชายคนโตของโชติ ล่ำซำ ซึ่งขณะนั้นบริหารเมืองไทยประกันชีวิต
ก็แก้ไขปัญหากิจการสำเร็จ มีกำไรและเข้าตลาดทรัพย์ฯ ในเวลาต่อมา ซึ่งเป็นผลงานที่เขาภาคภูมิใจมากที่ไม่ทำให้บริษัท
"ล่ำซำ" ต้องปิดกิจการไป ต่อมาบริษัทก็เปลี่ยนชื่อเป็นภัทรประกันภัย
แนวคิดสำคัญของบัญชาในการบริหารเมืองไทยประกันชีวิต และแก้ไขวิกฤติล่ำซำประกันภัยก็คือการใช้มาตร-ฐานการบริหารแบบฝรั่ง
พร้อมๆ กับการใช้เครือข่ายของกิจการประกันต่างประเทศให้เป็นประโยชน์ เช่น
ริเริ่มการประกันต่อ (reinsurance) ให้กับล่ำซำประภันภัยไปยังกิจการประกันภัยในต่างประเทศ
ซึ่งเป็นการลดความเสี่ยงของธุรกิจ เป็นหนึ่งในแผนฟื้นฟูกิจการ
ธนาคารกสิกรไทยก่อตั้งขึ้นในปี 2488 โดยโชติ ล่ำซำ เป็นกรรมการผู้จัดการอยู่เพียง
3 ปี (2488-2491 ก็เสียชีวิต จากนั้นเกษม ล่ำซำ ก็เข้าดำรงตำแหน่งแทน (2491-2505)
จนประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตจากเครื่องบินตก
ขยายตัว
2505 บัญชา ล่ำซำ เข้าดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ นับเป็นช่วง ของการขยายตัวของธนาคารอย่างมาก
เพิ่มทุนครั้งแรกในรอบ 16 ปี ตั้งแต่ตั้งกิจการจาก 5 ล้านบาทเป็น 20 ล้านบาท
(2505) จนถึงการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (2518) ซึ่งมีทุนจดทะเบียนถึง
300 ล้านบาทแล้ว
2508 เริ่มต้นขยายสาขาอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว บางปีขยายสาขาถึง 26 สาขา
จนปี 2519 มีจำนวนสาขามากเป็นอันดับ 2 ของทุกธนาคารในประเทศไทย
2510 เปิดสาขาต่างประเทศที่ลอนดอน สหราชอาณาจักร ตามมาด้วยแฮมเบิร์ก และนิวยอร์ก
ร่วมทุนฝรั่ง
จากกรณีบริษัทประกันภัยและประกันชีวิตที่พยายามใช้ "ความรู้"
และ "เครือข่าย" จากฝรั่งอย่างต่อเนื่องจากรุ่น 2 สู่รุ่น 3 ของล่ำซำนั้นเป็นพัฒนาการที่ต่อเนื่องมาถึงผู้นำรุ่นที่
4 (บัญชา ล่ำซำ) ในฐานะผู้ผ่านการศึกษาจากสหรัฐฯ
ในช่วงที่เศรษฐกิจไทยต้อนรับการลงทุนจากต่างประเทศ นักลงทุนจากซีกตะวันตก
ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความสัมพันธ์กับตระกูลล่ำซำมากที่สุด โดยเฉพาะธนาคารกสิกรไทย
แม้จะถือตามกฎหมายได้เพียง 10% แต่ก็คือลูกค้าสำคัญกลุ่มใหม่ที่ดีของธนาคารกสิกรไทยในเวลาต่อมา
Firestone (2505), Dole (2509), Armitage Shanks (2512), Castrol (2515)
คือตัวอย่างกิจการตะวันตกที่เข้ามาลงทุนโดยตรง เพื่อผลิตสินค้าทดแทนการนำเข้าในยุคการส่งเสริมการลงทุนของต่างชาติ
ที่เข้าร่วมทุนกับธนาคารกสิกรไทยและตระกูลล่ำซำ
2512 ร่วมทุนกับ Banker Trust แห่งสหรัฐฯ ก่อตั้งกิจการบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ขึ้นในประเทศไทย
ความภูมิใจเรื่องนี้ของบัญชา ล่ำซำ ไม่ใช่อยู่ที่การสร้างเครือข่ายการเงิน
หากอยู่ที่การร่วมสร้างองค์กรธุรกิจที่มีคุณภาพเกิดขึ้น และเป็นต้นแบบให้ตระกูลล่ำซำ
ในการสร้างบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ภัทรธนกิจใน 3 ปีต่อมา
สายสัมพันธ์ทางธุรกิจกับฝรั่งนี้กลายเป็นบุคลิกพิเศษของตระกูลล่ำซำยุคใหม่เสมอมา
จากการครอบงำ การต่อสู้ การใช้ความรู้ให้เป็นประโยชน์ อาศัยเครือข่ายธุรกิจที่กว้างขวาง
สร้างให้กลุ่มธุรกิจเก่าแก่นี้เจริญเติบโตและรักษาความมั่นคงเอาไว้ในช่วงเกือบๆ
100 ปีที่ผ่านมานั้น ที่สำคัญที่สุด และแตกต่างจากกลุ่มธุรกิจในลักษณะครอบครัวทั่วไป
ก็คือ ตระกูลล่ำซำเรียนรู้การใช้มาตรฐานฝรั่งในการจัดการ แม้จะเริ่มจากสภาพจำยอม
แต่ในที่สุดพวกเขาก็ได้ประโยชน์ ตรงที่เป็นองค์กรธุรกิจที่มีการบริหารที่ดี
มีประสิทธิภาพ
สุดท้าย ก็คือเครือข่ายของธุรกิจครอบครัว ที่ขยายความสัมพันธ์ทางธุรกิจแบบซับซ้อน
จนยากจะแยกกันออกระหว่างธุรกิจกับการใช้เงินในครอบครัวของชาวเอเชียนั้น จึงไม่ใคร่จะเป็นบุคลิกหรือโมเดลธุรกิจของตระกูลล่ำซำ