|

วัดมาตรฐาน"จีอี"สร้าง"แบงก์กรุงศรีฯ"จุดสตาร์ทสงครามการเงินเพิ่งเริ่มต้น
ผู้จัดการรายสัปดาห์(6 สิงหาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
ถือเป็นช่วงรอยต่อของการผสมผสาน 2 แผ่นดิน ระหว่าง"จีอี แคปปิตอล" และ "แบงก์กรุงศรีฯ" ให้เป็นปึกแผ่นหนึ่งเดียว ด้วยการกำจัดจุดอ่อน เสริมจุดแข็งที่นำไปสู่การสร้างฐานรากความมั่นคง ก่อนประกาศความพรั่งพร้อมในแสยานุภาพและกำลังพลที่พร้อมสู้ศึกในสนามรบธุรกิจการเงินอย่างแท้จริง
เพราะ "จีอี" เป็นแบงก์ต่างชาติที่เข้ามาดำเนินธุรกิจในไทยเป็นเวลานาน จึงรู้ตื้นลึกหนาบางของวงการการเงินนี้เป็นอย่างดีว่ากำลังตกอยู่ในสถานการณ์ไหน ทำให้รู้วิธีเดินแผนการปฏิบัติตัวได้ถูกกาลเวลา และเรื่องนี้น่าจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ "จีอี"ไม่ใช้กลยุทธ์เชิงรุกในทันทีที่รับ"แบงก์กรุงศรีฯ"เข้ามาอ้อมกอด แต่เลือกที่จะสร้างฐานที่แข็งแกร่งให้แบงก์แห่งนี้ก่อน
ธุรกิจการเงินได้เข้าสู่ยุคของการปรับตัวครั้งใหญ่ เพื่อรับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยน การไร้ซึ่งพรมแดนขวางกันนำมาสู่การเคลื่อนย้ายทุนจำนวนมหาศาลอย่างเป็นอิสระ อันหมายถึงเมื่อทุนมากมายไหลบ่าเข้ามาสู่ธุรกิจการเงิน แบงก์คือหนึ่งในหลายผู้ประกอบการที่จะได้รับผลกระทบอย่างแรงหากไม่มีรากฐานที่มั่นคง...
ซึ่งเมื่อเวลานั้นได้เข้ามาเยือนอย่างแท้จริง...แบงก์ที่อ่อนแอย่อมถูกกลืนกินไปโดยปริยาย...ไม่ต่างจากกฎธรรมชาติ...ที่ปลาใหญ่ไล่กินปลาเล็ก
จริงอยู่ที่ "แบงก์กรุงศรีฯ" ในความดูแลของ "จีอี แคปปิตอล" คงถูกกลืนกินไม่ได้ง่ายๆ เพราะทุนทางฝาก "จีอี"ที่มีมหาศาล สามารถหนุน"แบงก์กรุงศรีฯ"ได้ไม่ยาก
แต่ถึงกระนั้น "จีอี แคปปิตอล" ก็อยากให้"แบงก์กรุงศรีฯ" มีภาพสวยงามโดยเฉพาะด้านความมั่นคงแข็งแรง ซึ่งนักวิเคราะห์ มองว่าจะไปได้สวยในครึ่งปีหลัง
นั่นเพราะ ผู้ถือหุ้นใหญ่อย่างจีอี ต้องการแก้ปัญหาคุณภาพสินทรัพย์ ถึงกับยอมแลกด้วยผลการดำเนินงานที่ขาดทุนถึง 7,600 ล้านบาทในครึ่งปีแรก โดยนำเงินไปตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญของแบงก์ให้อยู่ในระดับเดียวกับ ค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่ 60% งานนี้ "กรุงศรีฯ" ใช้เงินถึง 11,500 ล้านบาท
ส่งผลให้อัตราส่วนสำรองหนี้ต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ เพิ่มขึ้นจาก 46% ในสิ้นปี 2549 มาอยู่ที่ 56.52% สินเชื่อด้อยคุณภาพ (เอ็นพีแอล)เพิ่ม 5.7 หมื่นล้านบาท คิดเป็น12.6% ของสินเชื่อรวม หรือเพิ่มขึ้น 1.1 หมื่นล้านบาทเมื่อเทียบกับไตรมาสแรกปีนี้ที่มียอดเอ็นพีแอลอยู่ประมาณ 4.6 หมื่นล้านบาท หรือราว 9.9% ของสินเชื่อรวม แต่การตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญหนนี้ นักวิเคราะห์กับมองว่าเป็นผลดีต่อตัว"แบงก์กรุงศรีฯ" เพราะเป็นการแสดงจุดยืนที่ชัดเจนของผู้ถือหุ้นใหญ่ว่าไม่ต้องการให้แบงก์แห่งนี้มีภาระกันสำรองหนี้เพิ่มอีก ดังนั้น ณ เวลานี้ แบงก์แห่งนี้ได้หมดภาระเรื่องกันสำรองแล้ว และในทางเดียวกันยังมองเห็นผลกำไรที่จะเกิดขึ้นในปี 2551อีกด้วย
ตัน คอง คูน กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แบงก์กรุงศรีฯ บอกว่า ช่วง 6 เดือนตั้งแต่เข้ามาบริหาร ก็มีเป้าหมายที่จะทำให้โครงสร้างพื้นฐานของแบงก์แห่งนี้แข็งแกร่งรองรับการเติบโตในอนาคต ดังนั้นจึงตัดสินใจตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญให้ครบทั้งจำนวนตามเกณฑ์ IAS 39 ทันทีก่อนที่จะถึงกำหนด
"รวมถึงการลงทุนในเทคโนโลยีสารสนเทศ เพิ่มการฝึกอบรมพนักงาน ลดขั้นตอนการปฏิบัติงานให้กระชับเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงาน ดังนั้นหลังจากพ้นไตรมาส 2 ขึ้นไตรมาส 3 ภาพลักษณ์และผลงานก็จะเริ่มเห็นเป็นที่ประจักษ์ชัดขึ้นว่า เรากำลังวิ่งไปข้างหน้า และไปในทิศทางที่ดีขึ้น เพียงแต่ตอนนี้ที่เห็นว่าเราขาดทุน เพราะเราอยู่ระหว่างการสร้างความแข็งแกร่งให้องค์กร"
ตัน ยังบอกด้วยว่า ที่ผ่านมา เป็นช่วงแห่งการผสมผสานกันจุดอ่อน จุดแข็ง แต่หลังจากนี้ไปคือช่วงของการวิ่งไปข้างหน้า โดยเน้นให้ลูกค้าเป็นจุดศูนย์กลางของการให้บริการจากธนาคาร ตั้งแต่ลูกค้าขนาดใหญ่อย่างองค์กรต่าง ๆ ขนาดกลางและย่อม เช่น เอสเอ็มอี ลูกค้าระดับย่อยรายบุคคล รวมถึงลูกค้าที่มาจากกลุ่มพันธมิตร กลุ่มต่าง ๆ นี้ แบงก์จะมุ่งเน้นกระจายบริการให้ได้อย่างทั่วถึง
สำหรับ "แบงก์กรุงศรีฯ" ที่มี "จีอี แคปปิตอล" เป็นพี่เลี้ยงดูแล นับว่าไม่ใช่เรื่องยากที่จะทำ เพราะด้วยเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญในธุรกิจการเงินที่มีมายาวนานน่าจะทำให้ แบงก์แห่งนี้วิ่งไปข้างหน้าได้เร็วขึ้นหลังจากที่สร้างฐานขององค์กรได้มั่นคง
" ไม่ว่าจะเรื่องการนำกรรมวิธีบริหารความเสี่ยงมาใช้ โปรแกรมอบรมพนักงานซึ่งถือเป็นทรัพย์สินที่มีค่ายิ่งของบริษัท ผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ซึ่งเป็นสิ่งที่ จีอี แคปปิตอล มีพร้อม และจะนำมาใช้เพิ่มศักยภาพ รวมถึงประสิทธิภาพให้แบงก์กรุงศรีฯ"
อาจกล่าวได้ว่าจุดสตาร์ทการแข่งขันทางการเงินที่แท้จริงของ"แบงก์กรุงศรีฯ"ภายใต้อำนาจบริหารโดย"จีอี แคปปิตอล" กำลังเริ่มอย่างต้นอย่างจริงจังนับแต่นี้
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|