|
มิตซูฯเร่งปรับกลยุทธ์หวังขยับขึ้นเบอร์3
ผู้จัดการรายวัน(6 สิงหาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
ค่าย "มิตซูบิชิ" ไม่ยอมตกขบวน "อีโคคาร์" ประกาศยื่นลงทุนภายในเดือนพฤศจิกายนปีนี้แน่นอน แต่มีติงเงื่อนไขเงินลงทุน และจำนวนการผลิต อ้างปิกอัพไม่กำหนดยังเป็นฐานผลิต และส่งออกทั่วโลกได้ ขณะที่สถานการณ์ตลาดในประเทศ นายใหม่ "มิจิโร่ อิมาอิ" เร่งแก้ความสัมพันธ์ลูกค้า และตัวโปรดักซ์ หวังขยับขึ้นเป็นเบอร์ 3 ตลาดรถไทย
นายมิจิโร่ อิมาอิ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมามิตซูบิชิมียอดขายลดลงมา โดยปัจจบันมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่อันดับ 4 รวมถึงภาพลักษณ์ตราสินค้า หรือแบรนด์อิมเมจในใจของลูกค้าลดน้อยลง ฉะนั้นภารกิจแรกในการเข้ามารับตำแหน่งกรรการผู้จัดการใหญ่ สิ่งสำคัญที่จะต้องเร่งแก้ใจจึงเป็นเรื่องเหล่านี้
"ยอมรับว่าที่ผ่านมามิตซูบิชิเข้าถึงลูกค้าได้น้อยมาก เพราะไม่ได้นำเอามุมมอง หรือความต้องการองลูกค้ามาดำเนินการอย่างจริงจัง และเมื่อผมเข้ามาดูแลมิตซูบิชิในไทย จะต้องนำเรื่องนี้มาแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยคาดหวังว่าจะผลักดันให้มิตซูบิชิก้าวขึ้นมาอยู่อันดับ 3 แต่มียอดขายใกล้เคียงกับอันดับ 2 ของตลาดรถยนต์ไทย"
ส่วนการดำเนินงานเมื่อทราบว่าปัญหาอยู่ที่การเข้าถึงลูกค้าน้อยไป แน่นอนผู้ที่จะเข้าถึงลูกค้าได้ดีที่สุดย่อมเป็นตัวแทนจำหน่าย หรือดีลเลอร์ ฉะนั้นมิตซูบิชิจะต้องลงไปสนับสนุน และทำงานร่วมกับดีลเลอร์อย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมส่งเสริมการขาย หรือแคมเปญ ซึ่งเมื่อดีลเลอร์สามารถเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น จะทำให้การเข้าถึงแบรนด์สินค้า และผลักดันยอดขายของมิตซูบิชิให้ดีขึ้น
นายอิมาอิกล่าวว่า ในการสนองตอบและเข้าถึงลูกค้า ผลิตภัณฑ์เป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก ที่ผ่านมาลูกค้าส่วนใหญ่จะตอบรับรู้จักรถยนต์มิตซูบิชิเพียงแค่ปิกอัพ ทั้งที่มีรถหลากหลายประเภท เหตุนี้ต้องมาดูว่าจะทำอย่างไร ที่จะทำให้สินค้ารุ่นอื่นๆ ของมิตซูบิชิ เข้าถึงลูกค้าได้เช่นเดียวกับปิกอัพ
"ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่มิตซูบิชิประเทศไทยเพียงแห่งเดียว เพราะหลายปีที่ผ่านมายอมรับว่า ไม่มีได้ผลิตภัณฑ์ใหม่สู่ตลาดมากนัก เนื่องบริษัทแม่มิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น ประสบปัญหาในการฟื้นฟูกิจการ แต่หลังจากนี้ทุกอย่างเริ่มคลี่คลาย จะมีสินค้าใหม่ๆ แนะนำสู่ตลาดมากขึ้น เช่นเดียวกับประเทศไทยในช่วงไตรมาสสามของปีหน้า จะมีการแนะนำรถยนต์อเนกประสงค์แบบพีพีวีรุ่นใหม่สู่ตลาด ซึ่งจะมาแทนรุ่นจี-แวกอนที่หยุดทำตลาดไป"
ไม่เพียงเท่านั้นในรุ่นอื่นๆ ถึงจะยังไม่มีนิวโมเดลออกมา แต่ก็จะนำรุ่นที่มีมาปรับโฉมใหม่ หรือแต่งเป็นรุ่นพิเศษออกสู่ตลาด เพียงแต่ขณะนี้ยังไม่สามารถบอกรายละเอียดได้ เช่นเดียวกับโฉมใหม่ของมิตซูบิชิ แลนเซอร์ ที่จะเปิดตัวสู่ตลาดญี่ปุ่นในช่วงปลายไตรมาสสามปีนี้ แต่ในส่วนเมืองไทยยังไม่สามารถระบุเวลาได้ เพราะมีความเกี่ยวเนื่องกับการขึ้นไลน์ประกอบ และมิตซูบิชิไม่ได้ผลิตป้อนเฉพาะตลาดไทย ต้องมองภาพรวมทั้งอาเซียน ดังนั้นจึงต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่งในการเตรียมการ
นายอิมาอิกล่าว อย่างไรก็ตามมิตซูบิชิได้มีการปรับแผนการดำเนินงานมาได้ระยะหนึ่งแล้ว ทำให้สถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้น ดังจะเห็นได้จากยอดขายของมิตซูบิชิช่วงไตรมาสแรกปีงบประมาณ ระหว่างเดือนเมษายน-มิถุนายน ที่มียอดขาย 6,600 คัน หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีงบประมาณที่แล้วมา ลดลงพียงเล็กน้อยเท่านั้น ขณะที่ตลาดรวมตกลง 6.5% แต่ส่วนแบ่งการตลาด หรือแชร์ของมิตซูบิชิ หากเทียบกับปีที่แล้ว 4.3% ไตรมาสแรกปีงบประมาณปีนี้ ถือว่ามีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 4.5%
"โตโยต้า และอีซูซุมีแบรนด์สินค้าที่แข็งแกร่งมาก สองยี่ห้อมีแชร์รวมกันมากกว่า 70% ยิ่งสถานการณ์ตลาดรถยนต์ไทยประสบปัญหาเศรษฐกิจไทยชะลอตัว และการเมืองผันผวนเช่นนี้ ทำให้คาดว่าตลาดรถยนต์ไทยปีนี้น่าจะไม่เกิน 6 แสนคัน เหตุนี้จึงเป็นไปได้ยากที่มิตซูบิชิจะเติบโตแบบก้าวกระโดด แต่เราจะเพิ่มส่วนแบ่งแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยมีเป้าหมายขยับขึ้นเป็นอันดับ 3 รองจากโตโยต้าและอีซูซุ"
นายอิมาอิกล่าวว่า สำหรับโครงการอีโคคาร์มิตซูบิชิกำลังดำเนินการอยู่ ในการพิจารณาเงื่อนไขต่างๆ ที่รัฐบาลไทยกำหนด เพื่อทำรายละเอียดยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ ให้ทันภายในเดือนพฤศจิกายนปลายปีนี้ เพียงแต่ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่องจำนวนเงินลงทุน และปริมาณการผลิตว่าจะเป็นเท่าไหร่
"สิ่งที่เป็นปัญหาสำหรับเราอยู่ที่เงื่อนไขของการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจำนวนเงินลงทุนขั้นต่ำ 5,000 ล้านบาท และจำนวนการผลิตในปีที่ 5 จะต้องไม่ต่ำกว่า 1 แสนคันต่อปี ซึ่งจริงๆ แล้วเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาด ทั้งภายในและต่างประเทศ และหากดูการสนับสนุนปิกอัพของรัฐบาลไทยที่ผ่านมา จะเห็นว่าไม่ได้มีข้อกำหนดเหล่านี้ แต่ปัจจุบันปิกอัพไทยกลายเป็นฐานผลิตสำคัญ และมีการส่งออกไปทั่วโลก"
สำหรับเรื่องผลิตภัณฑ์ของมิตซูบิชิที่เข้าเงื่อนไขอีโคคาร์ มีหลายรุ่นอย่างรถขนาดเล็ก 600 ซีซี เช่นรุ่น "ไอ" ที่สามารถนำมาปรับให้สอดคล้องกับอีโคคาร์ หรือรุ่น "โคลต์" ก็น่าจะทำได้ เพียงแต่อาจจะลำบากหน่อย แต่เรื่องของผลิตภัณฑ์ไม่น่าจะใช่ปัญหาในการเข้าร่วมโครงการอีโคคาร์ของมิตซูบิชิ คงอยู่ที่เรื่องเงินลงทุนและจำนวนการผลิต แต่ยังไงมิตซูบิชิจะยื่นร่วมโครงการอีโคคาร์ ให้ทันภายในเดือนพฤศจิกายนปีนี้ ตามกรอบกำหนดของรัฐบาลไทยแน่นอน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|