พิษค่าบาทลามตลาดหุ้น จับตา10บริษัทเสี่ยงปิดตัว


ผู้จัดการรายวัน(3 สิงหาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

ตลาดหลักทรัพย์ฯ จับตา 10 บริษัทจดทะเบียนสุ่มเสี่ยงเดินตามรอยบริษัทในเครือบริษัทสหยูเนี่ยน เผยได้รับผลกระทบจากพิษค่าเงินบาท-การแข่งขันที่รุนแรงขึ้น นักวิเคราะห์ห่วงทนพิษไม่ไหวจ่อปิดตัวอีกเพียบ ขณะที่ภาครัฐ “จักรมณฑ์” มั่นใจกรณีโรงงานทยอยปิดกิจการไม่ล้มเป็นโดมิโนแน่ ชี้จะจำกัดวงเฉพาะอุตสาหกรรมที่เน้นแรงงานค่าจ้างต่ำและการรับจ้างผลิต “โฆสิต” ระบุปัญหาขาดแคลนแรงงานใหญ่สุด ยอมรับจ่อคิวปิดอีกเยอะ บางส่วนย้ายไปลาวแล้ว “ศุภวุฒิ สายเชื้อ” จี้รัฐเร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ

นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) เปิดเผยว่า ตลท.ติดตามการเคลื่อนไหวและผลกระทบของบริษัทจดทะเบียนหลายแห่งอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะบริษัทในกลุ่มธุรกิจสิ่งทอและธุรกิจรองเท้าที่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นและการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นเนื่องจากคู่แข่งจากประเทศจีน เวียดนามได้เปรียบในเรื่องต้นทุนการผลิต โดยปัจจุบันมีบริษัทในกลุ่มดังกล่าวประมาณ 10 บริษัท ขณะที่ในกลุ่มที่มีความเกี่ยวข้อง คือกลุ่มแฟชั่นอีก 27 บริษัท

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาสมาคมบริษัทจดทะเบียนได้มีการประสานงานกับบริษัทต่างๆที่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่ผันผวนเพื่อจะหาแนวทางในการช่วยเหลือ ขณะที่ตลท.ก็เข้าไปช่วยในเรื่องการให้การสนับสนุนด้านการระดมทุน

อย่างไรก็ตาม บริษัทต่างๆต้องปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาทที่ผันผวนซึ่งหากไม่ปรับตัวจะทำให้ได้รับผลกระทบมากขึ้น

"กรณีบริษัท ยูเนี่ยนฟุทแวร์ จำกัด (มหาชน) หรือ UF ที่จะปิดกิจการและได้แจ้งขอเพิกถอนหุ้นออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน นั้น ขณะนี้ได้มีการชี้แจงข้อมูลและปฏิบัติตามเกณฑ์ครบถ้วนแล้ว"นางภัทรียากล่าว

“โฆสิต”ชี้ขาดแคลนแรงงานปัญหาใหญ่

นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฐ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.อุตสาหกรรม กล่าวถึงการรับมือการปิดโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศหลังบริษัท ยูเนี่ยนฟุทแวร์ จำกัด (มหาชน) ประกาศปิดโรงงานว่า ได้รับทราบเหตุผลชัดเจนจากปัญหาการเปลี่ยนผ่านโครงสร้างทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามในวันที่ 6 ส.ค.นี้จะหยิบยกเรื่องนี้มาหารือกันในคณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจส่วนร่วม รวมทั้งในวันที่ 8 ส.ค.นี้จะเชิญคณะอนุกรรมการธุรกิจรายสาขาเข้าหารือเรื่องนี้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ในการให้ความช่วยเหลือในกรณีของบริษัท ยูเนี่ยนฟุทแวร์ จำกัด เชื่อว่าไม่มีปัญหามากนัก เพราะถือเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่ยืนยันจะช่วยเหลือคนงาน แต่เรื่องนี้จะต้องหารือกับคณะกรรมการทั้ง 2 ชุดล่วงหน้าทั้งเรื่องคนงานและการเปลี่ยนโครงสร้างที่จะหารือกับเจ้าหน้าที่กระทรวงอุตสาหกรรมว่าจะเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร แต่จะให้อยู่นิ่งคงไม่ได้

นายโฆสิต กล่าวว่า ปัญหาที่บริษัท ยูเนี่ยนฟุทแวร์ จำกัด ระบุถึงการขาดแคลนแรงงานที่เป็นในภาพรวม แต่หากมองในภาพสำคัญเมื่อมีอุตสาหกรรมที่มีปัญหานโยบายของบริษัทก็อาจจะปรับโครงสร้างไปทำอย่างอื่น ซึ่งจะต้องมีการประคับประคองทั้งจากภาครัฐและเอกชน

“ผลกระทบที่เกิดขึ้นขณะนี้คือ แรงงาน แต่ตราบใดภาพรวมที่พูดกันว่าแรงงานไม่พอ การดูแลคนก็น่าจะอยู่ในขอบเขตที่เราทำได้ ขณะนี้เมื่อคนไม่พอ ก็เป็นเรื่องหนึ่ง อย่างเมื่อเกิดกับกรณีของงานบริษัท ไทยศิลป์อิมพอร์ต เอ็กซ์พอร์ต จำกัด ก็ชัดเจนว่าความต้องการก็เข้ามาสวมได้ เมื่อเกิดกับสหยูเนี่ยน เขาก็รับได้ แต่โดยภาพรวมแรงงานขาดแคลนก็น่าจะจัดการได้ เพราะน่าจะเป็นปัญหาของความไม่ลงตัวของแรงงานมากกว่า”นายโฆสิตกล่าว

นายโฆสิต กล่าวต่อว่า ขณะนี้ทราบว่าอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานสูง เช่น สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม ร้องเท้า ฯลฯ หลายแห่งเข้าไปขยายงานในพื้นที่ต่างจังหวัดเป็นระยะ หรือลดงานในปริมณฑลเพื่อไปขยายงานในต่างจังหวัด เนื่องจากหาแรงงานในปริมณฑลไม่ได้ แต่ปัญหาแรงงานนี้เมื่อไปต่างจังหวัดก็กลับหาคนงานไม่ได้เช่นกัน จนยอมรับว่า การแก้ไขปัญหาแรงงานอย่างเป็นระบบนั้นทำได้ยาก เพราะมีทั้งขาดแคลนและเกินความจำเป็น ดังนั้นจึงจะต้องแก้ปัญหาโดยใช้การบริหารการจัดการ ซึ่งขณะนี้กระทรวงแรงงานกำลังดำเนินการทั้งทักษะและความต้องการของโรงงาน

“ยอมรับตามที่บริษัทเอกชนระบุว่า แรงงานขาดแคลนตั้งแต่ปี 2547 เพราะเขาก็ต้องการแรงงานจริง ๆ และเขาก็มีความลำบากจริง ๆกับการที่ไม่มีแรงงาน ดังนั้นจึงต้องมีการดูในเรื่องการเกลี่ยแรงงาน การฝึกฝนฝีมือแรงงานเพิ่มเติม หรือจัดหาแรงงานในกิจกรรมใหม่ ๆ ในชั่วอายุของแรงงาน แต่ภาพรวมยังมีความลำบากในเรื่องของแรงงาน”รองนายกฯกล่าวและว่า ในส่วนของบริษัทไทยที่ย้ายฐานไปต่างประเทศเพื่อหาแรงงานนั้น ยอมรับว่า ขณะนี้มีหลายแห่งย้ายฐานไปที่ประเทศลาวและเวียดนามบ้างแล้ว

ห่วงบริษัทปิดตัวอีกเพียบ

นายอดิศักดิ์ คำมูล ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) กล่าวว่า การที่ปัจจุบันอุตสาหกรรมขนาดเบา ระดับล่าง ซึ่งใช้แรงงานเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตเกิดประสบปัญหานั้น สาเหตุหลักไม่ได้เกิดมาจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น แต่เป็นผลต่อเนื่องจากการที่ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันกับประเทศอื่นมาเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี เพราะต้นทุนการผลิตที่สูงกว่า

ทั้งนี้ก่อนหน้านี้บริษัทในอุตสาหกรรมดังกล่าวขาดทุนต่อเนื่องอยู่แล้ว แต่หลังจากที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ทำให้ผลขาดทุนยิ่งเพิ่มขึ้น จนไม่สามารถบริหารได้จนต้องปิดกิจการในที่สุดคาดว่าหลังจากนี้น่าจะเกิดการปรับฐานของกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดเบา ระดับล่างครั้งใหญ่ โดยคาดการณ์ว่าหลังจากนี้จะมีบริษัทในอุตสาหกรรมดังกล่าว ต้องปิดกิจการลงจำนวนมาก

"ในส่วนอุตสาหกรรมขนาดเบา ระดับล่างของประเทศไทย ตายมานานแล้ว เราจึงควรเร่งส่งเสริมอุตสาหกรรมขนาดกลาง และเร่งพัฒนาทักษะความสามารถของแรงงานไทยให้มีประสิทธิภาพขึ้นจะดีกว่า"

นายกวี ชูกิจเกษม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.กสิกรไทย กล่าวว่า ผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นต่อภาคอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมที่น่าจะได้รับผลกระทบคือ ธุรกิจส่งออกสิ่งทอ และภาคเกษตร แต่ในส่วนของภาคเกษตรนั้น ได้รับผลดีจากราคาผลผลิตทางการเกษตรที่ปรับตัวขึ้น ทำให้สามารถทดแทนผลกระทบที่เกิดขึ้นจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นได้

"ในส่วนของผลกระทบมองว่าน่าจะเกิดเป็นรายตัวบริษัท มากกว่าทั้งอุตสาหกรรม โดยบริษัทที่จะย่ำแย่ เป็นเพราะมีต้นทุนที่สูง และที่ผ่านมายังไม่มีการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างจริงจัง มากกว่าผลจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น "

จับตาอาหาร-ยานยนต์

นางสาวศศิกร เจริญสุวรรณ ผู้อำนวยการอาวุโส บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) กล่าวว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในส่วนตัวมองว่าจะกระทบกับผู้ประกอบการที่ประกอบธุรกิจที่พึ่งพาการส่งออก โดยเฉพาะบริษัทที่มีการใช้วัตถุดิบภายในประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มอาหาร ยานยนต์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิก ขณะเดียวกันสินค้าประเภทอาหารส่งออกยังคงมีจุดเด่น และเป็นตลาดส่งออกที่ค่อนข้างใหญ่ ซึ่งยังคงมีคำสั่งซื้อเข้ามาได้

“สินค้าประเภทอาหารเป็นสิ่งที่ทุกคนจะต้องบริโภคซึ่งเราเชื่อว่าคงไม่กระทบมากนัก ขณะที่สินค้าประเภทสิ่งทอและรองเท้าเป็นสิ่งที่จะสั่งทำที่ไหนก็ได้ที่มีต้นทุนที่ถูกกว่าดังนั้นบริษัทกลุ่มดังกล่าวจึงได้รับผลกระทบจากการแข่งขันที่รุนแรง”

นายรณกฤต สารินวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล. แอ๊ดคินซัน กล่าวว่า จากสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น น่าจะส่งผลกระทบต่อบริษัทที่ทำธุรกิจส่งออกและรับรายได้เป็นสกุลเงินดอลลาร์ เช่นในกลุ่มธุรกิจสิ่งทอและเกษตรกรรม

เผย3อุตฯแนวโน้มส่อปิดตัวสูง

นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงได้ติดตามภาวะโรงงานอุตสาหกรรมใกล้ชิดเป็นพิเศษจากกรณีที่บาทแข็งค่าซึ่งล่าสุดพบว่าโรงงานเกี่ยวกับเกษตรแปรรูปจ.เชียงรายค่อนข้างมีปัญหาแต่ยังไม่ถึงขั้นปิดกิจการส่วนจังหวัดอื่นๆ ยังไม่ได้รับรายงาน อย่างไรก็ตามจากการศึกษากระทรวงอุตสาหกรรมได้ชี้ให้เห็นแนวโน้มมานานแล้วว่าอุตสาหกรรมที่เน้นใช้แรงงานสูงและค่าจ้างต่ำระยะยาวจะอยู่รอดลำบากโดยเฉพาะ อุตสาหกรรมรองเท้าและเสื้อผ้าสำเร็จรูป และแปรรูปอาหารบางประเภท อย่างไรก็ตามปัญหาการปิดกิจการที่เกิดขึ้นถือเป็นทิศทางที่ปกติและจำกัดวงเฉพาะอุตสาหกรรมที่เน้นค่าแรงต่ำจึงมั่นใจว่าจะไม่เกิดผลกระทบจนล้มเป็นระบบต่อเนื่องหรือโดมิโนแน่นอน

“รองเท้าที่เป็นประเภทไม่ซับซ้อนผลิตง่าย ๆเน้นแรงงานราคาถูก เสื้อผ้าสำเร็จรูป โรงงานอาหารแปรรูปที่ต้องอาศัยแรงงานจากพม่า เหล่านี้น่าเป็นห่วงโดยตัวของมันอยู่แล้วและมองแล้วว่าในที่สุดก็จะแข่งขับกับจีน เวียดนามไม่ได้ แต่บังเอิญที่เห็นว่ากระทบเร็วเพราะมีค่าเงินบาทแข็งมาผสมจากที่ลำพังต้นทุนค่าจ้างเองก็แย่แล้วพอมีบาทแข็งมากระทบเล็กน้อยจึงสู้ไม่ได้เลย ส่วนผ้าผืนเราเองยังส่งออกขยายตัวมาก”นายจักรมณฑ์กล่าว

ทั้งนี้กรณีที่ยูเนี่ยนฟุตแวร์ปิดโรงงานนั้นเข้าใจว่ามีปัญหาขาดทุนสะสมมาหลายปี ประกอบกับมีปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งปัญหาแรงงานทั้งหมดกระทรวงอุตสาหกรรมไม่ได้เป็นห่วงนักเพราะขณะนี้แรงงานของไทยค่อนข้างขาดแคลนอยู่พอสมควรหากมีการปิดกิจการที่ใดโอกาสหางานใหม่ไม่ยากนัก

ชี้รับจ้างผลิตต้องย้ายฐาน

นายคมสรรค์ วิจิตรวิกรม ประธานศูนย์บริการส่งออก โบ๊เบ๊ กล่าวว่า อุตสาหกรรมสิ่งทอต้องแยกออกเป็น 2 มิติคือผู้ผลิตที่รับจ้างผลิตหรือ OEM นั้นต้องยอมรับว่าจะถูกควบคุมโดยผู้สั่งออร์เดอร์เมื่อมีที่อื่นผลิตได้ถูกและคุณภาพทีไม่ต่างจากไทยก็ต้องทำใจว่าวันหนึ่งจะต้องย้ายฐานการลงทุนไปยังที่มีค่าจ้างต่ำกว่าก็คือเวียดนาม หรือกัมพูชา แต่ผู้ผลิตที่เป็นรายเล็กเพื่อขายหน้าร้านเช่นโบ๊เบ๊ ตลาดจตุจักรหรือ ODM เหล่านี้ค่าเงินบาทไม่ใช่ปัจจัยสำคัญการขายได้หรือไม่อยู่ที่การดีไซน์และคุณภาพสินค้าซึ่งตลาดนี้ยังมีการเติบโตที่สูงมาก

“ ไต้หวัน ฮ่องกงเองก็ย้ายมาไทย พอเวลานี้ไทยค่าจ้างต่ำแน่นอนว่าผู้ผลิตก็จะต้องมองหาที่อื่นย้ายไปเช่นกันเป็นสัจธรรม ขณะที่มีบางรายเองนำเข้าสินค้าจีนเพื่อมาขายยังตลาดวันหนึ่งก็ต้องทำใจว่าเขาก็จะมาขายเองเช่นกัน ตัวอย่างคนไทยเคยนำสินค้าจีนมาขายที่โบ๊เบ๊วันนี้คนจีนก็เข้ามาเองเลยก็มีแล้วท้ายสุดเราหนีสิ่งเหล่านี้ไม่พ้นสำคัญคือเราต้องปรับตัวให้ทันเท่านั้นจึงจะอยู่รอด”นายคมสรรค์กล่าว

จี้รัฐปรับโครงสร้างศก.

นายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการและหัวหน้าสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์(บล.) ภัทร จำกัด (มหาชน) มองว่าค่าเงินบาทมีโอกาสที่จะแข็งค่าขึ้นไปอีก เพราะปัจจัยในประเทศโดยเฉพาะนโยบายเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นแรงผลักดันให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ขณะเดียวกันสภาพเศรษฐกิจของสหรัฐที่อยู่ในสถานการณ์ที่ทำให้ดอลลาร์อ่อนค่าลงยิ่งเป็นปัจจัยเพิ่มให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น โดยคาดว่าเงินบาทน่าจะแข็งค่าในอีก 2-3 ปีต่อจากนี้ แต่จากสถิติที่ผ่านมาสุดท้ายเมื่อระยะเวลาผ่านไปค่าเงินบาทจะอ่อนค่าลงได้เอง

สำหรับแนวทางในการแก้ไขรัฐจะต้องเร่งการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการเร่งใช้ประโยชน์จากสินค้านำเข้าในช่วงที่ค่าเงินบาทแข็งค่า เช่นการพัฒนาสินค้านำเข้าให้สามารถขายในประเทศได้มากขึ้นแทนที่จะเน้นเพียงแค่การส่งออก

นอกจากนี้ การเพิ่มอัตราเงินเฟ้อให้กับระบบน่าจะเป็นแนวทางแก้ที่ง่ายกว่าหากรัฐมีนโยบายในการปรับลดดอกเบี้ยอย่างรุนแรง แต่เรื่องดังกล่าวจะส่งผลต่อประชาชนที่อยู่ในกลุ่มที่มีรายได้ชัดเจนจำนวนมาก

คลังปรามเอกชนอย่าอ้างบาทแข็ง

นายสมหมาย ภาษี รมช.คลัง กล่าวว่า มีแนวโน้มที่ผู้ส่งออกจะปิดโรงงานกันอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เป็นเพราะบาทแข็ง แต่เป็นเรื่องการปรับตัวของผู้ประกอบการเอง ผู้ส่งออกต้องมีการปรับตัวเพราะในปัจจุบันมีการแข่งขันสูงจากประเทศเพื่อนบ้านจะมาตะแบงให้ค่าบาทอยู่ที่ 38 บาทต่อดอลลาร์ คงเป็นไปไม่ได้ อย่างไรก็ตามรัฐบาลก็ไม่ได้นิ่งนอนใจพยายามตรึงค่าเงินบาทไม่ให้มีความผันผวนมากจนเกินไปจนกระทบภาคส่งออก

"คนที่กำลังจะเจ๊งอยู่แล้วก็เตรียมประกาศปิดโรงงานแล้วก็โทษค่าบาท รัฐบาลพยายามที่จะรักษาระดับไม่ให้มันผันผวนมากนัก แต่จะให้กลับไปอยู่ที่ระดับ 37-38 บาทเหมือนเดิมนั้นเลิกคิดไปได้เลย” นายสมหมายกล่าว

จับตาน้ำมันพุ่งกระทบ

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ กรรมการผู้จัดการ บล.ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกในช่วงที่ผ่านมาและในอนาคตยังมีแนวโน้มในการเติบโตที่ดี ความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงในเรื่องของเงินทุนรวมถึงสภาพคล่องคงไม่มาก แต่อาจจะมีปัจจัยที่กระทบต่อสภาพเศรษฐกิจคือสภาพเศรษฐกิจของสหรัฐที่ยังไม่อยู่ในสถานะที่ดี โดยตัวเลขการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูงถึง 8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ ข่าวเกี่ยวกับปัญหาสินเชื่อที่เกิดขึ้นอาจจะเป็นแรงผลักดันให้ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ต้องพิจารณาเพื่อปรับลดอัตราดอกเบี้ย ในขณะที่ประเทศจีนน่าจะต้องมีการดำเนินการเกี่ยวกับค่าเงินหยวนมากขึ้นแต่ปัญหาใหญ่กว่าปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น คือราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจนอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาแต่ยังมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นได้อีกในอนาคต ขณะที่หากพิจารณาเพียงพื้นฐานจะพบว่าราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นไม่สะท้อนปัจจัยเดิมจากปีที่ผ่านมาเพราะในปีนี้กำลังการผลิตลดลงแต่ความต้องการซื้อเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันความสัมพันธ์ระหว่างน้ำมันกับธุรกิจโดยเฉพาะที่เป็นต้นทุนการผลิตจากเดิมอยู่ในสัดส่วนประมาณ 6% แต่ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 12%


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.