|
GMชู3ยุทธศาสตร์ยึดอาเซียน
ผู้จัดการรายวัน(3 สิงหาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
นายใหญ่คนใหม่ "จีเอ็ม" ในไทยและอาเซียน ประกาศสร้างความยิ่งใหญ่ในอุตสาหกรรมรถภูมิภาคอาเซียน เผยยกระดับไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เป็น 3 ยุทธศาสตร์สำคัญในอาเซียน จากทั้งหมด 11 ประเทศทั่วโลก ที่มุ่งเจาะจงขยายธุรกิจ หวังชิงเค้กก้อนใหญ่มากกว่า 3 ล้านคัน ในอีก 10 ปีข้างหน้า
นายสตีฟ คาร์ไลส์ ประธานกรรมการประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส (ประเทศไทย)จำกัด และบริษัท เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทในเครือเจนเนอรัล มอเตอร์ส สหรัฐอเมริกา หรือจีเอ็ม (GM) เปิดเผยทิศทางและนโยบายของจีเอ็มในภูมิภาคอาเซียน ภายหลังเข้าตำแหน่งแทน นายวิลเลียม บอทวิค เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาว่า จีเอ็มเริ่มเข้ามาลงทุนในภูมิภาคอาเซียนครั้งแรก ที่ประเทศไทยเมื่อปี 2536 ภายใต้แบรนด์สินค้า "เชฟโรเลต" ตั้งแต่นั้นมาการดำเนินธุรกิจในไทย ได้เป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของการวางกลยุทธ์ เพื่อขยายธุรกิจของจีเอ็มในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
โดยที่ผ่านมาแบรนด์เชฟโรเลตของจีเอ็ม กำลังเติบโตในภูมิภาคนี้ เพราะนับจากจีเอ็มทำตลาดในไทย เมื่อปี 2543 จากมีจำนวนผู้จำหน่ายเพียง 17 สาขา แต่ปัจจุบันมีถึง 103 สาขา และมีส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้นจาก 1.5% เป็น 3.4% เมื่อปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกันแบรนด์เชฟโรเลต ขณะนี้มีวางจำหน่ายทั่วตลาดอาเซียน ทั้งมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม มีส่วนแบ่งตลาดรวมเริ่มจาก 0.8% เพิ่มขึ้นเป็น 2.2% ในปัจจุบัน
นายคาร์ไลส์กล่าวว่า ในภาพรวมของอุตสาหกรรมรถอาเซียน นับว่ามีการเติบโตที่รวดเร็วมาก โดยคาดว่าในปีนี้จะเพิ่มขึ้น 0.4% หรือ 1.711 ล้านคัน ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 4 ของภูมิภาคเอเชีย รองจากประเทศจีน อินเดีย และญี่ปุ่น โดยยอดจำหน่ายส่วนใหญ่มาจาก 3 ประเทศ คือ ไทย, มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ทั้งนี้คาดว่าอุตสาหกรรมรถตลาดอาเซียนในอีก 10 ปีข้างหน้า จะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 3 ล้านคัน
"แม้ปัจจุบันจะต้องเผชิญสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว แต่จีเอ็มยังคงมองเห็นโอกาสการลงทุน รวมไปถึงศักยภาพการเติบโตของตลาดอาเซียนในระยะยาว จีเอ็มจึงเลือกประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย เป็นสามตลาดสำคัญใน 11 ประเทศในโลก ที่จีเอ็มเจาะจงเข้าไปพัฒนาธุรกิจ โดยเฉพาะในอินโดนีเซียและมาเลเซีย ที่จีเอ็มกำลังมองหาลู่ทางในการขยายธุรกิจ โดยมีแผนจะตั้งศูนย์การผลิตที่นั้นในเร็วๆ นี้ เพียงแต่ขณะนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้"
ทั้งนี้ถึงจีเอ็มจะมองหาลู่ทางขยายตลาดและการลงทุน ในประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย แต่ประเทศไทยยังคงจะเป็นยุทธศาสตร์หลักของจีเอ็มในภูมิภาคนี้ต่อไป ถึงปัจจุบันจะประสบสภาวะยากลำบาก จากตลาดรถยนต์ไทยที่ลดลงถึง 12.6% อย่างไรก็ตามหากมองตลาดเมืองไทยในระยะยาว ยังถือมีศักยภาพและความแข็งแกร่ง ที่สำคัญไทยนับว่ามีสัดส่วนถึง 40% ของยอดการเติบโตของจีเอ็มในภูมิภาคอาเซียน
นายคาร์ไลส์กล่าวว่า ส่วนการลงทุนในไทยจะยังคงมีต่อเนื่อง โดยล่าสุดจีเอ็มได้ลงทุนกว่า 600 ล้านบาท ในการสร้างคลังและศูนย์กระจายอะไหล่เชฟโรเลต เพื่อรองรับยอดจำหน่ายและความต้องการบริการหลังการขายที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต ขณะที่การลงทุนในส่วนของการผลิต นับตั้งแต่ปี 2539 จนถึงปัจจุบัน มีมูลค่ากว่า 3.5 หมื่นล้านบาท จึงมั่นใจว่าจะยังคงสามารถรองรับการเติบโตในอนาคตได้
"แผนระยะสั้นที่จะต้องเร่งดำเนินการ คือ ต้องเร่งสร้างความแข็งแกร่งให้กับแบรนด์เชฟโรเลตในไทยและภูมิภาคนี้ โดยยึดถือความต้องการของลูกค้า และการตอบสนองความพึงพอใจของลูกค้าเป็นหลัก เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างลูกค้ากับแบรนด์เชฟโรเลต ผ่านกิจกรรมส่งเสริมการขาย และบริการที่ตรงใจ รวมถึงการปรับโฉมให้กับรถยนต์เชฟโรเลตที่มีต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการไมเนอร์เชนจ์ หรือโมเดลเชนจ์ ตลอดจนถึงมองหาโอกาสที่จะนำผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เข้าสู่ตลาดอีกด้วย" นายคาร์ไลส์กล่าวและว่า
ไม่เพียงการขยายแบรนด์จีเอ็มในเมืองไทย และประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน จีเอ็มยังมุ่งขยายสู่ตลาดใหม่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ด้วยการเริ่มทำตลาดรถยนต์เชฟโรเลต และโอเปิล ในประเทศบรูไน กวม ตาฮิติ และนิว คาลีโดเนีย โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2550 จีเอ็มประสบความสำเร็จในการเปิดตลาดใหม่ๆ ให้กับแบรนด์เชฟโรเลต อาทิ ประเทศวานู อาตูอเมริกัน ซามัว และซามัว ตะวันตก นอกจากยังมีเตรียมที่จะขยายสู่ตลาดอื่นๆ ได้แก่ มองโกเลีย และอัฟกานิสถาน ในช่วงครึ่งหลังของปี 2550 ต่อต้นปี 2551
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|