หากมองย้อนอดีตกลับไปศึกษาประวัติการเกิดขึ้นของหมู่บ้านจัดสรรยุคแรกๆ
ของเมืองไทย ก่อนปี พ.ศ.2517 คงไม่มีใครไม่รู้จัก เพียงใจ หาญพาณิชย์ ผู้หญิงคนสำคัญที่ก่อให้เกิดบริษัท
แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน)
บริษัทที่ปัจจุบันมียอดขายปีละหมื่นล้านบาท เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ที่สุดด้านเรียลเอสเตทของเมืองไทย
ทิ้งอันดับ 2 ซึ่งมียอดขายห่างชั้นกันอย่างไม่เห็นฝุ่น
เธอมีเรื่องราวการต่อสู้ทั้งในเรื่องชีวิตส่วนตัว และการทำธุรกิจที่ดินที่มีสีสันคนหนึ่งของเมืองไทย
ปัจจุบันในวัย 70 กว่าปี เธอยังคงแข็งแรงและเดินทางไปมา เพื่อทำโครงการที่พัทยาอย่างมีความสุข
อนันต์ อัศวโภคิน คือ ลูกชายของเพียงใจที่เข้ามาสานต่อภาระการทำโครงการบ้านจัดสรรจนถึงปัจจุบัน
ชีวิตของคนทั้ง 2 ที่โลดแล่นอยู่บนถนนสายเรียลเอสเตท ผ่านวิกฤติการณ์ด้านการเงินครั้งสำคัญของประเทศมาแล้วหลายรอบ
และต่างก็มีวิธีคิด มีบทเรียนที่น่าศึกษาอย่างมากมาย วันนี้ อนุพงษ์ อัศวโภคิน
ลูกชายคนสุดท้อง (ในจำนวน 4 คน หญิง 2 ชาย 2) ของเพียงใจ ที่เข้ามาทำธุรกิจที่ดินอย่างเงียบๆ
อยู่นานนับ 10 ปี ก็กำลังเป็นตัวละครอีกตัวที่น่าจับตามอง ในสไตล์การทำธุรกิจที่แตกต่างไปจากมารดาและพี่ชาย
อนุพงษ์ เดินตามรอยพี่ชายในเรื่องการศึกษา เขาจบปริญญาตรี-วิศวกรรมศาสตร์
(อุตสาหการ) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโท-บริหารธุรกิจ Wayne State
University, Michigan, USA
ปีที่อนันต์จบปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์จากจุฬาฯ อนุพงษ์เพิ่งเรียนจบ
ป.4 เพราะเขาเป็นน้องชายคนเล็ก ที่อายุห่างจากพี่ชายถึง 11 ปี ปัจจุบัน อายุ
42 ปี ขณะที่พี่ชายจบจากเมืองนอกใหม่ๆ กลับมาก็ได้เข้าไปทำโครงการบ้านจัดสรรของมารดา
ส่วนตัวเขาเอง เมื่อกลับจากสหรัฐอเมริกาได้เข้าไปทำงานในบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทิสโก้
3 ปี ก่อนกลับมาช่วยทำงานที่โรงแรมแมนดารินอีกธุรกิจหนึ่งของครอบครัว ในช่วงเวลาที่โรงแรมแมนดารินกำลังเตรียมเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ
เป็นลูกชายเจ้าของโรงแรมที่เดินหิ้วกระเป๋าตาม ชัยพร มหาขันธ์ ผู้จัดการโรงแรมในขณะนั้น
อยู่พักใหญ่เพื่อเรียนรู้และศึกษางาน
ในปี 2536 เริ่มเข้ามาทำโครงการ "ปทุมวันรีสอร์ท" เป็นโครงการแรก และได้รับผลพวงจากวิกฤติเศรษฐกิจรอบนั้นเข้าอย่างเต็มๆ
จนเกือบล้มละลาย ที่มีแม่กับพี่ชาย และสถาบันการเงินมาช่วยไว้ ด้วยความเชื่อมั่นในความเป็น
"อัศวโภคิน" คนหนึ่ง
บนเส้นทางธุรกิจ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ อาจจะเป็นต้นแบบให้กับอนุพงษ์ในหลายๆ
เรื่อง แต่วิธีคิดในการทำงานบางเรื่องย่อมแตกต่างกัน
ช่วงเริ่มต้นบริษัทใหม่ๆ อนุพงษ์ยอมรับว่า ได้นำเอาวิธีคิดของพี่ชายในการสร้างบริษัท
แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เป็นแบบอย่างมาโดยตลอด เช่น การไม่ให้คอมมิชชั่นกับพนักงานขาย
โดยในช่วงหนึ่งแลนด์ฯ จะแบ่งพนักงานออกเป็นฝ่าย เช่น ฝ่ายขาย ฝ่ายโอนสินค้า
ฝ่ายดูแลลูกค้าหลังการขาย ทุกอย่างเป็นระบบหมด พนักงานขายไม่มีคอมมิชชั่น
ซึ่งเอเชี่ยน พร็อพเพอร์ตี้ ก็ทำตามอย่างนั้นมาโดยตลอด จนในปี 2543 เขาจึงสรุปได้ว่า
บริษัทเล็กๆ ยอดขายเพียงไม่กี่ร้อยล้าน ไม่สามารถเดินตามบริษัทใหญ่ยอดขายเป็นหมื่นล้านบาทได้ทุกเรื่อง
พนักงานขายบริษัทของเขาไม่ใช่คนเก่าแก่ที่รักองค์กรอย่างบริษัทที่มีอายุยาวนานกว่า
30 ปี อย่าง แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ดังนั้นการได้รับแรงจูงใจจะต่างกัน
แม่กับพี่ จึงเป็นผู้ที่คอยดูแลห่างๆ ในขณะที่ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ยังคงเหลือหุ้นในบริษัทนี้ประมาณ
17 เปอร์เซ็นต์ โดยมี นพพร สุนทรจิตต์เจริญ มือขวาของอนันต์ ผู้ดูแลด้านการตลาดของแลนด์
แอนด์ เฮ้าส์ เข้ามานั่งเป็นคณะกรรมการบริหาร คอยให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด
"อย่างการสร้างบ้านก่อนขาย พี่ตึ๋งก็อยากให้ผมทำ แต่ผมทำไม่ได้ แค่เพียงสร้างไปก่อนส่วนหนึ่ง
พร้อมๆ กับรอการสั่งซื้อ เพราะผมเป็นบริษัทเล็ก เงินก็น้อย ยอดขายก็แตกต่างกันมาก"
อนุพงษ์เล่าให้ฟังถึงความแตกต่างกันในวิธีคิดของเขากับอนันต์
แต่มีอย่างหนึ่งที่เขายังคงเลียนแบบผู้เป็นพี่ชายคือการพยายามสร้างวัฒนธรรมองค์กร
เขาเชื่อมั่นว่าหลายบริษัทที่ล้มหายตายจากไปเมื่อวิกฤติรอบที่ผ่านมา เพราะได้ให้ความสำคัญกับยอดขายมากกว่าการที่จะสร้างระบบภายในบริษัทให้แข็งแกร่ง
การพยายามสร้างคน โดยหาหลักสูตรการอบรมดีๆ เข้ามาสอน การสร้างความเป็นพี่เป็นน้องในองค์กร
เป็นเรื่องที่เขาให้ความสำคัญลงมาดูด้วยตนเอง
ในแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ อาจจะประสบความสำเร็จในการสร้างคน แต่วิธีคิด หรือวิธีปฏิบัติของบริษัทยักษ์ใหญ่เก่าแก่กับบริษัทใหม่อย่างเอเชี่ยน
พร็อพเพอร์ตี้ อาจจะแตกต่างกัน เพราะส่วนใหญ่เป็นการทำงานกับคนรุ่นใหม่ของสังคมจริงๆ
ซึ่งคนกลุ่มนี้ อาจจะไม่ได้มองบริษัทอย่างคนรุ่นเก่ามอง วิธีปฏิบัติกับคนรุ่นนี้จึงอาจจะไม่เหมือนกัน
"ผมอาจจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับเวลาการทำงานมากเท่ากับความรับผิดชอบในงาน
งานเสร็จแล้ว หรือหากงานมีปัญหา สามารถตามตัวได้ทันที แก้ปัญหาได้ก็โอเค
บางครั้งผมทำให้เขาเห็นด้วยซ้ำไป เช่น ปัญหาเรื่องหนึ่งไม่เกี่ยวกับผม เขาแก้กันเองได้
แม้ผมอยู่ในเหตุการณ์นั้นด้วย ผมก็อาจจะบอกว่า เฮียไปแล้วนะ บ๋าย บาย นัดลูกไว้
พาไปทานข้าว แต่หากปัญหานั้นเกี่ยวกับผม ลูกผมก็ต้องถูกเลิกนัด และผมต้องอยู่แก้ปัญหา
อาจทั้งวันทั้งคืน ก็ต้องทำ"
ปฏิบัติการ "ซื้อใจ" จากพนักงานนั้น ทุกคนที่เป็นซีเนียร์ในบริษัทจะต้องยึดเขาเป็นต้นแบบ
เช่นเดียวกับการปฏิบัติตัวเรียบง่ายต่อเรื่องการใช้ชีวิตในเกือบทุกเรื่อง
เฉกเช่นเดียวกับอนันต์ ผู้เป็นพี่ชาย ผู้ซึ่งไม่ทานเหล้า ไม่เล่นกอล์ฟ ใส่เสื้อขาวราคา
200 กว่าบาทเป็นประจำ
ดังนั้น อนุพงษ์จึงเป็นผู้บริหารอีกคนหนึ่งที่ไม่ยึดติดกับการไล่ล่าหาข้าวของแบรนด์เนมมาประดับตัว
หรือมีความเป็นอยู่ที่หรูหราใดๆ ทั้งสิ้น ไลฟ์สไตล์แบบนี้เขาบอกว่า บังคับกันไม่ได้
เขาก็ได้แต่พยายามบอกว่า ชีวิตแบบนี้เป็นชีวิตที่มีความสุข