เศรษฐกิจโลกทรุด วิกฤติระลอกใหม่ที่มิอาจหลีกเลี่ยง


นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

แม้จะปลอดจากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับวิกฤติการณ์ในอิรัก เศรษฐกิจโลกก็อยู่ในภาวะอ่อนแอเปราะบางอยู่แล้ว...

วิกฤติระลอกใหม่ที่มิอาจหลีกเลี่ยง เป็นประโยคที่นิตยสาร The Economist ฉบับวันที่ 15-21 มีนาคม 2003 เกริ่นนำในรายงานพิเศษเรื่อง "The World Economy" ซึ่งจะเป็นเนื้อหาหลักที่นำมาแปลและเรียบเรียง

The Economist อธิบายต่อไปว่า การที่ตลาดหุ้นในสหรัฐอเมริกาดิ่งฮวบลงในช่วงต้นเดือนมีนาคมนั้น เหตุผลส่วนหนึ่งเป็นเพราะความหวั่นวิตกในวิกฤติการณ์อิรักก็จริง แต่ถึงแม้สงคราม จะไม่ระเบิดขึ้น บรรดานักลงทุนในตลาดหุ้นก็เล็งเห็นความหายนะรออยู่เบื้องหน้าแล้ว จากการที่มีสัญญาณเตือนภัยบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจโลกกำลังดิ่งเหวลงลึกกว่าที่คาดคิดไว้มาก

เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ตัวเลขการจ้างงานในส่วนของแรงงานกินเงินเดือนประจำลดฮวบลงอย่างมหาศาลถึง 308,000 อัตรา สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะความเลวร้ายของสภาพอากาศและการเรียกทหารกองหนุนเข้าประจำการก็จริง แต่ผลการสำรวจทางเศรษฐกิจอื่นๆ ต่างยืนยันตรงกันว่า ที่บริษัทต่างๆ พากันลดการจ้างงานลงอย่างมากนั้น สาเหตุสืบเนื่องมาจากผลกำไรที่หดหายและต้นทุนพลังงานก็สูงขึ้นเรื่อยๆ

การที่ตลาดงานอยู่ในภาวะอ่อนยวบ ผนวกกับความหวาดกลัวสงครามจึงเป็นตัวอธิบายได้เป็นอย่างดีว่า ทำไมดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคประจำเดือนกุมภาพันธ์ของ Conference Board จึงลดลงสู่ระดับต่ำที่สุดในรอบ 9 ปี และดูเหมือนการใช้จ่ายของผู้บริโภค ซึ่งเป็นเสาหลักของระบบเศรษฐกิจอเมริกันมาตลอด 2 ปีที่แล้วก็ชะงักงันด้วย

นักเศรษฐศาสตร์บางคนจึงเริ่มปริวิตกถึงความเสี่ยงว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (recession) อีก ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 3 ปี โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่า ในรอบ 3 ทศวรรษที่ผ่านมามีบทเรียนว่า การที่ราคาน้ำมันถีบตัวสูงขึ้นอย่างมาก จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐอเมริกาตามมาเสมอ แม้ข้อสรุปนี้จะยึดเป็นทฤษฎีไม่ได้ว่า ราคาน้ำมันที่ทะยานสูงขึ้นต้องเป็นสาเหตุของเศรษฐกิจถดถอยเสมอ แต่จากสถานการณ์ที่เศรษฐกิจมีความอ่อนแอเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เมื่อราคาน้ำมันสูงขึ้นเรื่อยๆ จนเกินกว่า 40 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ย่อมต้องเป็นตัวผลักดันสำคัญที่ทำให้เกิดเศรษฐกิจถดถอยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

บรรดานักวิเคราะห์จึงพากันคาดหมายว่า ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ สหรัฐอเมริกาจะมีอัตราการเติบโตของ GDP อยู่ที่ 1-1.5 เปอร์เซ็นต์ต่อปีเท่านั้น

ไม่ใช่เฉพาะอเมริกาประเทศเดียวที่ต้องลดตัวเลข การคาดหมายอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจ เพราะประมาณหนึ่งปีที่ผ่านมา นิตยสาร The Economist ทำโพลล์สำรวจความคิดเห็นของนักวิเคราะห์เกี่ยวกับอัตราการเติบโตของ GDP ของประเทศแถบยุโรป ซึ่งได้ตัวเลขว่าจะอยู่ที่ 2.8 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2003 แต่ปัจจุบันพวกเขาลดตัวเลขลงเหลือเพียง 1.1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น (โปรดดูแผนภูมิประกอบ) ซึ่งถือว่าน่าใจหายอย่างยิ่งและน่ากลัวกว่าตัวเลขของสหรัฐ อเมริกามาก นักวิเคราะห์ชุดเดียวกันคาดหมายอัตราการเติบโตของอเมริกาในปีที่แล้วว่าอยู่ที่ 3.6 เปอร์เซ็นต์ และลดเหลือ 2.5 เปอร์เซ็นต์ในปัจจุบัน

ในส่วนของเยอรมนีก็มีตัวเลข GDP ลดลงเล็กน้อยในไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว และในไตรมาสแรกของปีนี้ก็คาดหมายว่าตัวเลขจะลดลงอีก ซึ่งเป็นภาวะที่ตรงกับเกณฑ์การให้คำจำกัดความของเศรษฐกิจถดถอยพอดี แม้ว่าเดือนมกราคม เยอรมนีจะมีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 1.6 เปอร์เซ็นต์ แต่ตัวเลขของเดือนธันวาคมปีที่แล้วกลับลดลง 3.5 เปอร์เซ็นต์ ทำให้สรุปได้ว่า ผลผลิตอุตสาหกรรมยังอยู่ในอัตราต่ำอยู่ดี

ประเทศแถบยุโรปมีปัญหาการว่างงานด้วยเช่นกัน โดยในเดือนมกราคม และกุมภาพันธ์ คนว่างงานในเยอรมนีเพิ่มสูงขึ้นราว 135,000 คน เป็นตัวเลขใกล้เคียงกับอัตราการเพิ่มคนว่างงานที่เร็วที่สุดนับตั้งแต่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยช่วงต้นทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา ปัจจุบันอัตราการว่างงานในเยอรมนีอยู่ที่ 10.5 เปอร์เซ็นต์ของแรงงานทั้งหมด

ผลสำรวจในฝรั่งเศสก็ชี้ว่า นับจากต้นทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา มีครั้งนี้แหละที่ประชาชนวิตกเกี่ยวกับงาน มากที่สุด และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคฝรั่งเศสก็ตกลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 6 ปีด้วย

สำหรับญี่ปุ่นซึ่งต่อสู้กับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำมาหลายปีนั้น ตอนนี้ดูเหมือนจะแปลกแยกออกไป เพราะมีอัตราการเติบโตของ GDP เร็วที่สุดในบรรดา 15 ประเทศที่ The Economist สำรวจภาวะเศรษฐกิจทุกสัปดาห์คือ 2.2 เปอร์เซ็นต์ ส่วนใหญ่มาจากการเพิ่ม ขึ้นของยอดส่งออกสุทธิ โดยมีความต้องการจากจีนเป็นตัวจักรสำคัญ แต่นักวิเคราะห์มองว่า ภาวะนี้จะเกิดขึ้นชั่วคราวเท่านั้น ในที่สุดแล้ว อัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 0.5 เปอร์เซ็นต์โดยประมาณทั้งในปีนี้และปีหน้า

สาเหตุเพราะภาวะเงินเยนที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์จะส่งผลกระทบต่อการส่งออก และเพิ่มแรงกดดันเรื่องภาวะเงินฝืด (deflation) มาก ขึ้น เดือนมกราคมที่ผ่านมา ตัวเลขการได้เปรียบดุลการค้าของญี่ปุ่นจึงลดฮวบลงอย่างมาก ทำให้คาดหมายว่า Toshihiko Fukui ผู้ว่าการ Bank of Japan คนใหม่จะไม่ดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพื่อให้ประเทศหลุดพ้นจากภาวะเงินฝืดอย่างแน่นอน

นอกจากนี้ การที่ตลาดหุ้นญี่ปุ่นดิ่งเหวลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 20 ปีเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ก็เป็นตัวกระตุ้นความหวาดกลัวว่า จะเกิดวิกฤติการณ์ทางการเงินครั้งใหม่อีก เพราะราคาหุ้นที่ตกลงจะทำให้ค่าของเงินทุนของกิจการธนาคารและบริษัทประกันลดลง ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่มาก เมื่อต้องปิดสมุดบัญชีวันที่ 31 มีนาคม ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดปีการเงินของญี่ปุ่น

สหรัฐอเมริกา : จุดโฟกัสสำคัญ

สิ่งหนึ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้ก็คือ สหรัฐอเมริกายังคงบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจโลกอยู่ดี Stephen Roach หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำ Morgan Stanley ให้ภาพชัดเจนว่า นับจากปี 1995 เป็นต้นมา อเมริกาประเทศเดียวสามารถสร้างอัตราการเติบโตได้ถึง 2 ใน 3 ของอัตราการเติบโตโดยรวมในทั่วโลก และถ้าระบบเศรษฐกิจอเมริกันทรุดดิ่งลงอีกครั้งหนึ่ง ยุโรปหรือญี่ปุ่นก็ไม่สามารถเข้าแทนที่เพื่อสวมบทบาทตัวจักรของการสร้างความเติบโตได้

แม้ว่าจะเผชิญกับความหวั่นวิตกในผลกระทบเฉพาะหน้าจากสงครามและราคาน้ำมันที่สูงขึ้นอย่างมาก นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ก็ยังคาดหวังว่า เศรษฐกิจของอเมริการวมทั้งตลาดหุ้นจะสามารถฟื้นตัวได้ในทันทีที่สงครามยุติลง และความไม่แน่นอนต่างๆ จะมลายหายไป เห็นได้จากการที่ J.P.Morgan Chase คาดหมายว่า ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ สหรัฐอเมริกาจะมีอัตราเติบโตเกือบ 4 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งอธิบายได้ว่า การลดต่ำลงของดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและกิจการบริษัทเมื่อเร็วๆ นี้นั้น ส่วนใหญ่มีสาเหตุจากความหวาดกลัวสงคราม และเห็นได้ชัดว่าอิรักต้องแบกรับความสูญเสียที่เกิดกับระบบเศรษฐกิจอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อโต้แย้งอีกมากกับข้อสมมติฐานข้างต้น โดยเฉพาะในส่วนของปัญหาที่ได้หยั่งรากลึกลงเรื่อยๆ และยังคงอยู่ต่อไปนั้น ได้กลายเป็นอุปสรรคขัดขวางการเติบโตของระบบเศรษฐกิจ แม้จะไม่เกิดสงครามขึ้นก็ตาม

ปัญหาสำคัญที่สุดก็คือ อเมริกายังไม่สามารถขจัดภาวะฟองสบู่ในระบบเศรษฐกิจ ที่เกิดจากการพองลมครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การเงินได้ Ed McKelvey นักเศรษฐศาสตร์ประจำ Goldman Sacks อธิบายว่า เหตุผลหลักที่ภาคเอกชนลดการใช้จ่ายลงอย่างมาก เพราะครัวเรือนและกิจการบริษัทต่างต้องพยายามแก้ตัวเลขขาดทุนมหาศาล ที่ก่อไว้ในช่วงตลาดหุ้นบูมเพราะภาวะฟองสบู่ให้ได้

แผนภูมิที่ 3 แสดงให้เห็นปัญหา ดังกล่าวได้อย่างชัดเจน โดยภาคเอกชน ของอเมริกาได้ชื่อว่าเป็นผู้ออมสุทธิมานานถึง 40 ปี (และสิ้นสุดลงในปี 1997) เห็นได้จากการที่รายได้รวมของครัวเรือนและกิจการบริษัทต้องมากกว่ายอดใช้จ่ายเสมอ โดยมีอัตราการออมสุทธิโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 2.6 เปอร์เซ็นต์ของ GDP แต่ภาวะฟองสบู่ในช่วงปลายทศวรรษ 1990 เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายและกู้เงินอย่างมหาศาลจนทำให้ภาคเอกชนต้องมีหนี้สินคิดเป็น 5.2 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ในปี 2000

สำหรับปีที่แล้วนับจนถึงไตรมาส ที่สาม (ช่วงเวลาล่าสุดที่สามารถเก็บข้อมูลได้) ภาคเอกชนก็ยังอยู่ในภาวะบัญชีตัวแดงคือ 1.4 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ซึ่ง Ed McKelvey สรุปว่า ภาคเอกชนกำลังเดินมาถึงครึ่งทางของอัตราการออมสุทธิเฉลี่ย 2.6 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ที่เคยทำได้เท่านั้น

แม้ว่ากิจการบริษัทจะใช้ความพยายามอย่างหนักในการลดต้นทุน และ ทำให้งบดุลบัญชีดูดีขึ้น แต่พวกเขาก็ยังต้องกระเสือกกระสนอีกนานทีเดียว ตามปกติแล้วในช่วงเริ่มแรกของการฟื้นฟูการเงิน กิจการบริษัทมักดำเนินธุรกิจในรูปแบบให้มีผลกำไรเล็กน้อย นั่นคือยอดการลงทุนต้องน้อยกว่ากระแสเงินสดเสมอ กระนั้นก็ตาม บริษัทอเมริกันก็ยังประสบภาวะเป็นหนี้อยู่ดี ซ้ำร้ายกว่านั้น ตัวเลขผลกำไรก็ยังต่ำมากเหมือนเดิม

Ian Harwood หัวหน้านักเศรษฐ ศาสตร์ของ Dresdnen Kleinwort Wasserstein จึงคาดหมายว่า ในไตรมาสที่สี่ของปีที่แล้ว ตัวเลขผลกำไรของระบบเศรษฐกิจโดยรวมเมื่อเทียบกับ GDP จะลดลงอีกเช่นเคย ซึ่งลดลงเป็นไตรมาสที่สามติดต่อกันหลังจากสามารถฟื้นตัวได้ในระยะเวลาสั้นๆ ภาวะดังกล่าวจึงอาจอธิบายได้ว่า ทำไมกิจการบริษัท อเมริกันจึงจำเป็นต้องลดอัตราการจ้างงานต่อไป

เมื่อหันมามองในส่วนของครัวเรือนอเมริกัน จะเห็นว่าแทบไม่ได้ทำอะไรเลยสำหรับการทำให้งบดุลบัญชีดีขึ้น แม้ว่าในไตรมาส ที่สี่ของปี 2002 อัตราการออมรายหัว (personal savings) จะเพิ่ม เป็น 4 เปอร์เซ็นต์ของรายได้สุทธิ (disposable income) เทียบกับตัวเลข 2 เปอร์เซ็นต์ในปี 2000 แต่ Ed McKelvey ยืนยันว่า อัตราการออมที่เหมาะสมต้องอยู่ระหว่าง 6-10 เปอร์เซ็นต์ โดยคำนวณบนพื้นฐานที่เผื่อไว้แล้วว่า รายได้รวมของครัวเรือนได้ลดต่ำลงอันเป็นผลมาจากราคาหุ้นที่ตกฮวบลง

สาเหตุหลักที่ครัวเรือนอเมริกันสามารถชะลอการปรับแต่งบัญชีออกไปอีก เป็นเพราะพวกเขามีความสามารถในการกู้เงินมาใช้จ่าย ด้วยการนำบ้านซึ่งมีราคาสูงขึ้นมาใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่ถึงที่สุดแล้วเงินสดในส่วนนี้ก็ต้องหมดไปอยู่ดี แล้วครัวเรือนก็ต้องรัดเข็มขัดของตน ซึ่งเป็นนัยบ่งชี้ว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในวิกฤติ การณ์อิรัก อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของอเมริกาก็จะอยู่ในระดับต่ำกว่าศักยภาพของประเทศต่อไปอีกระยะหนึ่ง

การจะทำให้อัตราการออมของครัวเรือนดีดกลับขึ้นมาอยู่ในระดับปกติได้นั้น จำเป็นต้องอาศัยมาตรการผ่อนคลายในนโยบายการเงินหรือการคลัง โดยในปี 2002 อเมริกาต้องดำเนินนโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นระบบเศรษฐกิจคิดเป็นอัตรากว่า 2 เปอร์เซ็นต์ ของ GDP มิเช่นนั้นแล้วอาจไม่มีตัวเลขอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจออกมาเลย สำหรับปีนี้มีแนวโน้มว่า อเมริกาต้องใช้มาตรการกระตุ้นระบบเศรษฐกิจมากกว่าปกติจากข้อเท็จจริงที่ว่า งบค่าใช้จ่ายด้านการทหารต้องเพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มว่า สภาคองเกรสจะเบรกมาตรการลดภาษีที่ประธานาธิบดีบุชเสนอ ยิ่งกว่านั้น มาตรการลดภาษีที่รัฐบาลส่วนท้องถิ่นของรัฐต่างๆ ดำเนินการไปแล้วนั้น มี แนวโน้มว่าจะสามารถชดเชยกับมาตรการผ่อนคลายใดๆ ที่รัฐบาลกลางดำเนินการในปีนี้ได้อย่างมากก็เพียงครึ่งเดียวเท่านั้น

ภาวะดังกล่าวจึงเป็นแรงกดดันให้ Federal Reserve (Fed) ต้องลดอัตราดอกเบี้ยในไม่ช้านี้ ในคำแถลงต่อสภาคองเกรสช่วงต้น เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา Alan Greenspan ผู้ว่าการ Fed กล่าวว่า เขาจะรอผลการลงมติเกี่ยวกับอิรัก จากนั้นจึงพิจารณาว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้หรือไม่ แล้วจึงลดอัตราดอกเบี้ยในกรณีที่จำเป็น แต่จาก สภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่คือภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอลงมากได้กลายเป็นข้อโต้แย้งว่า จำเป็นต้องลดอัตราดอกเบี้ยลงในเวลานี้

ปัจจัยที่ช่วยพยุงระบบเศรษฐกิจอเมริกันอีกอย่างหนึ่งคือ การอ่อนค่าของ เงินดอลลาร์ ซึ่งจะช่วยทำให้ยอดส่งออก สุทธิสูงขึ้น แต่ก็มีอุปสรรคทำให้ปัจจัยนี้ทำงานได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนลงจะส่งผลกระทบต่อทั่วโลก เห็นได้จากช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 4 ปีเมื่อเทียบกับเงินยูโร นั่นคือ 1.11 ดอลลาร์ต่อ 1 ยูโร หลังจากที่ John Snow รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของอเมริกาให้สัมภาษณ์ว่า เขาไม่กังวลต่อการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์นัก

อย่างไรก็ตาม ยุโรปและญี่ปุ่นเป็นฝ่ายต้องวิตกกับสภาพการณ์นี้มากกว่า และมาตรการรับมือที่ถูกต้องของธนาคารกลางยุโรปและญี่ปุ่นต่อการแข็งค่าขึ้นของเงินในประเทศของตนก็คือ การดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย แต่ในส่วนของ Bank of Japan นั้นไม่สามารถลดอัตราดอกเบี้ยได้อีก เพราะแตะระดับ 0 อยู่แล้วในขณะนี้ จึงทำได้เพียงแค่การเข้าแทรกแซงเพื่อให้เงินเยนอ่อนค่าลง

แม้ว่า The European Central Bank (ECB) จะมีความคล่องตัวมากกว่า คือสามารถลดอัตราดอกเบี้ยลงร้อยละ 0.25 เหลือ 2.5 เปอร์เซ็นต์ เมื่อวันที่ 6 มีนาคมที่ผ่านมา แต่ก็ยังไม่เพียงพออยู่ดี

เพราะนับจากเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ECB ลดอัตราดอกเบี้ยซึ่งทำให้ค่าของดัชนีถ่วงน้ำหนัก trade-weighted value ของยุโรปสูงขึ้นราว 6 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าพิจารณาในแง่ของผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อแล้วมีค่าเท่ากับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่า 0.5 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว ดังนั้นแม้ว่าปีนี้จะมีการดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวด แต่ภาพรวมของระบบเศรษฐกิจ ก็ยังเลวร้ายอยู่ดี และอัตราเงินเฟ้อแบบ core inflation rate (ซึ่งไม่รวมอาหาร พลังงาน และยาสูบ) ในประเทศแถบยุโรปลดลงต่ำกว่า 2 เปอร์เซ็นต์

นอกจากนี้ ยุโรปยังต้องดำเนินนโยบายการคลังเข้มงวดขึ้นอีกเล็กน้อย อันเป็นผลมาจากข้อบังคับของสนธิสัญญาว่าด้วยความมีเสถียรภาพ (stability pact) ซึ่งบังคับให้เยอรมนีต้องขึ้นภาษีขณะอยู่ในสภาวะของเศรษฐกิจถดถอย และนโยบายการคลังที่เข้มงวดขึ้นนี้เองที่มีผลทำให้ต้องผ่อนคลายนโยบายการเงิน

ดังนั้น ถ้าเศรษฐกิจทรุดลงจริงๆ ผู้มีหน้าที่กำหนดนโยบายจำเป็นต้องเร่งดำเนินการอย่างรวดเร็ว โดยเริ่มต้นจากการขยายกำลังการผลิตส่วนเกินในทั่วโลกออกไปอีก เพราะทั้งภาวะเศรษฐกิจ ถดถอยและการขยายตัวของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเชื่องช้า ล้วนเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเงินฝืดในบางประเทศได้

นอกจากนี้ ยังมีสัญญาณบ่งชี้อย่างชัดเจนว่า มีความเป็นไปได้สูงมากที่ราคาหุ้นจะดิ่งฮวบลงอีกโดย Bank for International Settlements ระบุในบทวิเคราะห์ล่าสุดว่าตลาดหุ้นของอเมริกายังมีมูลค่าสูงเกินจริงอยู่ หากพิจารณาตามบรรทัดฐานทางประวัติศาสตร์ เพราะในอดีตที่ผ่านมา หลังเกิดภาวะฟองสบู่แล้ว ราคาหุ้นต้องดิ่งฮวบลงจนอยู่ในระดับต่ำกว่ามูลค่าจริงอย่างมากแล้วจึงจะฟื้นตัว ขึ้นมาได้ และนับจากนี้ไป ก็ให้คอยติดตามพาดหัวข่าวเศรษฐกิจและการเงินที่เลวร้ายลงเรื่อยๆ ได้แล้ว และรอจนกว่าภาวะที่ดีขึ้นจะตามมา

ดรุณี แซ่ลิ่ว
แปลและเรียบเรียงจาก The Economist 15-21 March 2003



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.