บ.เครือสหยูเนี่ยนพ่ายแข่งขัน-ค่าเงินปิดกิจการหนีตาย


ผู้จัดการรายวัน(2 สิงหาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

บริษัทในเครือสหยูเนี่ยน “ยูเนี่ยนฟุทแวร์” ทนพิษแข่งขันที่รุนแรง-ขาดแคลนแรงงาน จนส่งผลให้ขาดทุนติดต่อกันนานกว่า 3 ปี แถมเจอบาทแข็งแทรกซ้อนทนไม่ไหวผู้บริหาร ประกาศปิดโรงงาน พร้อมถอนหลักทรัพย์ออกจากตลาดหุ้น ยันจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน และเสนอให้ผู้ถือหุ้นใหญ่ “สหยูเนี่ยน” ตั้งโต๊ะรับซื้อหุ้นคืนจากรายย่อยในราคาหุ้นละ 3.29 บาท ขณะที่ประธานสภาอุตฯ ยันไม่กระทบภาพรวมอุตสาหกรรม

นายทรงศักดิ์ ธรรมภิมุขวัฒนา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูเนี่ยนฟุทแวร์ จำกัด (มหาชน) หรือ UF กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทครั้งที่ 7/2550 เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2550 ได้มีมติอนุมัติให้บริษัทดำเนินการขอเพิกถอนหลักทรัพย์ของบริษัทออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เนื่องจากบริษัทจะหยุดดำเนินธุรกิจรองเท้า

โดยสาเหตุที่ทำให้บริษัทต้องพิจารณาหยุดดำเนินธุรกิจรองเท้าประกอบด้วย 5 ประเด็นหลัก ประเด็นแรก บริษัทประสบปัญหาขาดทุนติดต่อกันมาเกินกว่า 3 ปี เนื่องจากอุตสาหกรรมรองเท้ามีการแข่งขันสูงจากต่างประเทศ และตลาดเป็นของผู้ซื้อน้อยราย ทำให้มีโอกาสน้อยในการเจรจาต่อรองเงื่อนไขและราคาขาย แม้ได้พัฒนาทั้งระบบบริหารและขบวนการผลิตมาอย่างต่อเนื่อง

จากการสำรวจผลการดำเนินงานของ UF ย้อนหลัง 3 ปี ตั้งแต่ปี 2547-2549 พบว่า บริษัทประสบปัญหาขาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง โดยขาดทุนสุทธิ 11.04 ล้านบาท 47.68 ล้านบาท และ 155.66 ล้านบาทในปี 2549 ขณะที่ไตรมาสแรกปี 2550 ยังขาดทุนสุทธิอีก 44.53 ล้านบาท

ประเด็นที่สอง อุตสาหกรรมรองเท้าเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานจํานวนมาก จนประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ทำให้ส่งผลต่อการผลิตอย่างรุนแรง และส่งมอบสินค้าให้ลูกค้าไม่ตรงตามกำหนด ทําให้บริษัท ต้องรับภาระค่าขนส่งทางอากาศที่เป็นค่าใช้จ่ายสูงอยู่ตลอดเวลา เสียเปรียบคู่แข่งอย่างจีนและเวียดนามที่มีแรงงานจำนวนมาก และมีอัตราค่าจ้างต่ำกว่าไทยทำให้ไม่สามารถแข่งขันในธุรกิจนี้ได้

ประเด็นที่สาม ต้นทุนการผลิตโดยเฉพาะด้านสาธารณูปโภคและพลังงาน อาทิ ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน และค่าขนส่งเพิ่มขึ้นตลอดเวลา รวมทั้งค่าวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น

ประเด็นที่สี่ รายได้ไม่คุ้มกับค่าใช้จ่าย หลังจากบริษัทจำเป็นต้องลงทุนเพิ่มในการพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรม ขบวนการผลิต และการจัดการสิ่งแวดล้อม เพื่อตอบสนองความต้องการของคู่ค้าที่มีการปรับเปลี่ยนความต้องการตลอดเวลา ทำให้ต้นทุนสูงและไม่อาจผลักภาระให้คู่ค้าได้ทั้งหมด

ประเด็นสุดท้าย บริษัททำธุรกิจซื้อขายเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นส่วนใหญ่ หลังจากเกิดความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและการแข็งค่าของเงินบาทอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วตั้งแต่ปี 49 จนถึงปัจจุบัน และค่าเงินบาทมี แนวโน้มว่าจะแข็งค่าในระดับนี้ต่อไปในระยะยาว ส่งผลต่อการแข่งขันและปัญหาด้านราคามาก

“จากการพิจารณาปัจจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้น และเห็นว่าธุรกิจนี้มีความเสี่ยงสูง มีโอกาสที่จะขาดทุนต่อไป นับเป็นธุรกิจที่ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน บริษัทจึงตัดสินใจเลิกการผลิต เพื่อมิให้เกิดความเสียหายมากกว่านี้ โดยบริษัทจะดำเนินการผลิตสินค้าเพื่อส่งมอบให้กับลูกค้าตามคำสั่งซื้อที่มีอยู่ภายในปี 50 จนครบถ้วน หลังจากนั้นก็จะหยุดดำเนินกิจการรองเท้า และยังไม่มีนโยบายที่จะดำเนินธุรกิจอื่นใดอีก ทั้งนี้ บริษัทจะทยอยหยุดดำเนินการผลิตและจะรับผิดชอบจ่ายค่าจ้างแรงงาน และเงินชดเชยตามที่กฎหมายกำหนด”

พร้อมกันนี้ บริษัทจะดำเนินการเพิกถอนหลักทรัพย์ของบริษัทออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยสมัครใจ และให้นำเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป โดยกำหนดวันประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2550 ในวันที่ 4 กันยายน 2550 และกำหนดวันปิดสมุดเบียนพักการโอนหุ้น เพื่อสิทธิในการเข้าร่วมประชุมดังกล่าวตั้งแต่วัน 15 สิงหาคมเป็นต้นไป

อย่างไรก็ตาม บริษัท สหยูเนี่ยน จำกัด (มหาชน) หรือ SUC ในฐานะบริษัทและเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่จะเสนอซื้อหุ้นสามัญ UF จำนวน 9,896,120 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (ราคาพาร์) หุ้นละ 10 บาท รวม 98,961,200 บาท จากเดิมที่ SUC ถือหุ้นอยู่ 10,103,880 หุ้น หรือ 50.52 เปอร์เซ็นต์ ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด โดยจะเสนอซื้อในราคาหุ้นละ 3.29 บาท ขณะที่ราคาหุ้นวานนี้ (1 ส.ค.) ปิดที่ 3.18 บาท ลดลงจากวันก่อน 0.06 บาท หรือลดลง 1.85 เปอร์เซ็นต์

ขณะเดียวกันบริษัทได้แต่งตั้งบริษัท เอสเซท โปร แมนเนจเม้นท์ จำกัด เป็นที่ปรึกษาการเงินในการเสนอซื้อหุ้นครั้งนี้ รวมทั้งแต่งตั้งบริษัทหลักทรัพย์ ฟาร์อีสท์ จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงินอิสระของผู้ถือหุ้น เพื่อเสนอแนะความเห็นเกี่ยวกับการขอเพิกถอนหุ้นและข้อเสนอของผู้เสนอซื้อหุ้นครั้งนี้

นายทรงศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทได้ขอความช่วยเหลือทางการเงินจาก SUC ในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่เพิ่มอีก 180 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนก่อนหยุดดำเนินธุรกิจ โดยคาดว่าจะชำระคืนภายใน 1 ปี คำนวณดอกเบี้ยอ้างอิงตามอัตราดอกเบี้ย MLR ของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง

ด้าน นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การปิดกิจการของยูเนี่ยนฟุทแวร์เพียงแห่งเดียวจะไม่กระทบต่ออุตสาหกรรมรองเท้า และบริษัทดังกล่าวดำเนินธุรกิจรับจ้างผลิตทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ มีคนงานประมาณพันคน

“เหตุผลของการปิดกิจการคงไม่ใช่ผลกระทบจากค่าเงินบาท อาจเป็นไปได้ว่ากำไรลดลงหรือคู่ค้าย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่น หากมีการจ่ายค่าชดเชยให้กับลูกจ้างตามเกณฑ์ที่กำหนดก็ไม่มีปัญหา โดยเชื่อว่าแรงงานบริษัทนี้คงจะสามารถหางานทำได้ในโรงงานใกล้เคียง”

นายอดิศักดิ์ คำมูล ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล. เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การหยุดกิจการและเพิกถอนหุ้นออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ของยูเนี่ยนฟุทแวร์ น่าจะเกิดจากสภาวะการแข่งขันรุนแรง ประกอบกับเป็นอุตสาหกรรมขนาดเล็กที่ต้องพึ่งพาการใช้แรงงานสูง ขณะที่ค่าแรงสูงขึ้นทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับคู่ค้าที่สำคัญในแถบภูมิภาคได้ เช่น ประเทศจีน เวียดนาม กัมพูชา และลาว ส่งผลให้แนวโน้มอุตสาหกรรมที่มีขนาดเล็กมีโอกาสที่จะปิดกิจการอีกหลายแห่งได้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.