วิกฤตทศทคอร์ปผลงาน "สิทธิชัย" เงียบเชียบ โอกาสสุดท้ายวัดฝีมือโทร.5แสนเลขหมาย


ผู้จัดการรายวัน(24 เมษายน 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

7 เดือนกับความว่างเปล่าของผลงานในตำแหน่งกรรม การผู้จัดการใหญ่ทศท คอร์ป โดยเฉพาะโครงการขยายโทรศัพท์ 5 แสนเลขหมาย ที่เป็นธุรกิจทำรายได้หลักกลับอืดเป็นเรือเกลือทั้งๆที่มีความต้องการรออยู่กว่า 7 แสนเลขหมาย ยังอยู่ในกระบวนการเล่นแร่แปรธาตุของรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ที่รับผิดชอบโครงการ ยำวิธีการ ประมูลแบบไม่แยแสหลักการเดิมที่บอร์ดเคยอนุมัติหวังเอื้อพวกพ้องด้านคนในวงการสื่อสารชี้อนาคตคน นอกยึดทศทฯแน่ หากผู้บริหารแตกความสามัคคี เล่นพวกพ้องหาแต่ผลประโยชน์ใส่ตัวเหมือนในตอน นี้

แหล่งข่าวในวงการสื่อสารกล่าว ว่าหลังจากที่นายสิทธิชัย ส่งพิริยะกิจ ได้รับการสรรหาเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2545 ปรากฏว่าเวลาผ่านไปจนถึงขณะนี้เกือบ 7 เดือนแล้ว แต่ถือว่ายังไม่มีผล งานเด่นชัด โดยเฉพาะในส่วนของธุรกิจโทรศัพท์พื้นฐานที่ถือเป็นรายได้และธุรกิจหลักของทศทฯกลับไม่มีงานคืบหน้าแต่อย่างใด

"ในขณะที่ทศทฯไม่มีเบอร์ขาย แต่งานโครงการขยายเลขหมาย โทรศัพท์กลับไม่คืบหน้า"

ในช่วงที่ยังไม่มีคณะกรรมการกำกับกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือกทช. ที่จะมาเป็นผู้กำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม ทศทฯมีสิทธิและ มีความจำเป็นต้องขยายเลขหมายโทรศัพท์พื้นฐานเพื่อสร้างส่วนแบ่งตลาดให้เกินหน้าทีเอและทีทีแอนด์ที เพื่อเป้าหมายธุรกิจในระยะยาวและเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดใน ระยะสั้น เพราะข้อมูลของทศทฯสิ้นสุดเดือนก.ย.2545 มีจำนวน ลูกค้ารอบริการ (Waiting List) อยู่ถึง 710,220 ราย

โครงการโทรศัพท์ 5 แสนเลขหมายเป็นโครงการที่บอร์ดเก่ายุคนาย ศุภชัย พิศิษฐวานิช เป็นประธานได้พิจารณาอนุมัติโครงการ ทำประชาพิจารณ์เงื่อนไขทีโออาร์ข้อเสนอในการ ประมูลจนเสร็จสิ้นแล้ว เหลือแค่การเปิดขายซองประกวดราคาตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2545 แต่เกิดการเปลี่ยนบอร์ดใหม่เป็นคุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์
ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เป็นประธาน

บอร์ดชุดใหม่มีมติเมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2546 ได้สั่งการให้ทศทฯทำแผน งานขยายโทรศัพท์ 5 แสนเลขหมายดังกล่าวจากเดิมที่อยู่ในรูปแผนงาน เปลี่ยนเป็นจัดทำในรูปของโครงการส่งให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภา พัฒน์)พิจารณาโดยให้นายสรรเสริญ วงศ์ชะอุ่ม ที่ปรึกษาประธานบอร์ดทศทฯ พิจารณาในรายละเอียดก่อน

"แค่ขั้นตอนให้คุณสรรเสริญดูก่อนส่งไปสภาพัฒน์ ทศทฯใช้เวลาถึง 2-3 เดือน มีการดึงเรื่องไปมา เตะ ถ่วงไว้ทั้งๆที่ตลาดมีความต้องการเลข หมายโทรศัพท์พื้นฐาน ในขณะเดียวกับที่มีการอาศัยช่องว่างที่บอกให้คุณ สรรเสริญพิจารณาในรายละเอียด พยายามแก้ไขสเปกใหม่"

หลังจากเสียเวลาไปหลายเดือน ในการประชุมบอร์ดทศทฯเมื่อวันที่ 18 เม.ย.ที่ผ่านมาโครงการนี้ต้องถูกส่งให้ คณะรัฐมนตรีรับทราบ ในขณะเดียว กันนายสิทธิชัยได้ขออนุญาตบอร์ดในการดำเนินโครงการนี้ควบคู่ไปกับขั้นตอนการเสนอครม. ซึ่งในทางปฏิบัติทศทฯสามารถสั่งขายซองประกวดราคาได้ทันที เพราะเงื่อนไขหรือสเปก

เดิมที่บอร์ดชุดเก่าอนุมัติไว้มีเรียบร้อยแล้ว และมติบอร์ดชุดคุณหญิงทิพาวดีก็ยืนยันในหลักการเดิมของการประมูล คือให้มีการแบ่งการทำงานเป็น 3 โซน แต่ให้มีการประมูล รวมทั้งเครื่องชุมสาย ระบบสื่อสัญญาณและงานข่ายสายตอนนอก ในลักษณะยูนิตไพร์ซ แต่หลักการเดิม ที่ผ่านการอนุมัติทุกขั้นตอน กำลังถูก บิดเบี้ยวจากรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ที่ดูแลงานด้านโครงการ ด้วยความพยายามให้มีการแก้ไขวิธีการประมูลใหม่ โดยให้ประมูลเครื่องชุม สายแบบรวมแต่งานวางข่ายสายตอน นอกให้แต่ละเขตแยกทำในแต่ละพื้นที่ โดยเหตุผลหนึ่งที่อ้างแบบมั่วนิ่มคือแต่ละพื้นที่จะรู้ความต้องการดี ซึ่งความต้องการดังกล่าวหากไม่รู้ล่วงหน้าย่อมไม่สามารถจัดซื้อเครื่องหรืออุปกรณ์ชุมสายหรืออุปกรณ์สื่อสัญญาณได้ ดังนั้น แสดงให้เห็นว่าความต้องการเลขหมายโทรศัพท์ดังกล่าว ถูกคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าเรียบ ร้อยแล้ว

"เหตุผลที่อ้างขัดแย้งในตัวเอง ซึ่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่คนดังกล่าวเคยทำข้อเสนอออกมาหลายๆทางเลือกพร้อมอ้างเหตุผลต่างๆ นานา ที่ขัดแย้งกันเอง เพียงเพื่อต้องการเปลี่ยนวิธีการประมูลให้พวกพ้องตัวเองได้ประโยชน์สูงสุด"

โครงการขยายโทรศัพท์ 5 แสน เลขหมายกำลังเป็นเครื่องพิสูจน์ บท บาทความเป็นผู้นำของนายสิทธิชัยว่ามีความเข้มแข็งชัดเจนมากน้อยแค่ไหน เพราะถือเป็นผลงานชิ้นแรกหากทำสำเร็จตั้งแต่รับตำแหน่งกจท. ซึ่งในทำนองเดียวกัน หากเตะถ่วงให้โครงการนี้ล่าช้าออกไปอีกนอกจากข้อหาว่าไม่มีผลงานแล้วยังอาจเกิด
ข้อครหาถึงท่าทีประนีประนอมที่ยอม ตามลูกน้อง ซึ่งส่งผลถึงภาพความไม่ โปร่งใสในการจัดการโครงการขนาดใหญ่

แหล่งข่าวกล่าวว่าองค์กรขนาดใหญ่อย่างทศทฯย่อมต้องการความสามัคคีของผู้บริหารในการขับเคลื่อน องค์กรให้บรรลุเป้าหมาย แต่ความต้องการของนายสิทธิชัยถูกปฏิเสธจากกลุ่มซูเปอร์ทีมผู้บริหารที่เขาคาดหวังในช่วงแรกตั้งแต่โชว์วิสัยทัศน์ในการสรรหากรรมการผู้จัดการใหญ่

ประเด็นสำคัญที่เกิดขึ้นใน ทศทฯตอนนี้คือรองกรรมการผู้จัด การใหญ่ทั้ง 17 คนกำลังหลงเริงร่ากับ การแต่งตั้ง จนไม่ได้นึกถึงอนาคตองค์ กรขาดความสามัคคีมีแม้กระทั่งทำใบ ปลิวโจมตีกันเองขนาดมีความรู้ระดับ ด็อกเตอร์ก็ไม่เว้น

"สิ่งหนึ่งที่ผู้บริหารระดับรอง ไม่นึกใส่ใจคืออนาคตทศทฯจะไปทาง ไหน เพราะนายสิทธิชัยมีเวลาถึงเดือนพ.ย.เท่านั้น ก่อนหน้านั้น 3 เดือนจะเริ่มกระบวนการสรรหา หากคิดเริ่มสามัคคีตอนนั้นมันสายเกินไปแล้ว แต่ตอนนี้ยังพอมีเวลา หากสามัคคีคุยกันให้รู้เรื่อง มีการมอบหมายวางตัวให้ทำงานสำคัญๆ โชว์ฝีมือให้สาธารณชนเห็น ก็ยังมีโอกาส ไม่เช่นนั้น กรรมการผู้จัดการใหญ่คนต่อไปต้องเป็นคนนอกแน่นอน"

การบริหารงานแบบประนีประนอมลู่ตามใจลูกน้อง ทำให้ตอนนี้ กระ บวนการจัดการโครงการประสาน ประโยชน์ในทศทฯเปลี่ยนไป ไม่ต้องสนใจอำนาจการเมือง แต่พ่อค้าหันไปเอาใจผู้บริหารระดับรองระดับผู้ช่วยให้ชงโครงการให้เรียบร้อยสำเร็จ รูป แล้วเสนอขึ้นไปตามขั้นตอน เมื่อถึงระดับบนก็สั่งการอนุมัติ

เซียนระดับหัวแถวในการประสานงานเช่นนี้คือผู้ยึดครองพวกอุปกรณ์ไอพี ที่ทำแม้กระทั่งให้กรมการปกครอง ยืมมือทศทฯจัดซื้ออุปกรณ์ประเภทระบุยี่ห้อระบุรุ่น เข้าข่ายผิดกม.ฮั้ว ซึ่งตอนแรกก็เกือบจะมีการอนุมัติให้จัดซื้อแล้ว เพราะนายสิทธิชัยเห็นว่าทำมาตามขั้นตอน

"การเจาะตรงถึงระดับปฏิบัติการพวกรองหรือผู้ช่วย ทำให้พ่อค้าอัด ฉีดได้เต็มที่แต่ก็ยังประหยัดไปได้มาก เพราะไม่ต้องประสานกับการเมืองในยุคนี้"

โครงการ 5 แสนเลขหมาย ถือเป็นโครงการยุทธศาสตร์ในการทำธุรกิจของทศทฯเพราะงบประมาณในปี 2547 ของทศทฯประมาณการว่า จะมีรายได้จากการดำเนินการของกลุ่มธุรกิจต่างๆ รวม 39,315 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากโทรศัพท์พื้นฐาน 25,891 ล้านบาทมากเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาเป็นรายได้จากโทรศัพท์สาธารณะ 6,796 ล้านบาท บริการสื่อสารข้อมูล 3,795 ล้านบาท โครงข่ายโทรคมนาคม 1,437 ล้านบาท โทรคมนาคมระหว่างประเทศ 1,319 ล้านบาท และโทรศัพท์ไร้สาย 77 ล้านบาท



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.