ศึก “คอนเวนชั่น”สามเส้าเปิดสงครามแย่งชิงตลาด


ผู้จัดการรายสัปดาห์(30 กรกฎาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

- เมื่อตลาด“ศูนย์ประชุม”หรือ “คอนเวนชั่น”บูม!...
- หลายค่ายธุรกิจต่างพลิกกลยุทธ์แย่งชิงความเป็นหนึ่ง
- ความเปลี่ยนแปลงของตลาด MICE กำลังจะเกิดขึ้น
- ใจกลางเมืองหลวงกลายเป็นสมรภูมิแข่งขันเดือดทางธุรกิจไปแล้ว

เมืองไทยมีโรงแรมระดับต้นๆ ชื่อเสียงเวิรลด์ไวด์ มีสายการบินแถวหน้าของโลก มีสถานที่ท่องเที่ยวหลากหลาย แต่เราขาด "กลุ่มการค้าธุรกิจประชุม" และในช่วงปี 2550-2553 การวางเป้าหมายสร้างไทยให้เป็น "ผู้นำธุรกิจคอนเวนชั่นเอเชีย" ดูท่าจะใกล้ความเป็นจริงขึ้นมา เมื่อการสร้างธุรกิจคอนเวนชั่นที่ใหญ่โตตั้งอยู่ใจกลางเมืองหลวงบนพื้นที่กว่า 20,000 ตารางเมตรของเซ็นทรัลเวิลด์ กลายเป็นจุดขายที่ไม่ธรรมดา ส่งผลให้การแข่งขันแย่งชิงกลุ่มเป้าหมายโดยเฉพาะตลาดประชุมสัมมนา(MICE)ในเขตเมืองหลวง ไม่ว่าจะเป็นศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์และสยามพารากอนฮอลล์ดูจะเข้มข้นขึ้น

การเปิดศึกแย่งชิงตลาดการจัดนิทรรศการแสดงสินค้า ประชุม สัมมนา (MICE) ที่มาจากทั้งในและต่างประเทศ สำหรับธุรกิจ"ศูนย์ประชุม" หรือ "คอนเวนชั่น"เริ่มก่อตัวปะทุเมื่อค่ายเซ็นทรัลฯประกาศขอทวงแชมป์คืนหลังจากห้อง “บางกอกคอนเวนชั่น”ไฮไลต์ที่เคยโด่งดังกว่าทศวรรษเงียบหายไประยะหนึ่ง

ในที่สุดความพยายามของค่ายเซ็นทรัลก็เกิดขึ้นมาอีกครั้งเมื่อเนรมิตห้องคอนเวนชั่นที่มีพื้นที่กว่า 20,000 ตารางเมตรหรือเทียบเท่ากับสนามฟุตบอลถึงสองสนามให้มาอยู่ในใจกลางเมืองหลวงได้สำเร็จ และดูท่าจะสร้างสีสันให้การแข่งขันของตลาดธุรกิจคอนเวนชั่นเปลี่ยนแปลงไปด้วย

การตัดสินใจรีแบรนด์ธุรกิจโรงแรมใหม่ทั้งหมดที่มีอยู่ในมือของกลุ่ม เซ็นทรัล กรุ๊ป กลายเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในรอบหลายทศวรรษ ว่ากันว่าเป็นเพียงเพื่อสลัดภาพศูนย์การค้าออกจากธุรกิจโรงแรมเท่านั้น แต่กูรูโรงแรมหลายแห่งกลับมองว่านี่คือหมากกลที่กลุ่มเซ็นทรัลฯกำลังวางแผนเพื่อใช้แบรนด์ตัวใหม่เป็นยุทธศาสตร์สร้างอาณาจักรทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยนำร่องแบ่งออกเป็น 2 ระดับ ปั้น"เซ็นทารา แกรนด์"หรู 5-6 ดาว ขณะที่ระดับ 4 ดาวจะใช้ชื่อ “เซ็นทารา”ซึ่งจัดได้ว่าเซ็นทรัลเวิลด์มีห้องคอนเวนชั่นที่ใหญ่ที่สุดในธุรกิจโรงแรมด้วยกัน

ภายใต้การบริหารการจัดการของ มร.มิเชล ฮอร์ณ ผู้จัดการทั่วไป โรงแรมเซ็นทรัลเวิลด์และคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ กรุงเทพฯ ที่บอกว่า โครงการเซ็นทรัลเวิลด์มีมูลค่ากว่า 4,400 ล้านบาทและมุ่งให้ความสำคัญต่อสถานที่การจัดประชุม-นิทรรศการ ในธุรกิจไมซ์ทั้งระบบภายในพื้นที่ 20,000 ตารางเมตร

การวางตำแหน่งไว้ตรงที่ความเป็นพรีเมียมและชอปปิ้งและโรงแรมที่มีจำนนห้อง 500 ห้อง และยังมีพื้นที่ส่วนของคอนเวนชันอีก 5,404 ตารางเตร สามารถจัดแบ่งเป็นห้องประชุมได้ถึง 15 ห้อง ซึ่งถูกจัดวางตำแหน่งในลักษณะของไลฟ์สไตล์คอมเพล็กซ์และชอปปิ้งมอลล์โรงภาพยนตร์

“คอนเวนชันฮอล ได้รับการออกแบบ โดยจัดให้ห้องคอนเวนชัน นิทรรศการ การประชุมสามารถปรับเปลี่ยนตำแหน่งการจัดวางพื้นที่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยพื้นที่ยังมีภัตตาคารเลานจ์ อยู่บนชั้น 55 ซึ่งจะมองเห็นวิวของกรุงเทพฯ ได้ชัดเจนที่ชั้นนี้ ในส่วนของอาหารก็จะมีทั้งร้านอาหารในประเทศอาเซียน ญี่ปุ่น และอาหารไทย ซึ่งแต่ละร้านจะมีการออกแบบโดยเน้นความเป็นส่วนตัวของผู้ที่เข้ามาใช้บริการ โดยสื่อถึงความมีชีวิตชีวาและการมีประสบการณ์ร่วมกัน ขณะที่การออกแบบยังใส่ความเย็นสบายของสายน้ำ ไฟ อากาศ ลงไปยังพื้นที่สาธาณะทั้งภัตตาคาร บาร์ เน้นไปยังความแตกต่างของอารมณ์”มร.ฮอร์ณ กล่าวพร้อมกับเสริมว่า

ปัจจุบัน คอนเวนชั่น มียอดจองเข้ามาแล้วทั้งหมดกว่า52 งาน และมีจุดขายตรงที่เป็นโรงแรมคอนเวนชั่นที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีขนาดพื้นที่คอนเวนชั่นถึง 1.7 หมื่นตรม. และรองรับผู้เข้าประชุมได้สูงสุด 8 พันคน

ขณะเดียวกันมีการพัฒนาลงทุนสร้างติดกับโรงแรม 5 ดาว ไปพร้อมกับสร้างศูนย์บริการแบบวันสต็อป เพื่อทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางตลาดไมซ์ ซึ่งกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง และประกาศชัดว่าจากนี้ไปพวกเขาจะทำให้ประเทศไทยเป็นผู้นำธุรกิจคอนเวนชั่น-เอ็กซิบิชั่นแห่งเอเชีย

ขณะเดียวกัน ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรองรับการประชุมของธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ครั้งที่ 46 เมื่อวันที่ 1-15 ตุลาคม พ.ศ. 2534 ที่ผ่านมา โดยรัฐบาลไทยเริ่มดำเนินงานโครงการนี้เมื่อ พ.ศ. 2532 และใช้เวลาการก่อสร้างมากกว่าสองปีจึงแล้วเสร็จ หลังจากการประชุมธนาคารโลกและไอเอ็มเอฟเสร็จสิ้นลง ก็ได้ใช้เป็นสถานที่จัดงานประชุม งานแสดงสินค้าต่าง ๆ มากมายทั้งระดับนานาชาติและในประเทศ

การบริหารจัดการศูนย์ประชุมฯถูกจัดระเบียบใหม่ด้วยการให้ภาคเอกชนเข้ามาดำเนินงานด้านการตลาดซึ่งในช่วงแรกนับว่าศูนย์ประชุมฯได้รับความนิยมจากกลุ่มลูกค้าที่สนใจเข้าไปใช้บริการในระดับหนึ่ง ส่งผลกระทบไม่น้อยสำหรับห้องประชุมจัดเลี้ยงของธุรกิจโรงแรมจนต้องมีการปรับกลยุทธ์ด้วยการอัดโปรโมชั่นออกมาเป็นระลอก

แม้ว่าศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์จะมีเส้นทางเดินทางสะดวกด้วยรถไฟฟ้าใต้ดินก็ตาม แต่ก็ยังมีข้อจำกัดในเรื่องของห้องประชุมสัมมนาที่ถูกแยกออกเป็นสัดส่วนหลายห้อง แน่นอนการจัดงานที่ใช้พื้นที่จำนวนมากจึงเป็นอุปสรรคต่อการเลือกใช้ศูนย์ประชุม ส่งผลให้ลูกค้าที่เข้าไปใช้บริการในปัจจุบันมักจะมีให้เห็นเป็นงานประเภทต่างๆดังนี้ งานรับปริญญาของสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ โดยเฉพาะสถาบันอุดมศึกษาเอกชน งานหนังสือโลก, งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ,งาน SET in the City โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ,งานท่องเที่ยวไทย ,งานแสดงสินค้าต่าง ๆ เช่น เครื่องเรือน, อุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นลูกค้าที่เข้าไปใช้บริการบ่อยที่สุดหรือเรียกได้ว่าเป็นลูกค้าประจำ

การพัฒนาธุรกิจช่วงนี้ ทุกกลุ่มต่างต้องปรับกลยุทธ์ให้เข้ากับบรรยากาศของกำลังซื้อในประเทศ คนมีเงินแต่ใช้จ่ายน้อยลง ด้านสยามพารากอนฮอลล์มองทิศทางการสร้างสรรค์ศูนย์จัดนิทรรศการแสดงสินค้า-ศูนย์ประชุม (exihibition-convention) ถึงการจัดระบบการตลาดแนวใหม่จากการรับงานขนาดใหญ่สู่งานขนาดเล็กซึ่งมีเงินใช้ไม่ขาดมือ และการวางยุทธศาสตร์จัดหมวดอาคาร แยกการขายออกเป็น 2 กลุ่ม เอ็กซิบิชั่น คอนเวนชั่น

ขณะที่การเตรียมจัดระบบตลาดและการขายให้มีความแข็งแกร่งฝ่ากระแสความผันผวนเศรษฐกิจ กลุ่มของสยามพารากอนยอมรับว่าทุกวันนี้หลายธุรกิจมุ่งจะใช้ประโยชน์จากพื้นที่ของสยามพารากอน ซึ่งอาจจะเป็นเพราะจุดขายที่โดดเด่นในเรื่องของการเดินทางที่มีรถไฟฟ้าผ่าน และอยู่ย่านใจกลางเมืองหลวงอย่างสยามสแควร์ ดังนั้นกลุ่มลูกค้าที่เข้ามาใช้จึงหวังผลที่จะได้นำเสนอตรงกลุ่มเป้าหมายได้มากที่สุด ซึ่งจะผิดกับศูนย์ประชุมและเซ็นทรัลเวิลด์ที่มุ่งรับจัดงานขนาดใหญ่ระดับประเทศและอินเตอร์ จนภาพลักษณ์ทุกวันนี้ตลาดเห็นว่าต้องงานใหญ่ถึงจะมาจัดได้ เพราะมีพื้นที่กว้างมาก แต่ละงานต้องใช้งบประมาณสูงหลายสิบล้านบาทขึ้นไป

ดังนั้นปรับกลยุทธ์ใหม่จึงต้องเน้นหันมาเจาะกลุ่มเป้าหมายงานขนาดเล็กที่ยังมีกำลังซื้อเหลือเฟือ แม้สภาพเศรษฐกิจจะขึ้นหรือลงก็ตาม เค้กก้อนใหญ่คือ ตลาดประชุมสัมมนา (meeting) และได้รับรางวัล (incentive) งานจากในประเทศและต่างประเทศ โดยมีการตั้งเป้าขยายฐานลูกค้า M+I อย่างจริงจัง โดยสร้างทีมขายขึ้นมา บุกหางานขนาด 50 คน 200 คน 400 คน สำรวจและวิเคราะห์เปรียบเทียบลูกค้ากลุ่มนี้ เดิมเคยใช้โรงแรมเป็นสถานที่จัดงาน แต่ตอนนี้เริ่มเบนเข็มไปใช้เอ็กซิบิชั่นที่มีห้องประชุมและบริการเทียบเท่าโรงแรม ซึ่งได้ราคาถูกกว่า การเดินทางสะดวกกว่า ซึ่งสยามพารากอนฮอลล์ก็สามารถตอบโจทย์นี้ได้ทั้งหมด

หาดพูดถึงจุดแข็งหลักคือราคากับความสะดวกในการเดินทางเข้าออก จากนั้นก็เป็นเรื่องบริการ อย่างแรกต้องให้ความสำคัญกับลูกค้าทุกขนาดเท่าเทียมกัน บริการก็ต้องเหมือนกันทุกอย่าง และต้องไม่ให้ลูกค้าผิดหวังด้วยการทำโปรแกรมยืดหยุ่นให้ความต้องการของลูกค้าแต่ละราย

แน่นอนกลุ่มลูกค้าประชุมสัมมนา อินเซนทีฟ ขนาดกลางและเล็กก็จะเริ่มไหลมาสยามพารากอนฮอลล์มากขึ้น ไม่เฉพาะสิ่งอำนวยความสะดวกที่สามารถจัดใกล้เคียงกัน แต่สิ่งที่มีมากกว่าคือ สถานที่มีความหลากหลาย การคมนาคมขนส่งสะดวกใกล้ชุมชนเมือง มีลานจอดรถใหญ่เพียงพอที่จะรองรับ

ปัจจุบันทุกค่ายพยายามปรับกลยุทธ์ให้ถึงเป้าหมายที่วางไว้ โดยเฉพาะงานหลักๆที่เข้ามาใช้บริการจัดประจำก็ยังมีอยู่ ส่วนที่ต้องหาเพิ่มคืองานและลูกค้าใหม่ ซึ่งตลาดส่วนใหญ่จะพุ่งเป้าเจาะกลุ่มขนาดกลางและขนาดเล็ก ทั้งงานแต่งงาน ประชุมสัมมนา รวมถึงอีเว้นท์ของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งว่ากันว่างานเล็กๆ ถ้านำมารวมกันแล้วบริการดีๆ ช่องทางและโอกาสทางการค้าจะเติบโตอย่างมั่นคงในระยะยาว ขณะเดียวกันธุรกิจโรงแรมก็เป็นอีกแนวคิดหนึ่งที่จะช่วยเป็นอีกทางเลือกที่สามารถให้บริการลูกค้าทุกตลาดได้ครบวงจร

ถึงเวลาเอาจริงกับธุรกิจ“MICE”...

ปัจจุบันภาพรวมของธุรกิจไมซ์(MICE) ในเมืองไทย ตลาดยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านการจัดประชุมสัมมนาและการท่องเที่ยวแบบให้รางวัลที่ว่ากันว่าในแต่ละปีมีอัตราเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 10 ส่งผลให้ตลาดวิจัยนิทรรศการขยับตัวสูงขึ้นตามอีก 20%

ปัจจุบัน 145 ประเทศทั่วโลกถูกจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจไมซ์ โดย World Economic Forum 2006 ซึ่งปรากฏว่าประเทศไทยอยู่อันดับที่ 43 ขณะประเทศคู่แข่งในตลาดอย่างมาเลเซียอยู่อันดับที่ 31 สิงคโปร์อยู่อันดับ 8 ฮ่องกงอยู่อันดับ 6 ญี่ปุ่นอันดับ 25 ไต้หวันอันดับ 30 เกาหลีใต้อันดับที่ 42

ขณะที่ขีดความสามารถในศักยภาพความพร้อมของการแข่งขันด้านกฎระเบียบที่เอื้อต่อธุรกิจนั้น สิงคโปร์อยู่อันดับ 1 ฮ่องกงอันดับ 4 มาเลเซียอันดับ 27 ญี่ปุ่นอันดับ 28 ส่วนไทยจัดอยู่อันดับ 41 ส่งผลให้ประเทศไทยนำหน้ามาเลเซียมาโดยตลอด

แน่นอนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันย่อมกระทบกับ ภาระกิจหลักของสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ(องค์การมหาชน) หรือ สสปน. ที่จะผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมตลาด ไมซ์ในภูมิภาคแถบอาเซียน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้วยการตั้งเป้าประเทศไทยให้เป็นฮับ ภายในปีพ.ศ.2554 กับตัวเลขเป้าหมายตลาดไมซ์ในปี 2550 เพิ่มเป็น 870,000 คน จะสามารถสร้างรายได้รวมกว่า 5.9 หมื่นล้านบาททีเดียว

แต่ทุกสิ่งกลับกลายเป็นแค่เพียงฝันเมื่อ ผอ.สสปน.อย่าง ร.อ.ขจิต หัพนานนท์ ได้ลาออกไปก่อนหน้านี้ส่งผลให้ สสปน.ในวันนี้ไร้ซึ่ง "Business Connection Man"กุญแจดอกสำคัญที่จะไขปมปัญหาของธุรกิจไมซ์ให้ลุล่วงไปด้วยดี

ท่ามกลางกระแสความเสียดายของภาคเอกชนที่ขาดคนฝีมือดีและเป็นความหวังให้กับธุรกิจไมซ์มาโดยตลอด

ช่วงระยะเวลาเพียงแค่ 3 ปีของการเกิดองค์การมหาชนอย่างสสปน.ขึ้นมา แม้ว่าการผลักดันจัดตั้งองค์กรขึ้นมาส่วนใหญ่จะเป็นภาคเอกชนก็ตาม แต่ถ้าได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐก็จะสามารถขึ้นมาผงาดต่อสู้กับคู่แข่งต่างชาติได้ไม่น้อยหน้าทีเดียว ซึ่งผิดไปจากต่างประเทศที่เริ่มต้นสร้างอุตสาหกรรมไมซ์ขึ้นในประเทศมาก่อนหน้าและได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอีกด้วย เพราะฉะนั้นการจะก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางในอุตสาหกรรม ไมซ์ในแถบภูมิภาคนี้ได้จำเป็นต้องใช้สูตรสำเร็จบนทางด่วนแบบเร่งรัด ในลักษณะของ Copy&Clone

สูตรสำเร็จของต่างประเทศอย่างประเทศสิงคโปร์ในภาคธุรกิจไมซ์ถูกมองว่าเกิดขึ้นจากการได้รับเงินกองทุนสนับสนุนจากรัฐบาลสิงคโปร์กว่า 108 ล้านเหรียญ หรือมากกว่า 3,600 ล้านบาท เพื่อใช้ทำการตลาดไมซ์ช่วงปี 2550-2552 นี้ ขณะเดียวกันประเทศมาเลเซีย ที่ยอมทุ่มทุนโปรโมทและสร้างตลาดจนแซงหน้าไทยไปแล้ว เตรียมพร้อมที่จะเปิดศูนย์แสดงสินค้าแห่งใหม่หวังรองรับตลาดอีกไม่นานในอนาคต รวมถึงเวียดนามประเทศที่น่าจับตามองเพราะมีการเร่งสร้างสนามบินนานาชาติแห่งใหม่ ไว้รองรับผู้โดยสารได้มากกว่า 80 ล้านคน และถ้าทุกอย่างลงตัวประเทศเวียดนามก็จะกลายเป็นคู่แข่งสำคัญของประเทศไทย

ความได้เปรียบของคู่แข่งขันต่างประเทศกำลังกลายเป็นปัญหาสำคัญที่ประเทศไทยต้องเร่งสะสางสำหรับธุรกิจไมซ์ ซึ่งเป็นโจทย์ที่หาคำตอบยากอย่างนักในช่วงภาวะ "สุญญากาศ" ของตำแหน่ง "ผู้อำนวยการสสปน." อีกด้วย

สอดคล้องกับที่ ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล ประธานกรรมการสสปน. และ นิพัทธ์ ดิถีเพ็ญ รองผู้อำนวยการ สสปน. ที่นั่งรักษาการตำแหน่งผู้อำนวยการ สสปน. ที่เชื่อว่า สาเหตุใหญ่ของอันดับการแข่งขันธุรกิจไมซ์ไทยที่ลดลงมาจากกฎระเบียบที่ "เข้มงวด" เกี่ยวกับการนำอุปกรณ์และเดินทางเข้ามาจัดประชุมและแสดงนิทรรศการในเมืองไทย และความวุ่นวายทางการเมืองเป็นสาเหตุสำคัญของเรื่องนี้

ส่งผลให้ด้านของ สสปน. มีการปรับลดเป้าหมายการท่องเที่ยวสำหรับกลุ่มไมซ์ลง จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ว่าสิ้นปี 2550 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวกลุ่มไมซ์ 8 แสนคน ก็ลดลงเหลือ 7.5 แสนคน หรือ คิดเป็น 10% ของเป้าหมาย

แม้ว่าภาคเอกชนจะพยายามแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ด้วยการประสานไปยังกระทรวงต่างประเทศ และกรมส่งเสริมการส่งออก เพื่อขอผ่อนปรนกฎระเบียบที่เข้มงวดเหล่านี้ หวังกระตุ้นธุรกิจไมซ์ให้มีความคึกคักขึ้นมา แต่ทุกอย่างก็ดูจะเงียบหายไปความเคลื่อนไหวเพื่อสนับสนุนภาคเอกชนแทบจะไม่มีคำตอบที่เป็นรูปธรรมมากนัก

กอปรกับสสปน.ยังคงมีงานช้างที่ค้างคาอยู่ถึง 3 โครงการ ซึ่งก็ได้แต่เพียงเฝ้ารอผู้อำนวยการสสปน.คนใหม่เข้ามาสานต่อ อาทิโครงการเปิดทองหลังพระ, โครงการพัฒนาความรู้ความสามารถด้านไมซ์ กว่า 12 โครงการและโครงการ Branding องค์กร ซึ่งยังไม่มีใครสามารถทราบถึงอนาคตที่ชัดเจนได้

ดูท่าว่า...ตำแหน่งผู้อำนวยการสสปน.คนใหม่ ซึ่งจะถูกคัดเลือกแต่งตั้งขึ้นราวๆเดือนตุลาคมศกนี้ คงจะเป็นเพียงความหวังเดียวเท่านั้นที่จะสามารถปลุกปั้นให้โครงการต่างๆเป็นรูปธรรมชัดเจน มากกว่าที่จะต้องมานั่งรอคำตอบจากภาครัฐ จึงไม่น่าแปลกใจว่าคู่แข่งต่างประเทศที่ประกอบธุรกิจไมซ์ถึงถูกจัดอันดับให้อยู่ในระดับท็อปเท็นเพราะเขาเห็นความสำคัญของธุรกิจมากกว่านั่นเอง...แม้ว่าประเทศไทยจะมีศักยภาพความพร้อมในทุกๆด้านก็ตามหากภาครัฐยังคงนิ่งเฉยขาดการสนับสนุนเต็มที่เชื่อได้เลยว่าการยกระดับให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมไมซ์ในแถบเอเชียคงเป็นได้แค่เพียงความฝันเท่านั้น


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.