|
บาทแข็งลามกระทบทุกวงการรากหญ้าตายสนิทนายทุนดิ้นพล่าน!
ผู้จัดการรายสัปดาห์(30 กรกฎาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
มาตรการแก้ปัญหาค่าบาทไร้ประสิทธิภาพ บาทเดินหน้าแข็งต่อเนื่อง กระทบไม่เฉพาะภาคส่งออก แต่ลามไปถึงรากหญ้าที่ผลิตวัตถุป้อน อาจถึงขึ้นเปลี่ยนอาชีพ พร้อมเตือนหาทางรับมือบาทอ่อนเร็วหากเงินร้อนต่างชาติย้ายตลาดหนีเมืองไทย
เหลือเวลาอีกไม่ถึง 2 เดือนก็จะครบรอบการยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลชุดก่อนของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.) แต่สถานการณ์ในประเทศยังอยู่ในอาการทรงกับทรุด หลังจากกลุ่มอำนาจเดิมเร่งเครื่องโชว์ผลงานปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจกับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ(นปก.)เมื่อ 22 กรกฎาคม 2550 และมีแนวโน้มว่ามีการปะทะกันอีกในไม่ช้า
ขณะที่ด้านเศรษฐกิจก็ถูกกระหน่ำด้วยค่าเงินบาทแข็ง จากการไหลเข้ามาของเม็ดเงินต่างชาติ ทั้งจากนโยบายความต้องการของเจ้าของสกุลเงินดอลลาร์ที่ต้องการเห็นดอลลาร์อ่อน เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจในประเทศ หรือผลตอบแทนจากการลงทุนในประเทศแถบเอเชียรวมถึงประเทศไทย
จากเงินบาทที่ระดับ 36 บาทเมื่อต้นปีแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง จนลงมาทดสอบแถว ๆ 32 บาทเศษ เม็ดเงินที่ไหลเข้าเฉพาะในส่วนของตลาดหุ้นมียอดซื้อสุทธิกว่า 1.32 แสนล้านบาท ดันให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์เพิ่มขึ้นมากว่า 200 จุด หรือปรับเพิ่มขึ้นมาเฉียด 30% ไม่สนใจว่าสภาพเศรษฐกิจและบรรยากาศทางการเมืองจะคุกรุ่นแค่ไหน
ฟันกำไรหุ้น-อนุพันธ์
แม้รัฐบาลและทีมเศรษฐกิจรวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทยจะพยายามหาทางสกัดกันการไหลเข้ามาของเงินดอลลาร์ ด้วยมาตรการต่าง ๆ แต่ก็ไม่สามารถสกัดกั้นเม็ดเงินมหาศาลที่ไหลเข้ามาได้
"ต้องยอมรับว่าเงินส่วนใหญ่ไหลเข้ามาในตลาดหุ้นเป็นหลัก ส่วนหนึ่งคือตลาดหุ้นบ้านเรายังถูกกว่าเพื่อนบ้าน ซึ่งพวกเขาได้กำไรจากตลาดหุ้นในประเทศเพื่อนบ้านเรามาแล้ว จึงหาตลาดอื่นที่ยังสามารถลงทุนได้นั่นคือตลาดหุ้นของไทย"นักเศรษฐศาสตร์มหภาคกล่าว
ทั้งนี้เนื่องจากในตลาดพันธบัตรนั้นมีเรื่องของมาตรการกันสำรอง 30% ที่ออกเมื่อปลายปี 2549 ยังบังคับใช้อยู่ ทำให้เงินร้อนเหล่านี้ต้องมาที่ตลาดหลักทรัพย์เพราะไม่ติดขัดในเรื่องการกันสำรอง
ดังนั้นหุ้นขนาดใหญ่จึงถือเป้าหมายหลักในการเข้าซื้อ ซึ่งพวกเขาไม่ได้เข้าไปซื้อเฉพาะหุ้นรายตัวเท่านั้น บางกลุ่มเพิ่มช่องทางทำกำไรอีกหนึ่งช่องทางด้วยการเข้าไปซื้ออนุพันธ์ในตลาดอนุพันธ์หรือ TFEX ที่จำนวนสัญญาที่ทำการซื้อขายนั้นสูงจนทำลายสถิติกันเป็นว่าเล่น
หุ้นในกลุ่มพลังงานที่มีน้ำหนักในการคำนวณดัชนีราว 30% กระชากให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ทะยานขึ้นอย่างรวดเร็ว
หลายคนอาจจะรู้สึกดีที่ตลาดหุ้นคึกคัก แต่ภายใต้ความคักคักของตลาดหุ้นนั้นจะพบว่าหุ้นอย่าง ปตท.หรือ PTT และอีกหลายตัวในกลุ่มพลังงานนั้นปรับตัวขึ้นจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้นเหล่านี้
แต่การที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นเกิดผลดีกับเศรษฐกิจของประเทศไทยหรือไม่ คำตอบคือไม่ ราคาน้ำมันเบนซินในปีนี้เคยปรับขึ้นเกินกว่าลิตรละ 30 บาทไปช่วงหนึ่งแล้ว แต่โชคดีที่ค่าเงินบาทแข็งช่วยลดความแพงของราคาน้ำมันไปในตัว
หากค่าเงินบาทเริ่มกลับสู่ภาวะปกติ ขณะที่ราคามันยังอยู่ในระดับสูงเท่าเดิมแล้ว ราคาน้ำมันในประเทศจะเป็นเท่าไหร่ จะกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยมากน้อยแค่ไหน ตรงนี้ผู้ที่มีหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะต้องมองถึงประเด็นเหล่านี้ด้วย
ลามถึงรากหญ้า
ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วในเวลานี้ทำให้เกิดผลกระทบกับภาวะเศรษฐกิจ เห็นได้จากโรงงานไทยศิลป์ฯ ที่แม้จะพยายามเปิดโรงงานแต่สุดท้ายก็ต้องปิดตัวลงไปในที่สุด และยังมีผู้ผลิตอีกหลายหลายที่ประสบปัญหาเรื่องนี้เช่นกัน
เห็นได้จากข้อมูลที่สมาคมบริษัทจดทะเบียน เปิดเผยถึงการหารือกับบริษัทจดทะเบียนจำนวน 120 บริษัท เพื่อหาทางรับมือกับค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นว่า จากการสอบถามบริษัทจดทะเบียนจำนวน 40 บริษัท ผู้ตอบแบบสอบถามในสัดส่วนร้อยละ 90 ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ทั้งรายได้และค่าใช้จ่าย แต่ในสัดส่วนร้อยละ 80 ระบุว่าได้ปรับตัวด้วยการทำสัญญาซื้อขายค่าเงินบาทไว้ล่วงหน้า และต้องลดต้นทุนในการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ให้ต่ำลง
กรณีนี้เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่ยังพอมีช่องทาง และมีเงินทุนเพียงพอที่จะประคองสถานการณ์ได้ แต่บริษัททั่วไปที่ปิดตัวจากผลของค่าเงินบาทก่อนโรงงานไทยศิลป์ฯ ก็มี ดังนั้นเมื่อประเมินจากมาตรการของทางการที่มีประสิทธิภาพในการสกัดค่าเงินบาทได้น้อย จึงเป็นห่วงว่าภาคการผลิตเพื่อส่งออกอาจจะต้องปิดตัวลงอีกในไม่ช้า
ผลกระทบที่ตามมาเป็นลูกโซ่นั่นคือผู้ผลิตรายอื่นที่ป้อนวัตถุดิบให้กับภาคการผลิตเหล่านี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาคเกษตรกรรมจะต้องได้รับผลกระทบตามไปด้วย เริ่มแรกอาจจะต้องถูกกดราคาที่โรงงานนั้นรับซื้อให้ต่ำลงเพื่อให้โรงงานอยู่ได้ เมื่อผลิตแล้วไม่คุ้มกับต้นทุน เกษตรกรเหล่านั้นก็อาจต้องเลิก กลายเป็นผู้ไม่มีรายได้ รวมถึงพนักงานในโรงงานอุตสาหกรรมเหล่านั้นถ้าบริษัทไม่สามารถอยู่ได้พวกเขาก็ต้องตกงาน
ระวังไหลออก-บาทอ่อนเร็ว
ในทางกลับกันหากเงินร้อนของนักลงทุนต่างชาติเหล่านี้ สามารถสร้างผลตอบแทนได้ตามเป้าหมายแล้ว และเคลื่อนย้ายไปลงทุนในตลาดอื่นแทน เราจะได้เห็นดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวลดลง นั่นหมายถึงค่าเงินบาทของเราก็จะอ่อนค่า แม้จะเป็นผลดีต่อภาคการส่งออก แต่ถ้าราคาน้ำมันในตลาดโลกยังอยู่ในระดับสูงแล้ว ย่อมกระทบต่อกำลังซื้อของคนในประเทศตามมาอีกในไม่ช้า
เงินที่เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นช่วงที่ผ่านมาถือเป็นเงินระยะสั้นที่พร้อมจะเคลื่อนย้ายออกได้ตลอดเวลา หากสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไม่ดี มีความรุนแรง หรือเจอแหล่งอื่นที่สร้างผลตอบแทนสูงกว่า
เงินเหล่านี้ไม่ใช่เงินที่เข้ามาสร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศ เหมือนกับเงินลงทุนโดยตรงในกิจการหรือภาคอุตสาหกรรม ที่เป็นการลงทุนระยะยาว ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ประเทศไทยอยากให้เงินประเภทนี้เข้ามา
แม้ว่าดัชนีตลาดหุ้นจะปรับเพิ่มขึ้นมาเกือบ 30% ในช่วง 7 เดือน แต่เม็ดเงินเหล่านี้ไม่ได้เข้ามาสร้างหรือกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทยให้ดีขึ้น เห็นได้จากตัวเลขการจำหน่ายรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในช่วง 5 เดือนมียอดจำหน่ายลดลง 13.9% และ 22.6% หรือสังเกตุจากการปรับตัวของห้างโมเดิร์นเทรดรายใหญ่ที่ต้องออกโปรโมชั่นการผ่อนชำระเพื่อซื้อสินค้า ด้วยการให้ผ่อนชำระได้ยาวขึ้น
เดิมพวกเครื่องใช้ไฟฟ้ามักจะให้ผ่อนดอกเบี้ย 0% แค่ 6 เดือนหรือ 12 เดือนเท่านั้น แต่ขณะนี้เราได้เห็นการยืดระยะเวลาการผ่อนชำระให้ยาวออกไปเป็น 24 เดือนหรือ 36 เดือนกันแล้ว นั่นเป็นการสะท้อนถึงบรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยของภาคประชาชนลดลงไปค่อนข้างมาก
แม้กระทั่งตัวเลขการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในรอบ 5 เดือน เมื่อคิดเฉลี่ยต่อบัตรแล้วมียอดการใช้จ่ายที่ลดลง ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากเกณฑ์ใหม่ของธนาคารแห่งประเทศไทย แต่อีกส่วนหนึ่งเกิดจากความไม่เชื่อมั่นของผู้บริโภค อย่างไรก็ตามในช่วงที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นพบว่าคนไทยเริ่มเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศมากขึ้นเห็นได้จากยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรที่ใช้จ่ายในต่างประเทศที่อยู่ในทิศทางที่เพิ่มขึ้น
สิ่งที่เกิดขึ้นได้ส่งผลกระทบไปยังภาครัฐหลังจากที่กรมสรรพากรออกมายอมรับว่า รายได้การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในรอบ 8 เดือน จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 4,104 ล้านบาท เนื่องจากการบริโภคที่ชะลอตัวลงและค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น สถานการณ์อย่างนี้นับว่าไม่เป็นผลดีต่อสภาพเศรษฐกิจในประเทศ
แม้ประเทศไทยจะเจอปัญหาเรื่องค่าเงินบาทมาตั้งแต่ปี 2540 แต่ถึงวันนี้มาตรการที่จะลดความผันผวนของค่าเงินบาทของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องยังไม่มีเครื่องมือที่ดีพอที่จะมาจัดการให้ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพ ส่วนใหญ่เป็นเพียงการเข้าไปแก้ปัญหาเฉพาะหน้าตามสถานการณ์เท่านั้น
มาตรการแก้บาทสกัดไม่อยู่
มาตรการแก้ไขปัญหาค่าเงินบาททั้ง 6 มาตรการ ที่ได้รับความเห็นชอบในหลักการจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อ 24 กรกฎาคม 2550 ประกอบด้วย
1. ให้ธุรกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่มีศักยภาพและกำกับดูแลจากหน่วยงานของรัฐอยู่แล้ว สามารถซื้อเงินตราต่างประเทศเพื่อลงทุนโดยตรงในต่างประเทศได้ไม่เกินจำนวน 100 ล้านดอลลาร์ สรอ. ต่อปี ทั้งนี้ ธุรกิจที่จดทะเบียนดังกล่าวต้องเป็นธุรกิจที่มีส่วนของผู้ถือหุ้นในปีบัญชีที่ผ่านมาเป็นบวก และไม่อยู่ในกลุ่มบริษัทที่เข้าข่ายถูก เพิกถอนการจดทะเบียน (Rehabilitation)
2. ให้บุคคลไทย ทั้งที่เป็นนิติบุคคล และบุคคลธรรมดามีความคล่องตัวในการฝากเงินที่เป็นสกุลเงินตราต่างประเทศไว้กับสถาบันการเงินในประเทศมากขึ้น โดยมีรายละเอียด 2 ประการ คือ
2.1 ผู้ที่มีเงินตราต่างประเทศอันมีแหล่งที่มาจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะได้มาด้วยวิธีการใด อาทิ รับชำระค่าสินค้าออก หรือกู้ยืมจากต่างประเทศ สามารถฝากเงินตราต่างประเทศกับสถาบันการเงินในประเทศไทยได้ โดยมีหลักเกณฑ์ดังนี้ ก. ประเภทที่มีภาระผูกพันที่จะต้องใช้เงินตราต่างประเทศในอนาคต : นำฝากได้ไม่เกินภาระที่มีในช่วง 12 เดือนข้างหน้า แต่ยอดคงค้างรวมต้องไม่เกิน 1 ล้านดอลลาร์ สรอ. สำหรับบุคคลธรรมดา และ 100 ล้านดอลลาร์ สรอ. สำหรับนิติบุคคล ข. ประเภทไม่มีภาระผูกพัน : ยอดคงค้างรวมทุกบัญชีไม่เกิน 100,000 ดอลลาร์ สรอ. สำหรับบุคคลธรรมดา และ 5 ล้านดอลลาร์ สรอ. สำหรับนิติบุคคล
2.2 ผู้ที่มีเงินตราต่างประเทศอันมีแหล่งที่มาจากในประเทศ โดยการนำเงินบาทซื้อหรือแลกเปลี่ยนเป็นสกุลเงินตราต่างประเทศ หรือกู้ยืมจากสถาบันการเงินภายในประเทศไทย แล้วนำเงินตราต่างประเทศดังกล่าวฝากไว้กับสถาบันการเงินในประเทศไทย มีหลักเกณฑ์ ดังนี้
ก. ประเภทที่มีภาระผูกพันที่จะต้องใช้เงินตราต่างประเทศในอนาคต : นำฝากได้ไม่เกินภาระที่มีในช่วง 12 เดือนข้างหน้า แต่ยอดคงค้างรวมต้องไม่เกิน 500,000 ดอลลาร์ สรอ. สำหรับบุคคลธรรมดา และ 50 ล้านดอลลาร์ สรอ. สำหรับนิติบุคคล
ข. ประเภทไม่มีภาระผูกพัน : ยอดคงค้างรวมทุกบัญชีไม่เกิน 50,000 ดอลลาร์ สรอ. สำหรับบุคคลธรรมดา และ 200,000 ดอลลาร์ สรอ. สำหรับนิติบุคคล
3. ปรับวงเงินที่บุคคลในประเทศไทยประสงค์จะโอนไปต่างประเทศในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ การโอนเงินให้ญาติที่มีถิ่นที่อยู่ถาวรในต่างประเทศ หรือการบริจาคให้แก่สาธารณประโยชน์ รวมถึง การโอนเงินเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ ให้อยู่ในเกณฑ์เดียวกัน คือ โอนเงิน แต่ละวัตถุประสงค์ได้ไม่เกิน 1 ล้าน ดอลลาร์ สรอ. หรือเทียบเท่าต่อรายต่อปี
4. ปรับข้อกำหนดให้บุคคลในประเทศที่มีรายรับเงินตราต่างประเทศจากเดิมที่ต้องนำเงินดังกล่าวเข้าประเทศภายใน 120 วัน (หากเกิน 120 วัน แต่ไม่เกิน 360 วัน สถาบันการเงินสามารถอนุญาตแทนเจ้าพนักงานควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน) เป็นต้องนำเงินดังกล่าวเข้าประเทศภายใน 360 วัน เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน ซึ่งจะทำให้ธุรกิจไทยคล่องตัวมากขึ้นในการให้สินเชื่อทางการค้าแก่ลูกค้าในต่างประเทศ
5. ยกเลิกข้อกำหนดให้บุคคลในประเทศที่ได้รับเงินตราต่างประเทศต้องขายหรือฝากภายใน 15 วัน ซึ่งนอกจากจะทำให้ผู้ได้รับเงินตราต่างประเทศมีความยืดหยุ่นมากขึ้นในการบริหารจัดการเงินตราต่างประเทศที่ตนได้รับแล้ว ยังเอื้อให้สถาบันการเงินสามารถกำหนดวิธีปฏิบัติให้สอดคล้องกับการดำเนินงานของตนอีกด้วย ทั้งนี้ สถาบันการเงินต้องแจ้ง โดยประกาศกำหนดให้ลูกค้าทราบเป็นการทั่วไป ซึ่งจะทำให้ลูกค้าสามารถเลือกใช้บริการจากสถาบันการเงินได้ตามที่เห็นสมควร
6. ปรับระเบียบการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศของผู้ลงทุนประเภทสถาบันให้สามารถลงทุนในรูปของเงินฝากกับสถาบันการเงินต่างประเทศได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตจาก เจ้าพนักงานควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน โดยเงินฝากดังกล่าวให้นับรวมในวงเงินที่สามารถลงทุนในหลักทรัพย์ได้ตามที่ระเบียบควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินกำหนดไว้ เพื่อให้ผู้ลงทุนประเภทสถาบันมีความคล่องตัวมากขึ้นในการบริหารการลงทุนได้ผลน้อย
นักเศรษฐศาสตร์รายหนึ่งกล่าวว่า มาตรการที่แก้ปัญหาค่าเงินบาทของรัฐบาลนั้นน่าจะได้ผลค่อนข้างน้อยหากเทียบกับเม็ดเงินของนักลงทุนต่างชาติที่ไหลเข้ามาในประเทศไทย เนื่องจากจำนวนธุรกรรมที่ทางการเปิดโอกาสให้นั้นถือว่าเป็นวงเงินที่ไม่มาก โดยเฉพาะเรื่องการฝากเงินในสกุลดอลลาร์ หรือการนำเงินออกไปลงทุนในต่างประเทศก็มีไม่กี่บริษัทที่มีศักยภาพพอที่จะไปลงทุนในต่างประเทศ
เพราะการไปลงทุนในต่างประเทศนั้นจะต้องมีการเตรียมการที่รอบคอบ ทั้งในเรื่องความเสี่ยงในด้านการลงทุนรวมถึงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนหากสามารถสร้างรายได้แล้วนำกลับประเทศ
นอกจากนี้ในเรื่องการอนุญาตให้ผู้ส่งออกสามารถถือครองเงินดอลลาร์ได้นานขึ้นนั้น คงไม่สามารถทำได้ทั้งจำนวน เนื่องจากผู้ส่งออกเหล่านี้ต้องมีภาระหน้าที่ในการต้องจ่ายค่าจ้าง ค่าแรง ค่าวัตถุดิบหรือค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แม้ทางการจะอนุญาตให้ถือครองเงินดอลลาร์ได้นานขึ้น แต่ในทางปฎิบัติพวกเขาก็ต้องแปลงดอลลาร์เป็นเงินบาทอยู่ดี เพื่อนำมาจ่ายค่าใช้จ่ายต่าง ๆ
เมื่อเม็ดเงินที่มีโอกาสออกไปน้อย และความจำเป็นที่ต้องแปลงดอลลาร์เป็นเงินบาทย่อมทำให้แนวทางแก้ปัญหาค่าเงินบาทของรัฐบาลอาจไม่ได้ผลมากนัก แม้ก่อนหน้านี้เมื่อ 18 กรกฎาคมคณะกรรมการนโยบายการเงินจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตร 1 วันลง 0.25% จาก 3.5% เหลือ 3.25% เพื่อช่วยลดการแข็งค่าของเงินบาทแล้วก็ตาม
หรือแม้แต่การเปิดทางให้บริษัทหลักทัพย์จัดการกองทุนรวมออกกองทุนที่นำไปลงทุนต่างประเทศ(FIF) ที่ผ่านมากองทุน FIF ส่วนใหญ่แม้จะให้ผลตอบแทนที่ดี แต่มักจะเกิดจากส่วนต่างของค่าเงินบาทเป็นหลัก ผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจากการลงทุนจริง ๆ ถือว่าไม่สูงนัก
หากทางการจะแก้ปัญหาค่าเงินบาทแข็งให้ได้อย่างได้ผลน่าจะเป็นการให้รัฐวิสาหกิจเร่งชำระหนี้เงินกู้ต่างประเทศที่มีอยู่ประมาณ 8.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ แต่เมื่อพิจารณาลงไปจะพบว่าหนี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาว มีระยะสั้นค่อนข้างน้อย และต้องไปสำรวจความพร้อมของรัฐวิสาหกิจเหล่านั้นว่าสามารถชำระหนี้เหล่านี้ได้ก่อนกำหนดหรือไม่
ที่สำคัญรัฐบาลจะพร้อมหรือไม่หากรัฐวิสาหกิจนั้นจ่ายหนี้คืนก่อนกำหนด แต่ไม่สามารถนำส่งรายได้เข้ารัฐ ที่อาจจะทำให้มีปัญหาเรื่องงบประมาณตามมา
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|