|
ปฏิบัติการดึงเสถียรภาพค่าเงินบาทความล่าช้าที่ทิ้งไว้เป็นปัญหาเรื้อรัง
ผู้จัดการรายสัปดาห์(30 กรกฎาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
ทั้งที่เงินบาทส่งสัญญาณแข็งค่ามาตั้งแต่ปี 2549 แต่กลับไม่มีการตื่นตัวในปรากฏการที่เกิดขึ้น ตรงกันข้ามได้แต่มองว่าเป็นเรื่องของความไม่สมดุลทางภาวะเศรษฐกิจ อีกทั้งการแข็งค่าของสกุลเงินบาทก็ยังสอดคล้องกับประเทศในเอเชีย โดยลืมคำนึงถึงหลายปัจจัยที่ประเทศไทยแตกต่างจากเพื่อนบ้าน ท้ายสุดเมื่อปัญหาไม่ได้รับเยียวยาแต่เนิ่นๆก็เหมือนแผลเรื้อรัง จนส่งผลเป็นที่ประจักษ์ให้เห็นเช่นดั่งทุกวันนี้
ไม่ว่าจะเป็นการปิดโรงงานของผู้ประกอบการส่งออก ที่อ้างว่าได้รับผลกระทบจากพิษบาทแข็ง..(แม้ความจริงมีหลายปัจจัยที่ไม่ได้พูดออกมาก็ตาม..แต่ค่าบาทก็กลายเป็นจำเลยของสังคม)....หรือบางรายต่อให้ไม่ปิดโรงงานเซฟต้นทุนสุดๆก็ยังเอาตัวแทบไม่รอด...เรียกว่าผลกระทบหนนี้รับกันถ้วนหน้า โดยเฉพาะผู้ประกอบการส่งออกประเภทสิ่งทอ ภาคการเกษตรซึ่งเป็นกลุ่มที่มีมาร์จิ้นจากการดำเนินธุรกิจต่ำ
ย้อนไปในปี 2549 ที่ค่าบาทเริ่มให้สัญญาณอันตราย จากต้นปีที่เคยอยู่ประมาณ 41 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ก็วิ่งขึ้นระกับ 39 ขึ้นมาเรื่อย ๆ จนปลายปีแตะที่ 36บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ กระทั้งสร้างสถิติสูงสุดในรอบ 9 ปี ในวันที่ 19 มีนาคม ด้วยการขึ้นแตะระดับ 34.82-34.84บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ดูเหมือนการแข็งค่าดังกล่าวยังไม่น่าตกใจเท่าวันนี้ เพราะอดีตที่ผ่านมาเงินบาทค่อยๆขยับแข็งค่า และมีนิ่งบ้างในบางเวลา
จนกระทั้งต้นสัปดาห์กรกฎาคม 2550 เงินบาทจากที่เคยนิ่งอยู่ดีๆก็แข็งพรวดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทุบสิติแข็งค่าในรอบ10ปี คือแตะระดับ 33.47 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในวันที่ 10 กรกฎาคม 50 และยังคงทุบสถิติอย่างต่อเนื่อง แม้วันที่ 24 กรกฎาคม 2550 จะอ่อนค่าลงไปแตะ 33.78บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่ก็ไม่หลุดไปที่34บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ประกอบกับกระแสข่าวการล้มของผู้ประกอบการส่งออก...ยิ่งเป็นการโหมกระพือให้สถานการณ์ดูเลวร้ายขึ้นไปอีก
เป็นคำถามมากมายต่อภาครัฐ...ว่าเกิดอะไรขึ้นในการดูแลเสถียรภาพของค่าเงินบาท?...คำตอบคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง...เพราะนั่นเป็นความจริง คือ ความไม่สมดุลของภาวะเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจสหรัฐอ่อนแอจนทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่า ประเทศไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัด การไหลเข้ามาของทุนต่างประเทศ และการเก็งกำไร...ทุกปัจจัยล้วนส่งผลให้ค่าเงินแข็งขึ้นอย่างรวดเร็ว
หากย้อยไปตั้งแต่ต้นปี 2549 จนถึง6เดือนแรกปี 2550 เงินบาทแข็งค่าขึ้นไปแล้ว 20%
เมื่อหันไปมองประเทศเพื่อนบ้านในแทบเอเชีย เงินทุนก็ไหลบ่าเข้ามาก็ไม่ต่างจากไทย แต่ทำไมถึงไม่ผันผวนรุนแรงเท่าค่าบาท
โชติชัย สุวรรณาภรณ์ ผู้อำนวยการส่วนนโยบายระบบการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)เล่าให้ฟังว่า อย่างประเทศสิงคโปร์ เมื่อเห็นสัญญาณสกุลเงินแข็งค่าก็ตั้งกองทุน Government of Singapore Investment Corporation (GIC) ขึ้นเมื่อเพื่อนำเงินออกไปลงทุนต่างประเทศ โดยเน้นสินทรัพย์ทางการเงิน ตราสาร บริษัทที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์เป็นการลดแรงกดดันการแข็งของค่าเงิน
"เพราะเขารู้มานานหลายปีแล้วว่าค่าเงินของเขาจะแข็ง และดอลลาร์จะอ่อนลง ดังนั้นจะทำอย่างไรไม่ให้ภาวะที่เกิดขึ้นนั้นเป็นแรงกดดันต่อสกุลเงินของเขามาก ซึ่งวิธีการคือนำเงินออกไปลงทุนต่างประเทศ แต่วิธีนี้จะเกิดเป็นผลดีเมื่อเร่งรีบทำ ไม่ใช่ทำตอนที่เงินแข็งค่ามากแล้ว"
เหมือนที่ วีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกรัฐมนตรีและขุนคลัง กล่าวไว้เช่นกันว่า "การให้เงินไหลไปต่างประเทศในตอนนี้ไม่คุ้มค่าแล้วไปก็ขาดทุน"
เช่นเดียวกับประเทศมาเลเซีย "โชติชัย" เล่าว่าเมื่อเห็นสัญญาณผิดปรกติของค่าเงิน ก็รีบงัดมาตรการออกมาใช้ในทันที เช่น การอนุญาตให้คนมาเลเซียเปิดบัญชีเป็นเงินตราต่างประเทศ หรือมีบัญชีเงินฝากในต่างประเทศได้ มาตรการเหล่านี้ต้องรีบทำถึงจะได้ผล ซึ่งสำหรับมาเลเซียนั้นได้เริ่มทำมาเรื่อยๆตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว
ยังมีอีกหลายมาตรการที่ประเทศเพื่อบ้านได้ปฏิบัติการไปนานแล้ว แต่สำหรับไทยเหมือนเพิ่งเริ่มตื่นตัว เห็นได้จากการออกมาตรการที่เพื่อแก้ปัญหาเงินบาทแข็งค่า ไม่ว่าจะอนุญาตให้ผู้ประกอบการและประชาชนถือเงินดอลลาร์สหรัฐได้นานกว่า 15 วัน ขยายเวลาการนำเข้าเงินดอลลาร์สหรัฐที่ได้รับจากการชำระสินค้าในการส่งออกจาก 120 วัน เป็น 360 วัน สามารถฝากเงินสกุลต่างประเทศกับธนาคารในประเทศ เป็นต้น
มาตรการเหล่านี้มีบางข้อคล้ายคลึงประเทศเพื่อนบ้าน....แต่นั่นคือสิ่งที่เขาดำเนินการมาก่อนหน้าแล้ว...ส่วนประเทศไทยเพิ่งเริ่มดำเนินการ และทำในตอนที่เรียกว่าเกือบเข้าใกล้วิกฤติเต็มที....
อย่างไรก็ตามนับว่าโชคดีเมื่อเงินที่หลั่งไหลเข้ามาพักก่อนบินออกไปเพราะยังหาจังหวะที่เหมาะสมไม่ได้
แต่ถ้ามีโอกาสและได้จังหวะก็เป็นการบ้านของหน่วยงานที่ดูแลว่าจะออกไปอย่างไร ขนออกไปทั้งยวงหรือค่อย ๆทยอยออก...เป็นเรื่องต้องติดตาม และให้มองเผื่อไว้2ด้าน
อย่าคิดเพียงว่าด้วยความไม่สมดุลทางภาวะเศรษฐกิจโลก ไม่มีทางที่นักลงทุนต่างประเทศจะถอนเงินออกไปทั้งยวง อยากให้มองในหลายมุมหลายด้านเพื่อความไม่ประมาท และสามารถสรรหามาตรการมาป้องกันก่อนเกิดเป็นปัญหาใหญ่และเรื้องรัง ซึ่งดีกว่าการตั้งรับ หรือแก้ปัญหาแบบรายวัน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|